xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องลึก “หมอเสริฐ” ปั่นหุ้นBA บกพร่องโดยสุจริตหรือผิดโดยไม่เจตนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ :   พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ รองประธานกรรมการ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และพวก ถูกกล่าวโทษในความผิดปั่นหุ้น สร้างความฉงนฉงายให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นและผู้คนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเซียนหุ้นระดับพระกาฬ ครองแชมป์ “เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่ง 6 สมัย” ติดต่อกันอย่าง “หมอเสริฐ” จะมาพลาดท่าตายน้ำตื้นกับการสร้างราคาหุ้นจนถูก ก.ล.ต.ลงโทษ ได้อย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยัง นายแพทย์ปราเสริฐ พร้อม แพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ หรือ “หมอปุย” ลูกสาวคนที่สาม และนางนฤมล ใจหนักแน่น ซึ่งเป็นเลขานุการสำนักประธานคณะผู้บริหาร ร่วมกันซื้อขายหุ้น BA โดยจับคู่ซื้อขายระหว่างกันในลักษณะ “อำพราง” เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13 พ.ย. 2558 ถึงวันที่ 12 ม.ค. 2559 ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น ก.ล.ต.จึงดำเนินการลงโทษทางแพ่ง สั่งปรับผู้ร่วมกระทำผิดทั้ง 3 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 499.45 ล้านบาท และเรียกให้ชำระค่าปรับภายใน 14 วัน นับจาก ก.ล.ต. ส่งหนังสือแจ้งไป และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน โดยบุคคลทั้ง 3 สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการสู้คดีในชั้นของอัยการต่อไปได้

มองจากมุมไหนก็ชวนให้สงสัยอย่างยิ่งถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องที่เกิดขึ้น และเต็มไปด้วยคำถามที่ต้องการตำตอบมากมายว่า มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ อย่างไร เพราะการปั่นหุ้นของ นพ.ปราเสริฐ และพวกครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะทำให้ราคาหุ้นพุ่งกระฉูด เก็บกำเม็ดเงินกำไรส่วนต่างเป็นกอบเป็นกำมากพอที่จะเอาชื่อเสียงมหาเศรษฐีแสนล้านเข้าไปเสี่ยงกับเงินที่ได้จากการปั่นหุ้นเพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น เป็นเกมที่เล่นถึงจะได้แต่ไม่คุ้มเสีย หรือจะเป็น “ความบกพร่องโดยสุจริต” ผิดโดยไม่เจตนาหรือไม่

เป็นปริศนาที่มีแต่ “หมอเสริฐ” เท่านั้นที่จะหาหลักฐานมาแก้ต่างสู้คดีในชั้นศาลเพื่อล้างมลทิน ซึ่งเวลานี้หมอเสริฐและพวก ได้ลาออกจาก BA และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ทุกตำแหน่งแล้ว ก่อนที่ ก.ล.ต.จะมีหนังสือแจ้งตามคำสั่งห้ามบุคคลทั้งสามดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มาตรการของ ก.ล.ต.ทำให้ชื่อเสียงที่สั่งสมมาชั่วชีวิตของนพ.ปราเสริฐ ในแวดวงตลาดหุ้นเสียหายป่นปี้ แต่เรื่องนี้หากจะตัดจบให้ง่ายก็ทำได้เพียงจ่ายค่าปรับตามการลงโทษทางแพ่ง เช่นเดียวกันกับคดีปั่นหุ้นอีกคดีในปี 2562 คือ ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้บริหาร บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA พร้อมพวกรวม 40 คน และปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,727 ล้านบาท แต่ความเคลือบแคลงสงสัยจะยังคงอยู่

บรรดาแมงเมาท์ในแวดวงชาวหุ้น ร่ำลือกันนั้น แว่วว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับหมอเสริฐ แชมป์หุ้นอันดับหนึ่งของฟ้าเมืองไทย เป็น “ความผิดพลาดทางเทคนิค” โดยหลักฐานที่หมอเสริฐ เตรียมงัดออกมาเคลียร์ก็คือ “เงื่อนไขแบงก์” สำหรับการขอกู้เงิน ที่คาดว่าเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับ “หุ้น” อันเป็นหลักทรัพย์ที่จะใช้ค้ำประกัน

