xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในปี ค.ศ. 2019 (ตอนที่ 1/2)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


มาถึงช่วงสิ้นปี ค.ศ. 2018 และเข้าสู่ปีใหม่ ค.ศ. 2019 กันแล้วนะคะ แวดวงของโลกเทคโนโลยีในปี 2018 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในขาขึ้นและเป็นหนึ่งในดาวรุ่งที่พุ่งแรงมากที่สุด ก็คือ เทคโนโลยีในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์หรือที่นิยมเรียกกันย่อ ๆ ว่า AI (Artificial Intelligence) ซึ่งตอนนี้เป็น Talk of the town กันแบบสุด ๆ มีทั้งโฆษณาที่ชูบริการและผลิตภัณฑ์เสริมฟีเจอร์ AI ใหม่ ๆ ออกมาให้เห็นกันไม่เว้นแต่ละวัน มีทั้งนักเรียนนักศึกษาและคนทำงานที่หันมาให้ความสนใจเรียนสาขา AI หรือเพิ่มพูนทักษะด้าน AI กันมากขึ้น (ในขณะที่ย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้า สาขา AI ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก ด้วยเหตุผลว่าเรียนยากและยังไม่รู้จะเอาไปใช้ทำงานอะไรได้จริงในไทย) และโดยเฉพาะการได้เห็นภาพข่าวของสมาชิกสภาอาวุโสผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมายของประเทศยักษ์ใหญ่ต้องมาซัก CEO ของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังในสภาเพื่อหาคำตอบว่า ความฉลาดของ AI แต่ละตัวมันมีที่มาที่ไปอย่างไร ถือเป็นการรุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ตัว AI มีการเอนเอียงหรือจงใจชี้นำสังคมให้เข้าข้างใครเป็นพิเศษหรือเปล่า ฯลฯ ซึ่งปรากฏการณ์ที่สภาผู้ออกกฎหมายจะมาสนใจลงลึกในรายละเอียดของเทคโนโลยีกันขนาดนี้ เป็นอะไรที่ดูแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย และปรากฏการณ์ที่ว่าก็ไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นหลายครั้งในปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นค่ะว่า AI วันนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนสายวิทยาศาสตร์อีกต่อไปแล้ว แต่มันกลายเป็นวาระระดับชาติหรือระดับโลกที่จะส่งผลกระทบถึงคนจำนวนมากมาย

พูดถึงคำว่า AI เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจนึกถึงภาพของหุ่นยนต์หรือจักรกลที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้แทนมนุษย์อย่างอัตโนมัติ เหมือนที่เห็นกันบ่อย ๆ ในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของ AI เท่านั้นค่ะ เพราะ AI นั้นแท้จริงแล้วมีทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยถ้ายกตัวอย่างการสร้างหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ (Humanoid) ปัญหาของ AI ส่วนฮาร์ดแวร์ ก็เช่น จะใช้วัสดุอะไรสร้างอวัยวะแต่ละส่วนให้หุ่นยนต์ดี ควรออกแบบหุ่นยนต์ให้มีข้อต่อแต่ละส่วนหรือมีศูนย์ถ่วงน้ำหนักอย่างไรดี ควรใช้แหล่งพลังงานชนิดใดในตัวหุ่นยนต์ดี ฯลฯ เพื่อให้รวม ๆ กันแล้วหุ่นยนต์นี้มีสมรรถนะทางกายภาพ (ฮาร์ดแวร์) เพียงพอที่จะทำอะไร ๆ ได้เหมือนมนุษย์ เช่น ยืนทรงตัวสองขาได้ เต้นรำได้ ล้มแล้วลุกได้ กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้ ว่ายน้ำได้ ฯลฯ และในปัญหาของ AI ส่วนซอฟต์แวร์หรือส่วนที่เป็นสมองกล ก็เช่น ทำอย่างไรให้หุ่นยนต์สามารถเข้าใจภาพและเสียงที่ได้เห็นและได้ยิน ณ ขณะหนึ่ง ๆ ได้ สามารถคิดและตัดสินใจในสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เองจากประสบการณ์ที่พบเจอในแต่ละวันได้ เป็นต้น

ซึ่งคำว่า AI ที่ได้ยินพูดถึงกันมาก ๆ ในระยะไม่กี่ปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็น AI ในส่วนซอฟต์แวร์หรือสมองกลค่ะ และโดยที่หลายคนอาจไม่ทันรู้ตัว AI ที่ไม่ได้อยู่ในรูปหุ่นยนต์เป็นตัว ๆ นี้ได้แทรกซึมเข้าไปในโลกดิจิทัลของเราเกือบทุกที่ ทั้งในเสิร์ชเอนจิน ในเว็บไซต์ขายของออนไลน์และยูทูป ในโซเชียลมีเดีย และแน่นอนว่ารวมถึงในมือถือสมาร์ทโฟนของพวกเราด้วย ที่บรรดาฟีเจอร์อำนวยความสะดวกที่เราใช้กันจนชินหรือแอปเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนั้น จำนวนไม่น้อยเลยค่ะที่มีสมองกล AI เป็นกลไกเบื้องหลังที่สำคัญอยู่ เรียกว่าพวกเราได้เข้าสู่ยุคแห่ง AI กันมาพักหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะทันได้รู้หรือไม่ทันได้รู้ตัวก็ตาม

