ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปิดดีลแสนล้านส่งท้ายปี 2561 สั่นสะเทือนแวดวงพลังงานอีกหนึ่ง นั่นคือ ปฏิบัติการควบรวมGLOW ของ GPSC บริษัทลูกปตท. เรียกว่าปีนี้เป็นปีทองของ เครือ ปตท. โดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นการประมูลแหล่งก๊าซฯ บงกช-เอราวัณ ปตท.สผ.ก็คว้ามาได้ทั้งสองแหล่ง ส่วนการซื้อโรงไฟฟ้า GLOW ซึ่งยกแรกทำท่าพังพาบ เพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่อนุมัติ แต่ในที่สุดก็เสร็จ GPSC จนได้
ในการประชุมของ กกพ. นัดส่งท้ายปีเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2561 น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. ยืนยันมติของ กกพ.ที่เห็นชอบในหลักการให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในเครือ ปตท. ควบรวมกิจการกับ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) ภายใต้ 2 เงื่อนไขหลัก คือ หนึ่ง กำหนดให้ โกลว์ ขายกิจการ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ให้แล้วเสร็จก่อน หรือเวลาเดียวกันกับการควบรวม และ สอง กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต 11 ข้อเพื่อความคุ้มครองกลุ่มลูกค้าผู้ซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มธุรกิจโกลว์ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล
ปิดบิ๊กดีลสำเร็จ โดยไม่ต้องไปย้อนถามที่เบื้องหน้า เบื้องหลัง ถึงสาเหตุที่ตีตกก่อนหน้าให้มากความ ตามที่ กกพ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดพิเศษที่มาด้วยคำสั่งพิเศษ ตามมาตรา 44 มีมติไม่อนุมัติในคำขอควบรวมก่อนหน้า แถมยกคำอุทธรณ์ กระทั่งมาถึงการยื่นเรื่องใหม่อีกครั้งและได้รับการอนุมัติในที่สุด
แต่ถ้ายังไม่แล้วใจ ขอย้อนกลับไปดูเหตุผลในยกแรกที่ กกพ. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ไม่อนุมัติให้ GPSC ซื้อหุ้น GLOW อีกสักครั้ง รอบนั้นกกพ.ให้เหตุผลว่าเนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รวมทั้งการพิจารณาของ กกพ. ยังเป็นการพิจารณาที่ตระหนักถึง การสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ การรวมกิจการดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่ จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว จึงเป็นการลดการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่การให้บริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ตาม เพราะพบว่า การให้บริการของ กฟภ. ก็ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้ากลุ่ม GLOW ได้ เนื่องจากเหตุผลทางคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องการความมีเสถียรภาพ รวมทั้ง กฟภ. ยังต้องจำหน่ายไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ทำให้ไม่สามารถให้อัตราส่วนลดกับผู้รับบริการได้ ส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันดังกล่าว
ส่วนเบื้องหลังความสำเร็จในยกสองที่แท้จริงคืออะไร คงยากที่สาธารณชนทั่วไปจะรู้เบื้องลึก แต่เหตุผลเบื้องหน้าที่ โฆษก กกพ. อธิบายต่อสังคม คือ “ก่อนหน้านี้ กกพ. ไม่อนุมัติและยกคำอุทธรณ์ เนื่องจากข้อเสนอยังคงมีผลต่อการลดการแข่งขันในบางพื้นที่ ต่อมา GPSC ได้ยื่นเรื่องมาอีกครั้ง หลังปรับโครงสร้างทางธุรกรรมที่ความชัดเจน โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาลดการแข่งขัน ตามมติและข้อห่วงใยเดิมของ กกพ. โดยเห็นว่าการควบรวมดังกล่าวเป็นข่าวดี ช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคตะวันออก”
พูดง่ายๆ คือ ไม่มีอำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาดอย่างที่ปริวิตกแล้ว กกพ.จึงอนุมัติ
มติของ กกพ.ครั้งนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขบังคับหลังการรวมกิจการ เพิ่มเติมท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้รับใบอนุญาต บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) จำนวน 11 ข้อ และผู้รับใบอนุญาตบริษัทในเครือได้แก่ 1. บริษัท โกลว์ เอสพีพี 11 จำกัด 2.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด (จำนวน 2 ฉบับ) และ 3. บริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด รายละจำนวน 10 ข้อ รวมจำนวน 4 ราย 5 ฉบับ
สำหรับเงื่อนไขแนบท้ายสัญญา จำนวน 11 ข้อ ประกอบด้วย การอำนวยความสะดวกกรณีลูกค้าเดิมเปลี่ยนผู้ให้บริการไฟฟ้า หากผู้รับใบอนุญาตเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นในการรวมกิจการ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนอย่างเคร่งครัด, การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ, การให้บริการอย่างมีมาตรฐานและไม่เลือกปฏิบัติ,
การพิจารณาให้สิทธิในการพิจารณาต่อสัญญาหรือขยายเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแก่ลูกค้ารายเดิมก่อน 3 ปี, โครงสร้างอัตราค่าบริการมีความเป็นธรรม, การผลิตและจัดหาไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอมีมาตรฐาน, การรักษาความลับข้อมูลทางธุรกิจให้กับลูกค้า, การสนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ, การบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการร้องเรียนหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขสัญญา และในกรณีที่การกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุที่ทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการในกิจการพลังงานสิ้นสุดลงแล้ว ผู้รับใบอนุญาตอาจต้องร้องขอให้คณะกรรมการระงับ ยกเว้น หรือปรับปรุงมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า บริษัทพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขกกพ. โดยพร้อมที่จะเดินหน้าเข้าซื้อ GLOW จากกลุ่ม Engie สัดส่วน 69.11 % หลังจากGLOW ขายโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 ออกไปก่อน และจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป
ดีลรอบนี้ GPSC จะใช้เวลาไม่นานในการเข้าซื้อกิจการ GLOW เพราะปัจจุบันมีผู้ที่จะซื้อโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 แล้ว ขณะที่การตัดสินทรัพย์ดังกล่าวออกจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มูลค่าการซื้อกิจการลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้น GLOW ที่จะรับซื้อเหลือราว 90 บาท/หุ้น จากเดิมหุ้นละ 94.89 บาท ทั้งนี้ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 124 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 90 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในนิคมฯดับบลิวเอชเอ ตะวันออก จังหวัดระยอง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า 2 ราย คือ GPSCและโกลว์
ก่อนหน้านี้ ปมปัญหาเรื่อง GPSC ซื้อหุ้น GLOWนั้น ตกเป็นข่าวครึกโครมจากการเคลื่อนไหวของ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คัดค้านพร้อมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งก็เป็นที่จับตาว่ามีอะไรในกอไผ่มาแล้วครั้งหนึ่ง
ด้วยว่าปรากฏชื่อ “อนุตร จาติกวณิช” น้องชายคนสุดท้องของกรณ์ นั่งแป้นอยู่เป็นกรรมการของ GLOWซึ่งนายอนุตร คลุกคลีกับแวดวงธุรกิจผลิตไฟฟ้ามาโดยตลอด ผ่านงานมาทั้งบริษัท พลังงาน อุตสาหกรรม ,บริษัท เอช เพาเวอร์ ในกลุ่มบริษัท เหมราช ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น
และไม่เพียงแค่น้องชายตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังมี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” มือกฎหมายของรัฐบาลนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการอิสระของ GLOW อีกต่างหาก
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญก็คือ ในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา GPSC มีการปรับโครงสร้างภายใน เนื่องจากนายเติมชัย บุนนาค แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่ 28 ก.ย.2561 การลาออกดังกล่าวส่งผลให้นายเติมชัย พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วย จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯนัดพิเศษเมื่อ 28 ก.ย. 2561มีมติแต่งตั้ง นายชวลิต ทิพพาวนิช ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนนายเติมชัย บุนนาค การแต่งตั้งดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561เป็นต้นไป
สำหรับ GPSC เป็นบริษัทในเครือ ปตท. โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรก คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 22.73% บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 22.58% และบริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ จำกัด 20.79% ก่อตั้งเมื่อวันที่10 ม.ค. 2556 มีทุนจดทะเบียน 14,983,008,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวนทั้งสิ้น 1,498,300,800 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท จำนวนทุนที่ชำระแล้ว 14,983,008,000 บาท มีนายเติมชัย บุนนาค เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
ขณะที่ GLOW ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและเป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคทางอุตสาหกรรมในภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทคือผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม (Processed Water) และน้ำเย็น (chilled water) ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง และเขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มี ญาณ ฟรานซิสคุส มาเรีย ฟลาเช่ เป็นประธานกรรมการ และ เบรนดอน จี.เอช. วอเทอร์ส เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ตามข้อมูลที่ปรากฏ GPSC เตรียมเข้าซื้อ GLOWภายหลังคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้ดำเนินการซื้อหุ้นจำนวน 69.11% ของ GLOW จาก 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW คือ บริษัท เอ็นจี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 54.16 % และENGIE GLOBAL DEVELOPMENTS B.V. จำนวน 14.95% หลังการได้รับอนุมัติจาก กกพ. หลังจากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป โดยภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มเพิ่มเป็นราว 5 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม GPSC หลังดีลแสนล้านสำเร็จ รวมกันแล้ว 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศนั้น นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)(GPSC) ยืนยันมาตลอดว่า ไม่เข้าข่ายการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด
ไม่เข้าข่ายผูกขาด ไม่มีอำนาจเหนือตลาด ตามเกณฑ์ก็ใช่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครือ ปตท. ยังครองความยิ่งใหญ่ในธุรกิจพลังงานอย่างเหนือชั้นแบบมือไม่ตกเลยจริงๆ