ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะนี้ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมมาเป็นระยะเวลาพอสมควร พร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาแบบงานรูทีนแถลงรายวันของ “กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)” หรือที่จริงควรเรียกว่า “กรมบอกเล่าสถานการณ์มลพิษ” น่าจะถูกต้องกว่า
อาจจะมี “ขัดหู” บ้างกับความเห็นของพี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร จันทร์โอชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ขอให้คนไทยอดทนเอาหน่อย เพราะคนกรุงปอดเหล็กรออีก 3 ปี เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จก็จะดีขึ้นเอง ถ้ายังอยู่รอดปลอดภัยไม่เจ็บป่วยล้มตายกันไปเสียก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหาที่สั่งสมมาช้านานให้เสร็จภายในลัดนิ้วมือ ไหนจะลักษณะ “อากาศ” ในช่วงนี้ที่ผสมปนเปเข้ามาทำให้วิกฤตขยายตัวจนยากจะควบคุม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีแต่ “คำเตือน” และ “คำขอความร่วมมือ” ซ้ำๆ ซากๆ ตั้งแต่เดือนธ.ค. ปีที่แล้วจนบัดนี้ โดยไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมในการจัดการเหตุฉุกเฉินต่อแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ จนถูกประชาชนตำหนิและตั้งคำถามต่อการทำงานเชิงรุกของ คพ. กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมอนามัย ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ คือเป็นทั้งพนักงานควบคุมมลพิษ พนักงานสาธารณสุข เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีทั้งพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และพ.ร.บ.การสาธารณสุข ทั้งยังมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่จะสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ระดมกันมาแก้ไขปัญหานี้
โดยเฉพาะบทบาทของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งน่าจะเป็นพระเอกในการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ความที่ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าไปแต่งตั้งคนที่ไม่ได้เติบโตมาจากสายงานควบคุมมลพิษขึ้นมานั่งเป็นอธิบดี ความมั่นใจจะเอาอยู่ในปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่มี เห็นได้จากท่าที นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ดูเก้ๆ กังๆ ในการรับมือกับเรื่องนี้ เพราะเติบโตมาจากสายป่าไม้ การข้ามห้วยมาควบคุมมลพิษ ก็ชัดอยู่แล้วว่าเป็นการใช้คนไม่ถูกกับงาน
แถมยังพลอยทำให้รัฐบาลนับตั้งแต่ท่านผู้นำลงมาอยู่ในสภาพหันรีหันขวางมาร่วมเดือนแล้ว อย่างมากก็บอกว่า ล้างถนน พ่นน้ำ สวมหน้ากาก ซึ่งนอกจากสร้างภาพเชิงจิตวิทยาแล้วไม่ได้แก้ไขที่ต้นตอของปัญหาแต่อย่างใด แถมท่านอธิบดี คพ. ยังบอกด้วยว่า อย่าตื่นตระหนกกันให้มากนัก
ไม่แต่ คพ. ที่ไม่ให้ตื่นตระหนก กรมอนามัย ก็ไม่แตกต่างกัน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ยืนยันว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในตอนนี้มีที่แตะสีแดง คือ เกิน 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไปเพียงไม่กี่พื้นที่ ไม่ได้สูงทั้งวัน และไม่ได้ครอบคลุมทั่วทั้ง กทม. หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ที่ผ่านมาค่าฝุ่นยังไม่เคยถึง 200 มคก./ลบ.ม.เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งต้องออกมาตรการทางกฎหมาย เช่น ห้ามมีกิจกรรมทางกลางแจ้ง เป็นต้น
หลบหน่อยพระเอกมา ส่ง “บิ๊กฉัตร” เพื่อน “บิ๊กตู่” กู้ฝุ่นพิษ
สภาพวิกฤตยืดเยื้อไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ก็กลายเป็นงานมะรุมมะตุ้ม กรมอนามัย แถลงที กทม.แถลงที กระทรวงคมนาคม อุตสาหกรรม พลังงาน ก็ตั้งโต๊ะแถลงกันไปตามหน้างานของตัวเอง หลังจากที่เจอนายกรัฐมนตรี ขันนอตมา แต่ถามว่าถึงเวลาตั้งสติวางแผนจัดการกันอย่างเป็นระบบ แก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว กำหนดเป้าหมาย กรอบเวลาจัดการปัญหาแต่ละอย่างให้เห็นผล โดยมีหน่วยงานที่เป็นแม่งานหลักคอยติดตามผล เอาให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เหมือนอย่างที่ประเทศอื่นๆ เขาจัดการแก้ไขปัญหากันจนเห็นหน้าเห็นหลังกันแล้วหรือยัง
