ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่าน “ร่างกฎหมายเก็บภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์” เปิดทางสรรพากรตรวจสอบรีดภาษีบรรดาธุรกิจการค้าอิเล็คทรอนิกส์ ที่ไม่มีการจดทะเบียน ไม่เสียภาษี ซึ่งส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้หลายพันหลายหมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็เกิดคำถามขึ้นในสังคมทันที
เพราะขณะที่ภาครัฐสนับสนุน Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสดในเมืองไทย โปรโมททั้ง E- Banking , QR Code, E - Wallet , QR Code อย่างครึกโครม แต่การคลอดกฎหมายฉบับนี้กลับกลายเป็นช่องโหว่ให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ กลุ่มคนที่ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ถูกสรรพกรเพ่งเล็งตรวจสอบภาษีไปด้วย
อีกทั้ง เกิดคำถามว่าการคลอดกฎหมายฉบับนี้ ย้อนแย้งนโยบายสนับสนุนสังคมไร้เงินสดหรือไม่ โดยเฉพาะหากเจ้าของบัญชีที่ไม่ได้เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่บังเอิญบัญชีมีการเคลื่อนไหวตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
4 ธันวาคม2561ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) วาระ 3
สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว คือ มาตรา 3 กำหนดให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาต่อกรมสรรพากรภายในเดือน มี.ค. ของทุกปี ถ้าธุรธรรมลักษณะเฉพาะนั้นเป็นธุรกรรมลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
2. ฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง (ปรับเปลี่ยนในที่ประชุม สนช. จากยอดเดิมคือ 200 ครั้ง) และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30 - 39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง ดังนั้น ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย” นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมดังกล่าว สนช. ได้แสดงความเห็นคัดค้านและก่อนแก้ไขสาระเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่อาจกระทบกับ สนช. เอง โดยเฉพาะเรื่องของการเคลื่อนไหวบัญชีรวม จากเดิมกำหนด 200 ครั้ง ต่อมาปรับแก้เป็น 400 ครั้ง กล่าวคือ สนช. รับค่าธรรมเนียมและค่าเบี้ยประชุมผ่านการโอนเงิน กว่า 200 ครั้งใน 1 ปี ย่อมได้รับผลกระทบโดนตรวจสอบบัญชีจากกฎหมายฉบับนี้
โดย นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สนช. อภิปรายคัดค้านหลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องการแจ้งรายการความเคลื่อนไหวทางบัญชี ความว่ารัฐใช้อำนาจและสร้างภาระเกินความจำเป็น ทั้งที่ตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้สามารถตรวจสอบรายละเอียด และความเคลื่อนไหวทางการเงินได้
“ร่างกฎหมายนี้กระทบทุกภาคส่วน รวมถึง กล่าวคือ สนช. รับค่าธรรมเนียมและค่าเบี้ยประชุมผ่านการโอนเงิน กว่า 200 ครั้งใน 1 ปี ดังนั้น การให้รายงานว่าใครก็ตามที่ได้โอนเงินเข้าบัญชีต้องถูกบันทึกไว้หมด เท่ากับการกวาดคนทั้งหมดเข้าระบบนี้ ทั้งที่หน้าที่สำคัญคือ ต้องตรวจสอบคนที่ไม่ยอมเสียภาษี ดังนั้น ผมขอให้ทบทวน โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่เรื่องการฝากหรือโอนเงิน” นายวรพล กล่าว
สนช. จึงมีการปรับแก้การเคลื่อนไหวบัญชีรวม จากเดิมกำหนด 200 ครั้ง ต่อมาปรับแก้เป็น 400 ครั้ง และคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมา
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่ากฎหมายดังฉบับดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็การนอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีและลดต้นทุนและค่าเสียเวลาในการยื่นภาษีเงินได้ฯ
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องรายงานการทำธุรกรรมการเงินพิเศษให้กรมสรรพากรรับทราบ หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องจ่ายค่าปรับ 100,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ กรมสรรพากร ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเพื่อจับผิดผู้ใด จะไม่กระทบผู้ประกอบการและผู้ที่เสียภาษีถูกต้องอย่างแน่นอน
กล่าวสำหรับ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้ คือ ร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี ข้าราชการที่ทุจริตมีโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง และธุรกิจสีเทาผิดกฎหมาย กฎหมายจะเป็นกลไกให้มีการเสียภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น ป้องกันการทุจริตของข้าราชการ รวมทั้ง การค้าขายของผิดกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยกำลังผลักดันเข้าสู่สังคมไร้เงินสด กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอีเพย์เม้นต์ย่อมเกิดกระทบในวงกว้าง สถิติธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile banking และ Internet banking ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยให้เห็นว่าคนไทยเข้าสู่ง Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด เพิ่มมากขึ้น
เปรียบเทียบตัวเลขธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Internet banking เดือน ม.ค. 2561 จำนวน 20,657,240รายการ เดือน มิ.ย. 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน 23,125,388 รายการ ขณะที่ธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile bankingเดือน ม.ค. 2561 จำนวน32,378,622 รายการ เดือน มิ.ย. 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน37,973,421 รายการ
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการสมาคม E-Commerce ผู้ก่อตั้ง Tarad.com กล่าววิพากษ์แสดงจุดยืนผ่านสื่อความว่าไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสาระสำคัญที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลของบุคคลและนิติบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีในการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากและรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งและยอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง
กฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังย้อนแย้งกันเอง เพราะก่อนหน้ามีการประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมการค้าออนไลน์อีคอมเมริ์สผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด สนับสนุนการทำผ่านธุรกรรมออนไลน์ย่อมส่งผลกระทบ หากรัฐมุ่งเก็บภาษีกับผู้ที่ทำธุรกรรมผ่านบัญชีตามเกณฑ์ดังกล่าว จะทำให้การค้าออนไลน์ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตชะงัก
ทั้งนี้ มองว่าควรชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อนสัก 2ปี เพื่อให้คนปรับตัวให้ได้ก่อนกับการใช้ระบบต่างๆ ทั้ง E - Wallet , QR Code , E- Banking รวมทั้งการค้าออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง รัฐบาลควรเข้มงวดในการเก็บภาษีทางตรงกับผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิม มากกว่าการมารีดภาษีกับผู้ค้าออนไลน์ที่มีการทำธุรกรรมเป็นประจำ
ท้ายที่สุด การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ เช่นเดียวกัน พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ คงต้องเตรียมตัวให้พร้อมทำทุกอย่างให้ถูกต้อง อย่าหลบอย่างเลี่ยงให้โดนตรวจสอบทีหลัง เดี๋ยวจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเสียค่าปรับบานตะไท