xs
xsm
sm
md
lg

เวเนซุเอลา : หรือนี่คือ อิรัก 2 ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร




คำประกาศกร้าวของรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ และตามมาด้วยทวิตเตอร์ของปธน.ทรัมป์ ขอรับรองปธน.คนใหม่ของเวเนซุเอลา ซึ่งเพิ่งนำฝูงชนออกมาประท้วงกลางกรุงคารากัสเมื่อวานนี้ โดยทำพิธีประกาศสาบานตนต่อหน้าฝูงชนผู้สนับสนุนเขา ว่า เขาขอสาบานตนเป็นปธน.รักษาการ และเรียกร้องให้กองทัพบกและกองทัพอากาศออกมาร่วมสู้กับประชาชน โดยไม่ยอมรับอำนาจของปธน.มาดูโอ อีกต่อไป

ทั้งทรัมป์และเพนซ์ รวมทั้งนายปอมเปโอ รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ต่างเรียกร้องให้นานาชาติหันมาให้การรับรอง นายฮวน กุยโด อดีตวิศวกรอายุ 35 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานสภาล่าง-อดีตเคยเป็นผู้นำนักศึกษาที่เคยต่อต้านอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ โดยต่อต้านนโยบายสังคมนิยมและกดดันเอาสัมปทานแหล่งพลังงาน (น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ) มาจากบริษัทต่างชาติคืนแก่ประชาชน

นายฮวน กุยโด เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานสภาล่าง (ซึ่งตามโครงสร้างแล้วจะมีสภาพี่เลี้ยงอีกแห่งคอยควบคุม คล้ายๆ วุฒิสภา) เมื่อต้นปีนี้ แต่เขาได้มีส่วนก่อการประท้วงรัฐบาลมาดูโรมาโดยตลอด

นายฮวน กุยโด กล่าวหาว่า ปธน.มาดูโร ซึ่งเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 (เมื่อ 10 มกรานี้เอง) ว่า ชนะการเลือกตั้ง โดยโกงการเลือกตั้ง มีการข่มขู่ประชาชนให้ไปลงคะแนนให้มาดูโร; และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่สินค้าอุปโภคบริโภคหายไปจากตลาดโดยสิ้นเชิง รวมทั้งยารักษาโรค จนทำให้ประชาชน (ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอันจะกิน) ได้อพยพออกไปอยู่ต่างประเทศ หรือไม่ก็ข้ามพรมแดนไปอยู่ในโคลัมเบียประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังมีอาหารและยาสมบูรณ์พร้อม...โดยนายกุยโด และประเทศทางตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ ได้ยกเอาตัวเลขลอยๆ ว่า จำนวนผู้อพยพออกจากประเทศสูงถึง 3 ล้านคน หรือเกือบ 10% ของประชากร 33 ล้านคน เพราะทนภาวะขาดแคลนอาหารและยาอย่างรุนแรงไม่ไหว

นายกุยโด บอกว่า เขาขอเป็นปธน.รักษาการ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม-เพื่อนำประชาธิปไตยคืนมา และเปิดประตูสำหรับการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ

ขณะนี้มีประเทศในอเมริกาใต้ที่ใกล้ชิดและอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ (ผ่านการให้กู้เงิน และเปิดทางให้สินค้าส่งเข้าสหรัฐฯ อย่างเป็นมิตร) ต่างทำตามสหรัฐฯ คือ ให้การรับรองปธน.ที่กำลังเป็นกบฏ และกำลังทำรัฐประหารยึดอำนาจจากปธน.มาดูโร ที่ชนะการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ฝ่าย ผบ.ทบ. และทอ.ต่างออกมาให้การสนับสนุนรัฐบาลมาดูโร เพราะกองทัพยืนเคียงข้างทั้งชาเวซ และมาดูโรมาตลอด

แต่อาจมีทหารระดับล่างๆ (ยศต่ำกว่านายร้อย) ซึ่งได้มีความพยายามก่อกวนทำรัฐประหารเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ที่นายกุยโด ได้เป็นผู้นำประท้วง

มี 7 ประเทศในอเมริกาใต้ที่ทำตามสหรัฐฯ คือ บราซิล (หลังจากเพิ่งได้ปธน.คนใหม่ ที่มีฉายาว่า-Tropical Trump) และเป็นกระแสขวาพิฆาตซ้ายที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาใต้; เริ่มจากบราซิล, อาร์เจนตินา และเอกวาดอร์ (-ที่เพิ่งเปลี่ยนผู้นำจากซ้ายกลางมาเป็นขวา)-ส่วนโคลัมเบีย, ชิลี, เปรู, ปารากวัย อยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐฯ อย่างแนบแน่นมาตลอด

แต่คิวบา, โบลิเวีย ยังหนักแน่นอยู่กับมาดูโร เพราะคิวบาคือพี่ใหญ่ที่ท้าทายจักรวรรดิอเมริกา จนขับสหรัฐฯ ออกมาจากคิวบาได้สำเร็จในทศวรรษ 1950’s...;รวมทั้งรัฐบาลใหม่ของเม็กซิโก ก็อยู่ข้างมาดูโร