คำกล่าวที่ว่า “สมองกลหรือจะสู้สมองคน” น่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง โดยมันสื่อความหมายถึง ความเชื่อในขีดความสามารถของ AI ว่าอย่างไรเสียมันก็สู้สมองของมนุษย์เราไม่ได้ ซึ่ง AI ในอดีตมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ค่ะ โดยแม้จะถูกวิจัยพัฒนาและเรียนกันในห้องเรียนมหาวิทยาลัยมายาวนานหลายสิบปี มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันก็ยังไม่เคยเพียงพอที่จะให้ผู้ใช้คนทั่วไปหรือภาคธุรกิจนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวันนอกห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ได้เสียที ยกตัวอย่างเช่น ในงานการแยกแยะรูปภาพ (Image Classification) ว่ารูปนี้คือรูปของอะไรในบรรดาหมวดหมู่ที่เตรียมไว้ล่วงหน้า เป็นรูปหมวดหมา รูปหมวดแมว รูปหมวดผลไม้ รูปสถานที่ หรือรูปในหมวดอื่น ๆ นั้น ในอดีตย้อนไปไม่ถึงสิบปีดี ผลลัพธ์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดที่สมองกล AI สามารถทำได้อยู่ที่ความถูกต้องประมาณ 80% หรือก็คือ ถ้าให้ AI แยกแยะรูป 5 รูป มันจะแยกแยะได้ถูก 4 รูปและผิด 1 รูป ซึ่งตัวเลขความถูกต้อง 80% นี้แม้จะฟังดูเหมือนมาก แต่ในทางปฏิบัติสำหรับระบบที่จะนำมาใช้จริงกับลูกค้าของบริษัทหรือธุรกิจหนึ่ง ๆ นั้น การที่ต้องลงทุนลงแรงเพิ่มไปกับ AI แต่ยังกลับต้องแบกรับความเสี่ยงความผิดพลาดถึง 20% ของจำนวนงานหรือจำนวนลูกค้าทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่ดูน่าสนใจเลยค่ะ
รูปภาพที่ 1: ตัวอย่างการแยกแยะรูปภาพว่ารูปภาพอินพุตที่รับมา ซึ่งเป็นรูปภาพที่ระบบไม่เคยเห็นมาก่อนเลยนั้น สามารถจะถูกแยกแยะได้โดยอัตโนมัติว่ามันคือรูปของรถยนต์ ไม่ใช่รถบรรทุก รถจักรยาน หรือรถประเภทอื่น ๆ (ที่มาภาพ : https://www.mathworks.com/solutions/deep-learning/convolutional-neural-network.html)
แต่ด้วยความประจวบเหมาะหลายอย่างในโลกปัจจุบัน ทั้งความก้าวหน้าในการวิจัยเทคนิคด้าน AI ความก้าวหน้าในด้านพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ และ ความก้าวหน้าในด้านจำนวนข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล ทำให้ระบบสมองกล AI ในปัจจุบันสามารถแยกแยะรูปภาพได้ด้วยระดับความถูกต้องสูงกว่า 99% แซงหน้าสมองคนซึ่งสามารถทำงานเดียวกันนี้ได้ด้วยความถูกต้องประมาณ 95% เท่านั้น เรียกว่า พัฒนาการแบบก้าวกระโดดของสมองกล AI ในระยะหลัง ใช้เวลาเพียงแค่ประมาณสิบปี ก็สามารถเอาชนะงานวิจัยด้านนี้ที่ทำกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษก่อนหน้าได้แล้ว เป็นการปฏิวัติวงการ AI ครั้งใหญ่ที่ทำให้หลาย ๆ งานในปัจจุบัน สมองกล AI นั้นทำได้เก่งยิ่งกว่าสมองคนเสียอีกค่ะ

ความร้อนแรงของเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันนั้น สามารถพบได้ทั่วไปทั้งในระดับนานาชาติและในระดับชาติเลยค่ะ ในระดับนานาชาติ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอปเปิล ไมโครซอฟต์ เฟซบุ๊ก ซัมซุง หัวเว่ย อะโดบี ฯลฯ ต่างก็พากันเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นจากสมองกล AI เกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่แม้แต่ Yan LeCun นักวิทยาศาสตร์คนดังผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ AI ในเฟซบุ๊ก (Facebook’s AI research lab) ขึ้นเมื่อห้าปีก่อน ยังออกมากล่าวเมื่อต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมานี้เลยค่ะว่า “หากไม่มี AI เฟซบุ๊กในวันนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรเหลือแล้ว” (https://edition.cnn.com/2018/12/05/tech/ai-facebook-lecun/index.html) เพราะฟีเจอร์ต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กในวันนี้ ตั้งแต่สิ่งที่ถูกเลือกให้มาปรากฏบนหน้า News feed ไปจนถึงโฆษณาต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กที่ถูกเลือกมาแสดงให้เราเห็นนั้น ล้วนแต่มี AI ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เป็นกลไกแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ในตอนต่อไปจะมาคุยกันต่อนะคะว่า ถึงวันนี้ที่สมองกล AI ออกจากหิ้งของนักวิจัยมาสู่ห้างให้ผู้ใช้คนทั่วไปเลือกช้อปเลือกใช้ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันมีความสามารถด้านใดบ้าง และ ใครหรืออาชีพลักษณะไหนที่ต้องเตรียมตัวรับผลกระทบจากคลื่นแห่ง AI ในปีใหม่ปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น