xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลิกแล้วค่ะ สัมปทานไทยคม 5 แถมลือสนั่น CAT จ่อเทกโอเวอร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไทยคม 5 เป็นดาวเทียมHot Bird ถูกออกแบบมาเพื่อบริการด้านบรอดคาสต์และด้านสื่อต่างๆ มีช่องสัญญาณเคยูแบนด์กำลังสูง ทั้งแบบ Spot Beam และ Steerable Beam
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “มันจบแล้วครับนาย(ทักษิณ)”

สั้นๆ แต่ชัดเจนมาก เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ว่าจะไม่มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 5 อีกต่อไป หลังจากสัญญาสิ้นสุดลงในปี 2564

ภาพจำดาวเทียมไทยคม ที่เป็นสมบัติเก่าทักษิณ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจค่อยๆ เลือนหายไป ตามสภาพความจริงที่ว่า บมจ.ไทยคม หนึ่งในอาณาจักรชินคอร์ปนั้นถูกขายยกพวงให้กองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ ไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 โดยเวลานี้เป็นบริษัทลูกอยู่ในเครือ INTUCH

การไม่ต่ออายุสัญญาไทยคม มาพร้อมๆ กับข่าวลือสนั่นตลาดหุ้นว่า กสท โทรคมนาคม หรือ CAT เตรียมเข้าเทกโอเวอร์ไทยคม จนราคาหุ้นดีดพุ่งรับข่าว ก่อนแผ่วลงในเวลาต่อมา เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยคม คือ INTUCH ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่เคาะเปรี้ยงให้ชัด

ตามมติ ครม. นั้น ถ้อยแถลงจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ

โดยมีสาระสำคัญ คือ ไม่เห็นควรให้ต่ออายุหรือขยายเวลาสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ แต่เห็นควรคัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ตามแนวทางของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยจะไม่มีระบบการให้สัมปทานเช่นในอดีตอีก

นอกจากนี้ มติ ครม. ยังเห็นชอบให้บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนเพื่อต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้งานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจะสิ้นสุดในปี 2564 โดยการต่ออายุดาวเทียมดังกล่าวไม่มีผลทำให้อายุของสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไป

และเมื่อสัญญาฯ สิ้นสุดลง ทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงดาวเทียมไทยคมที่มีอายุเหลืออยู่ รัฐจะได้คัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียมและทรัพย์สินดังกล่าวตามแนวทาง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) ต่อไป ทั้งนี้ การต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญา เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ก่อนหมดสัญญา ในช่วงพ.ศ. 2563-2564 รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทไทยคม สามารถขึ้นไปดำเนินการปรับปรุงดาวเทียมไทยคม ให้สามารถใช้งานต่อไปได้ โดยต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม

ถือเป็นอวสานสัญญาในระบบสัมปทานดาวเทียมอย่างสมบูรณ์ นั่นหมายถึงว่า นับจากนี้ ไม่ว่าดาวเทียมดวงไหนหมดอายุสัญญาลง ก็ต้องเข้าสู่รูปแบบ PPP ทั้งหมด

นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศในเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย แนวทางการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียม THEIA การดำเนินการเพื่อจัดตั้งสำนักงานประสานงานภูมิภาค (Regional Liaison Office - RLO) ของสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติที่ประเทศไทย และความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS - 2) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้มีมติรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ตามขั้นตอนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด

เว็บไซต์บมจ.ไทยคม ให้ข้อมูล ดาวเทียมไทยคม 5 เป็นดาวเทียมที่ได้รับความนิยมสูง โดยวัดจากปริมาณจานรับสัญญาณ หรือที่เรียกว่าดาวเทียม Hot Bird ถูกออกแบบมาเพื่อบริการด้านบรอดแคสต์และด้านสื่อต่างๆ มีช่องสัญญาณเคยูแบนด์กำลังสูง ทั้งแบบ Spot Beam และ Steerable Beam เหมาะสำหรับผู้ให้บริการ Direct-to-Home (DTH) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งยังมีช่องสัญญาณซีแบนด์แบบ Global Beam ครอบคลุมพื้นที่ 4 ทวีป รองรับผู้ใช้บริการในเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกา ข้อมูลทางเทคนิค บริษัทที่ผลิตดาวเทียม คือ ธาเลซ อลิเนีย สเปซ ประเทศฝรั่งเศส ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก อายุการใช้งาน มากกว่า 14 ปี Attitude Control 3-Axis Stabilized มวลในวงโคจร ประมาณ 2,766 กิโลกรัม วันที่ส่งขึ้นสู่วงโคจร 27 พฤษภาคม 2549 จำนวนช่องสัญญาณ C-Band 25 Transponders Ku-Band 14 Transponders