ต่อมาเมื่อฮูโก ชาเวซ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเข้ามาเป็นผู้นำเวเนซุเอลา เขาก็รับหน้าที่เป็นพี่รองของอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง โดยเฉพาะการจัดการกดดันนำเอาบริษัทสัมปทานน้ำมันจากต่างประเทศ (สเปน และสหรัฐฯ) กลับคืนมาเป็นของชาติอีกครั้ง และได้รับการต่อต้านคว่ำบาตรอย่างหนักจากสหรัฐฯ และอดีตประเทศเจ้าอาณานิคมในยุโรป

ประธานสภายุโรป โดนัลด์ ทุสก์ (Donald Tusk) ออกมาให้สัญญาณจะเข้าร่วมให้การสนับสนุนพลังประชาธิปไตยของนายกุยโด

การผนึกกำลังเหนียวแน่นระหว่างคิวบา (ได้รับน้ำมันจากเวเนซุเอลาแลกกับหมอและพยาบาลจำนวน 1 หมื่นคน ที่ส่งออกจากคิวบาเพื่อมารักษาพยาบาลประชาชนเวเนซุเอลา) และเวเนซุเอลา, ตามมาด้วยโบลิเวีย ที่เดินตามแนวทางฮูโก ชาเวซ ในการกดดันเพื่อเอาสัมปทานบริษัทน้ำมันต่างชาติ รวมทั้งเหมืองต่างๆ คืนมา-ที่เรียกว่า Re-Nationalization-แม้แต่เอกวาดอร์ก็เดินตามเวเนซุเอลา-ปรากฏการณ์นี้ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปไม่พอใจ โดยได้พยายามโค่นชาเวซผ่านการลักพาตัวหลายครั้ง และพยายามก่อรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ

แม้การบริหารที่หนักไปทางประชานิยม เพราะเวเนซุเอลามีน้ำมันสำรอง และแก๊สธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก มากกว่าซาอุดีอาระเบียด้วยซ้ำ และเมื่อราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปถึงเกือบ 120 เหรียญต่อบาร์เรล เงินรายได้ของรัฐบาลเวเนซุเอลาก็มีมากมายพอจะแจกจ่ายความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนของตน และประเทศเพื่อนบ้านเช่น คิวบา

แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบดิ่งมากๆ เมื่อ 2014 (มาดูโรเข้ารับตำแหน่งปี 2013) ทำให้นโยบายประชานิยมที่เคยแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเริ่มมีปัญหา ประกอบกับเวเนซุเอลาส่งออกสินค้า 95% เป็นพลังงาน แล้วนำเงินมาซื้อสินค้าอาหาร, ยา, อุปโภคบริโภค หรือเครื่องมือคมนาคมขนส่งทั้งหลาย เป็นการนำเข้าทั้งหมด เมื่อราคาน้ำมันดิบโลกตก ก็เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่รายรับไม่พอกับรายจ่าย (ซื้อสินค้านำเข้าประเทศ)

ขณะเดียวกัน กลุ่มชนต่อต้านรัฐบาล (ทั้งชาเวซ และมาดูโร) ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการผลิตสินค้าขนาดใหญ่ ได้ถล่มรัฐบาลด้วยการไม่ยอมผลิตหรือนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อ้างว่า ถูกรัฐบาลกำหนดราคาสินค้าต่ำกว่าต้นทุนการผลิต สินค้าหายไปจากตลาดหมด พร้อมๆ กับการคว่ำบาตรตลาดการเงินจากสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก

ประเทศที่ยังให้การช่วยเหลือแก่รัฐบาลมาดูโรคือ จีน (ก่อนนั้นมีรัสเซียด้วย จนรัสเซียเองก็โดนคว่ำบาตรจากโอบามา กรณีไครเมียขอเข้าไปอยู่กับรัสเซีย)

สหรัฐฯ ได้จัดการเปลี่ยน (ระบอบ) รัฐบาลในอเมริกากลาง และใต้มาตลอดสงครามเย็น ทั้งที่ชิลี, (ฆ่าปธน.อัลเยนเด้ ที่ทำเนียบ ฝีมือนายพลปิโนเชต์), Dirty War ที่อาร์เจนตินาที่เป็นรัฐประหารเลือดแบบชิลี, ที่นิการากัว, ที่เปรู และอีกหลายๆ ประเทศในเขตปฏิบัติการของซีไอเอ ซึ่งยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
/
นโยบาย Regime Change ของสหรัฐฯ ได้ทำสำเร็จมาแล้วที่ยูเครน และถึงกับประกาศก้องในที่ลับและที่แจ้งโดยทรัมป์ว่า ต้องการเปลี่ยนการปกครองของอิหร่าน (ที่ปธน.มาจากการเลือกตั้ง) และเกาหลีเหนือ

ที่สำคัญคือ ที่อิรักเปลี่ยนระบอบจากซัดดัม ฮุสเซน จนสำเร็จ และขณะนี้กำลังจะเปลี่ยนระบอบที่เวเนซุเอลา เพราะทั้งสองประเทศมีน้ำมันสำรองมหาศาล; ที่เวเนซุเอลานั้น สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งกองกำลังทหารไปถล่มแบบแบกแดด แต่การส่งแรงสนับสนุนหลายด้าน ทั้งเงินทอง และการแทรกซึมในกองทัพ จะสำเร็จหรือไม่ คงอีกไม่นานก็จะรู้ผล
กำลังโหลดความคิดเห็น