xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียนฝรั่งเศสเดือด ประท้วงขึ้นภาษีน้ำมัน “ไทยเฉย” สุดอึด รีดได้รีดไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประท้วงขึ้นภาษีน้ำมันของชาว “ม็อบเสื้อกั๊กเหลือง” เรือนแสนที่ประเทศฝรั่งเศส กลางกรุงปารีสที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างดุเดือด มีบาดเจ็บทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าครึ่งพัน รวมทั้งมีคนตายจากเหตุรุนแรงนี้ ด้วย

และดูเหมือนแรงโกรธแค้นจากการขึ้น “ภาษีน้ำมัน” จะลุกลามไปยังปัญหาค่าครองชีพ ความไม่พอใจต่อนโยบายของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ซึ่งมีภาพเสพติดความหรูหรา คำนึงเพียงแค่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มองข้ามคนชนชั้นกลางระดับล่างและคนชนชั้นแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่อยู่ยากลำบากจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่กับสถานการณ์โดยรวมของประเทศกำลังเผชิญกับภาวะการว่างงานในอัตรา 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ามาตรฐานของภูมิภาคยุโรปโดยทั่วไป

การประท้วงยกแรกที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย. 2561 มีผู้บาดเจ็บกว่า 553 คน และผู้เสียชีวิต 2 คน ซึ่งพยายามขวางรถที่ขับผ่านขบวนของกลุ่มผู้ประท้วง ขณะที่ตัวเลขของเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 95 คน นั้น เกิดจากความไม่พอใจต่อการขึ้นภาษีน้ำมันตามนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยผู้ประท้วงต่างพากันตำหนินายมาครง ที่บีบให้ประชาชนต้องจ่ายเงินค่าพลังงานมากขึ้น คลื่นความไม่พอใจยืดเยื้อจนม็อบเสื้อกั๊กเหลืองรวมตัวกันยกสอง กลางกรุงปารีส เกิดความวุ่นวายบนถนนช็องเอลีเซ่ จนตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม

ชนวนเหตุหลักของการประท้วงใหญ่ครั้งนี้ มาจากปัญหาราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งใช้กับรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา จนมีราคาเฉลี่ย 1.51 ยูโรต่อลิตร (ประมาณ 56.65 บาท) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมา

ขณะที่รัฐบาลนายมาครง ได้ปรับขึ้นภาษีไฮโดรคาร์บอนในปีนี้ที่อัตรา 7.6 เซนต์ต่อลิตรสำหรับดีเซล และ 3.9 เซนต์ต่อลิตรสำหรับเบนซิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายให้ใช้เชื้อเพลิงสะอาด และการตัดสินใจขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลอีก 6.5 เซนต์ต่อลิตร และเบนซิน 2.9 เซนต์ต่อลิตร ที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2019 เพิ่มแรงกดดันจนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นประท้วงอย่างดุเดือดทั่วประเทศจากประชาชนหลากหลายกลุ่มแม้กระทั่งกลุ่มที่เคยนิยมชมชอบนายมาครง มาก่อนก็ไม่เว้น

ราคาน้ำมันขายปลีกที่ฝรั่งเศส ณ วันที่ 19 พ.ย. 2518 เบนซิน เบนซิน 95อยู่ที่ประมาณ 1.67 เหรียญสหรัฐ/ลิตร หรือประมาณ 55.10 บ. /ลิตร ส่วนดีเซลอยู่ที่ประมาณ 1.73 เหรียญสหรัฐ/ลิตร หรือประมาณ 57.08 บ. /ลิตร (น้ำมันเบนซินฝรั่งเศสมีการผสมเอทานอลด้วย) ส่วนภาษีที่ฝรั่งเศสเก็บถือว่าสูงมาก โดยน้ำมันเบนซินมีการเก็บภาษีคิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ 61.4 ของราคาทั้งหมด ส่วนน้ำมันดีเซลมีการเก็บภาษีคิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ 58.6

นอกจากภาษีแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆในโครงสร้างราคา ประกอบไปด้วย ต้นทุนน้ำมันดิบ, ค่าใช้จ่ายในการกลั่น, ค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการต่างรวมกำไรคล้ายๆ กับค่าการตลาดที่รวมอยู่ในราคาน้ำมันของไทย เป็นต้น

เหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศส เก็บภาษีน้ำมันสูงเช่นนี้ เพื่อกดดันให้ประชาชนเปลี่ยนแบบแผนการใช้รถยนต์ตามนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่มีกำหนดห้ามขายยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินภายในปี ค.ศ. 2040 โดยนายนิโกลา อูโลรัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยา เรียกว่าแผนการนี้ว่าเป็น “การปฏิวัติ”

การประกาศการห้ามขายพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นส่วนหนึ่งของพันธะสัญญาต่อข้อตกลงภูมิอากาศปารีส ตามเป้าหมายที่ฝรั่งเศสมีแผนจะเป็นชาติที่ปลอดคาร์บอนภายในปี 2050 ขณะที่ในเวลานี้ เมืองหลายแห่งในฝรั่งเศสรวมทั้งกรุงปารีส เผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศในระดับสูง ซึ่งเป็นปัญหาหนักหน่วงที่ต้องเร่งแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ของฝรั่งเศสที่ 3.5% ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1.2% ที่เหลือเกือบ 95% ยังคงเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลแบบเดิม

นอกจากนั้น รัฐบาลฝรั่งเศส ยังกำหนดแผนสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2022 การลดพลังงานนิวเคลียร์ลงสู่ระดับ 50% ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตภายในปี ค.ศ. 2025 และยุติการให้ใบอนุญาตใหม่สำหรับสำรวจน้ำมันและแก๊ส

เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองที่ฝรั่งเศส ชวนให้มองย้อนกลับมายังประเทศไทย โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์สถานการณ์บทเรียนฝรั่งเศสประท้วงขึ้นภาษีน้ำมัน ออกอากาศผ่านทางช่องนิวส์ 1 ว่า ผู้ชุมนุมครั้งนี้ที่ต่างใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงสีเหลือง ซึ่งเป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันในฝรั่งเศสจำเป็นต้องมีติดไว้ในยามฉุกเฉินนั้น จริงๆ แล้ว นักประท้วงเลือดร้อนเป็นประเพณีของประเทศนี้ และการประท้วงกรณีนี้ตามติดมาตั้งแต่นายมาครง รับตำแหน่ง ที่ใช้เงินปรับปรุงทำเนียบฯ มหาศาล เปลี่ยนชุดอาหาร คนเริ่มวิจารณ์เขาว่าชอบใช้ชีวิตหรูหรา และเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นก็เพราะนายมาครง ไม่เห็นแก่คนจนที่เผชิญปัญหาราคาน้ำมัน

“...นายมาครง ประกาศขึ้นภาษีราคาน้ำมัน เพื่อบีบไปใช้พลังงานสะอาด แทนพลังงานฟอสซิล การเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้า ผลกระทบเกิดขึ้นกับประชาชนรอบนอก ด้วยจุดชาร์ทมีน้อย และใช้เวลา เป็นปัญหาสำหรับประชาชนที่ใช้รถในชีวิตประจำวันที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า เป็นการบีบคนจน คนมีรายได้น้อย คนได้ผลกระทบน้อยคือคนในเมือง ... การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลมาครงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม สร้างภาระ ทำให้คนไม่ยอมรับ”

นายธีระชัย เล่าว่า ประเทศที่เก็บภาษีน้ำมันในสัดส่วนที่สูงคือ ยุโรป ฝรั่งเศส เก็บสูงเช่นกันแต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรป ทั้งนี้เพื่อบีบให้ประชาชนหันไปใช้ระบบสาธารณะ ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งตามหลักการเป็นเรื่องที่ดี ยุโรปเป็นตัวนำใช้พลังงานแสงอาทิตย์จนต้นทุนแผลโซล่าเซลล์ต่ำและมีการใช้กระจายไปทั่วโลกได้อานิสงค์ แต่ด้านหนึ่งก็ทำให้คนใช้พลังงานฟอสซิลต้องควักกระเป๋าแบกภาระ คล้ายคลึงกรณีการเมืองในเวลานี้เช่นที่สหรัฐฯ ที่มีสองกลุ่ม เดิม ปรับจากฟอสซิล ไปพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่อีกกลุ่มบอกเร็วไป เป็นภาระ ไม่ได้ให้เวลาปรับตัวเท่าที่ควร ประธานาธิบดีทรัมป์ จึงหมุนเวลากลับไป ให้เวลากับคนที่ทำธุรกิจพลังงานฟอสซิล ปรับตัว ดังนั้น บทเรียนคือ นายมาครงดำเนินการถูกต้องตามหลักการ “รักษ์โลก” แต่ทางการเมืองมีข้อจำกัด ควรจะถอยบ้าง ภาษีที่จะขึ้นอาจจะชะลอออกไปก็ได้ ถูกต้อง แต่เร็ว กระทบหนัก ก็รับกันไม่ได้

