xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประวัติศาสตร์ต้องจารึก “รร.นานาชาติ” เข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องเลิกยกเว้น “ภาษี”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ เข้าซื้อขายในตลาด mai วันแรก(วันที่  29 พฤศจิกายน 2561)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงไม่ต้องถกเถียงกันต่อไปว่า “ธุรกิจการศึกษา” หรือ “โรงเรียน” สามารถจดทะเบียนซื้อขายหรือระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า หุ้นของบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB เจ้าของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ รวม 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และที่เชียงใหม่ ได้เข้าซื้อขายในตลาด เอ็ม เอ ไอ(mai) วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีเสียงคัดค้านเป็นจำนวนมากก็ตาม

หมายความว่า SISB ได้รับไฟเขียวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์(ต.ล.ท.) แล้ว หลังจากที่ได้รับคำยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับและดูแลแล้วว่า “สามารถทำได้และไม่ผิดกฎหมาย”

“เราสอบถามไปทาง Lead Regulator ของเขาไปแล้ว ก็ไม่มีข้อห้ามอะไรที่ไม่ให้เข้าตลาด ถ้า Lead Regulator อนุญาต ก็แสดงว่าทำตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง แต่เมื่อเข้าตลาดมาแล้วก็ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ตามปกติ ก.ล.ต. ไม่สามารถไปบังคับไม่ให้เขาเข้าได้ เพราะเราไม่ได้เป็น Lead Regulator ของเขา แต่ก็เข้าใจว่า หลายประเทศไม่มีสถาบันการศึกษาเข้าตลาดฯ เป็นเรื่องระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ ที่หลายประเทศการศึกษาฟรี ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าตลาดฯ แต่ทุกธุรกิจต้องมีการลงทุน หากต้นทุนการศึกษาแพงขึ้น คนที่ต้องควบคุมจะต้องเป็น Lead Regulator ของอุตสาหกรรมนั้นๆ”นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อธิบายและให้เหตุผล

เช่นเดียวกับนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ที่ยืนยันเช่นกันว่า ในเมื่อ สช.ไม่ได้มีข้อห้าม ทำให้ ก.ล.ต. และ ตลท. อนุญาตให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ อีกทั้งการเข้ามาของโรงเรียนนานาชาติเป็นการดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้งส์ที่สามารถกระจายการลงทุนไปได้ในหลากหลายธุรกิจ และถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเป็นข้อมูลให้แก่นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และคนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปวิเคราะห์พิจารณาในการลงทุนได้เพิ่มขึ้น และการเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ทุกคนก็ต้องทำตามกฎในการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสตามระเบียบที่กำหนดไว้

และนั่นคือหุ้นของหุ้นสถาบันการศึกษาตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยเมื่อวันที่ 22 - 23 และ 26 พฤศจิกายนนี้ SISB นำหุ้นจำนวน 234 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 50 สตางค์ เสนอขายประชาชนทั่วไปในราคา 5.20 บาท

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับการนำโรงเรียนนานาชาติเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในเรื่องของความเหมาะสม และในแง่มุมของกฎหมาย เนื่องเพราะโดยปกติแล้วในการทำธุรกิจการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนั้นจะได้รับการยกเว้น “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” จากภาครัฐ หรือพูดง่ายๆ คือ “ไม่ต้องเสียภาษี” ขณะเดียวกันเมื่อนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาก็จะได้รับการยกเว้นภาษีจากการซื้อขายหุ้นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า จะได้รับสิทธิพิเศษถึง 2 เด้งเลยทีเดียว

แน่นอน ในแง่มุมของการประกอบธุรกิจ ย่อมหมายความว่า โรงเรียนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์จะได้เปรียบธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องเสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยสามารถทำ “กำไรสูงสุด” ให้กับ “ผู้ถือหุ้น” ตามปรัชญาของทุนนิยม เพราะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

และอาจจะกลายเป็นหุ้นน้องใหม่ที่เข้าซื้อขายในตลาดลหลักทรัพย์เพียงตัวเดียวที่ประสบความสำเร็จ หลังจากก่อนหน้านี้หุ้นใหม่ที่เข้าซื้อขายในปีนี้ 15 บริษัท ส่วนใหญ่เดี้ยง คนจองขาดทุนกันป่นปี้

นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะนำมาซึ่งคำถามที่ว่า เป็นการอาศัยข้อได้เปรียบจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนธุรกิจการศึกษาเอกชนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเองอย่างเต็มที่ หรือไม่ ซึ่งนี่ต้องนับเป็น “ช่องว่าง” หรือ “ช่องโหว่” ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากยังจำกันได้ เมื่อประมาณสัก20 ปีก่อน โรงเรียนเซนต์จอห์นเคยเคลื่อนไหวนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว แต่มีเสียงคัดค้านในวงกว้าง ด้วยเหตุถ้าปล่อยให้สถาบันการศึกษาเข้าตลาดหุ้น ปรัชญาการศึกษาอาจเปลี่ยนไป จากการมุ่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ต้องหันไปสู่นโยบายการสร้างกำไรสูงสุด และอาจเดือดร้อนถึงผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

กล่าวสำหรับบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISBปัจจุบัน เป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติจำนวนทั้งหมด 5 โรงเรียน รองรับนักเรียนได้สูงสุดถึง 4,175 คน ประกอบด้วย1.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ2.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์สุวรรณภูมิ 3.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ธนบุรี 4.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เชียงใหม่ และ 5.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เอกมัย

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ประกอบด้วย 1.นายยิว ฮอค โคว กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารก่อนขายไอพีโอ 45.50% หลังขายไอพีโอ 32.84% 2.นางสาววิลาวัณย์ แก้วกนกวิจิตร ก่อนขายไอพีโอ 40.00% หลังขายไอพีโอ 28.94% 3.นางสาวนงค์นภา ทองมี ก่อนขายไอพีโอ 14.60% หลังขายไอพีโอ10.56% 4.กรรมการผู้บริหาร2.77% และ5.ประชาชนทั่วไป 24.89%

และเมื่อย้อนดูผลประกอบการพบว่า SISBมีรายได้เติบโตทุกปี กล่าวคือ ปี 2558 มีรายได้รวม 517.85 ล้านบาท กำไรสุทธิ 50.43 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 9.74% ปี 2559 มีรายได้รวม 608.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 69.83 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 11.47% ปี 2560 มีรายได้รวม746.35 ล้านบาท กำไรสุทธิ 17.92 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 2.40% ซึ่งเหตุที่ลดลงมีการอธิบายว่า เป็นผลมาจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเป็น 100.88 ล้านบท ส่วน9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้รวม 690.39 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ71.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.92% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

“วัตถุประสงค์ของการระดมทุน เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ในกลุ่มให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันจะนำเงินไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายให้ลดลงจากปัจจุบันที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการเติบโตได้ต่อเนื่อง และภายหลังจากการระดมทุนครั้งนี้สัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนจะลดลง ต่ำกว่า 0.5 เท่า

“การระดมทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯเพิ่มศักยภาพในการเติบโตในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อยกระดับการเป็นผู้ให้บริการการศึกษาที่มีมาตรฐานระดับสากล เพิ่มศักยภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมระดับอินเตอร์ สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ SISB เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงเรียนนานาชาติชั้นนำในประเทศไทย และในภูมิภาค โดยมีแผนเพิ่มจำนวนนักเรียนทั้งหมดภายในกลุ่มให้มากกว่า 4,000 คน ภายใน 3-5 ปี จากปัจจุบันที่มีนักเรียนประมาณ 2,334 คน”นายยิว ฮอค โคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB กล่าว

กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นในกรณีดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจโดยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ 7 ข้อด้วยกันคือ

“งานนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายในความเหมาะสมในการนำสถานศึกษาเข้าระดมทุนด้วยวิธีนี้ และมีการเปรียบเทียบทางด้านความเหมาะสมกับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยโรงพยาบาล
นายยิว ฮอค โคว กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SISB
โดยรวมผมไม่สบายใจกับการเข้าตลาดหุ้นโดยโรงเรียนนานาชาติในกรณีนี้ ผมขอลำดับความคิดตามนี้ครับ

1. ผมรับได้กับการแสวงหากำไรพอประมาณโดยโรงเรียนเอกชน กำไรทำให้เกิดการลงทุน และตราบใดที่มีการแข่งขัน ผู้ปกครองจะมีทางเลือกและกลไกตลาดจะทำงานในการกำกับราคาและคุณภาพให้เป็นธรรม

