xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แต่งชุด “ไปรเวท”ไป “โรงเรียน” เพิ่ม “ความสุข” เคารพ “ความแตกต่าง”?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สปอตไลต์สาดแสงไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หลังเริ่มทดลองให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (ทุกวันอังคาร) เริ่มตั้งแต่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนัยให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งความสุขของนักเรียน เคารพความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมด้วยกันได้

การแต่งชุดไปรเวทมาเรียนทุกวันอังคารเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ซึ่งเป็น “โรงเรียนเอกชน” โดยไม่มีการบังคับให้เด็กแต่งเครื่องแบบใดๆ จะแต่งชุดไปรเวทหรือนักเรียนก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือหากพบว่าการแต่งชุดไปรเวทมาเรียนแล้วทำให้ผลการเรียนแย่ลง หรือได้รับผลกระทบต่อการเรียนหนังสือก็จะยกเลิกทันที

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการอนุญาตให้เด็กนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนได้ 1 วัน ใน 1 สัปดาห์ มีโรงเรียนที่เริ่มทำมาบ้างแล้วเพียงแต่ไม่เป็นข่าวครึกโครม อีกทั้งประเด็นยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนก็มีการถกเถียงเป็นระลอกในสังคมซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ในส่วนของ “โรงเรียนสังกัดรัฐบาล” การแต่งชุดไปรเวทไปเรียนนั้นไม่สามารถทำได้ในเชิงปฏิบัติ เนื่องจากมี พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุชัดเจนว่าโรงเรียนสังกัดรัฐบาลกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหากจะใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่น เช่น ชุดลำลอง ชุดไทย ฯลฯ ต้องได้รับอนุญาตจากศึกษาธิการจังหวัดก่อนจึงจะสามารถทำได้

โดยสาระสำคัญ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ร่วมกับสภานักเรียนมัธยมศึกษาทดลองให้นักเรียนมัธยมเลือกใส่เครื่องแต่งกายไปรเวทด้วยตนเองสัปดาห์ละ 1 วัน โดยกำหนดทุกวันอังคารเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องแต่งกายที่ไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียนมาเรียนหนังสือนั้นจะส่งผลต่อการพัฒนาของนักเรียนในเชิงสร้างสรรค์อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ รวมทั้งเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทันสมัยขึ้นและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งจะใช้เวลา 1 ภาคเรียนโดยเริ่มเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562

ก่อนจะประกาศให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนได้นั้น มีการคุยกันมานานกว่า 10 ปี โดยที่มาที่ไป นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ขณะที่เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ได้ถูกส่งตัวไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีโอกาสเห็นงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายและความสุขในการเรียน ดังนั้นเมื่อกลับมาจึงมีการเสนอเรื่องนี้

“มีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการกลั่นกรอง จนตกผลึก และเริ่มโครงการวิจัยเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ปัจจุบันเราสอนเด็กไม่ใช่เฉพาะเรื่องสติปัญญาเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีทั้งความรู้และบุคลิกภาพที่ดี มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ไป นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กล่าว

ย้ำว่า... โรงเรียนไม่มีการบังคับให้ใส่ชุดไปรเวทมาเรียน ทั้งนี้เป้าหมายเพื่ออยากให้โรงเรียนสถานที่แห่งความสุขของนักเรียน เชื่อว่าแค่หนึ่งวันก็จะการสร้างความสุขให้เด็ก มีความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งสะท้อนให้เห็นความแตกต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้

โดยจะทดลองเป็นเวลา 1 เทอม ซึ่งก็เหลือเวลาประมาณ 5 - 6 สัปดาห์ หากพบว่า เด็กสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข จะเริ่มการทดลองในสเตปต่อไป เพื่อดูผลที่เกิดขึ้นในด้านความคิดสร้างสรรค์และความกล้าแสดงออกซึ่งอาจใช้นานนับปีกว่าจะรู้ผล อย่างไรก็ตามหากผลวิจัยเป็นไปในทิศทางที่ดี จะเปิดโอกาสให้เด็กแต่งชุดไปรเวทได้มากกว่า 1 วันหรือไม่? ผู้บริหารท่านนี้แสดงความคิดเห็นว่าการแต่งชุดไปรเวทมาเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว

สำหรับบรรยากาศวันแรกนักเรียนตอบรับกันอย่างชื่นมื่น แต่งชุดไปเวทแสดงออกถึงตัวตนแต่งตัวหลายหลายสไตล์ ชุดลำลองสบายๆ ชุดสูทเนี๊ยบๆ ชุดครีเอทเฉพาะตัว เรียกว่าทั้งเสื้อผ้ารองเท้าเครื่องประดับมีให้เห็นตั้งแต่ราคาหลักร้อยหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นกว่าบาท บ้างแต่งชุดนักเรียนชุดพละเพราะทางโรงเรียนไม่มีการบังคับใดๆ จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ขอแค่สุภาพเคารพในสถานที่

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวมีข้อวิพากษ์จากคนในแวดวงการศึกษาด้วยว่าเป็นวิธีคิดของผู้บริหารและเด็กรุ่นใหม่ ที่พ้นจากกรอบการสร้างวินัยจากคำสั่งหรือนโยบายที่มีลักษณะพัวพันกับอำนาจ เพราะที่ผ่านนมาสังคมไทยมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม การแต่งชุดไปรเวทไปเรียนหนังสือมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่าง บทความเรื่อง “เหรียญสองด้านใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน” โดย “ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ manager online วิพากษ์ถึงปรากฎการณ์ทางสังคมจากกรณีที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอนุญาตให้เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมฯ สามารถใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ทุกวัน จนกลายเป็นกระแสความฮือฮาไปทั่ว ตอนหนึ่งความว่า

“...เหตุผลของคนที่คิดว่านักเรียนควรใส่เครื่องแบบเท่านั้นมีหลายประการ เช่น เป็นการระบุว่า เป็นนักเรียนระดับชั้นใด โรงเรียนใด สร้างความเป็นเอกภาพให้นักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดความฟุ่มเฟือยและสิ่งเร้าในทางแฟชั่น สั่งสมวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่ทำสืบต่อกันมา

“ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้เครื่องแบบนั้นอ้างว่าการใส่เครื่องแบบ จะทำให้ผู้เรียนสนใจการเรียนมากกว่ามัวแต่สนใจชุดไปรเวท และเมื่อเรียนจบก็มีสถานที่ทำงานหลายแห่งมีเครื่องแบบขององค์กรหรือหน่วยงานที่บังคับใส่เครื่องแบบอยู่แล้ว ก็จะทำให้นักเรียนได้เตรียมตัวไปสู่การทำงานในอนาคต

“ในบางประเทศเครื่องแบบนักเรียนอาจเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาเบื้องต้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นการสั่งสมเยาวชนให้พร้อมต่อการเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในสังคม ประเทศอินเดีย ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นในโรงเรียน และบางประเทศเชื่อว่าด้วยเครื่องแบบที่แสดงสถานภาพการเป็นนักเรียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง

“ส่วนประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดนักเรียนนั้นให้เหตุผลว่า มันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิของนักเรียน และการไม่สวมใส่ชุดนักเรียนก็ไม่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา เช่น ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากความเชื่อในอิสรเสรีภาพของคนในชาติเหนือสิ่งอื่นใด และยังมีอีกหลายประเทศที่เคยมีการบังคับใช้เครื่องแบบ แต่ยกเลิกการใช้เครื่องแบบไปในภายหลัง”
ดร.สรวงมณฑ์ตั้งเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ 3 ประการคือ

ประการแรก - การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดในโรงเรียนยังคงเน้นที่ “เปลือก” มากกว่าเน้นที่
แนวคิดทางการศึกษาของเด็กนักเรียน