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเปลี่ยนระบบสัญญาดาวเทียมตามมติ ครม. คราวนี้ ยังมีข่าวใหญ่ที่มาพร้อมกันก็คือ กระแส CAT เข้าเทคโอเวอร์ THCOM เป็นข่าววงในเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า CAT หรือ กสท โทรคมนาคม กำลังเข้าทำดีลซื้อหุ้น บมจ.ไทยคม จากผู้ถือหุ้นใหญ่ INTUCHซึ่งเป็นข่าวระดับเอ็กซ์คลูซีฟของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ทำเอาราคาหุ้น INTUCH และ THCOM ดีดตัวขึ้นรับข่าว

ตามกระแสข่าว หลังจาก CAT เข้าซื้อหุ้นจาก INTUCH แล้ว ก็คงจะต้องมีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ตั้งโต๊ะรับซื้อในราคาที่คงไม่น้อยกว่าที่ซื้อจาก INTUCH ซึ่งถ้าคิดจากการซื้อที่ทุนจดทะเบียนทั้งหมด 1,096 ล้านหุ้น และราคา 8.50 บาท CAT คงจะใช้เงินซื้อกิจการในราว 9.3 พันล้านบาท เพื่อแลกกับกิจการดาวเทียม ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.3 หมื่นล้านบาท

คอลัมนิสต์วิเคราะห์หุ้น มองว่า บริษัทดาวเทียมไทยคม เป็นบริษัทที่มีฐานะกิจการดี ไม่ใช่ “บริษัทเน่า” หนี้สินมีเพียง 8 พันล้านบาท มีเงินสดในมืออยู่ 3.5 พันล้านบาท มีกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรอยู่เกือบ 5 พันล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท และยังมีดาวเทียมที่ยังใช้งานได้อีก 4-5 ดวง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมดาวเทียมไอพีสตาร์ ที่พัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยอยู่ด้วย

การที่ CAT ซื้อ THCOM ครั้งนี้ ยังเป็นการตอบโจทย์การดำรงคงอยู่ของ CAT ในยุคการสิ้นสุดระบบสัมปทานหรือ “ยุคเสือนอนกิน” กำลังผ่านพ้นไป เพราะจะมีทรัพย์สินของไทยคม เป็นฐานสร้างรายได้เข้ามาชดเชย หลังจากมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 กลับมาเป็นระบบสัมปทานที่ยังค้างคา และคดีความฟ้องร้องอีนุงตุงนังระหว่าง CAT กับไทยคมที่ติดค้างกันอยู่หลายคดี จะได้จบสิ้นกันไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ปฏิเสธกรณีมีข่าวว่า บริษัทฯ และบมจ.กสท โทรคมนาคม ปิดดีลซื้อหุ้นบมจ. ไทยคม (THCOM) หุ้นละ 8.50 บาท โดยบริษัทฯ ชี้แจงว่า ได้รับความสนใจและการติดต่อจากผู้ที่สนใจเข้าซื้อธุรกิจของบริษัทเป็นครั้งคราว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอที่มีผลผูกพันจากนักลงทุนที่สนใจแต่อย่างใด ขณะที่หุ้น INTUCH ราคาไหลลง 3.37% มาอยู่ที่ 50.25 บาท ลดลง 1.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 203.15 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.00 น. โดยเปิดตลาดที่ 50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 51 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 50 บาท

ส่วน THCOM ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ บอกแค่ว่า ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) ตามที่ปรากฏในข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ถ้าวิเคราะห์กันตามคำชี้แจง นักสังเกตการณ์ตลาดหุ้น มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ CAT จะเป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจซื้อ THCOM และอาจเป็นหนึ่งในผู้ยื่นข้อเสนอที่ยังไม่มีผลผูกพัน ตามที่ INTUCH ชี้แจงต่อตลาดฯ ก็เป็นได้

ใครจะไปนึกถึงว่า ไทยคม บริษัทที่ทำธุรกิจผูกขาดสัมปทานดาวเทียม จะมีวันที่กลายสภาพคล้ายเป็นหุ้นดาวตก เมื่อดูจากราคาหุ้นที่ไหลรูดลงมาหัวปัก จากบริษัทดาวเด่น มีผลการดำเนินการดีและเติบโตมาต่อเนื่องยาวนาน