2. แต่ความจริงคือโรงเรียนเอกชนได้รับการยกเว้นภาระการเสียภาษีกำไร (ภาษีนิติบุคคล) ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลต้องการสนับสนุนการลงทุนโดยเอกชนในกิจการการศึกษา

3. ตามตรรกะการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อให้มีการลงทุน รัฐควรมีเงื่อนไขในการจำกัดสัดส่วนของกำไรที่นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีการนำกำไรส่วนใหญ่กลับไปใช้ในการลงทุนในโรงเรียนเพิ่มเติม และในกรณีที่มีการขายหุ้น ผู้ถือหุ้นควรต้องเสียภาษีกำไร (capital gains) ตามปกติ

4. หากผู้ถือหุ้นต้องการนำโรงเรียนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐควรยกเลิกสิทธิพิเศษทางด้านภาษีของโรงเรียนนั้นๆ เพราะหลักสำคัญของการเป็นบริษัทในตลาดหุ้นคือการทำกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐในการสนับสนุนโรงเรียนเอกชน

5. ในกรณีโรงพยาบาลเอกชนเราเห็นปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการกำกับดูแลให้เป็นธรรม แต่ความต่างคือโรงพยาบาลไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี และโรงพยาบาลอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งทุนมากกว่าโรงเรียน เพราะต้องลงทุนในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่อง

6. หน้าที่หลักของรัฐคือการยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนรัฐ เพื่อไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเสียเปรียบผู้มีฐานะที่สามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน (และโดยเฉพาะโรงเรียนอินเตอร์) ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะเห็นว่าโรงเรียนรัฐไม่ได้ด้อยคุณภาพกว่าโรงเรียนเอกชน

7. หากรัฐสนับสนุนโรงเรียนเอกชนด้วยการยกเว้นภาษี แต่ไม่เอาจริงกับการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนรัฐ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องคือการขยายช่องว่างความเหลื่อมลํ้าทางโอกาสระหว่างคนไทยที่มีฐานะต่างกัน

โดยทั่วไปการเข้าตลาดหุ้นทำให้มีแรงกดดันให้บริษัทต้องเร่งทำกำไร ซึ่งจะผิดวัตถุประสงค์การสนับสนุนทางภาษีโดยรัฐ และการเข้าตลาดหุ้นจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิขายหุ้นได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งในกรณีนี้มีการกำหนดราคาหุ้นไว้กว่า 50 เท่าเงินกำไรที่ปลอดภาษี ประเด็นเหล่านี้กระทรวงการคลังควรต้องพิจารณาครับ”

อย่างไรก็ดี แม้จะขัดขวางไม่ได้ในขณะนี้ แต่ดูเหมือนว่า หนทางจะไม่เรียบง่ายอย่างที่คิด เมื่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนก่อนหน้าที่ SISBจะเข้าเทรดในตลาดว่า แม้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2560 จะอนุญาตให้บริษัทเอกชนดำเนินการได้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่มีการตั้งคำถามด้วยว่าถ้าบริษัทนั้นเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเช่นนี้ ในทางจริยธรรมถูกต้องหรือไม่

ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เพราะส่วนตัวมองว่าเมื่อธุรกิจไม่ต้องเสียภาษีและไประดมทุนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นและไม่ต้องเสียภาษีมากขึ้น แบบนี้จะถูกหรือไม่โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวกับการศึกษา โดยเบื้องต้นตนเองได้หารือกับนางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ขอให้ทางสมาคมฯไปพูดคุยกันเองก่อนและหาแนวทางเรื่องดังกล่าว และจะหารือกับกระทรวงการคลังด้วย

