xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ประชารัฐ” กระฉูด มัดตราสัง “ประชานิยม” “ทักษิณ” สิ้นมนต์ขลัง “สายเปย์” งัดมุกล้างมรดก คสช.-ชูแก้ รธน. (ที่เป็นไปไม่ได้)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปี่กลองการเมืองโหมอีกระลอก

ภายหลังจากที่ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยสาระสำคัญเป็นการยกเลิกคำสั่ง และประกาศ คสช. รวม 9 ฉบับแล้ว

หรือที่เรียกกัน “ปลดล็อกการเมือง” ที่รอคอยกันมาเนิ่นนาน

เป็นไทม์มิ่งที่สอดรับไปกับการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้

ถือเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมือง นักเลือกตั้ง รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เต็มรูปแบบ หลังถูกกดทับด้วย “อำนาจรัฐประหาร” มาตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หากตัดในแง่ “สิทธิบุคคล” ของนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ถูกจำกัดด้วยคำสั่งและประกาศ คสช.ที่ยกเลิกไปนั้น ในแง่ “ภาพรวม” อาจจะไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างมีนัยสำคัญมากนัก ด้วยที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมือง ก็อาศัย “เทคนิค” เลี่ยงกฎหมายเดินสายหาเสียงกันไปเป็นเวลาหลายเดือนกับอีเว้นท์ที่เรียกกันว่า “รณรงค์รับสมัครสมาชิกพรรค” นั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม “เดินคารวะแผ่นดิน” ของ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือกิจกรรม “ไทยสองเท่า - กรุงเทพขยับ” ของพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค

ทำนองเดียวกับการเลี่ยงบาลีในรูปแบบการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “เฮียมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาเก้าอี้ไว้ได้ ฟากพรรคเพื่อไทยก็มีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ให้ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มาตลอดเช่นกัน

จึงไม่แปลกที่หลังคำสั่งปลดล็อกออกมา ความรู้สึกของ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” จะออกไปในทางไม่ยินดียินร้ายด้วย โดยเฉพาะในซีกของพรรคเพื่อไทย ที่หลายคนตกพุ่มมีคดีติดตัวจากการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.กันคนละกระทงสองกระทง แล้วดูหัวเสียฟึดฟัดไม่ลิงโลดกับการปลดล็อกที่เรียกร้องมานาน

ด้วยมีหมายเหตุว่า คดีความขัดคำสั่ง คสช.ที่ผ่านมา ยังเดินหน้าตามกระบวนการต่อไป

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าการ “ปลดล็อกการเมือง” ครั้งนี้ ทำให้ “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” ที่ “จำศีล” เลี่ยงการถูกเพ่งเล็งของ คสช. กล้าที่จะออกมาขยับแข้งขยับขา

เห็นได้ชัดเจนจากรายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นักการเมืองฝีปากกล้า ในฐานะประธานคณะรณรงค์ปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เจ้าของมอตโต “ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม” ออกมาโลดแล่นที่เริ่มวอร์มอัพรออาณัติสัญญาณ ก่อนออกโรงมาจ้อจี้จิดกัดคนอื่น-พรรคคู่แข่งรายวันตามถนัด

ถัดไปจากนี้ก็เป็น “ฤดูหาเสียง” อย่างเป็นทางการ นับถอยหลังสู่คูหาเลือกตั้งที่ไม่น่าเขยิบไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นอกเหนือจากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนก็จะมีการปล่อยนโยบายหาเสียงที่หลายพรรคจัดทำไว้แล้วออกมาเป็นระลอก รอคอยถึงวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะประกาศหลังผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ถึงจะจัดอีเวนท์คิกออฟนโยบายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง

ปัญหาคือ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่กำหนดให้นโยบายพรรคการเมืองต้องอยู่ในกรอบ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เสมือนเป็นการ “มัดตราสังข์” นักการตลาดทางการเมือง ที่จะไม่สามารถรังสรรค์นโยบายประเภทหวือหวา สัญญาว่าจะให้ ไม่ได้โดยเด็ดขาด

โดยเฉพาะ “ค่ายเพื่อไทย” หรือพรรคในเครือข่าย ผู้ท้าชิงอำนาจอันดับหนึ่งจาก “รัฐบาล คสช.” ด้วยที่ผ่านมาคะแนนนิยมที่โชกโชน จนสยายปีกครองอำนาจมาได้ทุกครั้งหลังการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ก็เป็นอานิสงส์ผลบุญจากนโยบายยี่ห้อ “ประชานิยม” ที่แนบโลโก้ ทักษิณ ชินวัตร มาตลอด จนกลายเป็นกระแส “ทักษิณฟีเวอร์” ในตำนาน

