ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขาร “พระเทพวิทยาคม” หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 มกราคม 2562 ณ พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น นั้น หนึ่งในสิ่งที่บรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนผู้ที่เคารพศรัทธาในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ “เมรุ” รวมถึง “พิธีกรรม” ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล
โดยเมรุที่ใช้นั้นจัดทำในลักษณะของ “นกหัสดีลิงค์” ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ขณะเดียวกันก็ยังมีประเพณีโบร่ำโบราณอย่าง “พิธีกรรมนางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์” ที่มีความยึดโยงกับตำนานอันเก่าแก่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตัว “นางสีดา” ที่มีอยู่จริงและสืบทอดสายเลือดกันมาแบบ “รุ่นต่อรุ่น”
ทำไมต้องเป็น “นกหัสดีลิงค์” และทำไมต้องมี “นางสีดา”?
เรื่องราวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่น่าสนใจยิ่ง
ทั้งนี้ การจัดสร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์โดยปกติตามประเพณีโบราณนั้น จะจัดทำเฉพาะการฌาปณกิจศพเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เท่านั้น ซึ่ง “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ในฐานะผู้ดำเนินการสร้างขึ้นภายใต้งานวิจัย ศึกษา ค้นคว้า ประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ การศึกษาข้อมูล การออกแบบ และการก่อสร้าง
ด้านการศึกษาข้อมูล ได้ทำการสำรวจวรรณคดีโบราณ โดยเฉพาะในภาคตะวันอกเฉียงเหนือในการจัดพิธีการฌาปณกิจศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่ให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีที่เหมาะสมดีงาม
ด้านการออกแบบ มีการถอดอัตลักษณ์ของหลวงพ่อคูณ จากความเรียบง่าย สู่งานศิลปะสีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง และเมื่อถอดรหัสเอกลักษณ์ของหลวงพ่อผ่านงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณวัดบ้านไร่พบว่ามีรูปปั้นช้างมี 4 งา ขณะที่หัวของนกหัสดีลิงค์ก็เป็นช้าง 4 งา ด้วยเช่นกัน
และสุดท้าย ด้านการก่อสร้าง ซึ่งมาจากช่างหลายสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน ช่างศิษยานุศิษย์ มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโบราณ อาทิ เขียน แกะ สลัก ปั้น ปูน รัก หุ่น บุ กลึง หล่อ โดยมีศูนย์กลางก่อสร้างที่ริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำหรับโครงสร้างตัวนกจัดสร้างจากไม้เนื้อแข็ง สูง 22.6 เมตร นำไม้ไผ่มาทำโครงด้านนอก และใช้กระดาษสีขาวมาพับคล้ายการทำเปเปอร์มาเช่ หรือประติมากรรมกระดาษ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเผาพร้อมกับร่างหลวงพ่อในวันที่ทำพิธีฌาปนกิจ ประดิษฐานบนฐานแปดเหลี่ยม กว้าง 16 เมตร ประกอบด้วยนาคที่มีความยาว 5 เมตร 12 ตน และรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ 32 ตน
ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากขนาดที่ใหญ่และความงดงามที่สุดของเมรุลอยแล้ว นกหัสดีลิงค์ที่ประกอบเมรุลอยนี้ ยังถูกสร้างให้มีกลไกในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ได้ อาทิ หันศีรษะ ม้วนงวง กะพริบตา กระดิกหู และมีเสียงร้อง เป็นต้น
