xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รูปแบบของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ตรรกะดั้งเดิมในการเลือกตั้งคือ พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายบายและมาตรการสำหรับนำไปใช้ในการบริหารประเทศให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจ หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่านโยบายของพรรคใดเหมาะสมต่อการบริหารประเทศ พรรคนั้นก็จะชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งรัฐบาลต่อไป สำหรับการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ หากใช้ตรรกะนี้ พรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุน ๒๕๑ เสียงขึ้นไป

แต่ตรรกะแบบนี้ไม่สามารถใช้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้นสำหรับการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพราะว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีมิได้เกิดจากผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง ส.ส.โดยประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีส่วนผสมจากผลลัพธ์ของการเลือกสรร ส.ว. ของผู้มีอำนาจรัฐกลุ่มหนึ่งด้วย จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำในรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด ๗๕๐ คน ประกอบด้วย ส.ส.จำนวน ๕๐๐ คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน ๒๕๐ คน ใครที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาจำนวน ๓๗๖ เสียงขึ้นไป ซึ่งหากอาศัยเฉพาะเสียงของ ส.ส. ก็ต้องใช้เสียง ส.ส.อย่างน้อย ๓ ใน ๔ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด แทนที่จะเป็นเพียง ๑ ใน ๒ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด อันเป็นบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป ดังนั้น “เสียงส่วนใหญ่” ของประชาชนจึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป

รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างน้อย ๔ ลักษณะ คือ ๑) รัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่เสียงข้างน้อยในวุฒิสภา ๒) รัฐบาลผสมที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่เสียงข้างน้อยในวุฒิสภา ๓) รัฐบาลผสมที่มีเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา และ ๔ รัฐบาลผสมที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ แต่มีเสียงข้างมากในวุฒิสภา

๑) รัฐบาลพรรคเดียวเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่เสียงข้างน้อยในวุฒิสภา รูปแบบนี้เป็นการใช้เสียงเกือบทั้งหมดของประชาชนโดยตรงผ่านพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว เงื่อนไขที่ทำให้รูปแบบนี้เกิดขึ้นได้คือ ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวให้ได้คะแนนเสียงจำนวนมหาศาลที่เมื่อคิดเป็นจำนวน ส.ส. แล้ว ทำให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส. เกิน ๓๗๖ คน

ความเป็นไปได้ของรูปแบบนี้อยู่ใน “ระดับต่ำที่สุด” อันเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปัจจัยเชิงวัฒนธรรมทางการเมืองที่หลากหลายของประชาชน ซึ่งแต่ละกลุ่ม แต่ละวัย แต่ละชนชั้น แต่ละภูมิภาค มีความคิด ความเชื่อ และแบบแผนพฤติกรรมทางการเมืองแตกต่างหลากหลายไม่เป็นเอกภาพ และปัจจัยความขัดแย้งแบบแบ่งขั้ว อย่างรุนแรงทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักทั้งสามจะทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นเกิดขึ้นได้ยากมาก

แต่หากบังเอิญว่ามีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้ที่นั่งส.ส.เกิน ๓๗๖ ที่นั่ง จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสูง แต่กระนั้นก็อาจมีอุปสรรคในการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติอยู่บ้าง เพราะ ส.ว.เกือบทั้งหมดจะรับบทบาทเป็นฝ่ายค้าน และอาจเล่นแง่ในกระบวนการนิติบัญญัติ

๒) รัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่เสียงข้างน้อยในวุฒิสภา รูปแบบนี้เป็นการใช้เสียงเกือบทั้งหมดของประชาชนผ่านพรรคการเมืองหลายพรรค เกิดขึ้นเมื่อประชาชนเลือกพรรคการเมืองแบบกระจัดกระจายหลายพรรค ไม่มีพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงถึง ๓๗๖ เสียง แต่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองต่างๆมาร่วมจับมือเป็นพันธมิตรชั่วคราวอย่างเหนียวแน่น จนได้เสียง ส.ส. เกิน ๓๗๖ คน และร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.