ขณะที่ “ต้นทุน” เดิมอย่าง “ประชานิยม” ในวันวาน ก็ถูก “เกทับบลัฟแรก” ด้วยแบรนด์ใหม่อย่าง “ประชารัฐ” ของรัฐบาล คสช.จนเสื่อมมนต์ขลังไปไม่น้อย

สะท้อนผ่านผลการสำรวจ “รังสิตโพล” ที่ออกมาล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 นี่เอง ในหัวข้อ “อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง” ปรากฎว่า “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำลิ่วที่ 27.06% มี “เจ๊หน่อย” เด็กในสังกัด “ชินวัตรแฟมิลี่” ที่ตามมาห่างๆ 18.16% และ “เฮียมาร์ค” หัวหน้าค่ายสะตอ กับแต้ม 15.55% มาเป็นที่ 3

ที่น่าสนใจคือ “บทวิเคราะห์” แนบท้ายโพลตามมาด้วย เหตุและผลของคะแนนนิยมขึ้นหรือลง สอดรับไปกับ “ความเป็นจริง” ที่ว่า ความนิยมของ “นายใหญ่ทักษิณ” เสื่อมลง จากปัจจัยความแตกแยกภายในเครือข่ายตัวเอง

ที่เคยผันเป็นกระแส “ทักษิณฟีเวอร์” ก็ถูกนำมาแก้ไข ต่อยอด จนมนต์สะกด ที่ชื่อ “ประชานิยม” จางไปโข แค่แคมเปญ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ “รัฐบาล คสช.” ยิงสลุตออกมาต่อเนื่อง จน “ลิ่วล้อทักษิณ” โวยลั่นว่า “หาเสียงล่วงหน้า” ก็ชัดในตัวอยู่แล้ว

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าผลการสำรวจรอบนั้นของ “รังสิตโพล” ทำออกมาก่อนที่รัฐบาลจะเดินเครื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” ในเฟสที่ 2 ที่มาในรูปแบบแพกเกจ “ของขวัญปีใหม่ 2562” ที่เพิ่งออกดอกออกผลเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลัง “ครม.ลุงตู่” อนุมัติอัดฉีดเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยิงตรงลงไปสู่ผู้ถือบัตรอยู่มากกว่า 14.5 ล้านรายทั่วประเทศ เมื่อเดือนก่อน

เอาแค่เสียงเฮลั่นประเทศ กับโบนัสพิเศษ 500 บาท ให้จับจ่ายช่วงปีใหม่ ที่ได้รับกันถ้วนทั่ว แม้จะมีประเภท “จนไม่จริง - จนไร้คุณภาพ” ปนเปไปบ้าง แต่ก็เชื่อเถอะ “สายเปย์โอนไว” ยิงตรงลงกระเป๋าประชาชนทันที แบบนี้ได้ใจเป็นที่สุด ไม่ต้องชะเง้อลุ้นว่าจะผ่านให้ใครแทะเล็มระหว่างทาง จนเหลือแต่ “ไม้ไอติม” เหมือนในอดีต

ตามมาอีกเป็นระลอกกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน หรือค่าเดินทางผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาท ทั้งหลายทั้งปวงกดปุ๊บติดปั๊บเริ่มเลยตั้งแต่ธันวาคม 61 ถึงกันยายน 62

ไม่ใช่เน้นไปที่ประชาชนกลุ่มเดียว ยังทยอยออกมาตรการช่วยเหลือมุปฝักใฝ่ในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ทั้งมาตรการกระตุ้นยางเข้มแข็ง ให้เกษตรกรปลูกยางพารา หรือมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ หรือปาล์มน้ำมันที่ออกไปก่อนหน้า

สดชื่นกว่าใคร เห็นจะเป็น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ ครม.ทุ่มงบประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาทเศษ ขึ้นค่าตอบแทน อสม.ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทตอบแทนน้ำใจเสียสละ หลังจากไม่ได้ปรับเพิ่มมาเป็นเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มปรับในเดือนธันวาคมนี้ เป็นต้นไปเช่นกัน

ต่อเนื่องด้วยโปรเจคต์ “ชอปช่วยชาติ” ที่มีมาทุกปี และยังขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น ผ่านมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่รวมของขวัญปีใหม่ที่ “ลุงตู่” สั่งการให้ทุกกระทรวงจัดทำเป็นแพกเกจ “คืนความสุข” ระดมออกมาในขวบปีสุดท้ายของ “รัฐบาล คสช.”