“ขอให้ทางสมาคมฯไปคุยกันเองก่อน เพราะมองในมุมรัฐบาลถ้ามาในรูปแบบนี้ก็เป็นการแสดงเจตจำนงว่าต้องการผลกำไร ซึ่งถ้าต้องการกำไรมาก พวกผมต้องคิดแล้วว่าถ้าทำแบบนี้กระทรวงการคลังอาจจะต้องเก็บภาษีหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง ส่วนของฝ่ายกฎหมายผมให้ไปดูเรื่องการตีความว่าถูกหรือไม่ และให้ประสานกับทางตลาดหลักทรัพย์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ใครมีหน้าที่อย่างไร ทำตรงนี้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ บริษัทแห่งนี้เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนซึ่งโรงเรียนเอกชนไม่ต้องเสียภาษี สุดท้ายจะกลายเป็นธุรกิจการศึกษา ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญและถ้าเป็นเช่นนั้นเหมือนกับโรงพยาบาลที่ถูกเก็บภาษี หากเป็นธุรกิจการศึกษาก็ต้องเสียภาษี เพราะนโยบายของรัฐที่ไม่เก็บภาษีก็เพราะถือว่าเป็นการจัดการศึกษา ดังนั้น คงไม่สามารถเบรกเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ผมพยายามทำตามอำนาจหน้าที่และในกฎหมายอนุญาตให้ผมทำ ซึ่งถามว่าในกฎหมายอาจจะถูกต้องแต่ในจริยธรรมถูกหรือไม่ ตรงตามเจตนารมณ์จัดการศึกษาของประเทศหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทนี้ทำสำเร็จก็อาจจะมีแห่งอื่นตามมา เท่าที่ศึกษาก็พบว่าในอดีตทราบว่ามีบางโรงเรียนเคยคิดจะทำ แต่ทำไม่ได้ หรือถอนตัวเอง”นพ.ธีระเกียรติให้ความเห็น

คำถามมีอยู่ว่า แล้วทำไมกระทรวงศึกษาธิการถึงไม่ได้มีการตรวจสอบในประเด็นที่เป็นช่องว่างช่องโหว่เช่นนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรู้เรื่องนี้มาก่อนหรือไม่

ที่สำคัญคือ เมื่อ SISB เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ จะเป็นช่องทางให้โรงเรียนนานาชาติอื่นๆ ที่อยู่ทั้งหมด 205 แห่งเจริญรอยตามได้เช่นกัน

หน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลได้มีการคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ หรือไม่

และถ้าจะว่าไปแล้วก็ต้องตั้งคำถามถึงผู้บริหารสูงสุดของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ซึ่งก็คือ “นายชลำ อรรถธรรม” ว่า ได้มีการตรวจตราอย่างละเอียดถี่ถ้วนในแง่นี้หรือไม่ ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องมาตามล้างตามเช็ดเช่นนี้

หรือมีอะไรที่เป็น “วาระซ่อนเร้น” มากกว่านี้

เพราะต้องยอมรับว่า การเพิ่งตื่นของ ศธ.ก็ไม่เป็นธรรมต่อ SISB เช่นกัน เพราะถ้าจะค้านก็ควรจะค้านในกระบวนการก่อนหน้านี้คือตั้งแต่ยื่นไฟลิ่ง และการเพิ่งเต้นในช่วงนี้ย่อมส่งผลกระทบกับราคาหุ้น โดยการเทรดวันแรกนั้น ในช่วงเปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 5 บาท หรือต่ำกว่าราคาไอพีโอ ที่ขายหุ้นละ 5.20 บาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 5.25 บาท ต่ำสุดที่ 4.36 บาท และปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 4.36 บาท ลดลง 0.84 บาท คิดเป็น 16.15% มูลค่าซื้อขาย 879.31 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายยิว ฮอคโคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SISB เปิดเผยว่า ไม่ได้กังวลที่ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาจอง เนื่องจากมองว่า หุ้น SISB เป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานมีรายได้สม่ำเสมอ และเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว บวกกับสภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ส่วนกระแสข่าวที่มีการคัดค้านและต่อต้านการนำโรงเรียนนานาชาติจดทะเบียนนั้น ยืนยันว่า บริษัททำทุกอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนด ทุกอย่างโปร่งใส และก่อนหน้านี้ได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงฯ ไม่ได้มีข้อห้าม และทักท้วงใดๆ