ปัจจุบันเมรุนกหัสดีลิงค์ได้ทำการเคลื่อนย้ายไปประดิษฐาน ณ พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จครบถ้วน ภายในวันที่ 21มกราคม 2562โดยพุทธศาสนิกชนสามารถเข้าชมได้ ตั้งแต่วันที่ 21-28 มกราคม 2562 อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่วันที่ 29 มกราคม 2562จะทำการเคลื่อนย้ายสรีรสังขารหลวงพ่อคูณจากศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มายังพุทธมณฑลอีสาน และจะไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปยังมณฑลพิธีได้
รศ.ดร. นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานฝ่ายก่อสร้างนกหัสดีลิงค์ เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการก่อสร้างนกหัสดีลิงค์นอกจากคำนึงถึงข้อมูลจากการวิจัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงโลง 3 โลง ประกอบด้วย โลงที่ 1 ทำด้วยไม้จันทน์หอม เป็นโลงที่สำคัญมากคือโลงที่ต้องบรรจุสรีรสังขารของหลวงพ่อคูณส่วนโลง 2 คือโลงสแตนเลส วางบนท่อนฟืนไม้จิก ล็อกด้วยกุญแจ 4 ตัว เพื่อกันเปลวไฟไม่ให้เข้าไปถึงเถ้ากระดูกของหลวงพ่อได้ โลงสุดท้ายคือ ประติมากรรมนกหัสดีลิงค์ ที่ครอบโลง 1 และ 2 อยู่
เมื่อฌาปนกิจแล้วร่างของหลวงพ่อจะอยู่ในโลงสแตนเลสกันเปลวไฟ และโลงจะล็อก เพื่อไม่ให้ผู้ใดสามารถเข้าถึงเถ้ากระดูกของหลวงพ่อได้ ตามประสงค์ของหลวงพ่อ ซึ่งได้เตรียมการประกอบพิธีกรรมนางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์ตามขนบธรรมเนียมไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
กล่าวสำหรับ“นกหัสดีลิงค์” หรือ นกสักกะไดลิงค์ นั้น เป็นนกที่มีส่วนหัวเป็นช้าง ตัวเป็นนกขนาดใหญ่ มีกำลังมหาศาล ตามตำนานเล่าขานกันว่าสมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง
ขณะนั้นมีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด
ในครั้งนี้ ธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์นั้น นางมีนามว่า สีดา นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตายจกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมาหาเทวี จึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน
ต่อจากนั้นมาเจ้านายในพระราชวงศ์นั้นแห่งเมืองตักกะศิลาเชียวรุ้งแสนหวีฟ้ามหานครได้ถือเอาประเพณี ทำเมรุนกหัสดีลิงค์ หรือนกสักกะไดลิงค์นั้นขึ้น เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิง ถวายแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม และประเพณีนี้จึงถือสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน
สำหรับการประกอบ “พิธีกรรมนางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์” นั้น ต้องบอกว่า เป็นขนบประเพณีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ประธานฝ่ายก่อสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้สืบเชื้อสายนางสีดาหรือผู้ที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ในพิธีกรรมงานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่หลวงพ่อคูณ เป็นความเชื่อที่เป็นตำนานของชาติพันธุ์ไทย เพราะชาติพันธุ์ไทยไม่ใช่สยามอย่างเดียว แต่ยังมีคนไทยที่อยู่กระจัดกระจายอยู่ในโลกใบนี้ มีทั้งล้านนา, ไทยลื้อ, ไทยดำ, ไทยแดง, ไทยด่อน และจากงานวิจัยพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยเหล่านี้ เมื่อเจ้านายผู้ใหญ่สิ้นพระชนม์ หรือพระเกจิที่มีชื่อเสียงเหมาะสมเพียงพอสมณศักดิ์ ก็จะสร้างนกหัสดีลิงค์ตามตำนาน และตามตำนานนั้นก่อนที่จะเผาผู้วายชนม์ จะต้องมีพิธีกรรมการฆ่านกหัสดีลิงค์ และผู้ที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ได้คือนางสีดา