สำหรับภาษีน้ำมันส่วนใหญ่จะสูงกว่า 60% ส่วนหนึ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกส่วนเป็นคาร์บอนtax เป็นการบีบให้ใช้น้อยลง เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เช่น อเมริกา เกิดพายุเฮอริเคน มากกว่าเดิม รุนแรงกว่าเดิม ในฝั่งตะวันออก ส่วนตะวันตก เกิดไฟใหม้ป่า ยุโรป มีไฟใหม้ป่ามียังน้อย แต่มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงช่วงอากาศจากหนาวมาร้อนรวดเร็ว หนาวๆ จัด ลมแรง เกิดอุบัติเหตุ เดิมเปลี่ยนหนาว มาฤดูใบไม้ผลิ อุ่นขึ้นผลไม้สุกแบบบ่มได้ที่ พอหนาวนาน ผ่านร้อนรวดเร็ว จนผลไม้บางส่วนกลายเป็นไม่อร่อย

ประเทศในยุโรปจะตระหนักปัญหาโลกร้อน ถึงออกมาตรการทุกประเทศให้คำนึงถึงโลกร้อน ต้องไม่ลืมข้อตกลงครั้งแรกเรื่องโลกร้อนอยู่ที่ปารีส แต่ทางการเมือง เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เชื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดจากโลกร้อน การลดใช้พลังงานฟอสซิลทำให้ต้นทุนการผลิตแพงแข่งขันทางธุรกิจไม่ได้

สำหรับประเทศไทย นายธีระชัยมองว่า หลักการในการบริหารราคาพลังงาน การให้สิทธิ์ในการสำรวจ ผลิตก๊าซ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดก็โอเคแล้ว โดยไม่ไปออกทีโออาร์เอื้อบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพื่อผูกขาดการซื้อก๊าซจากปากหลุมต่อเนื่องไปตลอด ทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ส่วนการตั้งราคาขายปลีกอิงสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียมเข้าไปอีกนั้น รัฐบาลเพียงจัดให้ราคาขายปลีกในประเทศเปรียบเทียบได้กับราคาส่งออก เอาพื้นฐานก่อน ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ การดำเนินการเหล่านี้จะทำให้ประชาชนต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่ำลง แม้แต่ค่าไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าที่พีคโหลด สูงกว่า 47 เปอร์เซนต์ ในเวลานี้ ต้องมาแบกภาระเกินความต้องการ ตรงนี้ถ้าบริหารจัดการให้ดี จะทำให้ราคาพลังงานถูกลงได้ โดยไม่ถึงขั้นต้องคิดภาษีคาร์บอน

“เวลานี้ บ้านเราใช้กลไกกองทุนน้ำมัน ซึ่งไม่ถูกต้อง เอาเบนซินมาอุดหนุนดีเซล ก๊าซแอลพีจี สิ่งควรทำคือ ยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้อุดหนุนข้ามสายพันธุ์ ทำให้รั่วไหล ประชาชนรายได้น้อย รัฐเข้าไปช่วยโดยตรงได้อยู่แล้ว แทนการช่วยผ่านช่องทางนี้”นายธีระชัยกล่าวและอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากนั้น การปรับจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน ทำได้ผ่านการใช้ไฟฟ้า ให้มีสัดส่วนในการอุดหนุนผู้ใช้พลังงานหมุนเวียน การปลูกต้นไม้โตเร็ว มาทำพลังงานไฟฟ้า ก็เรียกว่าพลังงานหมุนเวียนได้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ถ้าเพิ่มมากขึ้น จะปรับเปลี่ยนอัติโนมัติ โดยให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น การบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลายแบบจะช่วยปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน

ทั้งนี้ หากมองไปอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า การใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจะปรับแนวทางการพลังงานได้ การสร้างแรงจูงใจแบบนี้จะลดความขัดแย้งในสังคมได้ดีกว่า แทนที่จะเก็บภาษีจากผู้ใช้รถยนต์แล้วทำให้เกิดปัญหาแบบที่กำลังเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส การใช้วิธีอุดหนุนผ่านการผลิตไฟฟ้าเป็นการล่อ สักพักจะคุ้มทุน แต่การเก็บภาษีเพิ่มเป็นการบังคับ

การปฏิวัติการใช้พลังงานของฝรั่งเศสในอีกยี่สิบปีข้างหน้า มีแผนชัดเจน แต่การปรับเปลี่ยนยากลำบาก ตั้งเป้าหมายถูก แต่ต้องมีกระบวนการรองรับในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนายธีระชัยมองว่า ประเทศไทยก็ควรตั้งในส่วนที่เป็นไปได้ เช่น มอเตอร์ไซด์ อย่างจีน มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า ถึงใช้ในเมืองได้ ต่อไปรถยนต์ ใครเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าควรใช้ในเมืองก่อน ส่วนระหว่างเมือง รถบรรทุก ต้องใช้เวลา อย่าไปเร่งรัดมากไป ถ้าจัดโครงสร้างผ่านการผลิตไฟฟ้าให้แต่ละแบบมีแรงจูงใจจะค่อยๆ ปรับในการใช้พลังงานของคนไทยโดยอัติโนมัติ ขณะที่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้า ก่อนนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตรายเดียว แต่ตอนนี้เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนเพราะมีเงื่อนไข “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” หรือ เทค ออ เปย์ ไม่มีความเสี่ยงในการลงทุน ทำให้มีการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ถ้าวิ่งขอใบอนุญาตมาได้แล้วเอาบริษัทเข้าตลาดฯ ก็ทำกำไรได้ รัฐต้องคำนึงถึงกฟผ.กำไรเป็นของประชาชน100% แต่เอกชนทำกำไรเป็นของเอกชน รัฐบาลควรตั้งหลักถ้าใช้ก๊าซจากอ่าวไทยควรเป็นของ กฟผ. ส่วนเอกชนควรใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนหรือนำเข้าก๊าซ การไม่ตั้งกำแพงไว้เช่นนี้ ทำให้เอกชนแย่งใช้แหล่งก๊าซอ่าวไทย ทำให้ กฟผ.ถดถอย มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมต่ำกว่าครึ่งแล้ว

นับจากนี้ บทบาท กฟผ. ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ประสานแหล่งพลังงานที่มาจากหลายแหล่ง หลากหลายเชื้อเพลิง แต่วางแผนเดินเครื่องในแต่ละจุด และมองไปยัง สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานน้ำและลม เพราะมีที่ราบสูง ไม่มีภูเขา เป็นแหล่งผลิตพลังงานลม เดินสายเข้ามาใช้ในไทยได้ กฟผ.ควรให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานเหล่านี้

นายธีระชัย ยังมองอนาคตทางการเมืองของมาครงว่า การเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสของนายมาครง ถือเป็นม้ามืด เป็นความหวัง มองการณ์ไกล นายมาครงวางเป้าเป็นประธานาธิบดีให้คนฝรั่งเศสจดจำ เช่น โลกร้อน เขาวางตำแหน่งเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เรื่องการค้าโลก การป้องกันประเทศ สร้างกองทัพ เป็นผู้นำยุโรปที่ต้องการบาลานซ์เกมอำนาจในการเมืองโลก ต้องการมีชื่อเสียง ศึกษาประวัติศาสตร์มานาน ถ้าเอาความยืดหยุ่นของนักการเมืองเข้ามาประกอบจะไปได้ไกล เช่น เรื่องภาษีน้ำมัน ซึ่งกระจอกก็ยอมถอยเล็กน้อย ความชอบความหรูหรา เป็นการแสดงพลังอำนาจ การโชว์ฟอร์มกับผู้นำชาติอื่น เป็นปกติ ทำให้ทำเนียบฯ ให้ดูดีขึ้นตกทอดต่อผู้นำคนต่อๆไป

