xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สร้างปมขัดแย้งกกต.-คสช. เปิดช่องลากยาววันเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสไม่พอใจเลื่อนเลือกตั้ง ช่วงไม่กี่วันแรกอาจมีแค่หยิบมือ แต่นานวันชักจะเริ่มขยายตัว ตามสภาพที่มันเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนหลายคนชักไม่เชื่อใจ “ท็อปบูต”แม้จะอ้าง 150 วัน หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 11 ธ.ค.61 และจะไปสิ้นสุดวันที่ 9 พ.ค.62

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันแม้จะเลื่อนจาก 24 ก.พ.62 แต่อยู่ในกรอบ 150 วัน แน่นอน อย่างไรก็ไม่เกินนี้ เพราะมีเดดไลน์ 9 พ.ค.62 เป็นตัวล็อกไว้

แต่ฝ่ายอยากเลือกตั้งไม่มั่นใจ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพลิกลิ้น แต่เกิน 5 ครั้งไปแล้ว ที่รัฐบาลบอกจะมีการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายแล้วมันไม่เกิดขึ้น

แม้กระทั่งตอนนี้ แรกเริ่มเดิมทีระบุว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ม.ค.62 แต่มีกำหนดการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏขึ้นมา ทุกอย่างจึงต้องเลื่อนออกไป
              
  ไม่ใช่ทุกคนไม่เข้าใจถึงความสำคัญ และหากจะเลื่อนวันออกไปก็ไม่มีใครติดขัด หากแต่มันมีอาการแปลกๆ แสดงให้คนหวาดระแวงว่า มันจะไม่ใช่แค่เลื่อน แต่อาจไปถึงขั้นล้มเลือกตั้ง

โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ยังถกเถียงกันว่า การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน หลังวันเข้าคูหา มันต้องทำให้เสร็จอยู่ในกรอบ 150 วันหรือไม่

“เนติบริกร”วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะซือแป๋กฎหมาย ยืนยันว่า 60 วัน ในการประกาศผล ไม่อยู่ในกรอบ 150 วัน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ใช้มาตรา 286 ในบทเฉพาะกาล เช่นเดียวกับ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ออกมาสำทับอีกคำรบว่า เป็นอย่างนั้น

ทว่า วิษณุ เองก็สร้างความไม่มั่นใจไปในตัวว่า เพื่อความปลอดภัย ควรจะทำให้เสร็จภายใน 150 วันนั้นเสีย แบบนี้มันก็ยิ่งคลุมเครือว่า สุดท้ายควรเชื่อหรือไม่เชื่อดี

หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยากจะทำให้ทันในกรอบ 150 วัน ทั้งวันเข้าคูหา และวันประกาศผล แต่โดยระยะเวลามันกระชั้นชิด ตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร ทางเดียวคือ รีบรองรับผลให้ได้ภายใน 30 วัน เหมือนที่ผ่านมา ไม่ต้องใช้โควตาเต็มลิมิต 60 วัน แต่ถ้า กกต.ดันรับรองไม่ทันขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น ยังไม่นับรวมวัน เวลา ที่จะต้องไม่ให้ไปคร่อมกับวันงานพระราชพิธีอีก
              
  ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติต่อให้ วิษณุ กรธ. คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือใครต่อใคร ออกมาให้ความเห็นตรงกันว่า 60 วันที่ต้องประกาศผลให้เสร็จสิ้นหลังวันเข้าคูหา ไม่ได้รวมอยู่ใน 150 วัน แต่อย่าลืมว่า เป็นเพียง“ความเห็น”เท่านั้น ไม่ใช่ตัวชี้ขาดทางกฎหมายที่จะใช้วัดหรือตัดสินอะไรได้

การวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ มีเพียงคนเดียวที่จะตัดสินคือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ให้เป็นองค์กรที่ตีความรัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องจากฝ่ายอยากเลือกตั้ง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนเสียตั้งแต่ตอนนี้ แต่คนพวกนั้นไม่ได้เป็นพวกที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางกฎหมาย คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางกฎหมายคือ “กกต.”แต่ กกต.ยังไม่ได้แสดงอะไรที่บ่งบอกว่าจะยื่น