“นางสีดาตามตำนานนี้ ไม่ใช่พระมเหสีของพระราม ในรามเกียรติ์ แต่เป็นนางสีดาตามตำนานที่เชื่อว่ามีอยู่จริง เพราะจากการสืบทราบจากงานวิจัยในอีสานนั้น พบว่านางสีดา ถูกสร้างขึ้นสอดคล้องตามตำนาน เป็นนางสีดาสืบเชื้อสายจากเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวอีสาน ในงานพิธีของหลวงพ่อคูณ จะใช้นางสีดา ซึ่งสืบสายเชื้อจากเมืองอุบลราชธานี ทั้งนี้ จากการวิจัยที่มีหลักฐาน พบว่า การฆ่านกหัสดีลิงค์ตัวแรกของเมืองอุบลนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2314 คือผู้สืบเชื้อสายชื่อว่า แม่นางัว จากนั้นก็สืบสายเชื้อมาเป็น ญาแม่สุกัน ปราบภัย และ แม่มณีจันทร์ ผ่องศรี
“ต่อมาเมื่อ แม่มณีจันทร์ เสียชีวิต ก็มี แม่สมวาสนา ซึ่งเป็นลูกสาว ได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมา ซึ่งถ้านับถึงยุคปัจจุบัน คือมีการสืบเชื้อสายมาทั้งหมด 6 คน โดยคนล่าสุดและยังคงมีชีวิตอยู่นางสาวเมทินี หวานอารมณ์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจสอบภายใน ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต 3 ซึ่งเป็นเหลนของ แม่มณีจันทร์ คนที่ 6 และนางเมทินี ก็เคยผ่านการฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้วเช่นกัน โดยในงานพิธีพระราชทานเพลิศพครูใหญ่หลวงพ่อคูณ ในครั้งนี้คุณเมทินี ได้ตอบรับการมาร่วมในพิธีของหลวงพ่อคูณ ที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว”
“ผู้สืบเชื้อสายนางสีดา ไม่ใช่การสืบสายทางเนื้อหนัง แต่เป็นการสืบทอดจากตำนาน เป็นตำนานเล่าขานกันต่อๆ มา เป็นการสืบเชื้อสายจากร่างทรง นางสีดาเข้าสิง ซึ่งไม่ใช่ที่ทุกคนจะเป็นร่างทรงนางสีดาได้ แต่เมื่อใดที่มีการฆ่านกหัสดีลิงค์ และผู้ที่ลงมือฆ่านกหัสดีลิงค์ก็คือผู้สืบเชื้อนางสีดาที่ถูกเลือกแล้วตามตำนาน ก็คือร่างทรงนางสีดา ก็คือผู้สืบเชื้อสายนางสีดา ปัจจุบันคือคุณเมทินี”
รศ.ดร.นิยม อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การที่นางสาวเมทินีมาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดานั้น ไม่ใช่การสืบเชื้อสายที่ใครๆ ก็เลือกที่จะเป็นได้ เพราะในรุ่นขอ แม่มณีจันทร์มาถึงรุ่นแม่สมวาสนา ซึ่งมีลูกคือแม่ประทิน แต่รุ่นลูกของแม่ประทินนั้น ไม่มีใครสืบชื้อสายนางสีดา การสืบเชื้อสายนางสีดาจึงหายไปในบางช่วง กระทั่งมาถึงคุณเมทินี ซึ่งเป็นรุ่นเหลนที่มาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาแห่งเมืองอุบลราชธานี ซึ่งได้มาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาในปัจจุบัน โดยคนในครอบครัวบอกว่าคุณเมทินีนั้นเคยประสบอุบัติเหตุถึงขั้นที่แพทย์ ญาติพี่น้องว่าตายไปแล้ว แต่มีบางคนยังไม่เชื่อ จึงกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงบอกกล่าวนางสีดาตามเชื้อสายที่เรียงลำดับกันมาว่า หากนางเมทินีฟื้นคืนชีพ ยินดีที่จะเป็นร่างทรง หรือผู้เชื้อสายนางสีดาต่อไป จากนั้นนางเมทินีก็ฟื้นคืนชีพ และเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาสายเมืองอุบลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มข. ได้เตรียมการรับคณะนางสีดาและเครื่อบริกรรมต่างๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีในการฆ่านกหัสดีลิงค์ ซึ่งคุณเมทินีนั้นจะเดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงวันที่ 27 ม.ค.ที่จะถึงนี้
