ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ต่อจากตอนแรกใน https://mgronline.com/daily/detail/9610000126941 ก็จะเห็นนะคะว่าด้วยพลังแห่งการวิเคราะห์ของสมองกล AI ยุคปัจจุบันที่ในบางงานทำได้ดีเกินสมองมนุษย์ไปแล้ว จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่ตอนนี้สมองกล AI จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อประโยชน์ในวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ในวงการการแพทย์ตอนนี้มีสมองกล AI หลายระบบที่สามารถวิเคราะห์อาการของโรค โดยเฉพาะจากภาพถ่ายทางการแพทย์ได้ดีเทียบเท่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับโลก และก็ได้ถูกนำร่องมาใช้แล้วในโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยเรา ในวงการยานพาหนะก็มีรถยนต์ AI ไร้คนขับที่ออกวิ่งทดสอบกันแล้วในหลายเมืองทั่วโลก ในวงการร้านค้า เดี๋ยวนี้ก็มีร้านค้าไร้พนักงานแคชเชียร์ปรากฏอยู่ในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ใช้ระบบสมองกล AI และเซ็นเซอร์ในการตรวจจับวิเคราะห์ จนสามารถรู้ได้ว่าลูกค้าคนไหนหยิบซื้อสินค้าอะไรไปบ้าง ในวงการการบริการ เดี๋ยวนี้ก็มีทั้งหุ่นยนต์พ่อครัว หุ่นยนต์พนักงานเสิร์ฟ หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์สระผม และอื่น ๆ ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ หรือแม้แต่ในวงการความงามก็ไม่เว้นค่ะ มีทั้งแอป AI สำหรับแต่งหน้าเสมือนกับกล้องสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์ และแอป AI ที่ช่วยวิเคราะห์ใบหน้าและสอนแต่งหน้ากันได้เป็นขั้น ๆ เสมือนมีบีเอ (Beauty Advisor) ส่วนตัวมาคอยช่วยเหลืออยู่ข้าง ๆ กันเลยทีเดียว (https://www.businessinsider.com/sephora-visual-artist-app-feature-teaches-how-to-apply-makeup-using-ai-photos-2017-3)
และก็ไม่เฉพาะแต่งานการ “วิเคราะห์ (Analyse) ข้อมูล” เท่านั้นนะคะที่สมองกล AI ถนัด ความสามารถในการ “สร้าง (Generate) ข้อมูล” ของสมองกล AI ยุคปัจจุบันก็ไม่ใช่ธรรมดาเหมือนกัน เช่น ในต่างประเทศเดี๋ยวนี้มีข่าวหลายข่าวเลยค่ะ ที่ถูกเรียบเรียงและเขียนสรุปขึ้นมาโดยสมองกล AI ไม่ใช่คอลัมนิสต์คนจริงเป็นคนเขียน (https://www.forbes.com/sites/cognitiveworld/2018/09/16/did-ai-write-this-article/#b62fda618859) หรืออย่างเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็มีข่าวฮือฮากันเรื่องผู้ประกาศข่าว AI ของจีน (รูปภาพที่ 1) ซึ่งดูผ่านจอเผิน ๆ แล้วคล้ายผู้ประกาศข่าวคนจริงมาก แต่ที่จริงเป็นภาพวิดีโอที่สมองกล AI สร้างขึ้นมาล้วน ๆ โดยที่ผู้ประกาศข่าว AI คนนั้นจะขยับหน้าและปากพูดตามสคริปต์ประโยคที่ถูกพิมพ์ป้อนเข้ามาได้แบบเนียน ๆ (https://www.bbc.com/news/technology-46136504) หรือฟีเจอร์อย่าง Animoji ของสมาร์ทโฟนค่ายแอปเปิล (รูปภาพที่ 2) ที่แต่เดิมต้องอาศัยกล้องชนิดพิเศษบนสมาร์ทโฟนอย่างไอโฟน X เท่านั้นถึงจะใช้ได้ แต่เดี๋ยวนี้ใช้แค่ซอฟต์แวร์ AI กับกล้องบนสมาร์ทโฟนเครื่องไหนก็ได้ ก็สร้างอวาตาร์สามมิติของใบหน้าที่สามารถขยับตามใบหน้าจริงของเราได้แบบทันทีทันใดไม่ต่างกับฟีเจอร์ Animoji เลยค่ะ
จะเห็นนะคะว่าบทบาทของสมองกล AI ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงสองปีหลังนี้ที่ AI มาแรงมาก ๆ นับวันมีแต่จะรุกคืบเข้าไปในอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น ตั้งแต่วิทย์ไปถึงศิลป์ ตั้งแต่งานทำซ้ำที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะพิเศษอะไร (Routine) ไปจนถึงงานวิเคราะห์ข้อมูลยาก ๆ (Analysis) และงานการผลิตสร้างข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ (Generation/Production) ซึ่งการรุกคืบของ AI นี้ไม่เว้นแม้แต่วิชาชีพอย่างโปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และนักวิจัยค่ะ เพราะเริ่มมีการคิดค้นพัฒนาสมองกล AI ที่สามารถเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์เองได้ โดยอาศัยการไปค้นหาโค้ดที่เกี่ยวข้องจากที่ต่าง ๆ แล้วนำมาปะติดปะต่อกันให้ทำงานได้ตามต้องการ (https://techcrunch.com/2017/02/23/deepcoder-builds-programs-using-code-it-finds-lying-around/) รวมถึงเริ่มมีการคิดค้นสมองกล AI ที่ทำหน้าที่คิดค้นและออกแบบระบบ AI ใหม่ ๆ แทนนักวิจัยคนจริงมาสักพักแล้วด้วย (https://towardsdatascience.com/whats-auto-ml-b457d2710f9d)
