ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ที่น่าจับตายิ่งในแวดวงการศึกษาไทยในปี 2562 เห็นทีจะหนีไม่พ้นกรณี “อุปสงค์-อุปทาน” ระหว่าง “จำนวนนิสิตนักศึกษา” กับ “ที่ว่างในมหาวิทยาลัย” ที่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับอดีตที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา เด็กๆ ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อช่วงชิง “ที่นั่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ” โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
แต่ ณ เวลานี้ ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
เหตุการณ์ “นักศึกษาน้อยกว่าจำนวนที่รับ” ปรากฏให้เห็นมาแล้วในปีการศึกษา 2561 และตอกย้ำให้เห็นถึงสัญญาณอันน่าห่วงดังกล่าวอีกครั้งในปีการศึกษา 2562 เมื่อประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6/2561ได้มีการรายงานการดำเนินการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 (TCAS) และพบว่า สถานการณ์ซ้ำรอยเดิม
TCAS 2562 ที่มีจำนวนมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วม 92 แห่งได้มีการเปิดรับสมัครลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.mytcas.com มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ขณะนี้มียอดจำนวนผู้ลงทะเบียนในระบบแล้ว 262,474 คน จากจำนวนที่นั่งว่างราว 3.9 แสนคน หรือหมายความว่า มีที่นั่งว่างถึงกว่า1.2 แสนคนเลยทีเดียว
“ ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยควรจะมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะดูจากจำนวนนักศึกษาที่รับสมัครผ่านระบบ TCAS 61ซึ่งมีการรับสมัคร 5 รอบ พบว่าจำนวนนักศึกษาน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยจะรับ อีกทั้งในแต่ละรอบมีการสละสิทธิ์จำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมหาวิทยาลัยไทย เพราะหากจำนวนนักศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ และหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานต่างชาติ ไม่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน มหาวิทยาลัยจะเจอวิกฤต”นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ความเห็นด้วยความเป็นห่วง
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษา 5 อันดับแรกที่มีจำนวนรับนักศึกษามากที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับ 36,650 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 22,017 คน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19,973 คน มหาวิทยาลัยพะเยา 17,728 คน และมหาวิทยาลัยบูรพา 17,633 คน ซึ่งจากการจัดทำโครงสร้างระบบฐานข้อมูลการรับเข้าระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยสำหรับปีการศึกษา 2562 หรือที่เรียกว่าระบบทีเร็ก (TREQ) ซึ่งเป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลมหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา องค์ประกอบ เกณฑ์ และจำนวนรับนิสิตนักศึกษา พบว่า ปีการศึกษา 2562 มีจำนวนรับรวมทั้งสิ้น 390,120 คน ประกอบด้วย รอบที่ 1 แฟ้มสะสมงาน รับนักศึกษา 129,247 คน ใน รอบที่ 2 โควตา รับนักศึกษา 99,320 คน รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รับนักศึกษา 69,441 คน รอบที่ 4 แอดมิชชั่น รับนักศึกษา 62,406 คน และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ รับนักศึกษา 29,706 คน นอกจากนี้ยังมีการรับนานาชาติ มี12 สถาบัน 46 คณะ 104 สาขา/หลักสูตรเข้าร่วม รับนักศึกษา 5,071 คน และโครงการทุน มี 4 สถาบัน 9 คณะ 16 สาขา/หลักสูตรเข้าร่วม รับนักศึกษา 172 คน
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการศึกษาของโลก ก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีรายงานว่าในช่วงปี 2555-2557 มีนักศึกษาหายไปถึง 8 แสนคน และเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปิดตัวไปกว่า 500 แห่ง
ยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์และอีกหลายประเทศก็เผชิญกับปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นปี 2561ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาไทย ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0” เอาไว้ว่า ขณะนี้อุดมศึกษากำลังประสบปัญหาทั้งจากบุคลากรที่ไม่ปรับตัว จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงจนมีบางแห่งต้องปิดตัวลง หรือปิดหลักสูตรไป เช่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเพิ่งประกาศปิดหลัดสูตรไปแล้วกว่า 60 หลักสูตรเพราะไม่มีคนเรียน ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรหรือวิธีการสอนใหม่ มหาวิทยาลัยในประเทศมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ที่สถาบันอุดมศึกษาปิดตัวไปแล้ว 500 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 แห่งในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวนอกจากจะเป็นผลมาจาก “จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง” แล้ว ยังมีสาเหตุมาจากนักเรียนจำนวนหนึ่งตอบรับการเข้าเรียนในมหาวิทยาแล้วในระบบรับตรง โควตา ฯลฯ อีกด้วย
และแน่นอนว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ก็คือ สถาบันการศึกษาในไทยจำต้องปรับตัวเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่ลดลงเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแตกต่างเพื่อให้เป็นที่สนใจของผู้เข้าศึกษา รวมทั้งอาจจะต้องมีการลดจำนวนอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
โดยเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมถึงมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น
ทั้งนี้ ปกติแล้ว แต่ละปีหากนำจำนวนตัวเลขผู้เรียนทั้งหมดมาหารโดยเฉลี่ยกับจำนวนสถาบันอุดมศึกษา 170 แห่ง จะได้จำนวนผู้เข้าเรียนใหม่ประมาณปีละ 3,500 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เรียนใหม่ต้องอยู่ที่ 4,000-5,000 คน จึงจะถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการอย่างมีกำไรได้
“เคยมีการทำนายว่า ปี 2563 มหาวิทยาลัยจะปิดตัวลงอีก และจะเหลือมหาวิทยาลัยทั้งระบบอยู่ไม่เกิน 120 แห่ง ในจำนวนที่เหลือแต่ละแห่งจะทยอยปิดคณะ/สาขาลงอีกจำนวนมาก อย่างของ มสด. เอง ที่ผ่านมาเปิดสอนทั้งหมด 60 สาขา ปัจจุบันปิดไปแล้วกว่า 36 สาขา ส่วนใหญ่เป็นสาขานิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ เหตุผลเพราะไม่มีคนเลือกเรียน ล้าสมัย อย่าง มสด. สาขาครุศาสตร์ เหลือเฉพาะสาขาปฐมวัย และประถมศึกษา และเน้นสอนในหลักสูตรคู่ขนานมากขึ้น เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้รอบด้าน เพราะอนาคตการเรียนเพียงศาสตร์เดียวไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต มหาวิทยาลัยเองต้องปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรที่จะต้องมีความทันสมัย ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากกว่า 200 แห่ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปิดไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 150 แห่ง” สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้
ไม่เพียงแต่ระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น สถานการณ์ที่ว่าอาจจะลงลึกไปถึงระดับ “โรงเรียน” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอาจต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การศึกษาครั้งใหญ่ไปพร้อมๆ กันด้วยจากประชากรวัยเรียนที่ลดลงต่อเนื่องอีกด้วย
...นี่จึงนับเป็นอีกปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ไม่อาจมองข้ามได้