ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)” มีมติเห็นชอบกับ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา ด้วยเสียงที่เป็นเอกฉันท์นั้น เป็นกฎหมายที่ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญ
นัยแรก เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงคือ “2 พี่น้องชินวัตร” คือ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เนื่องเพราะห้ามมิให้ผู้ปฏิเสธคำพิพากษาศาลในคดีที่ถึงที่สุดแล้วมีสิทธิไม่ให้มาฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้อีกต่อไป เพราะในอดีตที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริงๆ สำหรับ “คนหนีคดี” ที่ย้อนกลับมาฟ้องร้องดำเนินคดีเอากับคนอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่เคารพกฎหมายของบ้านนี้เมืองนี้ จนเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้
โดยเฉพาะตัว “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ” ที่ฟ้องใครต่อใครจนนับไม่หวาดไม่ไหวทั้งๆ ที่ตัวเองหนีคดีไปต่างประเทศ
ส่วนจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้เมื่อกลางปีที่แล้ว สนช.เคยออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเนื้อหาสำคัญของกฎหมายดังกล่าวก็คือศาลสามารถ “พิจารณาคดีลับหลังจำเลย” หรือไม่ ไม่ทราบได้
นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสนช. ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายดังกล่าว อธิบายสาระสำคัญว่า คือ การตัดสิทธิทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดีอาญา สำหรับบุคคลที่หลบหนีคดี โดยหากโจทก์เป็นผู้หลบหนีคดีในต่างประเทศ ย่อมไม่มีสิทธิมาฟ้องร้องพร่ำเพรื่อในคดีอาญาใดๆ ได้อีก แม้จะยื่นฟ้องมา ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะถือว่าบุคคลใดที่ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แม้ว่าจะมีผู้ใดทำการละเมิดซึ่งกฎหมายอาญาต่อบุคคลผู้ซึ่งหลบหนีคดีก็ตาม
อย่างไรก็ตามการตัดสิทธิการฟ้องคดีอาญาดังกล่าว ไม่รวมถึงกรณีการไปดำเนินคดีผ่านช่องทางตำรวจและอัยการ
แน่นอน คงไม่ต้องถามว่า การตัดสิทธิทางกฎหมายเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่? และคงไม่ต้องถามว่า มาตรฐานที่อ้างว่าบุคคลที่ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ย่อมไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรม นั้นเป็นแนวคิดที่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์ นิติธรรมหรือไม่? ดังเช่นที่บรรดา “ทาสในเรือนเบี้ยของระบอบทักษิณ” พยายามอธิบาย เพราะในแง่หลักการแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี สมมติว่า มีผลกระทบต่อนักโทษชายหนีคดีทักษิณโดยตรง นั่นย่อมหมายความว่า ในมิติทางการเมืองเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายทักษิณที่ตั้งอยู่บนเหตุและผลจะทำได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องดะ ฟ้องปิดปากหรือฟ้องขู่เหมือนเช่นที่ผ่านมา
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุ FM105 เมกะเฮิร์ตชถึงกรณีดังกล่าวในฐานะผู้ที่ประสบพบกับสถานการณ์ข้างต้นด้วยตัวเองว่า “ยอมรับว่าทักษิณเป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมอยากให้มองในเชิงหลักการมากกว่าว่าในหลักการแล้วคนที่ไม่ยอมรับคำตัดสินและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยถึงกับไม่ยอมรับโทษแล้วไปอยู่ต่างประเทศ แต่ใช้กระบวนการยุติธรรม ใช้ศาลในการที่จะมากลั่นแกล้งคนอื่น หรือในการฟ้องร้องคนอื่น คุณว่าเป็นธรรมไหม คุณเป็นนักมวย คุณต่อยอยู่บนเวที ไม่ยอมรับกรรมการ แต่คุณโดดออกนอกเวที ไปอยู่ข้างล่าง แล้วใช้กรรมการ ใช้ศาล ไปเล่นงานเขา ผมคิดว่าคนแบบนี้ ในหลักการนะครับ ไม่ต้องไปนึกภาพหน้าทักษิณ มันใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงต้องปรับเปลี่ยน ผมเห็นด้วย
“แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนที่ฟ้องเองไม่ได้ ในเนื้อกฎหมายยังปรากฏว่า เขายังไปฟ้องหรือไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ดีเอสไอ แล้วก็ไปอัยการและไปศาลยังได้อยู่ แสดงว่ากฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้สุดโต่งไปด้านหนึ่ง อย่างน้อยก็มีตำรวจและกรรมการกลั่นกรองเอาไว้ให้ชั้นหนึ่ง ถ้าเขาไม่ยอมรับกระบวนการศาล แต่เขามีเหตุจำเป็นที่จะต้องฟ้องเพราะถูกกลั่นแกล้ง เขายังตั้งทนายความมาฟ้องได้
“ผมโดนมาแล้วทั้งสองแบบ แบบที่เขาตั้งทนายความฟ้องเอง และแบบที่เขาแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจกองปราบฯ ผมโดนมาแล้วหลายคดี และคนที่ฟ้องก็คือทักษิณ คดีที่ฟ้องเองโดยตั้งทนายไปฟ้อง เขาฟ้องโจทย์ร่วมระหว่างทักษิณกับไทยรักไทย ฟ้องผมกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ มีอาจารย์ชัยอนันต์(สมุทวณิช) ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว กรณีที่พวกเราไปพูดกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ว่าเป็นอย่างไร จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างไร เขาก็ตั้งทนายขึ้นไปฟ้อง เรื่องไปจนจบ 3 ศาล ใช้เวลาสิบกว่าปี คุณว่าสนุกไหม แล้วในที่สุดพวกผมชนะหมด คดีทั้ง 3 ศาล ไม่สนุกเลย ผมเสียค่าทนายไปเท่าไหร่ เสียเวลาอีกเท่าไหร่ที่จะต้องขึ้นศาล ต้องกลายเป็นว่าเขาเอาบ่วงมาคล้องคอ จะทำอะไรก็ลำบากอยู่ตลอดเวลา คุณจะเห็นว่า คนที่ไม่อยู่บนเวที ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล แต่ใช้ศาลในการไปเล่นงานคนอื่น แม้ผมจะชนะคดีแต่ก็มีปัญหา”
ดร.เจิมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า “อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นายทักษิณใช้วิธีไปแจ้งความดำเนินคดีว่าผมเป็นผู้ดำเนินรายการทีวี แล้วมีนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คุณสันติสุข มะโรงศรี เป็นผู้ร่วมรายการ ปรากฏว่าทักษิณเอาไปแจ้งความดำเนินคดีกับกองปราบฯ และกองปราบฯ ก็เรียกตัวผมไปเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กองปราบฯ พูดอะไรรู้ไหม เขาถอนหายใจก่อน กองปราบฯ บอกดูหลักฐานทั้งหมดแล้วไม่รู้จะตั้งข้อกล่าวหากับอาจารย์อย่างไร เอาเป็นว่าอาจารย์เป็นผู้ดำเนินรายการที่ยิ้มแล้วก็แสดงการตอบรับกับคนอื่นที่พูด แสดงว่าอาจารย์รู้เห็นเป็นใจ ตั้งข้อกล่าวหาอาจารย์อย่างนี้ก็แล้วกันนะ ฟังดูก็รู้ด้วยความเห็นใจว่ากองปราบฯ ก็กลัวอิทธิพลในทางการเมือง กองปราบฯ แทนที่จะสกรีนเรื่องแล้วก็ยุติ กลับส่งอัยการ อัยการก็พิจารณาอยู่นานหลายปีเลย ตอนนี้อัยการเพิ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องผม แต่ก็ยังส่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะเห็นแย้งหรือไม่ คุณลองคิดดูแล้วกันว่า ตอนนี้เรื่องผมยังอยู่ที่ตรงนี้ คุณลองคิดดูว่ากฎหมายฉบับนี้จึงควรแก้ แต่ไม่อยากให้คิดว่าเจาะจงด้วยทักษิณ เพราะโดยหลักการแล้วถูกต้อง”
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากกรณีดังกล่าวแล้ว ต้องบอกว่า การแก้ไข ป.วิอาญาของ สนช.ยังมีนัยและความน่าสนใจในอีกประเด็นสำคัญ และถ้าจะว่าไปแล้ว ถือเป็นการแก้ไขที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและถือเป็นมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทยเลยก็ว่าได้ นั่นคือ “การแก้ไขหลักเกณฑ์ปล่อยตัวชั่วคราว” ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคดี
แต่เดิมตามมาตรา 108 วรรคแรก และมาตรา 108/1 กำหนดปัจจัยในการพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้ โดยให้พิจารณาจาก ความหนักเบาแห่งข้อหา, พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วในคดี, พฤติการณ์ต่างๆ ในคดีเป็นอย่างไร, ความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน, โอกาสหลบหนีของผู้ต้องหาหรือจำเลย, คำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวจากพนักงานสอบสวน อัยการ ฝ่ายโจทก์ หรือผู้เสียหายในคดี, ความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหากปล่อยตัวชั่วคราว เช่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไปก่อเหตุอันตรายอื่นๆ หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักสอบสวนและการดำเนินคดีในศาล ซึ่งการพิจารณาเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาปัจจัยในแต่ละข้อประกอบกัน