กรณีที่โรงเรียนบอกว่าแนวคิดให้เด็กแต่งกายชุดไปรเวทไปโรงเรียนเพราะอยากให้เด็กมีความสุขใน
การไปโรงเรียน คำถามก็คือมันใช่จริง ๆ หรือ แล้วที่ผ่านมาเด็กไม่มีความสุขในการไปโรงเรียนหรือ ประเด็นคือทำไมเราไม่สร้างแนวคิดเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์เพื่อให้เด็กอยากมาโรงเรียนเพราะมาเรียนเป็นด้านหลัก ไม่ว่าจะแต่งกายอย่างไรที่เป็นด้านรอง

ประการที่สอง - แนวคิดนี้จำเป็นต้องประกาศจนกลายเป็น “สปอตไลต์” หรือไม่

เพราะเมื่อกลายเป็นสปอตไลต์ก็มีความเสี่ยงตามมาด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นที่ต้องการแสดงความเป็นตัวตน เมื่อกลายเป็นข่าว เป็นสปอตไลต์ของสังคม มีทีวีและสารพัดสื่อออนไลน์มาตั้งกล้องรอถ่าย แทนที่เด็กจะปฏิบัติตามแนวทางของโรงเรียนแบบเงียบ ๆ กลายเป็นถูกสังคมจับจ้อง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งเด็กที่ไม่อยากแต่งตัวให้โดดเด่น และมีทั้งที่อยากแต่งตัวให้แตกต่างแบบโดดเด่น และเด็กที่ต้องการแสดงตัวตนออกมาให้ชัดเจน ส่วนกรณีเรื่องจะควบคุมการแต่งตัวให้สุภาพ ก็เป็นเรื่องโรงเรียนก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ในการแต่งกายไปรเวทอยู่ดี เพราะความสุภาพของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันแถมเมื่อมีกฎเกณฑ์หยุมหยิมใหม่ขึ้นมา ไปรเวทก็จะเริ่มไม่เป็นไปรเวท กลายเป็นเครื่องแบบในอีกรูปแบบหนึ่งไป

ประการต่อมา - สิ่งที่ตามมายังคงเป็นประเด็นน่าห่วงอยู่ ก็คือเรื่องการแต่งตัวที่อาจทำให้เด็กแต่งตัวแบบเกินความจำเป็น หรือแบรนด์เนม เพราะเป็นโรงเรียนเอกชน ซึ่งรับรู้ได้อยู่ว่าเป็นโรงเรียนที่พ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นปัญหา แต่ในความเป็นจริงสังคมไทยยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในแทบจะทุกเรื่อง ประกอบกับยังมีค่านิยมเรื่องการแต่งกายตามกระแส เราปฏิเสธเรื่องนี้ไปไม่ได้ เพราะขนาดโรงเรียนปกติที่ใส่เครื่องแบบก็มีการนำอุปกรณ์ประเภทนาฬิกา มือถือ ฯลฯ หรือมีของที่สามารถนำมาประชันกันอยู่แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงรู้ซึ้งดีเมื่อเวลาลูกมาขอสิ่งของใดๆ ด้วยเหตุผลว่าก็เพื่อนๆ มีกันหมดเลย

“ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็เคยผ่านการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนมากันแล้ว และก็ผ่านความเคร่งกับระเบียบวินัยแบบเข้มงวดมาแล้วเช่นกัน ไม่มีใครชอบ และไม่ต้องการเช่นนั้น จึงเข้าใจดีว่าการแต่งกายแบบอิสระย่อมทำให้เด็กๆ ชอบใจเป็นแน่แท้ แต่สิ่งที่ดิฉันอยากให้เน้นมากกว่าเรื่องเครื่องแต่งกาย คือแนวทางหรือนโยบายการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และสามารถทำให้เด็กค้นพบตัวตนว่าอยากเรียนอะไร เรียนอะไรได้ดี ถนัดอะไร และอยากทำอะไร สรุปข้อสังเกต 3 ประการที่ดิฉันมองเห็นก็คือ นี่เป็นเพียงเปลือก การกลายเป็นกระแสทำให้เกิดการผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน และสุดท้ายคือความเหลื่อมล้ำที่ไม่อาจมองข้าม แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การให้นักเรียนแต่งไปรเวทสักสัปดาห์ละ 1 วันไม่น่าจะเกิดปัญหาใหญ่โตระดับคอขาดบาดตายแต่ประการใด ทว่าเมื่อพ้นจากเรื่องเปลือกการแต่งตัวนี้ไปแล้ว เร่งค้นหาตัวตนของการศึกษาไทยที่ต้องปรับเปลี่ยนกันให้จริงๆ จังๆ เสียทีเถอะ”ดร.สรวงมณฑ์ให้ความเห็นผ่านบทความ

แน่นอนว่า เกิดคำถามและข้อเรียกร้องขึ้นทำนองว่าแล้วโรงเรียนอื่นๆ จะนำแนวคิดเช่นนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติได้หรือไม่

อย่างแรกต้องทำความเข้าใจว่าระเบียบของโรงเรียนรัฐบาลนั้นแตกต่างกับกรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า โรงเรียนสังกัดรัฐไม่สามารถแต่งกายชุดไปรเวทไปโรงเรียน เนื่องจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน 2551 กำหนดไว้ว่า โรงเรียนสังกัดรัฐบาลต้องแต่งกายตามที่โรงเรียนกำหนดเพื่อความเรียบร้อย หากจะใส่ชุดอื่นต้องขออนุญาตกับศึกษาธิการจังหวัด ระเบียบกระทรวงได้เปิดให้โรงเรียนรัฐแต่งกายอย่างอื่น เช่น ชุดพละ หรือ ชุดพื้นเมือง

ขณะเดียวกันหลังเป็นข่าวครึกโครม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ขอให้โรงเรียน “ทบทวนเรื่องดังกล่าว” ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

ถึงแม้ทางโรงเรียนฯ ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นการทดลองทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน แต่ สช.ก็ห่วงใยเรื่องความมีระเบียบ วินัย เรียบร้อย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การดูแลเด็กของครู บริบทของสังคมไทย และปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งโรงเรียนต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และดูความเหมาะสมด้วย

“ ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จะต้องไปหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและแจ้งผลการหารือกลับมาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ก็ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 กำกับไว้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้น สช.ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวพบว่าทีมผู้บริหารและครูได้หารือกันว่าต้องการทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน 6 สัปดาห์ แต่เราก็อยากให้มองลึกลงไปกว่านั้นว่าในระหว่างการวิจัยจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ถ้ามีผลกระทบก็ต้องทบทวน ส่วนโรงเรียนเอกชนอื่นหากอยากจะทำบ้างก็ควรคิดให้ดีว่าทำแล้วจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งกรรมการบริหารสถานศึกษาจะต้องมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้” นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าว

สำหรับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการใส่ชุดไปเวทไปเรียนความว่า ไม่ควรนำเรื่องชุดนักเรียนมาเป็นประเด็นด้านการศึกษา เพราะไม่ได้กระทบกับการเรียน หากย้อนไปในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องชุดนักเรียนว่า กำหนดให้มีการสวมใส่เพื่อความเป็นระเบียบวินัยเเละลดการเเบ่งชนชั้น ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ กล่าวชัดเจนว่า ชุดนักเรียนมีจุดเเข็งจึงให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทเเค่สัปดาห์ละวัน และกว่าจะนำเเนวคิดเรื่องนี้มาใช้ได้ก็ผ่านเวลาเป็น 10 ปี เพียงแต่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าให้ใส่ชุดนักเรียนมาเรียนได้เท่านั้น ห้ามชุดไปรเวท ซึ่งกระเเสที่นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

