xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

MY HERO 2018 “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ หากกล่าวถึง “บุคคลแห่งปี 2561” หรือ “Person of the Year 2018” แน่นอนว่า ต้องยกให้ 2 วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในหัวใจคนไทย “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้นำทีมในปฎิบัติการแห่งมวลมนุษยชาติ ช่วยเหลือ 13 ชีวิต พลัดหลงในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และ “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์” ผู้พิทักษ์แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผู้นำกำลังบุกจับกุมเจ้าสัวใหญ่อิตัลไทยพร้อมพรรคพวก ขณะลักลอบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ในผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ จ.กาญจบุรี โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล
    ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
เริ่มต้นที่ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ผบ.ศอร.) และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันประจำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภารกิจประวัติศาสตร์การต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ที่กลายเป็นปรากฏการณ์แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือร่วมใจกันแห่งมวลมนุษยชาติ

จาก Mission Impossible ภารกิจสุดโหดหินที่ไม่น่าเป็นไปไม่ได้ กลายเป็น Mission Possible พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของ “เพื่อนมนุษย์” จากทั่วทุกมุมโลกในปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต เด็กและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย”

และแน่นอนว่า นั่นคือปฏิบัติการอันสะท้อนให้เห็นภาวะผู้นำ การทำงานภายใต้แรงกดดันได้อย่างดีเยี่ยมของ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ผบ.ศอร.)

การทำงานในรูปแบบ “โฟกัสที่โอกาส มากกว่าปัญหา” การบริหารข้อมูลมหาศาลอย่างชัดเจนฉับไว ไม่ปล่อยข่าวลือเล็ดลอดสร้างความสับสน การบริหารทีมงานจากหลายแหล่งที่มาหลากเชื้อชาตินับพันนับหมื่นคน การทุ่มเททุ่มเททำงานตลอด 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มคนหายเข้าไปในถ้ำหลวงฯ ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2561 ถือเป็นการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้เป็นอย่างดี แม้จะอยู่ในสภาวะ “เร่งรีบ-บีบคัน-กดดัน” ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ในฐานะผู้นำ แสดงความเป็น “มืออาชีพ” เป็นที่ประจักษ์ บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม

ปฏิบัติช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก นับเป็นภารกิจสุดโหดหิน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” แห่งนี้ถูกยกเป็น “เอเวอเรสต์แห่งการดำน้ำ” การเข้าช่วยเหลือเปรียบเสมือน “การวางแผนไปดวงจันทร์” เป็นปฏิบัติการแห่งมวลมนุษยชาติที่ทั่วโลกให้ช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง และอีกบุคคลที่ต้องยกย่องว่าเสียสละที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนี้ “จ่าแซม - จ.อ.สมาน กุนัน” ผู้พลีชีพในภารกิจประวัติศาสตร์ นับเป็นอีกหนึ่ง “วีรบุรุษแห่งถ้ำหลวง” ซึ่งตราตรึงในหัวใจคนไทย

สำหรับ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์คือ แม่ทัพ นำขบวนต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่มนุษย์แทบไม่มีทางชนะ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คอยอำนวยการบริหารจัดการให้การช่วยเหลือเป็นไปตามแผนตั้งแต่วันแรกจวบจนกระทั่งวันสุดท้าย

“มีคนถามว่า ทำไมผมต้องมายืนอยู่ตรงนี้ตลอด…มันเหมือนแม่ทัพ รบแล้วเรากำลังจะพ่ายแพ้ เราจะเสียพื้นที่ ถ้าแม่ทัพไม่ยืนอยู่ข้างหน้า ใครจะไปช่วยแม่ทัพรบ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องสู้กันตลอด เราจะเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้ายังไง เราก็จะสู้กันตลอด” ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

การทำงานของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เป็นไปอย่างความรอบคอบ มีความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ และที่โดนใจประชาชนคนไทยทั้งประเทศเมื่อครั้งที่ท่านฯ วลีเด็ดที่ท่านพูดกับทีมปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวงฯ ก็คือ