หรือจะให้ประชาชนคนไทยสวดมนต์อดทนกันต่อไป เดี๋ยวเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. สถานการณ์ก็จะดีขึ้นแล้ว เดี๋ยวสร้างรถไฟฟ้าเสร็จอีก 3 ปี ก็จะดีขึ้นแล้ว เช่นนั้น ก็น่าตั้งคำถามว่าแล้วจะมีกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร และจะมีกฎหมายอีกหลายฉบับให้อำนาจหน่วยงานเหล่านี้จัดการควบคุมแก้ไขปัญหามลพิษ กันไปทำไม
อย่างไรก็ตาม เสียงบ่นระงมของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสังคมโซเซียล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องส่ง “เพื่อนรัก” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยโชว์ผลงานโบแดงปลดใบเหลืองจากอียูจากปัญหาการทำประมงของไทย ให้เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ดูเรื่องนี้ โดย “บิ๊กฉัตร” จะเรียกประชุมแก้ปัญหาในวันที่ 16 ม.ค. 2562 บูรณาการทุกฝ่ายหามาตรการที่เหมาะสม แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
อันดับแรกสุด ต้องหาสาเหตุที่มาของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กันเสียก่อน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ นายกฯ จึงให้ กทม. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษบี 20 กับยานพาหนะ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน ที่สำคัญต้องมีด่านตรวจสกัดรถที่ปล่อยควันดำให้หยุดวิ่งทันที และยังกำชับให้ไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ ดูฝุ่นที่เกิดจากอุตสาหกรรมและเผาขยะ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน “โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล” โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ได้อ้างการศึกษา Source Apportionment ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นในบรรยากาศพื้นที่กรุงเทพ ของ Kim Oanh ในปี 2550 และ 2560 พบว่า ฝุ่น PM2.5 จากการตรวจวัดที่ดินแดงในปี 2550 มาจากไอเสียรถดีเซล ร้อยละ 52 จากการเผาชีวมวลร้อยละ 35 ฝุ่นทุติยภูมิและอื่นๆ ร้อยละ 13 ส่วนในปี 2560 พบว่าฝุ่น PM2.5 มาจากไอเสียรถดีเซลร้อยละ 20.8-29.2 จากการเผาชีวมวลร้อยละ 24.6-37.8 ฝุ่นทุติยภูมิร้อยละ 15.8-20.7 และอื่นๆ ทั้งนี้ในช่วงหน้าแล้งจะมีการเผาชีวมวลสูงกว่าในช่วงหน้าฝน
โครงการศึกษาดังกล่าวข้างต้นของกรมควบคุมมลพิษ ยังอ้างองค์การอนามัยโลก คาดคะเนว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษอากาศใน ปี 2556 ประมาณ 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นการลงทุนเพื่อควบคุมมลพิษ PM2.5 จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หลายฝ่ายจึงผลักดันให้มีการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรฐานไอเสียรถยนต์เป็นระดับ Euro 4 เพื่อลดระดับฝุ่นละอองและการสูญเสียด้านสุขภาพอนามัยที่คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท หากมีการนำมาตรฐาน Euro 5 และ Euro 6 มาใช้โดยเร่งด่วนย่อมจะยังผลประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยที่คุ้มค่ากับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมควบคุมมลพิษในปี 2556 ระบุว่าหากไทยมีการปรับปรุงใช้น้ำมันดีเซลเป็นมาตรฐาน Euro 5 จะใช้เงินลงทุนครั้งเดียว 25,000 ล้านบาท แต่จะให้ผลประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมถึง 22,680-56,700 ล้านบาท/ปี
ต้องทุ่ม3หมื่นล้านปรับปรุงโรงกลั่น
บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 แก้ต้นตอ
