ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดวาร์ปมาด้วยความปรารถนาดีต่อชาวนาอยากให้ลืมตาอ้าปากอยู่ดีมีสุข แต่พิเคราะห์ให้ลึกซึ้งแล้ว ร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังผลักดันสุดลิ่มในเวลานี้ กลับมีปัญหาบางประการที่อาจจะนำไปสู่การทำลายกระดูกสันหลังของชาติอย่างแยบยล โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าว
ดังนั้น จึงยังไม่สายที่จะรับฟังความเห็นในวงกว้าง และแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ข้าว ให้ชาวนาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกๆ ด้าน ลดทอนการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้า โรงสี และอย่าเปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้ามาผูกขาดการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะนักวิชาการจากค่ายทีดีอาร์ไอ เป็นหัวหอกผนึกกำลังกับกลุ่มโรงสี สมาคมชาวนาฯ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่างประสานเสียงบอกว่า ไม่เอาๆ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันในเบื้องต้นว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ข้าว โดย นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. และสมาชิกสนช. 25 คน ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับที่ พ.ศ. .....นั้น มีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะปฏิวัติพัฒนาวงจรข้าวอย่างครบวงจรและให้ความเป็นธรรมกับชาวนา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การดูแลชาวนาและบริหารจัดการข้าวอย่างเป็นระบบ
ย้อนกลับไปดูหลักการเหตุผลของร่างกฎหมายนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่มีความมั่นคงยั่งยืน เป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง มีกลไกควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนากับผู้ซื้อ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ข้าว ประกอบด้วย 1.ให้ รมว.กระทรวงเกษตรฯ รักษาการตามกฎหมายนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
2.มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการข้าว (คกข.) มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นประธาน มีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งมาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ประกอบด้วย รมว.กระทรวงเกษตรฯ รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวงคลัง เกษตร พาณิชย์ มหาดไทย อุตสาหกรรม เลขาฯสภาพัฒน์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. เลขาธิการสนง.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ เลขาธิการสนง.เศรษฐกิจการเกษตร ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และให้มีกรรมการผู้แทนเครือข่ายชาวนา ตัวแทนภาคเอกชน เช่น ผู้ค้าข้าว ผู้รวบรวมและรับซื้อข้าวเปลือก ผู้ค้าปัจจัยการผลิตการเกษตร ผู้ส่งออกข้าว โรงสี
3.อำนาจหน้าที่ของ คกข.บัญญัติไว้ในมาตรา 12 เช่น จัดทำแผนพัฒนาข้าวและชาวนา กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ พัฒนากระบวนการผลิต แปรรูป การตลาด ส่งเสริมส่งออกข้าว กำหนดหลักเกณฑ์จัดทำเขตศักยภาพผลิตข้าว การจดทะเบียนและการพักใช้หรือเพิกถอนการจดทะเบียนพันธุ์ข้าวและผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการผลิต พัฒนา และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และการกระจายเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ กำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวให้เปลี่ยนไปทำเกษตรอื่นที่เหมาะสม
4.ให้กรมการข้าว ทำหน้าที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการข้าว โดยให้อธิบดีกรมการข้าว ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ คกข.มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายข้าวเปลือกและผลพลอยได้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย และทดลอง เพื่อสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าว เทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาพันธุ์ข้าว ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้านการผลิตข้าว
5.ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตข้าวและการรับซื้อข้าวต้องมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คกข. โดยระบุไว้ในมาตรา 19 ได้แก่ ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน ชาวนา ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้รับจ้างทำนา และผู้ดำเนินการรับจ้าง ฉีด พ่น หว่าน วัตถุอันตรายทางการเกษตร ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ สารปรับปรุงดินให้แก่ชาวนา แฃะมาตรา 20 กำหนดให้เครือข่ายชาวนา แหล่งรวบรวมข้าว ผู้รับซื้อข้าว และโรงสีข้าว ต้องขึ้นทะเบียนด้วย