กกต.อ้างว่า เพราะยังไม่เกิดปัญหาจึงยังไม่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งที่ความเป็นจริงการรอให้เกิดปัญหาก่อน นั่นคือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเป็นลบ ถึงตอนนั้นความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล และเป็น กกต.เอง ที่ต้องรับหายนะที่เกิดขึ้น

ทำไม กกต.ต้องเอาตัวเองไปเสี่ยง ซึ่งในทางปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยได้หมด ถ้ากกต.จะยื่นให้ตีความว่า สรุปแล้วต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 150 วัน หรือแค่ให้จัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 150 วันพอ ส่วนการประกาศผลเกิดขึ้นหลังจากนั้นได้

ถ้ายื่นตอนนี้ อย่างไรก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะปัจจุบันไม่มีคดีความ หรือเรื่องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมรู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งมีกรอบเวลาที่กระชั้นชิดอย่างไร ต้องรีบวินิจฉัยออกมาให้ทันการณ์

พอ กกต.ไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ มันเลยทำให้คนนินทาหมาดูถูกว่า สรุปแล้ว กกต.กำลังทำอะไรอยู่ หรือมีเส้นสนกลในอะไร หรือไม่ ยิ่งทำให้ความหวาดกลัวว่าโรคเลื่อนจะเล่นงานอีกออกมาหลอกหลอน 
             
   แน่นอน ถ้า กกต.จะไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อความเห็นของวิษณุ และกรธ. ว่า 60 วันที่ใช้ในการประกาศผล ไม่อยู่ในกรอบ 150 วัน ก็ไม่เป็นปัญหา สามารถทำแบบนั้นได้ โดยไปประกาศผลหลัง วันที่ 9 พ.ค.62 ไปแล้วก็ได้

แต่ถ้าถึงเวลานั้น ดันบังเอิญมีพวกมือบอน หอบความสงสัยไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะมองว่า การประกาศผลควรจะอยู่ใน 150 วันด้วย แบบนี้ต้องบอกว่า งานเข้า และเสี่ยงมากๆ

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การประกาศผลภายใน 60 วัน ต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน เท่ากับว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นโมฆะ ครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ปี หลังเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2557
             
   พรรคการเมืองคงไม่ยื่นให้เป็นปัญหาแน่ เพราะได้เลือกตั้งสมใจแล้ว แต่คนของฝ่ายอำนาจในปัจจุบันนี่แหละ ที่คนหวาดระแวง โดยเฉพาะถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นที่พึงพอใจ อาจใช้ใครสักคน เดินทางไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความในเรื่องนี้ และถึงตอนนั้นใครจะรับประกัน

การทิ้งความคลุมเครือ โดยไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนนี้ จึงเป็น “ช่อง”ที่จะทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ดูน่าหวาดเสียวตลอดเวลาว่า จะโอละพ่อตอนจบหรือไม่

ดังนั้น รัฐบาลที่กำลังเป็นฝ่ายตั้งรับ โดนค่อนแคะว่าจ้องจะเลื่อนการเลือกตั้ง ควรส่งสัญญาณให้ กกต. ยื่นเรื่องนี้เสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อย่าลืมว่าข้อหาจ้องจะเลื่อนเลือกตั้งตอนนี้คุกรุ่น มันไม่ใช่ใครไม่เข้าใจ แต่มันเป็นอารมณ์สะสม ที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนคนเบื่อและลุกขึ้นมาตีฆ้องร้องเป่า

ที่สำคัญ มันไม่เป็นผลดีกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคของทหาร เพราะเวลาคนด่ารัฐบาล ก็เหมือนด่าพรรคพลังประชารัฐไปในตัว ส่งผลต่อคะแนนนิยมตัวเองอีก

ยกเว้น หมากกระดานนี้มันเป็นเกมที่มีความตั้งใจให้มันคลุมเครือแบบนี้ เพื่อเป็นทางหนีทีไล่ของฝ่ายอำนาจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระแสที่ไม่สู้ดี หรือความแข็งแกร่งของคู่ต่อสู้ ที่ยังนำไปเทียบไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดพรรคเพื่อไทยชนะแบบถล่มทลาย ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้น้อยเกินกว่าจะชูคนของตัวเองในสภา
         
      อย่างน้อยช่องว่างที่มีความคลุมเครือ อาจเอาไปใช้ในการแก้เกมเมื่อถึงตอนนั้น ศรีธนญชัยยังเรียกพี่ พับผ่า !!!





กำลังโหลดความคิดเห็น