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนั้น อาจทำให้เกิดรายการซื้อเพื่อให้เข้าเงื่อนไขของแบงก์ เพื่อแบงก์จะได้ปล่อยกู้ หรือรักษามูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า “ทีมหมอเสริฐ” ที่ดูแลบัญชีการถือครองหุ้นให้หมอเสริฐ ดำเนินการแทน แล้วเกิดมีข้อผิดพลาดทางเทคนิค จนกลายเป็นเรื่องปั่นหุ้นไป จะจริงจะเท็จต้องดูฉากต่อไปเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาลและทั้งสองฝ่ายต่างงัดหลักฐานขึ้นมาต่อสู้กัน ซึ่งถึงเวลานั้นอาจได้เห็นตัวละครที่อยู่หลังฉากที่ฝากรอยแผลให้เซียนหุ้นมือพระกาฬกลายเป็น “จอมยุทธ์ที่มีบาดแผล”

ยิ่งมองให้ลึกลงไปอีกหลายชั้น เรื่องราวความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจากการถูกสั่งปรับ 400 กว่าล้าน เมื่อเทียบกับพอร์ตหุ้นและสินทรัพย์ในอาณาจักรธุรกิจของหมอเสริฐ ที่มีมูลค่านับแสนล้าน เป็นความเสี่ยงที่ได้ไม่คุ้มเสีย นักธุรกิจที่คร่ำหวอดอย่างหมอเสริฐ ไม่น่าจะเล่นเกมนี้

จะว่าไป ชีวิตของ “หมอเสริฐ” ในช่วงนี้ คงต้องใช้คำว่า “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” เพราะนอกจากเรื่องปั่นหุ้นของหมอเสริฐ เกิดขึ้นในช่วงเวลาประจวบเหมาะกับการที่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไฟเขียวให้ขึ้นบัญชีคุมค่ายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งไปกระทบกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ BDMS ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเกินครึ่ง พอดิบพอดี

เล่นเอา “หุ้น BDMS” ติดอยู่ใน “แดนลบ” หลายวัน ก่อนที่มติ ครม.จะออกมาและสร้างความโล่งใจไปได้ในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุในทางปฏิบัติต้องไปตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจากทุกฝ่ายมาพิจารณากันในรายละเอียดเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายก็ตาม

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในเวลานี้ สำหรับหมอเสริฐแล้วคงไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสอะไร ไม่เช่นนั้นคงไม่ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 6 สมัยซ้อน และติดท็อปเท็นมหาเศรษฐีเมืองไทยติดต่อกันมาหลายปี ช่วงนี้ราคาหุ้น BA และ BDMS อาจจะร่วงบ้างตามกระแสแพนิก แต่ไส้ในที่เป็น “หุ้นพื้นฐานดีมีอนาคต” อีกไม่นานก็คงกลับมายืนอย่างมั่นคงเช่นเดิม

ส่องพอร์ตแชมป์เศรษฐีหุ้น
เมื่อช่วงเดือนธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา “ผู้จัดการออนไลน์” เพิ่งรายงาน “ส่องพอร์ตเศรษฐีหุ้น หมอเสริฐฯ” หลังจากที่หมอเสริฐ ซึ่งครองแชมป์เศรษฐีหุ้นเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง คว้าแชมป์อีกแล้วในปี 2561 นับเป็นปีที่ 6 โดยได้รับการจัดอันดับจากวารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยปี 2561 “หมอเสริฐ” ถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 77,129.32 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 13,602.02 ล้านบาท หรือ 21.41% ผ่านการถือหุ้นในบริจดทะเบียนทั้งหมด 4 แห่ง

ได้แก่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 18.47% รวมมูลค่า 73,786.86 ล้านบาท ถัดมาคือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในสัดส่วนถือหุ้น 10.61% มูลค่า 2,985.22 ล้านบาท บมจ.ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) สัดส่วน 0.79% มูลค่า 75.48 ล้านบาท และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) สัดส่วน 24.60% มูลค่า 281.75 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ตระกูล “ปราสาททองโอสถ” ยังเป็นแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งปี 2561 เครือญาติในตระกูลครองหุ้นรวมกันมีมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกของทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทย โดย 6 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ 5 ทายาท ประกอบด้วย “พุฒิพงศ์-สมฤทัย-อาริญา-ปรมาภรณ์และพลตำรวจโทวิสนุ” ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่า 104,530.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,230.94 ล้านบาท หรือ 8.55%

ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลในอดีตของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 4 แห่งที่ “หมอเสริฐ” ถือครองหุ้น พบว่า แต่ละบริษัท มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เริ่มตั้งแต่ 1.บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ธุรกิจหลักของตระกูล ปราสาททองโอสถ ถือเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ผ่านโรงพยาบาลชั้นนำในเครือจำนวนมาก

และหากเปรียบเทียบราคาหุ้นในปัจจุบันกับช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ พบว่า หุ้น BDMS ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1,394% จาก 1.79 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2552 ขณะที่เมื่อ 6 ธ.ค.2561ราคา 26.75 บาท/หุ้น ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557 พบว่า ตัวเลขด้านการเงินที่สำคัญของบริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่สินทรัพย์รวม ปัจจุบันในไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท จาก 9.32 หมื่นล้านบาทในปี 2557 ขณะที่รายได้รวมปี 2560 อยู่ที่ 7.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.8 หมื่นล้านบาท ส่วนไตรมาส 3/61 บริษัทมีรายได้รวม 6.05 หมื่นล้านบาท และตลอดทั้งปีมีโอกาสทำรายได้รวมในระดับ 7 หมื่นล้านบาทเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เช่นเดียวกับกำไรสุทธิ ซึ่งไตรมาส 3/61 อยู่ที่ระดับ 7.84 พันล้านบาท ใกล้แตะระดับสูงสุดที่ทำไว้เมื่อปี 2560 ที่ระดับ 1.02 หมื่นล้านบาท

และแน่นอนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เส้นทางของ “หมอเสริฐ” ย่อมไม่ธรรมดา

อาณาจักรธุรกิจหลักยังแกร่ง
กล่าวสำหรับนามสกุล “ปราสาททองโอสถ” นั้นถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับ การผลิตและจำหน่าย ยาหอมปราสาททอง ยาหอมอินทรแท่งทอง ยาข่าหอมปราสาททอง ในรุ่นของคุณพ่อ “ทองอยู่ ช้างบุญชู”

ยุคนั้นมีกิจการเวชกรรมโอสถผุดขึ้นหลายรายแต่ไม่มีรายไหนสามารถ“อัพเลเวล” จากผู้ปรุงยา ขายยา มาเป็นสถานพยาบาลเครือข่ายทรงพลังได้อย่างตระกูลปราสาททองโอสถ ภายใต้การบุกเบิกของหมอเสริฐ

ปัจจุบัน หมอเสริฐ ดำเนินธุรกิจ 3 สาขาหลัก คือ หนึ่ง ธุรกิจโรงพยาบาล สอง ธุรกิจการบิน และสาม ธุรกิจสื่อ โดยธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นธุรกิจหลัก และเป็นธุรกิจหลักที่สร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาลโดย “หมอเสริฐ” เริ่มต้นในปี 2512ร่วมกับพรรคพวก ก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2512 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และเปิดให้บริการโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเดือน ก.พ.2515 และนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนต.ค.2534 ก่อนจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุข้อความเกี่ยวกับ BDMS ว่า เป็นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในเชิงรายได้ และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในหมวดธุรกิจการแพทย์ โดยมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 มูลค่า 105,111 ล้านบาท และผลประกอบการปี 2555-2558 พบว่า มีกำไรสุทธิ 7,917.47 ล้านบาท 7,393.52 ล้านบาท 6,261.46 ล้านบาท และ 7,936.95 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีเครือธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนโรงพยาบาลในเครือรวม 47 แห่ง มีขนาดรวม 9,057 เตียง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนปี 2555 (จัดทำทุก 5 ปี) ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนรวม 321 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเตียงมากกว่า 250 เตียงจำนวน 17 แห่ง พบว่า BDMS มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ BDMS มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเครือถึง 13 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 76.5 ของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทั้งหมด

BDMS มีธุรกิจโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 47 แห่ง แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่น กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล และกลุ่มโรงพยาบาลที่ลงทุนถือหุ้นแต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร อีกทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล จำนวน 22 แห่ง แบ่งเป็น 13 ประเภท ที่เสริมให้ BDMS กลายเป็นธุรกิจโรงพยาบาลที่ครบวงจรมากขึ้น โดยภาพรวมกลุ่มธุรกิจในเครือ BDMS ที่หมอเสริฐ เป็นเจ้าของ ถือเป็นกิจการโรงพยาบาลและธุรกิจเกี่ยวเนื่องรายใหญ่ที่สุดของไทย
ณ สิ้นปี 2560 BDMS มีสินทรัพย์ 122,626 ล้านบาท หนี้สิน 56,750 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 63,071 ล้านบาท มีรายได้ 77,136 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,215 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 งวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ ก.ย. 2561 มีรายได้ 60,570 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 52% ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 15 แห่ง โดยมีกำไรสุทธิ 7,841 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของกำไรทั้งระบบที่อยู่ที่ 17,054 ล้านบาท