“ใครที่บอกว่าไม่เสียสละพอที่จะทำงาน ใครจะกลับบ้านไปนอนกับลูกกับเมีย เชิญเซ็นชื่อแล้วออกไปเลย ผมไม่รายงานใครทั้งสิ้น ใครจะทำงาน วันนี้ขอให้พร้อมทุกนาที ให้คิดว่าเขาเป็นลูกเรา”

ภายหลัง Mission Complete ให้ความช่วยเหลือพา 13 ชีวิต ทีมหมูป่าฯ กลับบ้านได้สำเร็จ ในวันที่ 10 ก.ค. 2561 ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้เปิดใจถึงปฏิบัติการกล่าวดังกล่าวผ่านสื่อโดยยกคุณงามความดีแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้ ตอนหนึ่งความว่า

“ปัญหาหน้างานทุกวันทุกคนทราบดีว่าวุ่นวาย แต่ทุกกลไกเรารู้หน้าที่ รู้บทบาท ทุกคนมีความตั้งใจที่ไปช่วย พระเอกตัวจริงคือคนที่แบกท่อ แบกปั๊มน้ำ แบกสายไฟ แบกถังออกซิเจนเข้าไปในถ้ำ เพราะทั้งแคบ ทั้งลุยน้ำ แม้คนดำน้ำไม่ค่อยจะเก่งก็เข้าไป ก็ต้องเสี่ยง วันหนึ่งการเดินเข้า - ออก ผมว่าทั้งวันเป็น 2,000 - 3,000 คน ถ้าไม่มีท่อ ไม่มีปั๊มน้ำ ไม่มีสายไฟเข้าไป ก็ไม่มีทางเอาชนะน้ำได้ โดยเฉพาะชุดดำน้ำ 13 คน ที่ดำน้ำเข้าไปช่วยน้องๆ ทั้ง 13 คน ออกมา นั่นคือพระเอกตัวจริง แต่เบื้องหลังจริงๆ ถ้าขาดซึ่งคนที่เข้าไปวางกลไกต่างๆ ในนั้น ความสำเร็จคงไม่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าทุกคนจะจดจำความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจ”
 
 
พระเอกตัวจริงที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ว่านั้น มีมากมายเกินกว่าที่จะบรรยายให้หมดได้ ไม่ว่าจะเป็น “หน่วยซีล” หรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ นักดำน้ำจากทั่วโลกหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและต่างชาติที่ยืนมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ตลอดรวมถึงประชาชนคนธรรมดาที่หยิบยื่นน้ำใจให้ในฐานะ “ผู้ปิดทองหลังพระ”

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล “Asia Game Changer Award 2018” ให้แก่ทีมกู้ภัยถ้ำหลวงฯ จ.เชียงราย จาก Asia Society องค์กรอิสระในประเทศสหรัฐฯ รางวัลทรงเกียรติเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และได้กล่าวถึงภารกิจแห่งมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ ความว่า หวังว่าปฏิบัติการถ้ำหลวงจะเป็นประสบการณ์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ในการเริ่มต้นมีชีวิตเพื่อแบ่งปันและทำเพื่อผู้อื่น แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของโลกใบนี้ได้

กล่าวสำหรับ โปรไฟล์การศึกษาเรียกว่าไม่ธรรมดา ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จบปริญญาตรี 4 ใบ พ่วงปริญญาโท 1 ใบ ประกอบด้วย วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2528), นิติศาสตรบัณฑิต (2536) และประกาศนียบัตรกฎหมายการที่ดินและทรัพย์สิน (2535) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2545), รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2556) และปริญญาโท 1 ใบ สาขาวิศวกรรมสํารวจและสารสนเทศภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (2531)

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ร่ำเรียนหลากหลายศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีการทำแผนที่ และมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา รวมถึงเรื่องของการระบายน้ำ ขณะเดียวกันก็ผ่านงานมาแล้วหลายตำแหน่ง โดยใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจของกรมที่ดิน, ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ของกรมที่ดิน, ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่ของกรมที่ดิน รวมถึง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมสำรวจของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ด้วยเหตุดังกล่าวจึงสามารถนำองค์ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงมาใช้ในปฏิบัติการถ้ำหลวงได้อย่างลงตัว

