ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นสัญญาณดีอันบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่กำลังกลับมา “เต่ามะเฟือง” เต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและหายากสุดในทะเลไทย กลับขึ้นมาวางไข่ริมชายหาดจังหวัดพังงา รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ตั้งแต่เมื่อ ธ.ค. 2561 - ม.ค. 2562 หลังเว้นช่วงมานานหลายปี
การหวนคืนของสัตว์น้ำหายากในท้องทะเลไทย เป็นสัญญาณดีบ่งบอกว่าการฟื้นฟูทะเลไทยตามแผนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในหลายพื้นที่ทั้งเกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย รวมทั้ง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ของจังหวัดพังงา นั้นเป็นความพยายามที่ไม่สูญเปล่า
สัญญาณแห่งความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอันดามัน เริ่มปรากฎขึ้นย้อนกลับไปช่วงเดือน ต.ค. 2561 “ฝูงฉลามหูดำ” กว่า 60 ตัว เผยโฉมแหวกว่ายบริเวณอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ในรอบหลายสิบปี หลังปิดอ่าวมานานกว่า 4 เดือนและไม่มีกำหนดเปิด
ถัดมาไม่นานนัก เดือน ธ.ค. 2561 “เต่ามะเฟือง” เต่าทะเลหายากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสัตว์ป่าสงวน บัญชี 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ห่างหายไร้วี่แววไปจากท้องทะเลไทยมานานหลายปี กลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง
เต่ามะเฟือง ได้ขึ้นมาวางไข่ริมชายหาดจังหวัดพังงา รวมทั้งสิ้น 3 รัง รังแรก - วันที่ 17 ธันวาคม 2561 บริเวณชายหาดเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่ด้านหน้าโรงแรมเขาหลัก ออร์คิด รังที่ 2 - วันที่ 26 ธ.ค.2561 บริเวณบนชายหาดใกล้วัดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และรังที่ 3 - วันที่ 8 ม.ค.2562 บริเวณชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งอยู่ห่างจากรังไข่แรกไม่กี่ร้อยเมตร
เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ตามข้อมูลพบว่าเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่น้อยมาก และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดเขาหลักแห่งนี้ ซึ่งมีพบการเต่ามะเฟืองครั้งสุดท้ายในเมืองไทยเมื่อปี 2556
สำหรับ ลูกเต่ามะเฟืองรังแรก ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า แม่เต่ามะเฟืองวางไข่รังแรก 118 ฟอง เป็นไข่ลม 25 ไข่เสีย 4 ฟอง ไข่ปกติ 89 ฟอง ฟักเป็นตัว 48 ตัว เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนปล่อยออกท่องทะเลอย่างปลอดภัย
ส่วนลูกเต่ารังที่ 2 และ รังที่ 3 เตรียมลืมตาดูโลกในเร็ววันนี้ ช่วง เดือน กลาง ก.พ. 2562 - มี.ค. 2562
อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติของ เต่ามะเฟือง หลังจากพ่อแม่ผสมพันธุ์กัน แม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ในช่วงเดือน ต.ค. - มี.ค. โดยแม่เต่ามักจะกลับมาวางไข่ในที่เดิมที่ตัวเองเกิด เพราะจดจำพื้นที่และสภาพทางเคมีของน้ำได้ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากถึงฤดูวางไข่ก็จะกลับมายังหาดเดิมทุกครั้ง โดยปกติ 1 - 3 ปี จะกลับมาวางไข่ 2 - 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีจำนวน 75 - 100 ฟอง ทิ้งช่วงครั้งละ 15 - 20 วัน และใช้เวลาฟัก 55 - 65 วัน เมื่อลูกเต่าเกิดจะรีบวิ่งลงทะเลเร็วที่สุด ด้วยความที่แตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นๆ เต่ามะเฟือง ไม่สามารถอนุบาลได้ การปล่อยลงทะเลเป็นทางรอดดีที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง ณ ชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยมีอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิในรังไข่ จัดทำรั้วขนาดใหญ่รอบรังไข่เต่า เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ตามธรรมชาติเข้าไปรบกวนภายในบริเวณฟักไข่ และป้องกันการขโมยไข่เต่า รวมทั้ง ได้ร่วมมือกับท้องถิ่นเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เปิดให้ชม LIVE สด ผ่านเว็บไซต์เฝ้าระวังและติดตามเต่ามะเฟือง http://loveseaturtle.dmcr.go.th