สอง ธุรกิจการบิน ซึ่งหมอเสริฐ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2511 ในชื่อ บริษัทสหกลแอร์ จำกัด ให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเช่าเหมาลำ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์” เมื่อปี 2532 พร้อมกับการเปิดสนามบินสมุย สนามบินเอกชนแห่งแรกที่หมอเสริฐ ควักเงินลงทุนในช่วงนั้นกว่า 200 ล้าน ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สร้างผลกำไรให้อย่างงดงาม จากนั้นเมื่อปี 2557 หมอเสริฐ ก็นำบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ข้อมูล ณ ปี 2560 สายการบินบางกอกแอร์เวร์ส มีผู้โดยสาร 5.94 ล้านคน สนามบินสมุยมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 1.3 ล้านคน และให้บริการเที่ยวบินประจำเส้นทางทั้งในและต่างประเทศรวม 30 เส้นทาง และยังทำความตกลงเที่ยวบินร่วมหรือ Code Share ทั้งยังมีธุรกิจเกี่ยวข้องทั้งอาหาร การบริการภาคพื้นดินครบครัน ขณะที่บริษัทมีรายได้รวม 29,309 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 787 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวม 57,941 ล้านบาท เมื่อหักลบกับหนี้สินที่มีอยู่ 29,556 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 28,313 ล้านบาท

ล่าสุดบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมี “กัปตันเต๋” พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ลูกชายคนโตของ “หมอเสริฐ” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ได้จับมือกับพันธมิตรต่างชาติเข้าร่วมประมูลสัมปทานบริหารร้านค้าปลอดภาษีอาการ (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสัญญาณสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.2563 โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะเปิดประมูลสัมปทานดังกล่าวในช่วงต้นปี 2562

สาม ธุรกิจสื่อ โดยสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า นับจากปี 2556 “หมอเสริฐ” ได้บุกเบิกเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจทีวีดิจิทัล และเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง 36 หลังจากบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ชนะประมูลช่องโทรทัศน์หมวดทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ด้วยราคา 3,460 ล้านบาท แต่ผลประกอบการของสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง 36 ออกมาไม่ดีนัก ข้อมูลจากกรมทะเบียนธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2556 โดยปี 2556 มีผลขาดทุน 97 ล้านบาท ปี 2557 มีผลขาดทุน 1,102 ล้านบาท ปี 2558 มีผลขาดทุน 1,799 ล้านบาท ปี 2559 มีผลขาดทุน 1,996 ล้านบาท และปี 2560 มีผลขาดทุน 2,028 ล้านบาทหรือเท่ากับว่าเพียง 5 ปี ของการเข้าไปลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัล ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ PPTV ของ “หมอเสริฐ” มีผลขาดทุนรวมกว่า 7,022 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพ.ย.2559 บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวปราสาททองโอสถ (พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวหมอเสริฐ ถือหุ้น 99.98%) ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลช่อง ONE31 เป็นเงิน 1,905 ล้านบาท ดีลซื้อธุรกิจทีวีจิดิจิทัลครั้งนี้ ทำให้ครอบครัวปราสาททองโอสถ กลายเป็นถือหุ้นใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE31 โดยถือหุ้นในสัดส่วน 50% ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 25.5% และกลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ลดถือหุ้นเหลือ 24.50%

ข้อมูลปี 2560 ปรากฎว่า บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งครอบครัวปราสาททองโอสถเพิ่งเข้ามาถือหุ้นได้เพียงปีเดียว พลิกกลับมาทำกำไร 123 ล้านบาท หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2556 โดยเฉพาะในปี 2557 บริษัท มีผลขาดทุนสูงถึง 2,541 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เชื่อเหลือเกินว่า “มรสุมลูกใหญ่” ที่ประเดประดังเข้ามาในช่วงนี้ น่าจะเป็นเพียงแค่ “วิบากกรรม” ในช่วงสั้นๆ และ “หมอเสริฐ” น่าจะผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรนักตามประสา “จอมยุทธ์” ผู้ผ่านสนามรบทางการค้ามาโชกโชนตลอดชั่วชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น