ขณะที่ น.ส.วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยนำข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wiwanda W. Vichit อธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวโดยอธิบายว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลืองหรือกลุ่มชีเล่ท์ โชน คือประชาชนธรรมดาที่ทนไม่ไหวกับการบริหารประเทศของนายเมาครง ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียงปีเศษ แต่ไม่มีผลงานอะไรที่ก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชน แถมสิ่งที่พูดไว้ก็ไม่ทำตามสัญญา
มิหนำซ้ำยังใช้จ่ายจากภาษีประชาชน ทั้งการจ้างกองกำลังคุ้มภัยส่วนตัว ในกรณีของนายอเล็กซานเดอร์ เบนัลลา บอดี้การ์ดของนายมาครง สวมหมวกกันน็อกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำร้ายนักศึกษาได้รับสิทธิพิเศษพกอาวุธ ซึ่งได้รับเงินเดือนและสวัสดิการชั้นรัฐมนตรี มีการใช้จ่ายส่วนตัวของนางบรีฌิต มาครง ภริยา จำนวนมหาศาลต่อเดือน
แทนที่นายมาครงจะหันมาดูแลประชาชน เพราะโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง หรือย้ายพื้นที่ออกไปนอกประเทศ กลับหันมาสนใจเรื่องที่จะเปลี่ยนเครื่องกระเบื้อง จานชามในรัฐสภา “ปาแลเดอเลลีเซ” สำหรับรับรองแขก เฉพาะค่าออกแบบ 5 หมื่นยูโร และค่าจัดทำผลิตตกราว 5 แสนยูโร จากนั้นเขาคิดที่จะสร้างสระว่ายน้ำในที่พักตากอากาศที่ริมทะเลบนเกาะ “ฟอร์ต เบรก็องซง” แหล่งพักผ่อนของเหล่านักการเมืองระดับสูง ด้วยงบประมาณอีกนับแสนยูโร ทำให้เป็นที่สะเทือนใจประชาชน เพราะทุกวันนี้ต่างก็รัดเข็มขัดกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว ตรงนี้ทำให้นายมาครงได้รับสมญานามจากสื่อและประชาชนว่า “มาครง ท่านประธานาธิบดีของคนรวย”

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่นายมาครงมีนโยบายที่จะเข้ามาบริการจัดการกองทุนสวัสดิการคนเกษียณ ด้วยการตัดสวัสดิการ และเพิ่มภาษี อ้างว่าจะเอาไปพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทางการศึกษา จ้างครูเพิ่ม และยังกล่าวต่อหน้าประชาชนที่อนุสรณ์สถานของอดีตประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล ที่ปลดปล่อยฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า “พวกคุณไม่มีสิทธิ์บ่น พวกเราชาวฝรั่งเศสโชคดีกว่าคนอื่นๆ ตั้งเท่าไหร่แล้ว ที่คนสูงวัยได้รับการดูแลอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง” โดยอ้างว่าทุกคนได้รับประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะจากที่ทำงานหรือจ่ายเองหรือจากสวัสดิการเกษียณที่ได้ทำสะสมเอาไว้

ก่อนที่ฟางเส้นสุดท้ายจะมาถึง คือ การขึ้นราคาน้ำมัน ซึ่ง “ชีเล่ท์ โชน” (Gilet คือเสื้อกั๊ก Jaune คือสีเหลือง) คืออุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนจะต้องมีไว้ในรถ อยู่ในที่ที่พร้อมจะหยิบมาใส่ได้เลย หากว่าเกิดเหตุอุบัติใดๆ บนท้องถนน เพื่อเป็นสัญญาณความปลอดภัย ซึ่งเป็นกฏหมายในการใช้รถใช้ถนน เมื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีจึงใช้เสื้อกั๊กนี้เรียกร้องประชาชนที่หมดความอดทนกับนายมาครงให้ออกมาร่วมกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น