เรียกได้ว่าจัดหนักอย่างทั่วถึง ทุกวัย ทุกชนชั้น ทุกวงการ ถ้วนทั่วหน้าเลยทีเดียว จนใครต่อใครต่างยก “แชมป์สายเปย์” ให้กับ “ลุงตู่” แบบที่เจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง “ทักษิณ” ได้แต่มองค้อนมองเคือง

รูปการณ์นอกเหนือจากผลพวงที่แปรผันเป็นกระแสความนิยม “ลุงตู่ฟีเวอร์” ให้กลับมาเหมือนช่วงขวบปีแรกของรัฐบาล คสช.แล้ว ยังเป็นอานิสงค์ที่ตกต้องไปที่ “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งภาพความคาบเกี่ยวของพรรคกับรัฐบาล ที่อย่างน้อยก็มี “4 รัฐมนตรีกุมารทอง” ของ “รัฐบาลลุงตู่” ไม่ว่าจะเป็น อุตตม สาวนายน - สนธิรัตน์ สนธิจิรรงศ์ - สุวิทย์ เมษิณทรีย์ - กอบศักดิ์ ภูตระกูล แกนนำพรรคพลังประชารัฐ

นอกเหนือจากโชว์ผลงานเป็นตัวจักรด้านเศรษฐกิจตลอดกว่า 3-4 ปีที่อยู่ในตำแหน่งมาแล้ว ปัจจุบันแม้จะขึ้นคร่อม 2 ภาค สวมหมวก 2 ใบ จนเป็นอุปสรรคในการทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ในด้านงานราชการฝ่ายบริหารก็ยังขุนผลงานงอกเงยออกมาเรื่อยๆ

อีกทั้งยังชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่า “ค่ายพลังประชารัฐ” เตรียมส่งเทียบเชิญให้ “ลุงตู่” มาอยู่ในบัญชีผู้เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง อันดับ 1 ของพรรคซะด้วย ดังนั้นไม่ต้องไปรังสรรค์นโยบายหาเสียงให้มากความ แค่กระซิบเบาๆว่า “เหมือนเดิม โอโจ้ด้วย” ชาวบ้านฐานเสียงก็คงเข้าใจ

ผิดกลับ “ค่ายเพื่อไทย” และเครือข่าย ที่ยังดูมะงุ้มมะงาหรา แม้จะมีการจุดพลุแคมเปญด้านต่างๆออกมาด้วยคำสวยหรูออกมาเป็นระยะ แต่เนื้อในสาระยังกลวงโบ๋ เหมือนยังทำไม่เสร็จ

ก็อย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญวางกลไกในการทำนโนยบายหาเสียงของพรรคการเมืองไว้อย่างรัดกุม โอกาสที่ “เครือข่ายทักษิณ” จะแก้เกมเกทับบลัฟกลับ คงไม่ได้ เอาง่ายๆแค่ท้าเหยงๆให้ ประกาศจะยกเลิกบัตรคนจน-นโยบายประชารัฐ หากมีอำนาจ จนป่านนี้ก็ยังไม่มี “คนเพื่อไทย” หน้าไหนกล้ารับคำท้าเลย ด้วยรู้ว่าเป็นนโยบายที่ได้ใจประชาชน

ระยะหลังก็ได้แต่ซ้อมมือเป็น “ฝ่ายค้าน” ไปเรื่อย ค้านยันเต ค้านทุกเรื่อง ที่รัฐบาล คสช. หรือพรรคพลังประชารัฐเคลื่อนไหว จ้องจับผิด ดิสเครดิต คำพูดคำจา ประเด็นเล็กน้อย ต่อยอดเป็นประเด็นตอบโต้ทางการเมืองไปซะหมด คล้ายกับ “คนหมดมุก” ที่ไม่มีจุดขายของตัวเอง

หนักเข้าก็ต้องไป “ขุดของเก่ามากิน” อย่างล่าสุดที่ “สุดารัตน์” ก็สวมวิญญาณ “หมอหน่อย” ในฐานะอดีต รมว.สาธารณสุข พร่ำพรรณาความดีงามของ “นโยบายบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” ยึดเอาวันที่ 12 ธันวาคม ที่ถือเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ว่า “17 ปีที่คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นับตั้งแต่ปี 2544 ประเทศไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จ ได้รับการยอมรับและชื่นชมขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งระดับนานาชาติ” เคลมเครดิตว่าเป็นผลงานของ “รัฐบาลไทยรักไทย” ในวันที่ตัว “หญิงหน่อย” เป็น รมว.สาธารณสุข ที่ผลักดันนโยบายจนสำเร็จ