สำหรับเส้นทางการเข้ารับราชการนั้น ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ถือเป็นลูกหม้อของกรมที่ดิน และเติบโตมาตามสายงานตามลำดับ เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 7 (จังหวัดระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ และตรัง), ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ (วิศวกรสำรวจทรงคุณวุฒิ) กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (2556-2559), ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดิน, ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดินแห่งชาติ กรมที่ดิน, เลขานุการกรม กรมที่ดิน

ต่อมา เม.ย. 2560 มีคำสั่ง หัวหน้า คสช. ให้ไปนั่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

การทำงานของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ยอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นับเป็นคนที่ไม่คดในข้องอในกระดูก

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ไม่เซ็นอนุมัติให้เทศบาลนครเชียงรายก่อสร้างอนุสาวรีย์ช้างคู่บารมีพญามังรายที่ริมแม่น้ำกก ซึ่งจะใช้งบประมาณที่มาจากงบอัดฉีดเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ 32 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำและมีพิรุธ ส่อแววทุจริต ส่งผลให้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 3 วัน

นอกจากนี้ ขณะอยู่ในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ไม่ยอมลงนามในจำนวนกว่า 20 โครงการ เช่น โครงการสร้าง “ตุง” สัญลักษณ์กลางเมืองเชียงราย ใช้งบ 50 ล้านบาท เพราะองว่างบประมาณก้อนนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาด้านอื่นๆ ได้ดีกว่านี้ ขณะที่หลายโครงการที่มีการอนุมัติไปแล้วยังสั่งให้มีการตรวจสอบย้อนหลังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตอีกด้วย

“ผมเป็นผู้ว่าฯ ผมมีหน้าที่คุมทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎกติกา ท่านรู้ไหมเชียงรายที่ผ่านมา ศักยภาพมันควรจะเจริญขนาดไหน เชียงรายได้ 100 บาท มันควรจะลงให้ถึง 100 บาท หรืออย่างน้อย 90 บาท วันนี้ลงได้แค่ 30-40 บาท เขาถึงส่งผมมา วันนี้ 20 กว่าโครงการผมเซ็นต์ไม่ได้ เพราะมันผิดกติกาหมด และผมก็โดนขับไล่ เพราะผู้ว่าฯ มาแล้วไม่พัฒนา ตกลงผมยอมไปที่ไหนก็ได้ แต่ผมจะไม่ยอมเซ็นต์โครงการที่ผิด” ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าวไว้

1 ปีในฐานะพ่อเมืองเชียงราย ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ถือเป็นข้าราชการที่ชาวบ้านรักเคารพศรัทธา ด้วยเป็นคนทำงานจริงจัง ลุยลงพื้นที่ตลอด อีกทั้ง ยังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน เป็นคน “ตงฉิน” ไม่ยินยอมให้กับเรื่องไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ มีคำสั่งย้าย ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จากผู้ราชการจังหวัดเชียงราย ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ซึ่งในแวดวงมหาดไทยมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นการลดขั้นผู้ว่าฯ จากจังหวัดใหญ่ไปจังหวัดเล็ก คาดว่าสาเหตุมาจากความ “ตงฉิน” ของตัวท่าน จึงเกิดความขัดแย้งกับหลายภาคส่วนในจังหวัด

แต่ไม่ว่าจะย้ายไปจังหวัดใดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะทุกคนได้จดจำชื่อของ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ไว้ในหัวใจในฐานะ “วีรบุรุษถ้ำหลวง” เป็นที่เรียบร้อย