หลังเกิดปัญหาวิกฤตฝุ่นจิ๋วเป็นเวลาร่วมเดือน คพ. ประสาน กับ กทม. บก.จร. ขนส่ง กองทัพฯ กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัด ออกมาตรการระยะสั้น 9 มาตรการ พร้อมคาถา 5 ข้อป้องกัน โดยมาตรการระยะสั้น 9 ข้อ เช่น เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศ, แจกหน้ากากอนามัย N95 ในบางพื้นที่, เข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด, จัดตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า และการก่อสร้างอาคารสูงและระบบสาธารณูปโภค, การแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด, เข้มงวดมิให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง, รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอดในสถานที่ราชการ และการทำฝนเทียม
สำหรับคาถา 5 ข้อกันฝุ่นละอองจิ๋ว ที่ คพ. แนะนำ มี 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ 1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ 2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดป้องกันฝุ่นละออง 3.ใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง และ 5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว
ส่วนมาตรการระยะยาว จะปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5/6 และส่งเสริมและผลักดันให้ใช้รถโดยสารที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รถโดยสารไฟฟ้า รวมทั้งรถโดยสารไฮบริด ปรับลดอายุการตรวจสภาพรถยนต์ใช้งาน การเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า จัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า พร้อมทั้งโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯโดยเร็ว
กล่าวสำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ได้ผล ถือเป็นความอืดอาดล่าช้าของ คพ. เมื่อฟังจาก กรมธุรกิจพลังงาน ที่รับลูกนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ที่ถูกขันนอตให้เร่งจัดการปัญหา โดยนายศิริ ให้ ธพ. ไปหารือกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเร่งรัดการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งปัจจุบันโรงกลั่นบางแห่งเริ่มผลิตแล้ว แต่บางโรงยังไม่เริ่มเพราะรอดูมาตรการภาครัฐบังคับ ซึ่งก่อนนี้ กระทรวงพลังงาน เคยศึกษาว่าหากปรับการผลิตเป็นยูโร 5 จะมีการลงทุนปรับโรงกลั่นรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ประเทศไทย ได้ปรับเพิ่มมาตรฐานโรงกลั่นมา โดยประกาศใช้มาตรฐานยูโร 4 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2555 และเดิม คพ. มีแผนจะประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2561 และให้ทุกโรงกลั่นฯ เริ่มผลิตได้ในปี 2565 แต่ล่าสุด คพ. ยังไม่ได้มีการเสนอครม.เพื่อให้เกิดการประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 โรงกลั่นต้องใช้เวลาปรับปรุงระบบการผลิตประมาณ 5 ปี
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2560 ทาง คพ. ได้หารือกับค่ายรถยนต์และ 6 โรงกลั่นฯ ของไทย ซึ่งขณะนี้มีบางส่วนของ 3 โรงกลั่น ได้แก่ บมจ.บางจาก, บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิเคอล, บมจ.ไทยออยล์ เริ่มผลิตยูโร 5 ได้แล้ว ในขณะอีก 3 โรงยังไม่ได้เริ่มผลิต โดยกลุ่มโรงกลั่นบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการปรับมาตรฐานยูโร 5 เพราะต้องลงทุนเพิ่มประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โรงกลั่นฯ หรือรวม 6 โรงกลั่นกว่า 80,000 ล้านบาท และอาจมีผลทำให้ต้นทุนดีเซลของภาคประชาชนต้องปรับเพิ่มประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร ขณะที่ยังไม่แน่ชัดด้านข้อมูลสาเหตุของการเกิดมลพิษ และต้องดูถึงการผลิตรถยนต์รองรับยูโร 5 มากน้อยเพียงใด จึงทำให้การประกาศมาตรฐานยูโร 5 ไม่คืบหน้า