กล่าวสำหรับประเด็น “ระเบียบทรงผมนักเรียน” นับเป็นอีกประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเรื่อง “เครื่องแบบนักเรียน” เพราะที่ผ่านมา การยึดระเบียบปฏิบัติในลักษณะผมนักเรียนชายต้องไถสั้นเกรียน และผมนักเรียนหญิงหากไว้สั้นต้องยาวไม่เกินติ่งหู กลายเป็นปัญหาทั้งมีการร้องเรียนและเรียกร้องเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

อย่างที่ผ่านมา ในเมืองไทยมีแคมเปญรณรงค์เรื่อง “เปิดเสรีทรงผมนักเรียนไทย : เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกกฎบังคับทรงผม” โดยให้เหตุผลว่าเป็นกฎเพื่อใช้ปลูกฝังการเชื่อฟังคำสั่งปลูกฝังอำนาจนิยม ซึ่งทำให้เด็กไทยไม่รู้จักการรักษาสิทธิของตนเอง ขัดต่อบทบัญญัติติรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีของปวงชนชาวไทย มาตราที่ 28 บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพในร่างกาย รวมถึงปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 3 บุคคลมีสิทธิในการดำเนินชีวิต ในเสรีธรรม และในความมั่นคงแก่ร่างกาย ซึ่งการมีอิสระเสรีในการทำผมนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรม และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลนั้นๆ

สำหรับกฎกระทรวง 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องเรื่อง “ระเบียบทรงผมนักเรียน” ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2515 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 พ.ศ.2515 ซึ่งระบุห้ามไม่ให้นักเรียนชายไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะต้องตัดเกรียนชิดผิวหนัง และ 2.นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย

ต่อมา มีการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวเพิ่มเติมจนเป็น กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 ม.ค.พ.ศ. 2518 ระบุว่า 1.นักเรียนชายให้ตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม และ 2.นักเรียนหญิงให้ตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้

ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป นัยหนึ่งของกฎบังคับเรื่องทรงผมถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมให้ใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังตัวอย่างในบางโรงเรียนมีการลงโทษนักเรียนที่ไม่ทำตามระเบียบโดยการ “กล้อนผมนักเรียน” ซึ่งเป็นการข่มขู่หรือทำให้อับอาย การกระทำเหล่านั้นแสดงให้เห็นมีการใช้อำนาจโดยมิชอบกับนักเรียน

ทั้งเป็นที่วิพากษ์ว่าระเบียบบังคับตัดผมเกรียนในนักเรียนชาย หรือทรงสั้นเสมอติ่งหูในนักเรียนหญิง จะช่วยให้เรียนดีเรียนเก่งขึ้นอย่างไร จะกระตุ้นให้ตั้งใจเรียนหรือไม่เพียงใด ระเบียบดังกล่าวเพียงตอกย้ำความคร่ำครึ

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงโซล (SMOE) ประเทศเกาหลีใต้ ได้ประกาศยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับเส้นผมในโรงเรียนทุกแห่งในกรุงโซล รายละเอียดการตัดสินใจยกเลิกข้อบังคับนี้มีการอภิปรายและถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ว่ากฎการควบคุมทรงผมเป็นร่องรอยของยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น และรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน กล่าวคือไม่เข้มงวดหรือกำหนดเรื่องความยาวทรงผม แต่ยังคงเข้มงวดเรื่องการดัดหรือย้อมสีผม

กลับมาเรื่อง “เครื่องแบบนักเรียน” สำหรับเมืองไทยการทดลองใส่ชุดไปรเวทไปเรียน ของนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครม “ผลการทดลอง” จะได้บทสรุปอย่างไร อดใจรอสักหน่อย สิ้นสุดภาคเรียนนี้รู้ผลโดยทั่วกัน ส่วนเรื่อง “ระเบียบทรงผมนักเรียน” จะมีการปรับหรือเปลี่ยนให้ทันยุคสมัยหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อยาวๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น