พร้อมยืนยันว่า หากภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือตัดสินใจเก็บภาษีโรงเรียน เพราะมีกำไร ทางโรงเรียนก็พร้อม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ ส่วนข้อกังวลเมื่อจดทะเบียนตลาดหุ้นจะทำให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น เพราะต้องทำกำไรเพื่อให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นนั้น การกำหนดค่าเล่าเรียนเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ หากโรงเรียนใดคิดค่าเทอมแพง ก็จะถูกท้วงติงให้ปรับแก้จากกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ไม่สามารถขึ้นค่าเทอมได้เอง และค่าเทอมของโรงเรียนนานาชาติเอสไอเอสบี อยู่ระดับกลาง หากผู้ปกครองไม่พร้อมนำบุตรหลานมาเข้าเรียน ก็ยังมีโรงเรียนนานาชาติอื่นอีก 200 แห่งที่เป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครอง

“บริษัทไม่คิดจะฟ้องร้องใคร เพราะบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งสนใจจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น กำลังดู SISB เป็นตัวอย่าง พร้อมระบุ ไม่ได้กังวลหากถูกตรวจสอบ หรือถอนใบอนุญาต เพราะยืนยันไม่ได้ทำอะไรผิด” นายยิวกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังก็พบว่า นับตั้งแต่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุนได้เปิดเสรีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย อัตราการขยายตัวและการเติบโตก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตถึงปีละ 9% เรียกว่า เติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ และมีมูลค่าตลาดที่สูงถึง 63,700 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าจากจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน 205 แห่งนั้น จะขยายตัวต่อเนื่องทะลุ 250 แห่งภายใน 4-5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือไม่ใช่เฉพาะชาวต่างชาติ และชาวจีนที่นิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเท่านั้น หากแต่คนไทยในปัจจุบันเองก็มีค่านิยมดังกล่าวสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีลูกน้อย ดังนั้น จึงสามารถส่งลูกเรียนในโรงเรียนดีๆ ได้เพิ่มขึ้น

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ โรงเรียนสัญชาติสิงคโปร์เป็นโรงเรียนนานาชาติที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการขยายสาขาเป็นจำนวนมาก เนื่องเพราะต้องยอมรับว่ามีค่าเทอมที่ไม่แพงมากนัก และระบบการเรียนการสอนก็ถูกจริตของคนไทย

นี่เป็นประเด็นที่ต้องทบทวนอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อพิจารณาตามคำให้สัมภาษณ์ของ “หมอธี” ถึงเรื่องการยกเว้นภาษีของโรงเรียนเอกชนแล้ว ก็จะเห็น เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐที่ต้องการส่งเสริมการศึกษา และถ้าจะว่าไป “ทางออก” ที่สมควรจะทำยิ่งก็คือ แม้จะห้ามไม่ให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ แต่โรงเรียนเอกชนรายใดที่มีความประสงค์ที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องถูกยกเลิกสิทธิพิเศษในเรื่องภาษีซึ่งภาครัฐยกเว้นให้ เพราะนับจากวินาทีที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ปรัชญาการทำธุรกิจก็จะเปลี่ยนเป็นการทำกำไรสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และขณะนี้ ศธ.อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการในการดำเนินการทางภาษีในกรณีที่มีการนำโรงเรียนเอกชนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเสนอให้กับกระทรวงการคลังพิจารณา โดยคาดว่าน่าจะดำเนินไปในแนวทางเดียวกับกรณีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

รวมทั้งต้องติดตามกรณีที่ ขณะที่ จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทนายความยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ SISB โดยเนื้อหาคำฟ้องชี้ว่าธุรกิจโรงเรียนเอกชนมีสิทธิพิเศษที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีต่างๆ จากภาครัฐอยู่แล้ว ซึ่งต้องจัดสรรผลกำไรเพื่อนำกลับไปพัฒนาโรงเรียนตนเอง หากวัตถุประสงค์โรงเรียนเปลี่ยนเป็นการมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยอาศัยสิทธิพิเศษที่ได้รับยกเว้นภาษีถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งคำสั่งของ ก.ล.ต. ให้ซื้อขายหุ้น SISB อาจขัดต่อหลักนโยบายแห่งรัฐในการพัฒนาการศึกษาและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลปกครองได้ออกหมายนัดให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มาไต่สวนทำคำชี้แจงเสนอต่อศาลในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ต่อไป

โปรดติดตามอย่างไม่กะพริบตา


กำลังโหลดความคิดเห็น