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง เร่งกำชับให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบกำหนดมาตรการ และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดหรือลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีสาเหตุจากกระบวนการอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานวางแผนติดตามจัดการมลพิษ ฝุ่นละอองจากโรงงาน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และสั่งการให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจกำกับดูแลโรงงานที่มีความเสี่ยงปล่อยฝุ่นละออง เช่น โรงงานที่มีหม้อไอน้ำโดยใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นเชื้อเพลิง ที่มีและใช้อยู่ภายในโรงงานทั่วประเทศ 14,000 กว่าลูก โรงโม่หิน โรงงานผลิตแอสฟัลติก โรงงานผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปเพื่อการก่อสร้าง เป็นต้น หากตรวจพบการปล่อยมลพิษทางอากาศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานควบคู่กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบวิเคราะห์และรายงานผลมลพิษทางอากาศของโรงงานที่มีการประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านมลพิษทางอากาศ ทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซล เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ 60%, การเผาไหม้ในที่โล่งพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด 35% การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ 5% กระทรวงฯ ได้มีมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วนภายใน 2 วัน ในส่วนของรถโดยสาร ขสมก.ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2,075 คัน ให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ปัญหาควันดำและไอเสีย ให้ ขสมก.เปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถทุกคัน, มอบหมายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถและควันดำทั้งหมด 18 ทีม โดยแบ่ง 8 ทีมเข้าตรวจสภาพรถ ขสมก. หากพบมีควันดำให้หยุดวิ่งทันทีจนกว่าจะแก้ปัญหาควันดำได้จึงจะกลับมาวิ่งใหม่ได้
2. ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ ขสมก.จะเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซล B20 ซึ่งจะลดผลกระทบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 15% ลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ 33% ไฮโดรคาร์บอน 21% ลดฝุ่นละอองได้ 3.7% เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลเดิม โดยตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2562 ได้นำน้ำมัน B20 ใช้กับรถเมล์ธรรมดา ยี่ห้อฮีโน่ และมิตซูบิชิ จำนวน 815 คัน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป ใช้กับรถเมล์ ยี่ห้อมิตซูบิชิ และอีซูซุ รถแอร์ ยี่ห้ออีซูซุ และฮีโน่ รถแอร์ยูโรทู ยี่ห้ออีซูซุ เบนซ์ และแดวู จำนวน 1,260 คัน ขณะเดียวกัน ขสมก.อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดหารถโดยสารใหม่ 2,188 คันที่ใช้เครื่องยนต์ NGV, ไฮบริด และรถเมล์ไฟฟ้า ภายในปี 2562-2563 ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นและควันดำระยะยาว
ในส่วนของกรมการขนส่งฯ จะร่วมกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ตั้งจุดวัดควันดำเพิ่มจาก 12 จุดเป็น 20 จุด ซึ่งจะตั้งจุดตรวจทั้งรถบรรทุก รถตู้โดยสาร ร่วมบริการ ขสมก.และ บขส. รวมถึงรถโดยสาร บขส. และรถหมวด 30 (ไม่ประจำทาง)
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานดิน งานฐานรากที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยมีถนนที่ได้รับผลกระทบ คือ แจ้งวัฒนะ, ศรีนครินทร์, ลาดพร้าว, รามคำแหง, รามอินทรา นั้น ได้สั่งให้ รฟม.ขอความร่วมมือผู้รับเหมางดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในช่วง 7 วัน (16 - 22 ม.ค. 62) รวมถึงให้ล้างพื้นที่ก่อสร้างและถนน รวมถึงรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออกโครงการก่อสร้างจะต้องทำความสะอาดล้อรถ
สำหรับจุดที่มีค่า PM2.5 สูง บริเวณทางระดับบางขุนเทียน ถนนพระราม 2 ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก เนื่องจากมีรถบรรทุกมาก และรถติดหน้าด่านทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ ซึ่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดจราจรให้รถวิ่งผ่านด่านเร็วขึ้น พร้อมทั้งจัดหาเครื่องปล่อยฝอยละอองน้ำเพื่อนำมาฉีดพ่นในบริเวณดังกล่าว
