xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รถไฟทางคู่ มรดก คสช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

หนึ่งในนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ คือ เศรษฐกิจรถไฟ แต่มันคืออะไร ไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีรายละเอียด

ก่อนหน้านี้ สัก 3-4 เดือน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ได้ไปดูรถไฟไฮเปอร์ ลูบ ซึ่งมีความเร็วถึงชั่วโมงละ 1,000 กิโลเมตร แต่ยังอยู่ในระยะทดลอง จึงเกิดไอเดียว่า จะเอาไฮเปอร์ลูบ มาแทนรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ก้าวหน้า ทันสมัย สะดวกสบาย กระจายความมั่งคั่งสู่ทุกพื้นที่ที่รถไฟผ่าน และยังทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแถวหน้าผู้นำนวัตกรรมขนส่งมวลชนที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เศรษฐกิจรถไฟของพรรคอนาคตใหม่ คงจะไม่ใช่ ไฮเปอร์ลูบ ที่เป็นเพียงความฝันฟุ้ง ที่ห่างไกลจากความเป็นจริงของนายธนาธร เช่นเดียวกับฝันเฟื่องอีกหลายๆเรื่องที่เป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่
ความจริง การพัฒนาระบบรถไฟได้เกิดขึ้น อย่างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ในยุค คสช. นี่แหละ เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ จะชอบหรือไมใชอบ คสช. ก็แล้วแต่ แต่นี่คือ มรดกที่ คสช. ได้สร้างไว้ให้กับคนไทยรุ่นต่อๆไป

ปัจจุบัน ทางรถไฟในประเทศไทย มีความยาวรวมกันประมาณ 3,000 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยว ที่ทำให้การเดินทางขนส่งสินค้าด้วยรถไฟเสียเวลามาก เพราะต้องรอสับหลีก

อีกไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ เราจะมีทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว คืออีกประมาณ 3,000 กิโลเมตร จากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สร้างรางเพิ่มขึ้นอีก 1 ราง ในเส้นทางเดิม ทั่ว ประเทศ และสร้างทางคู่ใ นเส้นทางใหม่เพิ่มเติม

การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก 7 เส้นทางได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2559 ประกอบด้วยเส้นทาง ฉะเชิงเทรา -*แก่งคอย , ชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ,มาบกะเบา -ชุมทางถนนจิระ ลพบุรี-ปากน้ำโพ , นครปฐม-หัวหิน ,หัวหิน- ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์ -ชุมพร

ระยะที่สองอีก 9 เส้นทาง คือช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี - สงขลา, หาดใหญ่ -ปาดังเบซาร์, ปากน้ำโพ-เด่นชัย , เด่นชัย - เชียงใหม่ , ขอนแก่น-หนองคาย ,ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี , บ้านไผ่-นครพนม และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

ช่วงเด่นชัย -เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางใหม่ ระยะทาง 326 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการเก่า นานหลาสยสิบปีล้ว แต่ไม่ได้สร้างสักที เส้นทางนี้ และเส้นทางสายอีสานที่ไปสิ้นสุดที่หนองคาย ก็จะเชื่อมกับรถไฟไปลาว ไปถึงจีนตอนใต้ โดยไม่ต้องง้อ one belt one road ของจีน ไม่ต้องเสียเงินไปลงทุนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ไม่มีเหตุผลที่จะสร้างเลย ยกเว้น เกรงใจ และเกรงกลัวจีน จีน ไม่กล้าบอกเลิก

ทั้งหมดนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท มากกว่ามุลค่าการลงทุนรถไฟความเร็วสุง กรุงเทพ -โคราช - หนองคาย ประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่สูงมาก แต่คุ้มค่า เพราะจะได้ใช้ทั้งประเทศ ใช้ได้ไปถีงชั่วลูกชั่วหลาน เป็นการปฏิรูประบบขนส่งทางรางครั้งใหญ่ที่สุด ในรอบ120 กว่าปีนับตั้งแต่ มีทางรถไฟสายแรกเกิดขึ้นในประเทศไทย

รถไฟทางคู่นี้ จะขนได้ทั้งคนและสินค้า ความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้ว เมื่อรถไฟวิ่งได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอสับหลัก และเป็นเทคโนโลยี่ใหม่ การขนส่งสินค้า ที่ใช้ถนน ก็จะย้ายมาใช้ระบบราง ซึง่มีต้นทุนถูกกว่ามาก ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดประมูลผู้ลงทุนก่อสร้าง และบริหาร สถานีขนถ่ายสินค้า ตามสถานีใหญ่ๆไปแล้วหลายแห่ง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า ความเร็วของขบวนรถขนส่งสินค้าจาก 35 - 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะเพิ่ม เป็น 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถไฟขบวนขนส่งผู้โดยสารเพิ่มความเร็วจาก 50 - 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้การเดินทางในระยะ 300-500 กิโลเมตร จาก กรุงเทพ เช่น โคราช,หัวหิน,พิษณุโลก เร็วขึ้นจากเดิม 4-5 ชั่วโมง เหลือไม่ถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นจุดขายของรถไฟที่มีความสะดวกมากขึ้นเมื่อมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนและรถสาธารณะอื่นๆ

การเปิดประมูล รถไฟทางคู่ระยะที่สอง ล่าช้าจากแผน ที่จะต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดประมูลเลยแม้แต่เส้นทางเดียว ทางที่ดี รัฐบาลควรจะเร่งเปิดประมูลให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง จะได้พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่คือผลงานอันเป็นมรดก ของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตยที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเดินทางและการขนส่งสินค้า ในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นอนาคตใหม่ที่เป็นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น