6.การทำโซนนิ่งปลูกข้าว ในมาตรา 21 กำหนดให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้มีการผลิตข้าวตามพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่โดยทำโซนนิ่งปลูกข้าวให้เสร็จใน 2 ปี นับจากวันที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้
7.บทกำหนดโทษ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ได้รับการรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
8.กรณีที่มีการลักลอบนำข้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ยึดและทำลายเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี โรค แมลง ที่จะเข้ามาระบาดในประเทศ ตลอดจนป้องกันการสวมสิทธิ์การผลิตข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการขอรับการช่วยเหลือจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าวและบริหารจัดการข้าวของประเทศ
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ท่านผู้นำประเทศให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถึงร่าง พ.ร.บ.ข้าว สรุปได้ว่า สนช.จัดทำร่างขึ้นมาแล้ว อยู่ในขั้นตอนพิจารณาว่าจะมีกลไกการดูแลห่วงโซ่การผลิต แปรรูป และการค้าข้าวอย่างครบวงจรอย่างไร ขอให้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยมีปัญหาหรือไม่ ครบถ้วนหรือยัง ต้องไปดูตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สิ่งที่เน้นย้ำคือ ต้องดูแลต้นทางคือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มากที่สุด และดูในเรื่องของตลาด ทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช.ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้สัมภาษณ์หลายครั้งด้วยความเชื่อมั่นว่า กฎหมายนี้จะปฏิวัติพัฒนาวงจรข้าวอย่างครบวงจร ให้ความเป็นธรรมกับชาวนา ดูแลทั้งเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน เชื่อมโยงกับการเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐบาลสนับสนุน เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ผู้รับจ้างหว่านข้าว
สมาชิก สนช. ที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ยังออกตัวด้วยว่าเป็นลูกชาวนาเคยยากลำบากเข้าใจหัวอกชาวนา กฎหมายนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ เพราะจะเป็นการลดการเอารัดเอาเปรียบโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่โฆษณาเกินจริง พ่อค้าคนกลาง และโรงสี ทั้งยังจะดูแลชาวนา ส่งเสริมให้ทำนาในพื้นที่เหมาะสม เน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ อาศัยความร่วมมือศูนย์ข้าวชุมชนกว่า 2,000 แห่ง เพื่อสร้างแบรนด์ข้าวสำหรับพื้นที่นั้นๆ
นายกิตติศักดิ์ ยังกล่าวถึงสภาพที่ชาวนามักถูกเอาเปรียบจากการรับซื้อข้าว เช่น ความชื้นของข้าว เมื่อมีกฎหมายนี้ชาวนาจะได้มีที่พึ่งในการตรวจสอบมาตรฐานข้าวเปลือก รัฐก็มีหลักฐานเรียกเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การออกใบเสร็จรับรองรับซื้อข้าวเปลือกจะรู้ที่มาที่ไปของข้าว คนหัวหมอที่เอาข้าวมาสวมสิทธิ์จะกระอักแน่ หากเจ้าหน้าที่จับได้ นอกจากจะทำลายทิ้งแล้วจะต้องถึงคุก และยังมีมาตรการลดต้นทุนเพื่อช่วยชาวนา เช่น ผู้รับจ้างใส่ปุ๋ยต้องมีใบอนุญาต มีหลักการทางวิชาการมากำกับ เพื่อแก้ปัญหาการขาดความรู้จนถูกพ่อค้าปุ๋ยยุให้ใส่ปุ๋ยหลายๆ แบบ
นั่นเป็นหลักการ เหตุผล และความปรารถนาดีจากฝ่าย สนช. ลูกชาวนากระดูกสันหลังของชาติที่ผลักดันกฎหมายนี้
ขณะที่กระแสเสียงอีกฟากหนึ่งที่ดังขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ จะทำลายชาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งมีความพร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีมากกว่า
ฝ่ายที่ออกมาท้วงติงร่างกฎหมายข้าวมีแกนหลัก คือ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นักวิชาการผู้ซึ่งศึกษาเรื่องข้าวและได้รับการอ้างอิงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย
ข้อทักท้วงของ รศ.ดร.นิพนธ์ ที่มีมาโดยตลอดนับแต่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว มีสาระสำคัญหลักๆ คือ 1.กฎหมายนี้ไปก้าวล่วงอำนาจที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน 2.คณะกรรมการข้าว หรือ คกข. ที่จะตั้งขึ้นมาคล้ายกับคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยให้กรมการข้าว เป็นฝ่ายเลขานุการ แต่ในทางปฏับัติการอนุมัติงบจะให้ไปตามหน่วยงานไม่ใช่ไปที่คณะกรรมการ เมื่อไม่มีงบก็บริหารจัดการไม่ได้
3.กฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกำกับดูแลการซื้อข้าว โดยเฉพาะการซื้อข้าวเปลือกระหว่างโรงสีกับเกษตรกร จนมีลักษณะเหมือนโรงสีเป็นผู้ร้าย การไปกำกับจะมีเจ้าหน้าที่พอหรือไม่ อาจนำไปสู่การทุจริตตามมา
การเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายข้าว พีคสุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา โดย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นโต้โผจัดสัมมนาเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … : ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” ที่ทีดีอาร์ไอ โดยงานนี้ ได้เชิญนายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว, ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย, นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเข้าร่วมให้ความเห็น ดักคอคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณารายมาตราที่เสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมสรุปนำเรื่องเสนอ สนช. พิจารณาวาระ 2 ในอีก 1- 2 สัปดาห์
ในวงเสวนา รศ.ดร.นิพนธ์ แสดงความเป็นห่วงกังวลโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 ให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้ชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์หรือข้าวปลูกใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งชาวนารวมกลุ่มกันพัฒนาสายพันธุ์และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์จะดำเนินการไม่ได้ต่อไปหากไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากมีบทบัญญัติอัตราโทษสูงถึงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 100,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ร่างกฎหมายข้าวจึงขัดกับวิถีชาวนา ซึ่งนับแต่อดีตชาวนาจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป และจะคัดเลือกคุณภาพซึ่งเป็นการพัฒนาสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดพันธุ์ข้าวดีๆ เช่น ข้าวสังข์หยด ต่างจากการพัฒนาโดยบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นหากกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนรับรอง จะส่งผลต่อการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของชาวนา ที่สุดท้ายก็ต้องซื้อจากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์เท่านั้น
อีกมาตราที่ห่วงใยคือ มาตรา 34 ภายใต้บทเฉพาะกาลที่โอนอำนาจการรับรองพันธุ์ใหม่ให้กรมการข้าว จะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรมการข้าว เป็นผู้คุมงบ, วิจัย และรับรองพันธุ์ข้าวซึ่งก็คือรับรองตัวเอง
นอกจากนั้น ร่างกฎหมายข้าวยังกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสี ต้องออกใบรับรองข้าวเปลือก หากพบว่าออกใบรับรองเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของกรมการค้าภายใน และการให้อำนาจนี้เสี่ยงต่อประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งอัตราโทษนั้นเสมือนเป็นการก่ออาชญากรรม
ส่วนเรื่ององค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านการผลิตและคณะอนุกรรมการด้านการตลาด มีแต่ข้าราชการโดยตำแหน่ง ขาดในส่วนของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรงสี/ผู้ส่งออก จุดอ่อนในการตั้งคณะอนุกรรมการ การจัดทำฐานข้อมูล กลับไปเน้นการควบคุมแทนการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ นั้นร่างแรกแย่กว่านี้เยอะ จนมีการปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการ หลังวาระ 1 มีการลดความขัดแย้งของราชการ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับกรมการข้าว, ลดบทลงโทษการออกใบรับซื้อข้าวเปลือกจากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท เป็นปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท, ลดโทษการไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังกลับไปให้อำนาจหน้าที่ในการเข้าไปในนาข้าว เคหสถาน สถานที่เก็บข้าวมากขึ้น “....ให้อำนาจกรมการข้าวยิ่งกว่าตำรวจ และยังมองการค้าข้าวเป็นอาชญากรรม”
ประเด็นที่ รศ.ดร.นิพนธ์ กังวลมากในร่างพ.ร.บ.ข้าวที่อยู่ในวาระการพิจารณาของสนช. คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้ร่างไม่มีความรู้ ไม่มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญพัฒนาพันธุ์ข้าวมาให้ความรู้ กรมการข้าว เป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาคุณภาพข้าวเท่านั้น ขณะที่การตั้งคณะกรรมการด้านการผลิตและการตลาด (มาตรา 13) ก็คิดว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้รู้ดีที่สุด ซึ่งควรเปลี่ยนกรรมการจากอธิบดี มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากภาครัฐ ชาวนา ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ โรงสี ผู้ส่งออก และนักวิชาการสาขาต่างๆ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปช่วงท้ายด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ขัดมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากเกิดความเสียหาย ยังสร้างภาระต่อสังคม ปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย สูญเสียงบประมาณ เพิ่มบุคลากรให้กรมการข้าว ทำงานขี่ตั๊กแตนจับช้าง ทั้งที่กรมการข้าวทำงานวิจัยดีอยู่แล้ว แต่กลับให้อำนาจมากำกับดูแล อยากจะขอให้สนช.ยืดเวลาการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่วาระ 2 -3 เปิดกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทุกสมาคม เปลี่ยนกฎหมายควบคุม กำกับ มาเป็นกฎหมายสนับสนุนความร่วมมือของทุกฝ่าย และถ้าไม่ทันก็ขอให้สนช.รอรัฐบาลใหม่จะดีกว่า
ขณะเดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเห็นด้วยในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายข้าว ที่ควรปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความเข้มแข็งและความเป็นธรรมให้ชาวนาและผู้รับซื้อ การมีคณะกรรมการข้าวที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ แต่ข้อกำหนดให้ผู้จำหน่ายพันธุ์ข้าวได้ต้องจดทะเบียนนั้นเป็นการจำกัดสิทธิในการขยายพันธุ์ข้าวของชาวนา ขัดกับวิถีการทำนามาแต่อดีต และจำกัดการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ามีการหลอกลวงขายเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือปลอมปน ก็มี พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ที่กำกับโดยกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้ง พ.ร.บ. ค้าข้าว พ.ศ. 2489 ที่กำกับโดยกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมดูแลอยู่แล้ว
ส่วนผู้แทนจากสมาคมโรงสีข้าวไทย มองว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าว เนื้อหาสาระมุ่งจับโรงสีและชาวนาโดยเฉพาะ จับคนเข้าคุกอย่างเดียว อีกทั้งคนร่างกฎหมายก็ไม่มีความรู้ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมข้าวเลย จึงมองว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ไม่มีประโยชน์
ขณะที่ ตัวแทนนายกสมาคมชาวนาไทย เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ข้าว หลักการและเหตุผลเขียนดี แต่เนื้อในกฎหมายกลับไม่มีมาตราใดเลยเป็นประโยชน์กับชาวนา โดยเตรียมทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และประธาน สนช.อย่าเร่งออกกฎหมายนี้ออกมา เพราะจะเป็นภาระกับประเทศไทย สร้างความแตกแยกให้องค์กรชาวนา
ก่อนหน้านี้ นักวิชาการ เช่น นายวีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งข้อสังเกตว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยชาวนาจริงๆ สัดส่วนของตัวแทนชาวนาในคณะกรรมการข้าว (คกข.) ถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มาจากข้าราชการโดยตำแหน่ง และ คกข.ที่มีสัดส่วนตัวแทนชาวนาน้อยแต่กลับมีอำนาจกำกับชาวนาเยอะมาก ทั้งกำหนดราคาแนะนำรับซื้อข้าวเปลือก กำหนดพื้นที่โซนนิ่งปลูกข้าว และไม่มีการพูดถึงบทบาทของภาคประชาสังคมใน คกข. เลย
ประเด็นสำคัญคืออำนาจในการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ คกข. มีข้อกำหนดว่าพันธุ์ข้าวที่จะสามารถปลูกได้จะต้องเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากรัฐ เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดได้ว่าข้าวสายพันธุ์ใดเหมาะสมกับพื้นที่ใด ฟังเหมือนดีเพราะจะเป็นการเอาข้าวเสื่อมคุณภาพหรือปลอมปนออกจากตลาด แต่ในทางปฏิบัติ ชาวนาทุกคนไม่ได้มีเทคโนโลยีในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์มากพอสำหรับการขึ้นทะเบียน ชาวนายังคงใช้วิธีการเก็บข้าวเปลือกไว้เพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์เองตามวิถีดั้งเดิม พ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดโทษสำหรับชาวนาที่ฝ่าฝืน โดยผู้ที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะถูกลงโทษทั้งจำทั้งปรับ
ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาคือจะทำให้เหลือพันธุ์ข้าวไม่กี่สายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ และพันธุ์ข้าวไม่กี่พันธุ์เหล่านั้นมันก็เกิดจากกลุ่มทุนที่มีศักยภาพเพียงพอในการทดลองพันธุ์ข้าวจนเกิดพันข้าวบริสุทธิ์ไม่มีสารเจือปน และได้รับการรับรองจากภาครัฐ ถ้าภาครัฐรับรองพันธุ์ข้าวเพียงไม่กี่สายพันแบบนี้ จะไม่กลายเป็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์หรือ?
กระแสในโลกโซเซียล ค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว บีบชาวนาซื้อเมล็ดพันธุ์ ถ้าหากพัฒนาและจำหน่ายพันธุ์ข้าวโดยไม่ผ่านการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ เจอโทษทั้งจำทั้งปรับ กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ
สนช.จะถอยมารับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อนไหม? ดังที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช.ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ย้ำมาตลอดว่า “...เราพร้อมจะชี้แจงและรับฟังเต็มที่...”