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เฟซบุ๊คส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat จั่วหัวเรื่อง “9 เรื่องที่เราเรียนรู้จากกำเนิดเต่ามะเฟือง” เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ความว่า
“#1 หากเราจะทำก็ทำได้ ในอดีตเราพยายามอนุรักษ์เต่ามะเฟืองมาหลายต่อหลายทาง มีทั้งกองทุนอนุรักษ์ที่ช่วยชาวบ้านเวลามาแจ้งเมื่อเจอเต่า มีทั้งเครือข่ายอาสาสมัคร ทั้งความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ที่สะสมกันมาเพื่อเวลานี้ เมื่อแม่เต่าวางไข่ เราใช้ทุกอย่างที่เราทำกันมา จนประสบความสำเร็จ ทุกอย่างใช้เวลา ความอดทนไม่ย่อท้อ และเมื่อถึงเวลา สิ่งที่พวกเราทำกันมาส่งผล
#2 เทคโนโลยีมีไว้ใช้ ลูกเต่าที่เกิดขึ้นมีความหมายต่อทะเลไทย ไม่ใช่แค่ทะเลมีเต่ามากขึ้น สำคัญกว่านั้นคือคนไทยรักทะเลผ่านทางเต่ามะเฟืองมากขึ้น เทคโนโลยีด้านการสื่อสารถูกนำมาใช้ มีคนดูไลฟ์จากกล้องทั้ง 6 ของกรมทะเลฯ รวมกันแล้วเกือบ 80,000 คน อินโฟกราฟฟิกและการให้ข้อมูลด้านต่างๆ ผ่านทางสื่อออนไลน์ ช่วยให้คนไทยเข้าถึงและติดตามได้มากยิ่งขึ้น ครั้งนี้ถือว่าเราบรรลุผลในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความตระหนักอย่างแท้จริง
#3 ยิ่งรู้มากยิ่งรักมาก คงจะจำกันได้ว่า ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ เต่ามะเฟืองติดอวน พี่ๆ ชาวประมงช่วยกันปล่อย ข่าวสารทำให้ทุกคนทราบว่า เต่ามะเฟืองเจ๋งแค่ไหน และทุกๆ คนก็ช่วยกันเต็มที่ ยังจำเสียงไชโยของพี่ๆ เมื่อปล่อยเต่าสำเร็จได้ครับ
#4 ต้องติดตามอุณหภูมิ กรมทะเลฯ ติดตั้งเครื่องติดตามอุณหภูมิในหลุมเต่าตั้งแต่วันแรก การติดตามให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น อุณหภูมิที่แตกต่างระหว่างไข่เต่ากับทราย ทำให้เราทราบว่าไข่ฟัก ไม่ใช่เดี้ยงยกหลุม ช่วงอุณหภูมิระหว่างวันที่ 20-40 ทำให้เราพอเห็นว่า เพศของเต่าจะเอียงไปทางไหน (29.2 องศาคือจุดที่เพศผู้/เมียจะเท่ากัน มากกว่านั้นเมียจะมากกว่าผู้) ช่วงท้ายๆ เมื่ออุณหภูมิดรอป ทำให้เราทราบว่า ลูกเต่าใกล้ออกแล้ว เมื่อลูกเต่าทุกหลุมออกครบ นำกราฟอุณหภูมิไปเปรียบเทียบกัน เราจะมีข้อมูลเพิ่มอีกเยอะ
#5 โลกร้อนเริ่มส่งผล เป็นที่พอทราบกันว่า ปัญหาสำคัญของเต่ามะเฟืองคือโลกร้อนทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนไป อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้อัตราส่วนตัวเมียมีมากกว่าตัวผู้ ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมา 20-30 ปีแล้ว และเริ่มส่งผลมากขึ้น เมื่อตัวผู้น้อย ทำให้น้ำเชื้อน้อย ทำให้ไข่บางส่วนไม่มีน้ำเชื้อ จากไข่ 118 ฟอง ตัดไข่ฝ่อ/ไม่สมบูรณ์ออกไป 29 ฟอง เหลือไข่สมบูรณ์ 89 ฟอง แต่มีไข่ที่ไม่มีน้ำเชื้อถึง 28 ฟอง หรือกว่า 30% นี่เป็นสิ่งยืนยันว่าภาวะโลกร้อนส่งผลรุนแรงต่อการอยู่รอดของเต่ามะเฟือง เมื่อลูกเต่าหลุม 2-3 ออกจากไข่ เราคงสามารถเช็คได้ว่า มีไข่ไม่มีน้ำเชื้ออีกเท่าไหร่ ผมคิดว่าสัดส่วนน่าจะใกล้เคียงกัน หรือจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ
#6 หากจำเป็นยังพอย้ายรังได้ คงจำกันได้ว่าแม่เต่าวางไข่รังแรกใกล้ระดับน้ำขึ้นมาก จนต้องมีการย้ายรัง เพราะเกรงว่าน้ำอาจจะท่วมจนตายยกรัง อย่าลืมว่าช่วงที่ผ่านมา มีพายุปาบึก มีคลื่นใหญ่ ขนาดรังที่ท่าไทรยังเกือบโดนคลื่นซัด จนเจ้าหน้าที่ต้องรีบกันไปช่วยทำกำแพงกันคลื่นชั่วคราว การย้ายรังอย่างถูกต้อง มีผู้เชี่ยวชาญช่วยวางแผน ทำให้ลูกเต่ารังแรกออกมาได้ อัตรารอดจากไข่มีน้ำเชื้อ 61 ฟอง 78.7% รังสองเราไม่ได้ย้าย เมื่อไหร่ที่ออกมา หากเทียบอันตรารอด จะตอบอะไรได้มากกว่านี้ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการตัดสินใจทำอะไรต่อไปในอนาคต
#7 ลูกเต่าเกิดได้ตลอดเวลา ข้อมูลในอดีตบอกว่า ลูกเต่ามักเกิดตอนใกล้รุ่ง แต่หนนี้ ลูกเต่าเกิดตั้งแต่หัวค่ำ และเริ่มออกจากรังตั้งแต่ทุ่มเศษ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใกล้วันที่ลูกเต่าจะเกิด เราต้องคอยเฝ้าดูตลอดเวลา อย่าวางใจ เพราะถ้าลูกเต่าเกิดแล้วไม่มีคนคอยดูแล บางครั้งลูกเต่าอาจขึ้นจากรังไม่ไหว หนนี้เราก็ต้องช่วยลูกเต่าขึ้นมา 20 ตัว ถึงกระนั้นก็ตายไป 1 ตัว ในอดีตเป็นเรื่องธรรมชาติที่ลูกเต่าบางส่วนจะตาย แต่ปัจจุบัน เต่ามะเฟืองใกล้หมดแล้ว การช่วยมีความหมาย เพื่อให้รอดมากที่สุด
#8 การสังเกตโดยนักวิชาการเป็นเรื่องจำเป็น ลูกเต่าที่เกิดถูกปล่อยลงทะเล 3 ชุด ชุดแรกคือพวกแข็งแรง ปีนป่ายขึ้นมาได้เอง ชุดสองคือพวกที่เราช่วยนำขึ้นมาจากหลุม และสามารถวิ่งลงทะเลทันที ชุดสุดท้ายคือ 8 ตัวที่ต้องพักฟื้นร่วม 2 ชั่วโมง ก่อนจะปล่อยลงทะเลเมื่อแข็งแรงแล้ว มีข้อมูลรายงานว่า ภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิในรังเต่าสูงขึ้น อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของลูกเต่า การเฝ้าดูพฤติกรรมโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ จึงสามารถแยกแยะและช่วยลูกเต่าที่อ่อนแอได้
#9 แมงกะพรุน เต่ามะเฟือง และขยะพลาสติก เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุน คนทิ้งขยะพลาสติก ขยะลอยไปถึงทะเล เต่ากินขยะเพราะเข้าใจผิด เต่าตายแมงกะพรุนเพิ่มขึ้น คนเดือดร้อน…”
สำหรับสถานการณ์ของเต่ามะเฟือง ค่อนข้างวิกฤติใกล้สูญพันธุ์ เต่ามะเฟืองไม่ขึ้นมาไข่ตั้งแต่ปี 2556 ในแหล่งวางไข่ที่เคยพบประชากรเต่ามะเฟืองมากที่สุด อุทยานฯ เขาลำปี - ท้ายเหมือง จ.พังงา และหาดไม้ขาว อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งในอดีตมากกว่า 60 ปี ชายหาดบางพื้นที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดรัฐบาลเคยมีการเปิดสัมปทานไข่เต่า ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง
สาเหตุมาจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและชายหาด ซึ่งเป็นการรบกวนแหล่งวางไข่ แหล่งหากินและแหล่งอาศัยของเต่าทะเล ปัญหาการทำประมงชายฝั่งที่มีเครื่องมือประมงหลายชนิดส่งผลกระทบ เช่น อวนรุน อวนลาก อวนลอย เบ็ดราว ฯลฯ ส่งผลให้เต่ามะเฟืองติดเครื่องมือประมงขึ้นมาเสียชีวิต ปัญหาขยะทะเลเป็นสิ่งที่ทำให้เต่าเข้าใจผิดนึกว่าเป็นแมงกะพรุน และกินเข้าไปทำให้เต่าเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ อีกทั้ง ปัญหาถูกลักลอบเก็บไข่เต่าทั้งเพื่อการบริโภคและการค้าขาย นิยมนำไปทำไข่ต้มหรือยำไข่เต่า มีความเชื่อผิดๆ กันว่าเป็นอาหารบำรุงกำลังเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้
กระทั่ง ช่วงปลายปี 2561 การฟื้นฟูทะเลไทยอย่างจริงจังในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้คืนความอุดมสมบูรณ์สู่ทะเลอันดามัน “แม่เต่ามะเฟือง” กลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง พร้อมมอบของขวัญที่พิเศษที่สุดกลับคืนสู่ธรรมชาติ “ลูกเต่ามะเฟือง” รังแรกที่ได้ออกเดินทางท่องทะเลแล้ว
ขอบคุณภาพจาก Thon Thamrongnawasawat