กระทั่งเมื่อเกิดขึ้นไม่คาดฝันจากการยกเลิกการใช้งานดาวเทียมของ CTH ช่องทีวีที่เคยได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษมาฉาย แต่ด้วยราคาที่ประมูลมาได้สูงถึงเกือบหมื่นล้านบาท เลยทำให้ไม่คุ้มค่าจน CTH ปิดตัวลงไปในปี 2559 ผลกระทบของ CTH ที่ยกเลิกใช้งานดาวเทียมไทยคม 5 และ 6 คิดเป็น 6.4% ของกำลังการให้บริการทั้งหมด

จากนั้น ไทยคม ก็เจออุปสรรคอีกครั้ง ในข้อพิพาทที่รัฐบาลต้องการให้นำดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เข้าสู่ระบบสัมปทาน ซึ่งต้องจ่ายผลตอบแทนตามค่าสัมปทานที่ 22.5% มากกว่าแค่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในเวลานี้ที่จ่ายเพียง 5.25% แต่ไทยคม ไม่ยินยอม มีการเจรจากันหลายครั้งแต่ตกลงกันไม่ได้จนกลายเป็นคดีความ

แต่การเจรจาที่ตกลงกันไม่ได้ และผูกกันเอาไว้หลายเรื่อง ทั้งการเรียกผลตอบแทนเพิ่มจากดาวเทียมดวงที่ 7 และ 8 ที่ยังค้างคา ขณะที่ดาวเทียมไทยคม ดวงที่ 4-5-6 จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงใน ปี 2564 ซึ่งต้องมีการยิงดาวเทียมทดแทนขึ้นไปแต่ไทยคม ยังไม่ได้รับความแน่นอนในการยิงดาวเทียมไทยคม 9 และ 10 จากรัฐบาล ทำให้ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทเลคอมและอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ยกเลิกการจองช่องสัญญาณในไทยคม 9 ซึ่งต้องการจองเพื่อทดแทนไทยคม 4 ส่งผลให้บริษัทสูญเสียรายได้มากถึงปีละ 300 ล้านบาท

จากนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) หรือ กระทรวงดีอี เล่นเกมรุกไล่ไทยคมอย่างต่อเนื่อง กระทั่งต่อมา กระทรวงดีอี และคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และบอร์ดดีอี มีมติเห็นตรงกันที่จะไม่รับข้อเสนอของไทยคมที่ขอทำความตกลงใหม่หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 สำหรับการเข้าบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม ดวง 4 ดวง 5 และ 6 กระทั่งนำมาสู่การนำเรื่องเข้าครม.และ ครม.มีมติออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2562 ดังกล่าวข้างต้น

ไม่นับว่า ไทยคมยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมดาวเทียมที่สูงขึ้น ส่งผลให้การเช่าใช้ช่องสัญญาณทั้งจากทวีปออสเตรเลีย ซึ่งเคยเป็นลูกค้าหลักของไทยคมลดลง และการยกเลิกสัญญาการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 4 ของจีน รวมถึงสัญญาที่ทำกับบางบริษัทได้หมดลง ทำให้รายได้ของไทยคมลดลงอย่างรวดเร็ว แม้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นแต่ยังชดเชยรายได้ที่ลดลงไม่ทันบวกกับอัตราค่าบริการที่ลดลง

รายได้และกำไรของ บมจ.ไทยคม ปี 2015 รายได้รวม 13,136.40 ล้านบาท กำไร 2,122.15 ล้านบาทปี 2016 รายได้รวม 12,069.34 ล้านบาท กำไร 1,611.77 ล้านบาท ปี 2017 รายได้รวม 7,424.60 ล้านบาท ขาดทุน -2,649.78 ล้านบาท

ในปี 2014 หุ้น THCOM ทำราคาสูงสุดที่ 42.50 บาท และ ณ เม.ย. ปี 2018 THCOM ราคาปิดอยู่ที่ 9 บาท ถึงเวลานี้ หากดูราคาจากกระแสข่าวที่ CAT ขอซื้อหุ้นไทยคม จะอยู่ที่ 8.50 บาท เท่านั้น หมายถึงว่าถ้าซื้อหุ้นไทยคมตอนจุดสูงสุดด้วยเงิน 42,500 บาท ปัจจุบันจะมีเงินเหลืออยู่ราวๆ 9,000 บาทเท่านั้น ขาดทุนร่วม 79% (ไม่รวมเงินปันผล)

เป็นบทลงเอยจากหุ้นดาวเทียมค้างฟ้ากลายเป็นหุ้นดาวตกที่เหนือความคาดหมายจริงๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น