   
หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์
นอกจาก “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” แล้ว “บุคคลแห่งปี” อีกคนหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ก็คือ ผู้ที่ถูกขนานเป็นวีรบุรุษป่าทุ่งใหญ่นเรศวร “นายวิเชียร ชิณวงษ์” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ผู้นำทีมกว่า 20 ชีวิต จับกุม “กลุ่มนายเปรมชัย กรรณสูต” เจ้าสัวใหญ่แห่งอิตาเลียนไทย ขณะลักลอบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ฯ พร้อมของกลางซากสัตว์ป่าหลายรายการ อาทิ เสือดำ, ไก่ฟ้าหลังเทา เป็นต้น พร้อมอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนอีกจำนวนมาก เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2561

การจับกุมครั้งสำคัญที่ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลของ “หัวหน้าวิเชียร” นับเป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือนไปทั่งแผ่นดิน ปลุกกระแสให้ผู้คนทุกหย่อมหญ้าทวงคืนความยุติธรรมแก่สัตว์ป่าที่ต้องมาสังเวยชีวิตแก่กลุ่มนายพรานใจเหี้ยม จนเกิดกระแสต่อต้านกลุ่มพรานหลงยุคในโซเชียลมีเดีย เกิดการเคลื่อนไหวจากกลุ่มอนุรักษ์ทั่วราชอาณาจักร

สังคมยกย่องสรรเสริญ หัวหน้าวิเชียร เป็นคนดีต้นแบบผู้พิทักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ ต่างร่วมส่งกำลังใจล้นหลามเป็นเกราะคุ้มกันลดความกดดันจากผู้มีอิทธิพล

ย้อนลำดับเหตุการณ์กับไปเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2561 หลังได้รับรายงานว่าพบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ตั้งแคมป์พักในบริเวณจุดห้ามตั้ง “นายวิเชียร ชิณวงษ์” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก นำทีมเข้าตรวจสอบ พบว่านักท่องเที่ยวหนึ่งในกลุ่มนี้ คือ นายเปรมชัย กรรณสูตร เจ้าสัวใหญ่แห่งอิตาเลียนไทยผู้มากด้วยบารมีและ “คอนเนกชัน” ระดับพระกาฬ ก่อนทำกสารตรวจสอบบริเวณเต๊นท์พัก กระทั่ง พบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากเสือดำถูกชำแหละแล้ว 1 ตัว, ซากหนังเสือดำ, กะโหลกเสือดำ, เนื้อเสือดำที่ปรุงสุก, ซากไก่ฟ้าหลังเทา และซากเนื้อเก้ง รวมทั้ง พร้อมอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนอีกจำนวนมาก
 
หัวหน้าวิเชียรปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม จับกุมกลุ่มเจ้าสัวใหญ่อิตาเลียนไทย ส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่เกรงกลัวแม้รู้ภายหลังว่าหนึ่งในผู้ที่ตนเองจับกุมนั้นเป็นคนใหญ่คนโตในสังคม จนสื่อทุกแขนงรายงานข่าวนำเสนอความกล้าหาญการยืนหยัดในการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้

“ไม่กลัวการถูกย้าย ผมทำงานเพื่อปกป้องป่า ผมแค่ทำตามหน้าที่รับผิดชอบตรงไปตรงมา โดยชอบธรรม ก็มองว่าไม่มีอะไรต้องกังวล วันข้างหน้าจะมีอะไรมั้ยก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะการรักษาทรัพยากรป่าไม้ เป็นเรื่องที่ต้องกระทบผลประโยชน์ของใครบางคน ถ้าเจ้าหน้าที่ท้อถอย ถอดใจทรัพยากรป่าไม้คงจะเหลืออยุ่ไม่เท่าไหร่ ในส่วนของผมและเจ้าหน้าที่ทุกนายก็พร้อมเสมอที่จะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ” หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์ กล่าว

หัวหน้าวิเชียร นับเป็นบุคคลในการทำงานด้านอนุรักษ์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งมั่นซื่อสัตย์เต็มไปด้วยอุดอมการณ์ นอกจากการจับกุมคดีลักลอบล่าสัตว์ป่าของกลุ่มนายเปรมชัย กล่าวสำหรับที่ผ่านมา หัวหน้าวิเชียรนำทีมสร้างผลงานมาแล้วมากมาย

