xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นายกฯ คนใหม่ คนไหนดีจ๊ะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของเทศกาล “เลือกตั้ง 62” เมื่อ “4 รัฐมนตรีแห่งพรรคพลังประชารัฐ” เลือก “เวลาที่เหมาะสม” ตามที่ได้เคยลั่นวาจาไว้ โดยถือฤกษ์ดี วันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ตบเท้าเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยพร้อมเพรียง เพื่อลุยลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัว หลังเปิดตัวทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ มาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ตั้งแต่ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จากตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รองหัวหน้าพรรค จากตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค จากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และน้องนุชอย่าง กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค จากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นกรอบ “เวลาที่ความเหมาะสม” เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการทำงานของรัฐบาล คสช.ในห้วงเวลาจากนี้ไป อีกทั้งเมื่อคะเนเวลาการทำงานที่เหลือไม่มากของรัฐบาล ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการปรับ ครม.ทดแทนคนที่ลาออกไปให้ยุ่งยากอีกด้วย

ตามคำของ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้ารัฐบาล ที่ยืนยันแล้วว่า “การปรับคณะรัฐมนตรีไม่มีในช่วงนี้ ไม่มีอีกแน่นอน” โดยได้แบ่งงานให้รัฐมนตรีที่เหลือยังทำการแทนในตำแหน่งที่ขาดหาย ร่วมกับกลไกของปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ในขับเคลื่อนการทำงานตามกรอบที่ได้วางไว้ต่อไป

การทิ้งหมวกเสนาบดี แล้วมาสวมหมวก “นักการเมือง” เพียงใบเดียวของ “4 รัฐมนตรี” ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “4 กุมาร” ก่อนอัพเกรดตัวเองเป็น “4 กุมารหาญกล้าการเมือง” ก็เป็นแรงกระชุ่นให้กระแสที่ดูเนือยๆซึมๆ ของ พรรคพลังประชารัฐ คึกคักขึ้นมาถนัดตา

รับกับไทม์มิ่งที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงสัปดาห์ ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครผู้สมัคร ส.ส.ในช่วง 4-8 กุมภาพันธ์ นี้ อีกทั้งยังทำให้พรรคอื่น และกระแสเลือกตั้ง 2562 ดูคึกคักขึ้นเช่นกัน

นอกเหนือกิจกรรมการเมืองของพรรคพลังประชารัฐที่ได้วางไว้เพื่อรับการลาออกจากภารกิจทางราชการของ 4 แกนนำพรรคแล้ว ยังฉวยจังหวะ “จัดหนัก” เป็นคอมโบ ไม่เพียงแต่เคาะชื่อว่าที่ผู้สมัครทั้ง 350 เขต พ่วงกับผู้สมัครบัญชีรายชื่ออีก 150 รายชื่อ แสดงความพร้อมทำศึกเลือกตั้งเต็มพิกัดแล้ว

ไฮไลท์สำคัญ คงเป็นการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณา และประกาศรายชื่อผู้เหมาะสมเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค 3 รายชื่อออกมาแบบไม่มีกั๊ก

ไม่เกินความคาดหมายเมื่อปรากฏชื่อแรกในลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ เป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคนปัจจุบัน ตามมาด้วย “อุตตม” ในฐานะหัวหน้าพรรค และขาดไปไม่ได้ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ผู้เป็น “ที่ปรึกษาทางใจ” ให้กับ 4 แกนนำพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด

ถือเป็นการจัดแพคเกจ “ดรีมทีมพลังประชารัฐ” ชูความโดดเด่นในแง่ความเด็ดขาด ความตั้งใจของ “ประยุทธ์” พ่วงด้วยมาดนักบริหารมืออาชีพ และนักวิชาการ ของ “อุตตม” เสริมด้วยมิติความช่ำชองทางเศรษฐกิจของ “สมคิด”

ในส่วนของ “อุตตม” ซึ่งอยู่ในที่ประชุมที่มีมติดังกล่าวคงชัดเจนในตัวอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่า 2 ใน 3 รายชื่อ คือ “ประยุทธ์ - สมคิด” จะตอบรับเทียบเชิญของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

รายของ “ลุงตู่” ก็ยังสงวนท่าที กล่าวรับไมตรีเพียงว่า “ยังไม่มีการทาบทามมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากมีการมาเทียบเชิญ ส่วนตัวก็รับทราบ ยินดี และขอบคุณ แต่ยังไม่ตอบรับ เพราะยังมีเวลาตัดสินใจและตอบเอกสารอย่างเป็นทางการ จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์”