ถอดบทเรียนแก้วิกฤตฝุ่นพิษจากทั่วโลก
วิกฤตฝุ่นละออง2.5 เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก หลายประเทศมีมาตรการจัดการปัญหาจนสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายและค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหามลพิษในประเทศต่างๆ เช่น
กรุงปารีส ฝรั่งเศส รณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ห้ามใช้รถยนต์ในย่านฌ็องเซลิเซ่ 1 ครั้ง ต่อเดือน และสนับสนุนการใช้จักรยาน
กรุงนิวเดลี อินเดีย กับ จีน รณรงค์กระตุ้นให้ผู้คนใ ช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถตู้ อูเบอร์มากขึ้น รวมถึงมาตรการการจัดการมลพิษทางอากาศกับภาคอุตสาหกรรมและถ่านหิน
เกาหลีใต้ รัฐบาลชุด มุน แจอิน อนุมัติให้ ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในเกาหลีใต้ 8 แห่งชั่วคราว 4 เดือน เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และมีแผนการจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่าถาวรภายในเดือนพฤษภาคมปี 2563
เนเธอร์แลนด์ เสนอห้ามการขายรถยนต์ดีเซล และใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน แต่อนุโลมให้ประชาชนที่มีรถยนต์ดีเซลอยู่ก่อนแล้วสามารถใช้รถต่อไปได้ ในขณะที่ เมืองโคเปนเฮเกน เดนมาร์กและออสโล นอร์เวย์ รณรงค์ให้ใช้จักรยานและรถโดยสารสาธารณะ
สำหรับกรุงปักกิ่งของจีน เคยเผชิญปัญหานี้มาอย่างหนักหน่วงนั้น เพจ “บูรพาไม่แพ้” บอกเล่าเรื่องจีนทำอย่างไรฉุดปักกิ่งพ้นเมืองมลพิษ” ว่า ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ประกาศสงครามกับมลพิษ โดยตั้งแต่ปี 2013 รัฐบาลจีนออกแผนปฏิบัติการระดับชาติเรื่องมลภาวะทางอากาศ โดยให้ลดการใช้ถ่านหินลง 50% ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2018, จำกัดปริมาณการใช้ถ่านหินของมณฑลต่างๆ, ไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานใหม่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เหมืองถ่านหินแห่งสุดท้ายในพื้นที่กรุงปักกิ่งได้ปิดลงเมื่อปีที่แล้ว ระบบทำความร้อนในหน้าหนาวที่เคยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงให้เปลี่ยนใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติ โรงงานเหล็กและอลูมิเนียมใน 26 เมืองรอบกรุงปักกิ่งถูกจำกัดกำลังการผลิตในช่วงหน้าหนาว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด บางครั้งโรงงานต้องหยุดเดินเครื่อง หยุดก่อสร้างในวันที่มลพิษเกินมาตรฐาน ในส่วนของรถยนต์ มีการจำกัดป้ายทะเบียนรถยนต์ใหม่ จนเกิดปรากฏการณ์ “มีเงินซื้อรถ ก็ไม่มีป้ายทะเบียน” รถยนต์ต่างเมืองไม่สามารถเข้าพื้นที่ชั้นในกรุงปักกิ่งได้ ยิ่งรถบรรทุกยิ่งไม่มีสิทธิ์ย่างกราย
รัฐบาลจีนยังยกระดับกรมสิ่งแวดล้อมให้มีฐานะเป็นกระทรวง ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี และในเดือนมกราคม ปี 2015 ยังได้ปรับปรุงกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยให้เปิดทางให้องค์กรสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไป สามารถฟ้องร้องบริษัทหรือหน่วย
งานที่ก่อมลพิษได้ เพราะถือว่าทุกคนคือผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ นอกจากนี้ยังยกเลิกค่าปรับขั้นสูง ซึ่งหมายความว่า ศาลจะสั่งให้ผู้ที่ก่อมลพิษชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่ก็ได้ …
“ในภาษาจีนมีภาษิตว่า “น้ำพยุงเรือได้ ก็ล่มเรือได้” หากผู้มีอำนาจในทุกวันนี้ #ดูกูเกิล ก็คงทราบว่าภาษิตนี้เป็นคำสอนของอดีตฮ่องเต้ของจีนที่ให้ระลึกว่า ทวยราษฎร์เป็นดั่งสายน้ำที่คอยหนุนนำอำนาจของผู้นำ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พ้นจากอำนาจได้เช่นกัน”
รัฐบาลไทยก็เช่นกัน หากปล่อยให้ “ฝุ่นคลุ้งทั้งเมือง..สุขภาพเกินเยียวยา..ศรัทธาเสื่อมแน่”