เช่น ยุทธการทวงคืนผืนป่าที่ถูกผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นรุกล้ำปลูกยางพารา จ.กาญจนบุรี ถูกขัดขวาง - ขู่ฆ่า - ยิงปืนขู่, ร่วมเหตุการณ์ยิงปะทะเดือดกับกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 10 คน ที่กำลังเลื่อยไม้หวงห้ามในป่า มีผู้เสียชีวิต 2 คน, จับกุมดาบตำรวจขณะส่งไม้พะยูงให้นายหน้าที่ชายแดน จ.มุกดาหาร, บุกค้นบ้านของ ผอ.ส่วนโครงการพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบซุกไม้หวงห้าม ส่อพัวพันอดีตพนักงานราชการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน, ตรวจยึดไม้หวงห้ามในขบวนการค้าไม้มูลค่า 8 ล้านบาท ที่บ้านลูกชายของเกษตรตำบล จ.มุกดาหาร, ตรวจค้นพื้นที่ 160 ไร่ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.กาญจนบุรี บุกรุกก่อสิ่งปลูกสร้างและทำสวนผลไม้ ฯลฯ
 
ก่อนมารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เคยเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จ.มุกดาหาร และผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ

ตั้งแต่เข้าทำงานพิทักษ์ป่าไม้สัตว์ป่า หัวหน้าวิเชียร ทำหน้าที่อย่างดีไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องให้ความเคารพนับถือ

กระทั่ง นำทีมเข้าจับกุมกลุ่มนายเปรมชัย ส่งผลให้ชายผู้ปิดทองหลังพระผู้พิทักษ์ป่าทุ่งใหญ่ฯ แห่งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

และปฏิบัติบุกจับกุมผู้มีอิทธิพลที่ลักลอบเข้าไปตั้งแคมป์ล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์ ได้รับรางวัลจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) มอบรางวัลเชิดชูเกียรติความกล้าหาญ การสร้างสรรค์นวัตกรรม และความมีจริยธรรม อันเป็นรางวัลยกย่องพิเศษ (Special Commendation)

โดยหัวหน้าวิเชียร กล่าวสั้นๆ หลังรับรางวัลดังกล่าวว่า ถือเป็นรางวัลของเจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่นเรศวรทุกๆ คน

พลิกแฟ้มประวัติ “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์” ก่อนจะเข้ามาเป็นทำงานพิทักษ์ผืนป่า จบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นครราชสีมา เป็นศิษย์เก่า “วนศาสตร์ รุ่น KU 59” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นครราชสีมา

เริ่มแรกปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ในผืนป่าพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนย้ายมาเป็น นักวิชาการป่าไม้ ตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี เมื่อช่วงต้นปี 2560 และจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์รักษาป่าไม้และสัตว์ป่า

ผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สร้างวีรบุรุษป่าทุ่งใหญ่ฯ หัวหน้าวิเชียร ยังคงทำงานและใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง

“ผมวิเชียร ชิณวงษ์ ในนามของทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องขอขอบพระคุณพี่น้องชาวไทยทุกคนที่ได้ส่งกำลังใจให้พวกเราได้ต่อสู้ฝ่าฟันข้ามความกดดัน หรือว่าเหตุการณ์ตรงนี้ หากไม่มีกำลังใจเหล่านี้แล้วเนี่ย เราคงจะทำงานได้อย่างไม่ราบรื่น กำลังใจที่ท่านส่งมาทำให้พวกเรามีพลังเป็นร้อยเท่าพันเท่าในการที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชาติไทยต่อไปครับผม” นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก กล่าว

และแน่นอนว่า ทั้ง “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์” และ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” คือต้นแบบแห่งความเสียสละและความกล้าหาญในเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์อันเป็น “วาระแห่งชาติ” และ “วาระแห่งมวลมนุษยชาติ” ที่สมควรยิ่งที่จะได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2561” ของประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น