และเพื่อใหห้สมเกียรติ ทางแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ยกขบวนขนขันหมากมาถึงทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทันที

แม้ “ลุงตู่” จะยังไม่ตอบรับเป็นทางการ แต่หากถอดรหัสท่าทีของหัวหน้า คสช.มาโดยตลอด ก็ต้องบอกว่า “มีโอกาสสูง” ทั้งการประกาศพร้อม “ไปต่อ” ขอทำงานการเมืองสานต่อโรดแมป คสช.ที่ยังค้างคาทำไม่เสร็จ

หรือความชัดเจนกับสถานะ “นายกฯคนใน-คนนอก” ที่ “ลุงตู่” ฟันฉัวะไว้แล้วว่า ถ้าตัดสินใจจะทำงานการเมืองต่อ ก็ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเท่านั้น

“ไม่มีอย่างอื่น ถ้าอยู่คือต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯคนใน คนนอก วุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ” นายกฯประยุทธ์ลั่นวาจาไว้เช่นนั้น

ขณะที่ “จอมยุทธ์กวง” ก็ทราบเรื่องกลางอากาศ ด้วยมีภารกิจนำคณะไปโรดโชว์การลงทุนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นพอดิบพอดี แต่ก็ได้เปิดใจข้ามประเทศกลับมาในเชิงสนับสนุนให้ “ลุงตู่” รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ด้วยช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประเทศไทย

“พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำที่เหมาะกับสถานการณ์นี้ ณ วันนี้ยังมีความเห็นเหมือนเดิม ก็หวังว่าท่านจะรับเป็นแคนดิเดตของพรรคที่ท่านเห็นสมควรและเห็นว่าเหมาะสม” สายตรงจากแดนปลาดิบว่าไว้

ส่วนตัวเองนั้น “เฮียกวง” บอกแค่ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการ กลับเมืองไทยค่อยว่ากัน

ทั้งนี้ต้องเข้าใจ “ความแตกต่าง” ระหว่าง “นายกฯคนใน” กับ “นายกฯคนนอก” ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญสักนิด เพื่อเข้าใจสาเหตุที่ “ลุงตู่” ประกาศเสียงดังว่า ต้องอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมือง หรือ “นายกฯก๊อกแรก” เท่านั้น

เพราะในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า การเลือกนายกฯในห้วง 5 ปีแรกภายหลังมีรัฐสภานั้น ต้องใช้เสียงถึง 375 เสียงขึ้นไป จากจำนวนทั้ง 750 เสียง ที่แบ่งเป็น 500 เสียงของ ส.ส. และ 250 เสียงของ ส.ว. แต่หากไม่ลงตัวจึงจะเข้าโหมด “นายกฯ ก๊อกสอง” โดยขอยกเว้นการใช้บทบัญญัติดังกล่าวแล้วให้เสนอชื่อบุคคลที่จะอยู่หรือไม่อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองก็ได้ เข้ามาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเห็นชอบ

การที่ “ลุงตู่” ประกาศเลือกที่จะวางตัวเองอยู่ในถาด “นายกฯ ก๊อกแรก” นั้นก็ต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคที่จะเสนอชื่อตัวเอง จะสามารถทำที่นั่ง ส.ส. รวมกับเครือข่ายพันธมิตรให้เพียงพอต่อการโหวตเลือกนายกฯ หรือเกินกว่า 275 เสียงได้

และจะให้ดีเสียงของ กลุ่มพรรคการเมืองดังกล่าว ต้องเพียงพอในการเป็น “รัฐบาลเสียงข้างมาก” ด้วย
หนึ่ง เพื่อความสง่าสามไม่ถูกวาทกรรมทางการเมืองค่อนขอด และ สอง เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศไปได้อย่างสะดวกโยธิน

แล้วต้องไม่ลืมว่า ทางเลือก “นายกฯ ก๊อกสอง” ที่ใครว่าง่ายกว่านั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิดด้วยมีเกณฑ์ของงดเว้นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สูงถึง 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา หรือ 500 เสียง มากกว่าการเลือก “นายกฯก๊อกแรก” ที่ต้องการแค่ “เกินกึ่งหนึ่ง” หรือมากกว่า 375 เสียงเสียอีก