และก็ไม่ลืมอวยผู้มีพระคุณอย่าง “นายใหญ่ดูไบ” ด้วยว่า เป็นความกล้าตัดสินใจของ “ทักษิณ” ผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนสำเร็จ อย่างไรก็ดีเนื้อหาก็ดูเหมือนจะ จมอยู่กับ “อดีตกาล” ไม่ยักพูดถึงอนาคตภายภาคหน้า แต่อย่างใด

ถอยกลับไปวันหนึ่งก็เป็นคิวของ “นายห้างดูไบ” ที่โผล่มาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คฉลองโอกาสที่ คสช.ปลดล็อกการเมืองในประเทศ ทันทีทันใด ร่ายยาวว่า

“วันนี้การที่ คสช.จำต้องปลดล็อกไม่ใช่เขามีความกรุณาต่อเรา แต่เป็นการเอาสิทธิขั้นพื้นฐานของเราที่เขาช่วงชิงจากเราไปเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี คืนกลับมาให้บางส่วนต่างหาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยด้วยนะครับ ที่วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังที่เราจะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคกลับคืนมา ถึงแม้ว่าอาจไม่เหมือนเดิมเหมือนเมื่อครั้งได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล ดังนั้นเราต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้ โดยเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยความรัก ความสามัคคีของคนไทยที่หัวใจเป็นไทอย่างแท้จริง และจุดมุ่งหมายที่วางไว้ คงไม่ไกลเกินมือของพวกเรา ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนและผมจะขอทำหน้าที่ในฐานะที่เคยรับใช้ประเทศไทยมาและใจก็ยังไม่ได้จากไปไหนครับ”

นอกเหนือจากโจมตี คสช.ในเรื่องปลดล็อกการเมืองแล้ว ยังมีวรรคสำคัญตรงที่ “เราต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้” ที่คาดว่าจะเป็น “ธง” ในการหาเสียงเลือกตั้งของ “เครือข่ายชินวัตรแฟมิลี่” ต่อไปอย่างแน่นอน

ความเป็นจริง คนระดับ “ทักษิณ” อดีตนายกฯ 2 สมัย ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าธงแก้รัฐธรรมนูญ 2560 แทบจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยมีการล็อกไว้อย่างแน่นหนาในตัวรัฐธรรมนูญเอง เอาแค่ขั้น “รับหลักการ” แก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า “ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา” ให้ความเห็นชอบร่วมกับ ส.ส. ก็แทบจะลาโรง จองศาลากันได้เลย ด้วยรู้ทั้งรู้ว่าต้นธาร ส.ว.ชุดหน้ามาจากไหน ยังไม่รวมกับอุปสรรคระหว่างทางที่วางไว้อย่างแยบยลอีกด้วย

ทั้งนั้นทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “ทักษิณ” ก็เสมือนเป็นการส่งสัญญาณ “ตีธงถอย” จากแนวรบด้าน “เศรษฐกิจ-ประชานิยม” ที่เสียหายพังพาบจาก “พายุประชารัฐ” หันมาทุ่มเทที่แนวรบ “เผด็จการ-ประชาธิปไตย” อย่างเต็มตัว ชูธงในโทน “ฝ่ายประชาธิปไตย” คล้ายคลึงกับแคมเปญ “ล้างมรดก คสช.” ของพรรคอนาคตใหม่ รวมไปถึงแนวร่วมภาคประชาชนเฉดสีแดงนั่นเอง

ด้วยรู้ว่านาทีนี้แบรนด์ใหม่อย่าง “ประชารัฐ” มาแรงตบ “ประชานิยม” ของเก่าจนแดดิ้น

จะเห็นได้จากภาพที่ “ทักษิณ” เลือกลงประกอบข้อความ เป็นภาพที่ตัวเองชู 3 นิ้วสูงเด่น อันเป็นสัญลักษณ์ที่ “ฝ่ายต่อต้าน คสช.” ใช้มาตลอด เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณถึงลิ่วล้อว่า ธงในการหาเสียงการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 คือการขยี้ประเด็น “เผด็จการ-ประชาธิปไตย”

ที่น่าจะเป็นจุดขายเดียว ที่อาจจะพลิกสถานการณ์-พลิกขั้วอำนาจหลังการเลือกตั้งได้นั่นเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น