xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

e-payment ไม่แข็งแรง สังคมไร้เงินสดไม่เกิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

สังคมไร้เงินสด หรือ cashless society คือ สังคมที่การซื้อสินค้า บริการทุกอย่าง รวมทั้งการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ไม่ว่าจะมีมูลค่ามากหรือน้อย จะชำระค่าสินค้า บริการผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เม้นต์ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ตู้เอทีเอ็ม บัตรเดบิต บัตรเครดิต กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชั่น โมบาย แบงก์กิ้ง ของสถาบันการเงิน เป็นต้น

ไม่มีการใช้เงินสด หรือถ้าใช้ก็น้อยมาก

สังคมไร้เงินสด ช่วยลดต้นทุนในเรื่องการบริหารเงินสด ตั้งแต่ต้นน้ำคือ การพิมพ์ธนบัตร เหรียญกษาปน์ ไปจนถึงปลายน้ำคือ การจัดเก็บ ดูแลรักษาเงินสดของประชาชน เจ้าของกิจการ นอกจากนั้น ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะการจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์ สะดวกกว่าการชำระด้วยเงินสดมาก และต้นทุนต่ำหรือไม่มีต้นทุนเลย เพราะปัจจุบัน สถาบันการเงินทุกแห่ง ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านแอปฯ โมบาย แบงก์กิ้ง

แต่สังคมไร้เงินสดจะเกิดขึ้น เป็นจริงได้ ต้องมีระบบอี-เพย์เม้นต์ที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย มีความยืดหยุ่น ในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติในบางช่วงเวลาได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแผนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National E-payment ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2558 เพื่อสร้างระบบชำระเงินที่ได้มาตรฐาน และส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้เงินสด หันมาใช้บริการอี-เพย์เม้นต์มากขึ้นเรื่อยๆ

ตามแผนแม่บทฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน จะมีการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง EDC จำนวน 550,000 เครื่องทั่วประเทศ เพื่อรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต และ การส่งเสริม การพัฒนา แอปพลิเคชั่นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น PromptPay หรือถุงเงินรองรับการชำระเงินของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาโดยเอกชน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกันในเรื่องความเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว ประเทศไทยยังตามหลังหลายๆ ประเทศอย่างเช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพราะสัดส่วนของการใช้เงินสดต่ออี-เพย์เม้นต์ของเรายังสูงอยู่

ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสังคมไร้เงินสดอันดับ 1 ของโลก ในปีที่ผ่านมา คนสิงคโปร์ที่ชำระเงินค่าสินค้า บริการด้วยอี-เพย์เม้นต์มีสัดส่วน 84 % ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่คนไทย 43 % เท่านั้น ที่ใช้ อี-เพย์เม้นต์มากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะเป็นสังคมไร้เงินสด

คนไทยเวลาซื้อสินค้าผ่านระบบอออนไลน์ นิยมเลือกใช้การเก็บเงินปลายทาง มากกว่าการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือโมบาย แอปพลิเคชั่น เพราะยังชินกับการซื้อสินค้า บริการแบบเดิมๆ ที่ต้องได้รับของก่อน จึงจะจ่ายเงิน ประกอบกับ ผู้ขายต้องแข่งขันกัน จึงเสนอทางเลือกในการเก็บเงินปลายทางให้ผู้ซื้อด้วย

แต่สาเหตุสำคัญน่าจะมาจาก ยังไม่ไว้วางใจความปลอดภัยของอี-เพย์เม้นต์

รายงานการสำรวจของ EIU หรือ Economist Intelligence Unit ระบุว่า คนไทยไว้ใจอี-คอมเมิร์ซ แต่ไม่วางใจ อี-เพย์เม้นต์ คือ ไว้ใจเรื่องความปลอดภัยของการซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ มากกว่าคนชาติอื่นๆ ในโลก แต่ไม่ไว้ใจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ คือมีเพียง 17 % ที่เชื่อว่าข้อมูลการชำระเงินของพวกเขาจะปลอดภัย เมื่อใช้ เอ็ม-คอมเมิร์ซ หรือ ซื้อสินค้าผ่านสมารท์โฟน และ 12 % สำหรับอี-คอมเมิร์ซเท่านั้น

นี่คือ โจทย์ใหญ่ของผู้ให้บริการอี-เพย์เม้นต์ทั้งหลายในบ้านเรา ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไปเชื่อมั่นในระบบรักษาความปลอดภัย

นอกเหนือจากความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยแล้ว โจทย์ใหญ่ข้อที่สองของ อี-เพย์เม้นต์ คือ ปัญหาคอขวดของระบบ คือ เวลาที่มีการใช้อี-เพย์เม้นต์ พร้อมกันเป็นจำนวนมาก อย่างในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์โดยแพลทฟอร์มต่างๆ ระบบของผู้ให้บริการจะรองรับไม่ทัน ทำให้เกิดความติดขัด ล่าช้า หรือบางครั้ง อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ ระบบล่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้เล่นทั้งหลายในระบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งทำธุรกรรมแบบเรียลไทมส์

อี-เพย์เม้นต์ของไทยนั้น เกือบ 100% เป็นของธนาคารพาณิชย์ เพราะว่าพัฒนามาจากระบบการชำระเงินแบบเดิมผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ต่างจาก อี-เพย์เม้นต์ของจีน ซึ่งเป็นอี-เพย์เม้นต์ที่เกิดขึ้นใหม่และพัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีอย่าง อาลีบาบา เทนเซ็นต์ เพื่อรองรับสังคมไร้เงินสดโดยตรง ปัจจุบันแม้เริ่มจะมีผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บ้าง แต่การชำระเงินยังจำกัดอยู่เฉพาะสินค้าและบริการบางอย่างเท่านั้น ไม่ครอบคลุมกว้างขวางเหมือนอี-เพย์เม้นต์ของระบบธนาคาร

ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญไม่แพ้รัฐ ในการลงทุนพัฒนาระบบอี-เพย์เม้นต์ให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย ประชาชนเชื่อมั่น ซึ่งจะทำให้สังคมไร้เงินสด เกิดขึ้นเป็นจริง และเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีคอมเมิร์ซได้ต่อไปในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น