ขณะที่ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ได้ตัดในส่วนของ “ความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน” ออกไป โดยให้เหตุผลว่า การให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันและหลักประกันเป็นปัจจัยในการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถหาหลักประกันซึ่งต้องเป็นทรัพย์สิน อาจต้องกู้ยืมเงินหรือเช่าหลักประกันจากนายประกันอาชีพเพื่อใช้เป็นหลักประกันซึ่งทำให้เกิดภาระหนี้สินตามมาอย่างมากมายในระหว่างสู้คดี ทั้งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยดังกล่าวอาจจะไม่มีพฤติกรรมที่หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือละเมิดต่อปัจจัยในการพิจารณาในข้ออื่น
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขมาตรา 110 ที่เดิมกำหนดให้คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป การจะขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้นต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการพิจารณาว่าจะให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาในคดีเท่านั้น แต่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ยกเลิกกฎหมายในส่วนนี้ไป โดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนอาจไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวพอทำให้ไม่ได้รับโอกาสที่จะปล่อยตัวชั่วคราวและทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพไปโดยปริยาย
“การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตราดังกล่าว เพื่อให้ผู้ต้องหา หรือ จำเลย ในคดีที่มีอัตราโทษมากกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีโทษไม่ร้ายแรง มีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถ้าไม่มีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน หรือหลบหนีคดี”นายมหรรณพอธิบาย
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ต้องการแก้ข้อครหาที่ว่า “คนจนติดคุก คนรวยรอด” นั่นเอง เพราะที่ผ่านมาผู้ที่เดือดร้อนขัดสนไม่มีเงินจำต้องถูกคุมขังแทน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ปัญหานักโทษล้นคุกตามมา
อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวได้มีการทดลองนำร่องใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ในศาล 12 แห่ง คือ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลจังหวัดสุรินทร์ ศาลจังหวัดชัยภูมิ ศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศาลจังหวัดฮอด ซึ่งปรากฏว่า สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เคยเปิดเผยข้อมูลเอาไว้ว่า เปิดเผยข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีคนไทยกว่า 66,000 คน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว ทั้งที่คนเหล่านั้นยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด แม้ว่า มาตราที่ 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” ก็ตาม
ส่วนตัวเลขผู้ต้องขังในปัจจุบันนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมราชทัณฑ์พบว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ต้องประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จะเห็นได้จากสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 350,366 คน ในขณะที่พื้นที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศสามารถรับรองผู้ต้องขังได้เพียง 122,047 คน ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำ หรือภาวะ “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” (Prison Overcrowding) ทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่องกับกรมราชทัณฑ์เป็นอย่างมาก
นี่นับเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่ ซึ่งประชาชนคนไทยจำต้องรู้เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ยิ่ง