ว่ากันว่า “ลุงตู่” มีแต้มต่อในมือถึง 250 เสียงจาก ส.ว.ที่กำลังจะมีการแต่งตั้งอยู่แล้ว หากหาเพิ่มเติมจาก ส.ส.ไม่ได้อีก 125 เสียง การจะหาให้ได้ 250 จาก “สภาล่าง” ก็คงเป็นไปไม่ได้ และหากลากยาวกันไปถึงตอนนั้นคงชุลมุนวุ่นวายน่าดูชมทีเดียว

การตอบรับหรือไม่ตอบรับของ “ลุงตู่” ถือว่ามีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 อย่างแน่นอน ด้วยหากตอบรับก็เท่ากับ “วิน-วิน” อย่างน้อยก็แสดงความ “ลุงตู่” เชื่อมั่นว่า พรรคพลังประชารัฐ จะทำนั่งร้านให้ตัวเองขึ้นเป็นนายกฯอีกคำรบได้อย่างสง่างาม

ฝ่าย พรรคพลังประชารัฐ ก็หวังได้อานิสงส์จากความนิยมส่วนตัวของ “ลุงตู่” ที่แม้ไม่พวยพุ่งฟีเวอร์เท่าเมื่อครั้งเข้ามาใหม่ๆ แต่ก็ยังยึดหัวหาดเป็นจ่าฝูงในโพลทุกสำนัก ในการกระชากเรตติ้งพรรคให้เข้าเป้าตามที่วางเอาไว้

ประเมินตามเนื้อผ้า ก็คงจะฟันธงเปรี้ยงได้ว่า “ลุงตู่” จะมาเป็นเบอร์ 1 ในบัญชีนายกฯของพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน

หันมาดูความเคลื่อนไหวของพรรคอื่นๆกันบ้าง ที่เรียกว่าเห็นหน้าค่าตากันไปจนเกือบครบแล้วสำหรับ “แคนดิเดตนายกฯ” ที่แต่ละพรรคจะส่งเข้าประกวด และจะเป็นคู่แข่งกับ “ลุงตู่” ว่าที่นายกฯเบอร์ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ข้อจำกัดพรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ

ที่ตัดไปได้เลยคือ “พรรคกำนัน” พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้การดำเนินการของ อดีตลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ และ พรรคประชาชนปฏิรูป ของ อดีต ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศจุดยืนไม่ส่งบัญชีนายกฯ ขอรอหนุน “ลุงตู่” เบิลนายกฯ อีกสมัยท่าเดียว

ส่วนที่ชัดเจนมาตั้งแต่ในมุ้ง ก็มีอย่าง พรรคอนาคตใหม่ จะเสนอชื่อ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในบัญชีนายกฯ เพียงชื่อเดียว เช่นเดียวกับอีกหลายพรรคที่ส่งชื่อเดียวทั้ง พรรคเสรีรวมไทย ที่เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “บิ๊กตู่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรค ที่ประกาศขอ 10 ล้านเสียงเพื่อเป็นนายกฯ

หรือ พรรคภูมิใจไทย ก็เสนอชื่อ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ชิงนายกฯ เพียงคนเดียว เหมือนกับทาง พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เคาะชื่อ “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ในบัญชีนายกฯเพียงคนเดียว แล้วให้น้องชายอย่าง “เสี่ยท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรค ไปเป็นเบอร์ 1 ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์

กระทั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ ก็เพิ่งสรุปว่า จะใส่ชื่อ “เฮียมิ่ง” มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคป้ายแดง ในบัญชีนายกฯรายเดียวเหมือนกัน

ที่ผิดคาดหน่อยๆ คงเป็น “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่เลือกจะส่ง หัวหน้าพรรค “เฮียมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ลงลุ้นเป็นผู้นำประเทศคำรบที่สองเพียงรายเดียว ไม่ได้หนีบ นายหัวชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ 2 สมัยมาเป็น “พระอันดับ” เผื่อเหลือเผื่อขาด อย่างที่กูรูการเมืองเคยคาดการณ์ไว้

คู่เทียบที่วางตาไม่ได้คงเป็น พรรคเพื่อไทย ที่เชื่อกันว่าจะได้จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 และประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าได้ส่งบัญชีนายกฯครบ 3 รายชื่อ โดยชื่อแรกจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เข้าป้ายเป็นเบอร์ 1 ในบัญชี ส่วนชื่อที่สองก็คือ “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เนื่องมาจากผลโพลภายในปรากฏว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร ในการชูภาพ “สุดารัตน์ - ชัชชาติ” ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เป็นเหตุให้ “เจ้าของพรรค” ทุบโต๊ะให้พ่วงรายหลังเข้ามาในบัญชีนายกฯด้วย เพื่อเป้าหมายอย่างน้อย 220 ที่นั่ง