สำหรับปี ค.ศ. 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้เขียนขอสรุปแนวโน้มของ AI โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ การประยุกต์ใช้ (Apply) การคิดค้นนวัตกรรม (Innovate) และ การฝึกฝนทักษะใหม่ (Reskill and Retrain) ค่ะ
ประเด็นแรก ของการประยุกต์ใช้ (Apply) นั้น คือ การนำ AI มาสร้างเป็นแอปพลิเคชันใหม่ ๆ สำหรับผู้ใช้ โดยในปี 2019 ก็มั่นใจได้ว่าเราจะพบ AI แทรกซึมอยู่รอบตัวเรามากขึ้นและหลากหลายยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ โดยเฉพาะในงานที่เทคนิคทาง AI สามารถทำได้เป็นอย่างดี มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจมากในวงกว้างแล้ว ที่จะยิ่งถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ระบบการรู้จำใบหน้าคนจากภาพ (Vision-based Face Recognition) ที่ในปัจจุบันขอแค่มีความรู้ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้างสักเล็กน้อย แม้แต่นักเรียนนักศึกษาก็สามารถสร้างระบบที่รู้จำใบหน้าคนจากรูปภาพอย่างแม่นยำได้ไม่ยากเย็นนัก ทำให้การต่อยอดฟีเจอร์นี้ไปสู่จินตนาการและรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ กลายเป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ เลยค่ะ
ประเด็นที่สอง ของการคิดค้นนวัตกรรม (Innovate) นั้น คือ ในส่วนของการคิดค้นและวิจัยพัฒนาทาง AI ที่ในปี 2019 ก็เชื่อว่าจะยังคงเป็นกระแสหลักของวงการวิจัยต่อไปอีกปีค่ะ โดยไม่เพียงแค่การทดลองนำเทคนิค AI ไปใช้แก้ปัญหาเดิม ๆ หรือปัญหาใหม่ ๆ ที่จะยังถูกแข่งกันนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมที่สนับสนุน “สิ่งแวดล้อมเพื่อการทำงานของ AI ในชีวิตประจำวัน” ด้วยค่ะ ที่ ณ ปี 2018 นี้ก็เริ่มมีกระแสให้เห็นกันแล้ว เช่น การคิดค้นนวัตกรรมฮาร์ดแวร์หน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการคำนวณทาง AI โดยเฉพาะ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือสมาร์ทโฟนไหน ๆ ก็สามารถทำงานกับสมองกล AI ได้เป็นอย่างดี หรือ การคิดค้นนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมการคำนวณทาง AI ว่าทำอย่างไรจึงจะกระจายการคำนวณด้าน AI ไปให้สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องช่วยคำนวณได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่จะคำนวณแบบรวมศูนย์กลางอย่างเดียว หรือ การคิดถึงแนวทางการออกกฎหมายใหม่ให้เท่าทันกับความสามารถของ AI ยุคปัจจุบัน รวมไปถึงการคิดนวัตกรรมสนับสนุนด้าน AI ที่ไม่แค่ความถูกต้องแม่นยำของผลลัพธ์แต่จะคำนึงไปถึงจริยธรรม (AI codes of ethics) ในการทำงานของ AI ด้วย อย่างประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคนไข้ ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสมองกล AI ที่วิเคราะห์อาการป่วยของคนไข้ได้ โดยที่แพทย์เจ้าของเคสไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ให้กับนักวิเคราะห์ทาง AI หรือผู้ให้บริการการคำนวณด้าน AI ที่เป็นบุคคลที่สาม
เรียกว่าการคิดค้นนวัตกรรม AI ต่อจากนี้ หากเป็นการสร้างหุ่นยนต์ทำความสะอาด ในส่วนของสมองกล AI เราจะไม่ได้คิดแล้วจบกันแค่ว่าทำอย่างไรหุ่นยนต์จึงจะรู้วิธีทำความสะอาดบ้านรก ๆ ให้สะอาดหมดจด แต่จะคิดเลยไปถึงการแก้ปัญหาที่จะเกิดในบริบทของการนำหุ่นยนต์ไปใช้ตามบ้านเรือนจริง เช่น ทำอย่างไรให้หุ่นยนต์รู้ว่าต้องไม่เอาน้ำไปราดปลั๊กไฟจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ทำอย่างไรไม่ให้หุ่นยนต์ไปทำความเสียหายกับสัตว์เลี้ยงหรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ทำอย่างไรไม่ให้หุ่นยนต์แอบกวาดขยะไปซ่อนใต้พรม(เพื่อหลอกระบบ AI ว่าไม่มีขยะเหลือให้มองเห็นแล้ว) ทำอย่างไรไม่ให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดสองตัวทำอันตรายหรือขัดแย้งกันเอง ฯลฯ ซึ่งเผลอ ๆ การแก้ปัญหาบริบทการใช้งาน AI นี้อาจจะยากยิ่งกว่าการแก้ปัญหาตั้งต้นของการทำความสะอาดบ้านเสียอีกค่ะ เพราะมีปัจจัยยุ่ง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยมากมาย โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่น่าจะยุ่งที่สุดอย่างจารีตประเพณี สังคม จริยธรรม และกฎหมาย เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดนี้จะมาทำให้อาชีพแม่บ้านต้องตกงานกันเป็นจำนวนมากหรือไม่? การที่มีหุ่นยนต์ฉลาด ๆ อยู่ในบ้าน คอยสอดส่องมองเห็นและวิเคราะห์รู้อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านได้นี้ จะถือว่าหุ่นยนต์พวกนี้ได้รวบรวมข้อมูลส่วนตัวของเราไปโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการลุกล้ำความเป็นส่วนตัวหรือไม่?