ความเป็นไปได้ของผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีจำนวน ส.ส. เกิน ๒๐๐ คน ดังนั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องพึ่งพา ส.ว. เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเกิดภาวะ “พันธมิตรชั่วคราว” ระหว่างพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ผสมกับ พรรคที่ประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับการสืบทอดอำนาจของ คสช. อันได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเล็กพรรคน้อยอีกบางพรรค รวมทั้งจำเป็นต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคที่เคยเป็นปรปักษ์กับพรรคเพื่อไทยมาก่อนเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมด้วย

การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีแต่เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เพียงอย่างเดียวต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่ถึง ๑๒๕ ที่นั่ง แต่หากพรรคพลังประชารัฐและพรรเครือข่ายประยุทธ์ได้ที่นั่งเกิน ๑๒๕ มิฉะนั้น รัฐบาลผสมที่ไร้เสียง ส.ว. สนับสนุนในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้

ความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลรูปแบบนี้ ผมประเมินว่าอยู่ใน “ระดับค่อนข้างต่ำ” เพราะว่า ศักยภาพของพรรคพลังประชารัฐ ที่อาศัยความได้เปรียบทางการเมืองในฐานะที่เป็นรัฐบาล ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อหาเสียงอย่างต่อเนื่อง การมีทุนและอำนาจมหาศาลซึ่งนอกจากใช้เพื่อดูดอดีต ส.ส.เก่าจำนวนมากให้เข้ามาสังกัดพรรคแล้ว ยังใช้เป็นทรัพยากรสำคัญเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเลือกตั้งอีกด้วย และการที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมีความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ อย่างมั่นคง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เพิ่มโอกาสให้ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งได้มากขึ้น โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส. ๑๒๕ คนขึ้นไปจึงมีความเป็นไปได้สูง และหากรวมพรรคการเมืองอื่นๆที่มีแนวโน้มสนับสนุนพลเอกประยุทธ์แล้ว โอกาสที่จะได้ ส.ส.ถึง ๑๕๐ คนก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

รัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทน แต่มีเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา จะมีเสถียรภาพในระดับปานกลาง แต่จะมีอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นและการดำเนินงานในรัฐสภาไม่น้อยกว่ารูปแบบแรก

๓) รูปแบบรัฐบาลผสมสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นรูปแบบที่การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลได้รับเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา เกิดขึ้นได้หาก พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงเกิน ๑๒๖ เสียง และพรรคตระกูลเพื่อและเครือข่ายที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของคสช. ได้เสียงรวมกันไม่ถึง ๒๕๐ เสียง พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยต้องดึงเอาพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เข้ามาร่วมด้วย และยังต้องโน้มน้าวพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจุดยืนแบบครึ่งๆกลางๆ เข้ามาร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร ความเป็นไปได้ของรูปแบบนี้ผมประเมินว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

รัฐบาลผสมรูปแบบนี้จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหลังการเลือกตั้งมีเสถียรภาพปานกลางเพราะมีพรรคการเมืองหลายพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้เกิดการขัดแย้งเรื่องตำแหน่งและผลประโยชน์ได้ง่าย แต่การดำเนินงานในรัฐสภามีความราบรื่น เพราะได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

๔) รูปแบบรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร แต่มีเสียงข้างมากในวุฒิสภา รูปแบบนี้เกิดภายใต้เงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายได้จำนวนที่นั่งรวมกันเกิน ๒๕๐ เสียง แต่ไม่ถึง ๓๗๖ เสียง และพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียวได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ตั้งแต่ ๑๒๖ ที่นั่งขึ้นไป ในการเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐและพรรคอื่นๆสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล โดยอาจดึงเอาพรรคประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ เพราะแม้จะดึงมาเข้าร่วมจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งอยู่ดี

รูปแบบนี้จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพต่ำ การบริหารราชการไม่ราบรื่นและมีอุปสรรคมาก รัฐบาลจะมีอายุไม่ยืนยาว เพียงไม่กี่เดือนก็อาจต้องยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก จากตำแหน่งเพราะว่ากฎหมายไม่สามารถผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ และถึงแม้จะผ่านกฎหมายไปได้ก็ยังต้องเผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ซึ่งท้ายที่สุดรัฐบาลก็ไปไม่รอดอยู่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น