จากการสืบค้นข้อมูลพบด้วยว่า ในการที่จะเชิญเจ้าแม่สีดามาฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น โบราณมีว่า ตัวแทนของอัญญาสี่ จำนวนผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 4 คน ที่เป็นบุตรหลานของอัญญาสี่จะต้องนำขันธ์ห้า คือ ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียนแท้ 5 คู่ ยาวคืบหนึ่ง ใส่พานไปที่ตำหนักทรงของเจ้าแม่สีดา เพื่อบอกกล่าวเชิญเจ้าแม่ไปฆ่านกหัสดีลิงค์
เมื่อผู้ทรงได้รับขันธ์เชิญก็จะเข้าทรงเชิญเจ้าแม่สีดาลงมาพบตัวแทนอัญญาสี่ แล้วว่าจะรับหรือไม่ เมื่อเจ้าแม่ในร่างทรงรับจะไปฆ่านกหัสดีลิงค์เรียกว่า คายหน้า คือ เครื่องบูชาบวงสรวงก่อนที่จะไปฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น จะต้องมีการบวงสรวงเข้าทรงเสียก่อนตามประเพณีโบราณ เครื่องบูชาครูหรือเครื่องบวงสรวงมีทั้งหมด 17 รายการ
เมื่อขบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกสักกะไดลิงค์หรือนกหัสดีลิงค์แล้วขบวนก็จะเดินไปรอบๆ พอนกหัสดีลิงค์เห็นเช่นนั้นก็จะหันซ้ายหันขวางวงก็จะไขว่คว้า ตาก็จะเหลือกขึ้นลง หูก็กระพือปากก็จะอ้าร้องเสียงดัง พร้อมที่จะต่อสู้ เจ้าแม่สีดาก็ไม่รั้งรอ ก็จะทรงศรยิงไปที่นกหัสดีลิงค์จนนกหัสดีลิงค์หมดแรงไม่เคลื่อนไหว ซึ่งแสดงว่านกหัสดีลิงค์ตายแล้ว แผลที่ถูกยิงก็จะมีเลือดไหลออกมา
เมื่อเห็นว่านกหัสดีลิงค์หมดกำลังแล้ว บริวารของเจ้าแม่สีดาก็จะช่วยเอาหอกเอาดาบฟันนกหัสดีลิงค์ เมื่อเสร็จจากการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว ขบวนเจ้าแม่สีดาก็กลับตำหนักพักผ่อนรอจนสามคืนก็จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สีดาอีกเรียกว่า บวงสรวงครั้งหลังเรียกว่าคายหลัง เครื่องบวงสรวงก็เช่นเดิมคือ เหมือนคายหน้า คายหลังต้องใช้เงินบูชาครู 15 ตำลึง
ด้าน น.ส.เมทินี หวานอารมณ์ ผู้สืบทอดพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์รุ่นที่ 6ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสืบทอดเชื้อสายนางสีดาจะสืบต่อโดยผ่านแม่สู่ลูกสาวและหลานสาว ด้วยการรำฆ่านกหัสดีลิงค์ จะมีเพียงตระกูลเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการทำพิธีฆ่านกนี้ได้ตามคตินิยมคือ ตระกูลปราบภัย
การฆ่านกหัสดีลิงค์ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2314 ญาแม่นางงัวได้อพยพมาพร้อมกับพระวอพระตา หนีภัยมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) มาอาศัยอยู่ที่หนองบัวลำภู (ปัจจุบันคือจังหวัดหนองบัวลำภู) จากนั้นเจ้าคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ท้าวคำผง) บุตรพระตาได้พาผู้คนเดินทางโดยเรือเลียบแม่น้ำโขงมาจอดที่วัดใต้ และมาก่อสร้างเมืองอุบลราชธานีขึ้นเมื่อประมาณปี 2316