ขณะที่อีกรายที่มาเต็มเติมก็ไม่เซอร์ไพร์สมากมายกับชื่อ “ชัยเกษม นิติศิริ” อดีตอัยการสูงสุดและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถือเป็น “สายตรง” เจ้าของพรรคเช่นกันโดยมีเป้าประสงค์เพียงแค่หวังไม่เกิดภาพการแข่งขันระหว่าง “หญิงหน่อย” กับ “เสี่ยชัชชาติ” มากเกินไป

หันมาดูกันที่ พรรคในเครือข่ายอย่าง พรรคไทยรักษาชาติ ก็ไม่พลาดที่จะส่งบัญชีนายกฯ เช่นกัน แน่นอนแล้ว 2 ชื่อ นำมาโดย “เสี่ยอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ที่เดิมก็ติด 1 ใน 3 บัญชีของพรรคเพื่อไทย แต่มีอันต้องย้ายสังกัดเสียก่อน ร่วมกับ “เสี่ยป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ส่วนอีกรายมีแน่ แต่ยังไม่เปิดเผย แว่วว่า “พี่ชายเจ้าของพรรค” ยกหูทาบทาม “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯในรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาเสริมทัพเพื่อเพิ่มมิติทางด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีบรรดา “พรรคไม้ประดับ” หลายค่าย ที่หวังใช้บัญชีนายกฯเรียกเสียงฮือฮา มีการทาบทามผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนให้ตกลงปลงใจมาอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรค อย่างรายของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ยังเนื้อหอมถึงขนาดมี 5 พรรคการเมืองไปทาบทามให้หวนคืนสนาม หรืออย่าง ทนง พิทยะ อดีตขุนคลังในรัฐบาลชวลิต กระทั่ง “บิ๊กแอ๊ด” พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ในรัฐบาลทักษิณ ก็ยังมีหลายพรรคให้ความสนใจ

ที่ลืมไม่ได้ จะเสนอบัญชีนายกฯ ไม่ว่าจะรายชื่อเดียว หรือเต็มแมกซ์ 3 รายชื่อ เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ พรรคนั้นๆ ต้องได้เกิน 25 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง และมีเสียง ส.ส.รับรอง 50 ชื่อจึงจะมีสิทธิ์ลุ้นเสนอชื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาลงมติ

หากไปอยู่ในบัญชีพรรคที่ทำเสียงไม่ได้ 25 ที่นั่ง ก็ตกม้าตายตั้งแต่ต้น ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้เอง ที่อาจตัดชื่อเหล่าแคนดิเดตนายกฯ ทั้งหลายได้ล่วงหน้าหลายรายเลยทีเดียว

แล้วสำคัญไม่น้อยที่ “เลือกตั้ง 2562” งวดนี้ต่างจากครั้งก่อนๆที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “บัตรเลือกตั้ง” และ “วิธีนับคะแนน” ตามระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่จะมีบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “กาบัตรใบเดียว” เหลือบัตรลงคะแนนสำหรับเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น แต่ส่งผลลัพธ์ถึง 3 ส่วนด้วยกัน

จนถูกขนานนามว่า “บัตรเลือกตั้งแบบ 3 IN 1” กาครั้งเดียวได้ถึง 3 ต่อ คือ แต้มชนะยกให้ ส.ส.เขต ส่วนแต้มแพ้ส่งให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หักลบกลบกันไปตาม “จำนวน ส.ส.พึงมี”

และสำคัญที่สุดคงเป็น ผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ ตามที่ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์รวม 500 เสียงจะได้ไปร่วมโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภากับ ส.ว.อีก 250 เสียงนั่นเอง

ใครเด่น ใครดัง ใครดับ ก็ทราบชื่อเสียงเรียงนาม เห็นหน้าค่าตา “ว่าที่นายกฯ” กันไปจนถ้วนทั่วแล้ว

เห็นแบบนี้แล้ว 24 มีนาฯเลือกใครดีจ๊ะ พี่น้องชาวไทย.


กำลังโหลดความคิดเห็น