ใน ประเด็นสุดท้าย เรื่องการฝึกฝนทักษะใหม่ (Reskill and Retrain) นั้น จะเกี่ยวกับการปรับตัวของคนให้เท่าทันกับ AI ในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ค่ะ เพราะแน่นอนว่ายิ่ง AI เข้ามามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมีคนที่ถูกผลกระทบของ AI เพิ่มมากขึ้น บางคนอาจจะถึงกับถูก AI มาทำงานแทนที่ทั้งหมดเลย ในขณะที่บางคนก็อาจค่อย ๆ ถูกลดบทบาทในงานที่ทำอยู่ให้น้อยลงไป เป็นที่น่าวิตกกังวลสำหรับคนทำงานหลาย ๆ คนไม่น้อยเลยค่ะ แต่เชื่อไหมคะว่าจากการวิเคราะห์โดย PwC (https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2018/02/14/why-the-real-ai-jobs-issue-isnt-unemployment/#b38919325320) บอกว่าจริง ๆ แล้วคนที่ควรจะต้องเป็นกังวล ไม่ใช่ลูกจ้างที่กลัวจะโดนเลิกจ้างหรือโดน AI แย่งงาน แต่เป็นตัวนายจ้างเองต่างหากที่ต้องกลัวว่าจะไปหาคนทำงานที่สามารถทำงานกับ AI ได้ดีมาจากไหน
หรือว่าง่าย ๆ คือในวิกฤติเราก็ยังคงมีโอกาสค่ะ ในขณะที่งานหลายงานจะค่อย ๆ ถูก AI แทนที่ไป การเข้ามาของ AI ก็เปิดโอกาสให้มีตำแหน่งงานใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยในอดีตเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ซึ่งทักษะการทำงานร่วมกันกับ AI ได้นี้ หากคุณไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย ก็ไม่ถึงกับต้องสามารถพิสูจน์สูตรคณิตศาสตร์เบื้องหลัง AI ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หรือต้องเรียนจบปริญญาเอกเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์หรือด้าน AI เลยค่ะ เพราะแม้ AI ในปี 2018 นี้จะฉลาดขึ้นกว่าแต่ก่อนมากแบบก้าวกระโดด แต่โดยรวมแล้วก็ยังห่างจากการทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ยังไงเสียสมองกล AI ตอนนี้ก็ยังต้องพึ่งพามนุษย์ช่วยในกระบวนการสร้างความฉลาดขั้นตอนต่าง ๆ อยู่ ดังนั้นขอแค่ขยันติดตามและรู้เท่าทันเทรนด์ AI ในวิชาชีพของคุณเอง รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหรือไม่ควรที่จะนำ AI มาใช้ในงานของคุณ รู้ว่า AI ตัวไหนควรถูกนำมาใช้เมื่อไหร่ รู้ว่าต้องสื่อสารกับ AI อย่างไร รู้ว่าต้องเตรียมข้อมูลป้อนให้ AI อย่างไร และรู้ว่าจะแปลผลลัพธ์จากระบบ AI นำมาใช้ในงานของคุณได้อย่างไร หากสามารถปรับตัวและเพิ่มพูนทักษะด้าน AI ในสายวิชาชีพของคุณเองให้เท่าทันได้เช่นนี้ ไม่ว่าใครก็สามารถจะคว้าโอกาสใหม่เอี่ยมอ่องในยุคของ AI และเสริมฐานรากที่มั่นคงแข็งแรงให้กับวิชาชีพในยุค AI ต่อจากนี้ไปได้แล้วค่ะ