กระทั่งปี 2324 ได้มีพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ครั้งแรกในอุบลราชธานี โดยผู้ทำพิธีคือ ญาแม่นางงัว รุ่นที่ 2 คือ ญาแม่สุกัญ ปราบภัย (บุตรีญาแม่นางงัว) 3. ญาแม่มณีจันทร์ ผ่องสิลป์ (บุตรีญาแม่สุกัญ) 4. คุณยายสมวาสนา รัศมี (บุตรีญาแม่มณีจันทร์) 5. คุณยายประทิน วันทาพงษ์ (บุตรีญาแม่มณีจันทร์ พี่สาวคุณยายสมวาสนา) และรุ่นที่ 6 คือตนเอง (หลานคุณยายประทิน) เพราะการสืบทอดเชื้อสายนางสีดา จะสืบทอดผ่านแม่สู่ลูกสาวและหลานสาว และเป็นเพียงตระกูลเดียวที่สามารถประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ได้
“รู้สึกยินดีมากที่ได้เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ เพราะเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อคูณเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วประเทศ ประเพณีนี้จะอยู่วงตระกูลเราเท่านั้น จึงไม่เป็นที่รู้จักกันมากเท่าไหร่ แต่ตามตำนานหรือว่าคนที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ได้ก็คือนางสีดาเท่านั้น”นางสาวเมทินีบอกเล่า
สำหรับการร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ นั้น ในวันงานจะมีพิธีบวงสรวง และการจัดทัพออกรบตามตำนาน ประกอบด้วยขบวนอาญา 4 ซึ่งจะเป็นทหารเอกในการออกรบร่วมกับนางสีดา แต่งกายแบบชาวล้านนา เป็นผ้าซิ่น เสื้อ ผ้าพันคอ มีหมวกหรือกุบไต อาวุธที่จะไปใช้ฆ่านกประกอบด้วย หอก เหง้า ดาบ ศร ซึ่งมีอายุกว่า 200 ปี พร้อมเครื่องดนตรี ทั้งกลอง แคน และฉิ่ง ส่วนเพลงประกอบจะเป็นเพลงเดินดง
“ระหว่างการเดินทางจะไม่มีการหยุดพักหรือแวะที่ใดโดยเด็ดขาด จะต้องเดินทางจากที่ตั้งไปถึงที่ตั้งค่ายพร้อมออกไปฆ่านกหัสดีลิงค์เมื่อถึงเวลาอันควร เมื่อฆ่านกสำเร็จกลับมาบ้าน จะมีการเลี้ยงคณะที่ไปร่วมขบวนรำ หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกันไป” น.ส.เมทินีเล่า และบอกอีกว่าการเป็นทายาทนางสีดาในตำนานไม่ใช่ว่าญาติคนไหนอยากจะเป็นแล้วจะเป็นได้ คนที่เป็นนางสีดาได้จะต้องถูกเลือกเองโดยมีองค์ลง ผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นทายาทจะต้องทำที่บูชาเครื่องสักการะ ใครจะเข้ามาเป็นนางสีดาจะต้องไปกราบไหว้บอกกล่าวก่อน งานถึงจะออกมาราบรื่น
สำหรับตระกูลปราบภัย ซึ่งทำหน้าที่นางสีดา ผู้ประกอบพิธีรำฆ่านกหัสดีลิงค์ตามประเพณีโบราณกว่า 200 ปี ถึงปัจจุบันเท่าที่มีบันทึกไว้ นางสีดาได้ฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ส่วนตัวนางสาวเมทินีเองได้ฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้ว 1 ตัว งานพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณจึงเป็นการประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์เป็นตัวที่ 2 ในชีวิตของการสืบทอดเชื้อสายนางสีดา
ส่วนเมื่อเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงแล้ว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับฉันทานุมัติจากคณะดำเนินงานพิธีพระราชทานเพลงศพครูใหญ่ และครูใหญ่พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อ คูณ ปริสุทฺโธ) เป็นกรณีพิเศษ ให้สร้างเจดีย์ครอบบริเวณที่ทำฌาปนกิจสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ โดยไม่มีการเคลื่อนย้าย นาคและสัตว์ป่าหิมพานต์ รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ให้พุทธศาสนิกชน รำลึกถึง พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ตลอดกาล.