ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นเรื่องที่น่าปลื้มปีติและเป็นสิ่งมงคลสูงสุดสำหรับราชอาณาจักรไทยอย่างยิ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 - วันที่ 6 พฤษภาคม 2562
โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า “โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคํากราบบังคมทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น ทรงพระราชดําริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปี พุทธศักราช ๒๕๖๒”
นี่คือ พระราชพิธีสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของราชอาณาจักรไทย
กรุงรัตนโกสินทร์ 236 ปี มีเพียง 11 ครั้ง
กล่าวสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย ถือเป็น “พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน” และเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของราชอาณาจักรไทย โดยเป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษกและการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเมื่อผ่านพระราชพิธีดังกล่าวแล้ว คำนำหน้าพระนามจะเปลี่ยนจากเดิมคือ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ เช่น คำรับสั่งจาก “พระราชโองการ” เป็น “พระบรมราชโองการ” เป็นต้น
ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน 11 ครั้ง ดังนี้
1.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน 2 ครั้ง
2.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 1 ครั้ง
3.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
4.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
5.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง
6.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง
7.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
8.พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวน 1 ครั้ง
ทั้งนี้ สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2326 แต่เป็นเพียงสังเขปเท่านั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2328 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 โดยในขณะนั้นพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นจึงต้องแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา และเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416
ขณะที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 ซึ่งเป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริงต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2454
ที่น่าสนใจคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2477 ขณะนั้นทรงเริญพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะจึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงว่า ยังพอจะสนองพระเดชพระคุณให้สมพระเกียรติได้ด้วยการเฉลิมพระปรมาภิไธยและถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น พระมหานพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ ฉะนั้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2489 จึงได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ
ต่อมาในวันที่ 8 มิถุนายน2539 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. 2493 นั้น สำนักพระราชวังได้ยึดการบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ 12 จึงนับเป็นบุญวาสนาของคนที่เกิดมาในยุคปัจจุบันที่จะมีโอกาสได้สัมผัสกับโบราณราชประเพณีของราชอาณาจักรไทยอีกครั้ง
จากสุโขทัยสู่รัตนโกสินทร์
โบราณราชประเพณี พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมือง อภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี ว่ามีขั้นตอนอย่างใด และดำเนินสืบมาในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 417 ปีของมหานครแห่งนี้ ไม่มีการบันทึกรายละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ทั้ง 33 พระองค์ไว้เลย เนื่องจากเอกสารหลักฐานน่าจะสูญหายไป มีเพียง “คำให้การของชาวกรุงเก่า” ที่บันทึกเรื่องราวเอาไว้เพียงสั้นๆ เท่านั้น
เช่นเดียวกับสมัยกรุงธนบรีที่ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับพระราชพิธีดังกล่าวเอาไว้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในช่วงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ พ.ศ. 2325 ครั้งหนึ่งก่อนแล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมี เจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธานสอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็น “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา” แล้วตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาล ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ให้เหมาะแก่กาลสมัย
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูล ของพราหมณ์และราชบัณฑิต ขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระราชพิธีนี้ มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนบทสวดมนต์ต่างๆ ของพราหมณ์นั้น นักวิชาการภาษาตะวันออกโบราณ วินิจฉัยว่า เป็นภาษาทมิฬโบราณ
สำหรับขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยขั้นตอนหลักสำคัญ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียด ดังนี้
ขั้นเตรียมพระราชพิธี
ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศและมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่างๆ ในแขวงนั้นๆ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่างๆ รวมทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่
1. สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี 2. แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก 3. แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี 4. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง 5. แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม 6. แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.2411 ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับในรัชกาลก่อนๆ แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2416 ได้เพิ่มน้ำจากปัญจมหานทีของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เจือลงไปด้วย เพราะว่าเมื่อ พ.ศ.2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย ทรงได้น้ำจากปัญจมหานทีมาด้วย ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 จึงใช้น้ำอภิเษกทั้งหมด 11 แห่ง
ส่วนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.2453 ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.2416 แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2454 ได้เพิ่มน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ได้แก่
1. แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาทอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา 2. ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ 3. น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย) 4. แม่น้ำนครชัยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี 5. บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช 6. บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่ 7. บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง
นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล คือ 1.วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์ 2.วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์ 3.วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา 4. วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน 5.วัดโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี 6.วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี 7. วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี 8.วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต 9.วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร 10.วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี
รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด 17 แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม 18 แห่ง สถานที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้เป็นสถานที่เดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาเป็นที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ได้ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำส่งมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันงานจึงจะได้เชิญเข้าพิธีสวดพระพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
นอกจากนี้ ยังมีการจารึกพระสุพรรณบัฏ โดยจารึกพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ลงบนแผ่นทองคำ เพื่อถวายในการพระราชพิธีก่อนถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งต้องเชิญประดิษฐานบนแท่นมณฑลในพระราชพิธี การเตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละรัชกาลตามความเหมาะสม
พระราชพิธีเบื้องต้น
เป็นพระราชพิธีก่อนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย การเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์ ในการพระราชพิธี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ประกอบด้วย พิธีสรงพระมุรธาภิเษก คือ การรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้พลีกรรมตักน้ำและเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง เสด็จขึ้น ณ มณฑปพระกระยาสนาน เมื่อทรงพระมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงน้ำอภิเษก น้ำเทพมนต์ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ได้แก่ พระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย พระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง
หลังจากนั้น พระครูพราหมณ์ฝ่ายต่างๆ ถวายพระพรชัยมงคล พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะมีพระปฐมราชโองการเป็นภาษาไทย ในรัชกาลที่ 8 ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2416 โปรดให้เพิ่มพระปฐมราชโองการภาษามคธอีกหนึ่งภาษา และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7
ทั้งนี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5ทรงมีพระราชดำรัสเป็นปฐมบรมราชโองการเหมือนๆ กันกับเมื่อครั้งพระปฐมบรมราชโองการในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า “พรรณพฤกษ แลสิ่งของทั้งปวง ซึ่งมีในแผ่นดินทั่วของเขตรแดนพระนคร ซึ่งหาเจ้าของหวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณอาณาประชาราษฎรจะปรารถนาเถิด” เพียงแต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ส่วนในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”
ในรัชกาลที่ 9 หลังจากคณะพราหมณ์ถวายพระพรชัยมงคล พระราชครูวามเทพมุนีถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยด้วยภาษาไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชครูฯ รับพระบรมราชโองการด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรม
พระราชพิธีเบื้องปลาย
ประกอบด้วย การเสด็จออกมหาสมาคม พิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสักการะสมเด็จพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบตามโบราณราชประเพณี
พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร
โบราณราชประเพณีต่อเนื่อง
นอกจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว อีกหนึ่งพระราชพิธีที่น่าสนใจคือ “พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร” หรือถ้าจะคำสามัญก็คือ พิธีขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งเป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทั้งนี้ ในหนึ่งรัชกาลจะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
ตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก จะเสด็จประทับอยู่เป็นประจำในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง โดยจะต้องจัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียรก่อน จึงจะเสด็จขึ้นประทับได้ ซึ่งมักจะจัดต่อเนื่องจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับอยู่ที่พระที่นั่งองค์นี้เป็นการถาวร รัชกาลต่อๆ มาเสด็จมาประทับเป็นการชั่วคราวตามกำหนดพระราชพิธี เนื่องจากได้ทรงสถาปนาพระราชฐานที่ประทับขึ้นใหม่สำหรับเป็นที่ประทับตามพระราชอัธยาศัย และตามความเหมาะสมแห่งยุคแห่งสมัย จึงมิได้ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นประจำเช่นในสมัยก่อน แต่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังต้องจัดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเช่นเดิม
พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียรมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มจากการเสด็จพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับการถวาย 12 พระกำนัล แล้วเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เชื้อพระวงศ์ฝ่ายในเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เช่น วิฬาร ศิลาบด ฟักเขียว พานข้าวเปลือก ถั่ว งา ภายหลังเพิ่มไก่ขาว มีผู้ชำระพระบาท แล้วเสด็จพระราชดำเนินยังห้องพระบรรทม ทรงนมัสการพระรัตนไตร พระราชวงศ์ฝ่ายในถวายดอกหมากทองคำ กุญแจ ทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเป็นพระฤกษ์ ชาวพนักงานประโคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองพระราชทาน เป็นเสร็จพระราชพิธี
เมื่อเสร็จสิ้นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นประทับที่พระราชมณเฑียรสถาน เครื่องที่เชิญตามเสด็จขึ้นไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ได้แก่ เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางอย่าง เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ประกอบด้วย 1. ไก่แจ้ขาว2. ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ (ไก่แจ้ขาวและธารพระกร หมายถึง ความงามความมีอำนาจ สองสิ่งนี้มักให้สตรีรูปงามอุ้มและเชิญเพียงคนเดียว) 3. ศิลาบด (หมายถึง ความหนักแน่น หรือหมายถึงความไม่มีโรค) 4. กุญแจทอง (หมายถึง ให้ความยกย่องและต้อนรับสู่บ้านใหม่) 5. พานพืชมงคล (หมายถึง การงอกเงย) 6. จั่นหมากทอง (หมายถึง ความมั่งคั่ง เพราะหมากออกผลคราวหนึ่งเป็นทะลาย) .ฟักเขียว (หมายถึง อยู่เย็นเป็นสุข เพราะฟักเป็นผลไม้เนื้อเย็น) 8. วิฬาร์ (หมายถึง การอยู่บ้านใหม่เป็นปกติสุขไม่โยกย้าย เพราะแมวเป็นสัตว์รู้อยู่ ไม่ทิ้งถิ่น) เป็นเสร็จพระราชพิธี
และในระหว่างวันที่ 4-6พฤษภาคม 2562 นี้ ปวงชนชาวไทยจะมีโอกาสได้สัมผัสกับพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินตามโบราณประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักรไทยสืบไป
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (เบน-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน) เป็นเครื่องทรง 5 อย่างของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี และเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ไทย ประกอบด้วย
1.พระมหาพิชัยมงกุฎ
เป็นเครื่องทรงในพระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยพระมหาพิชัยมงกุฎเครื่องประดับพระเศียรองค์แรก สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ในปีพุทธศักราช 2325 ทำด้วยทองคำลงยาบริสุทธิ์ ประดับเพชร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดับเพชรเม็ดใหญ่ไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานนามว่า “พระมหาวิเชียรมณี” พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง 66 เซนติเมตร หนัก 7.3 กิโลกรัม
2. พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นสัญลักษณ์แสดงการได้พระราชอำนาจอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน และจะทรงขจัดศัตรูให้สิ้นด้วยพระบรมเดชานุภาพ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(แบน อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและเสียมราฐในขณะนั้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ โปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามด้วยทองคำลงยาราชาวดีลายเทพพนม และฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดี พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลทรงใช้เป็นพระแสงราชศาสตราในพระราชพิธีสำคัญ
พระแสงขรรค์ชัยศรีนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว 64.5 เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว 89.8 เซนติเมตร หนัก 1.3 กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1.9 กิโลกรัม
3. ธารพระกร
ของเดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์หุ้มทองลักษณะคล้ายพระแสงดาบยอดทำเป็นรูปเทวดา ชักยอดออกแล้วจะกลายเป็นพระแสงเสน่าหรือมีดสำหรับขว้าง จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป แต่ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเอาธารพระกรชัยพฤกษ์ออกใช้อีก ยกเลิกธารพระกรเทวรูป เพราะทรงพอพระราชหฤทัยในของเก่าๆ จึงคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์อยู่ต่อมา
4. วาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี)
เป็นเครื่องใช้ประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแส้หางจามรีมีที่มาจากคำว่า “จาม” ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนี เดิมนั้นคือพัดใบตาล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนี นั้น คำว่า “วาล” เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “จามรี” จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว ต่อมา ได้เปลี่ยนขนจามรีเป็นขนหางช้างเผือกแทน และใช้คู่กันกับพัดวาลวิชนี ซึ่งประดิษฐ์จากใบตาล ด้ามและลวดลายประกอบทำด้วยทองลงยา
5. ฉลองพระบาทเชิงงอน
เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร ใช้สวมเฉพาะในงานพระราชพิธีที่ต้องประทับเท่านั้นองพระบาทเชิงงอนเป็นเครื่องหมายแสดงว่าจะทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่แผ่นดินทุกอาณาเขตที่เสด็จพระราชดำเนินไป