xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทรฉาว! แบงก์ออมสินอย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นคนจนหาเช้ากินค่ำถูกเอาเปรียบเหยียบย่ำซ้ำเติมไม่วายเว้น ดังเช่น “กลุ่มรถสามล้อเอื้ออาทร” ที่ถูก “ธนาคารออมสิน” ฟ้องผิดสัญญากู้ยืม ทั้งที่ลูกหนี้ยืนยันควักจ่ายหนี้ไม่ได้ขาด สืบสาวกันไปถึงได้ความว่า “โครงการสามล้อเอื้ออาทร” ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดแคมเปญคิกออฟรอบ 2 สนองนโยบาย “รัฐบาลบิ๊กตู่” มีข้อสงสัยว่ามีอะไรในกอไผ่หรือไม่

แถมพอเกิดเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมาทั้งกรมการขนส่งฯ เจ้าของโครงการ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ ต่างชิ่งไม่เกี่ยว จนกลุ่มสามล้อผู้เดือดร้อนต้องหันหน้าเข้าพึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องร้องเอาผิดสัญญาฉ้อโกง

“.... เป็นปัญหาใหญ่ของโครงการที่พยายามช่วยเหลือคนจน แต่กลายเป็นว่า คนจนต้องเป็นหนี้และถูกฟ้องคดี...” น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยความสะทกสะท้อนใจ

ในหลักการโครงการเอื้ออาทรช่วยเหลือคนจนสารพัดสารพันนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี และ “สามล้อเอื้ออาทร” ก็เป็นโครงการหนึ่งในแพคเกจใหญ่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการสร้างผลงานเอาใจประชาชนหลังทำรัฐประหารได้ปีเศษๆ

โครงการนี้ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ปัดฝุ่นเอาโครงการเดิมที่เคยดำเนินงานมาก่อนหน้านี้ครั้งแรกเมื่อปี 2549 มาขยายเวลาเพิ่มเติมในปี 2558 สนองนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยกรมการขนส่ง เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข คุณสมบัติของบุคคลในการจดทะเบียนรถสามล้อรับจ้าง (เอื้ออาทร) และตรวจสอบคุณสมบัติตามที่ประกาศ โดยผู้ขอรับสิทธิ์ต้องจัดหารถสามล้อมาเอง หรือติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อเอง

พูดง่ายๆ คือ กรมฯ เป็นหน่วยงานรัฐผู้กำหนดหลักเกณฑ์ ส่วนผู้มาขอจดทะเบียนจะไปเอารถมาจากไหน จะไปขอกู้สินเชื่อซื้อรถจากใคร กรมฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่กรมฯ จะรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ ก็ต้องถามว่า เมื่อปลายปี 2558 ที่กรมฯ เปิดโครงการสามล้อเอื้ออาทร โดยให้สิทธิ์จดทะเบียนสามล้อรับจ้างใหม่ 814 คัน แล้วมี สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ไปเปิดบูทโฆษณาขายรถสามล้อเครื่องที่กรมการขนส่งทางบกได้อย่างไร

ทั้งนี้ นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีคำตอบชัดเจนว่า ในการดำเนินการขั้นตอนการจัดหารถ การขอสินเชื่อ เป็นการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ขอรับสิทธิ์กับสถาบันการเงิน กรมฯไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญาดังกล่าวได้

ที่กรมฯ ว่าไม่มีส่วนร่วม ไม่เกี่ยวข้อง ก็ใช่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะในภาพรวมแล้วเกิดความเสียหายฉาวโฉ่ในโครงการที่รัฐสนับสนุน ใช่หรือไม่? กรมฯ จะปัดสวะอย่างสิ้นเชิงไม่ได้ จึงควรแล้วที่จะเสนอต่อรมว.คมนาคม หาทางเยียวยากลุ่มผู้เสียหาย และทางที่ดีควรไล่ตรวจสอบ เช็กบิลให้ได้รู้ถึงความจริงให้สิ้นกระแส

ขณะที่กลุ่มสามล้อฯ ซึ่งได้รับผลกระทบได้รวมพลกันกว่าร้อยชีวิตไปร้องเรียน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ว่าถูกฟ้องคดีจากธนาคารออมสินว่าผิดสัญญากู้ยืมเงิน จากนั้นได้มีการตรวจสอบและนัดเจรจาระหว่างผู้เสียหาย และผู้แทนของธนาคารออมสิน สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในวันที่ 8 ต.ค. 2561 ทว่า การเจรจาล้มเหลว

ด้วยเหตุดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้นำกลุ่มคนขับรถสามล้อเครื่องกว่า 100 คน ที่เข้าร่วมโครงการสามล้อเอื้ออาทร เข้าร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามว่าถูกกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์จักรเพชร ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และสาขาสยามพารากอน ปล่อยสินเชื่อไม่เป็นธรรม ทำให้เป็นหนี้สินเกินราคาสินค้า มีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 115 ราย เป็นหนี้ระหว่าง 685,000-880,000 บาท

ตามถ้อยความที่ร้องทุกข์ สืบเนื่องจากวันที่กรมการขนส่งทางบก จัดโครงการดังกล่าว ทางสหกรณ์จักรเพชร ได้มาเสนอขายรถสามล้อในราคา 3 แสนบาท คนขับรถสามล้อจึงจองรถและให้สหกรณ์พาไปกู้เงินกับแบงก์ออมสิน สาขาเยาวราช และพารากอน จำนวน 4-5 แสนบาท โอนเข้าบัญชีของสหกรณ์ และคนขับรถสามล้อต้องทำสัญญากู้เงินจากสหกรณ์อีก 330,000 - 380,000 บาททำให้แต่ละรายเป็นหนี้กว่า 7 แสนบาท จากการทำสัญญาซ้อน 2 ครั้ง จนทำให้คนขับรถสามล้อถูกฟ้องร้อง

นอกจากนี้ ยังพบว่ารถสามล้อมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท เป็นเครื่องยนต์ 2 สูบของจีนแดงไม่เหมือนที่โฆษณาไว้ว่าเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบยี่ห้อไดฮัทสุ ของประเทศญี่ปุ่น อาจเข้าข่ายหลอกลวงขายสินค้า รวมถึงผู้ให้สินเชื่อไม่ได้สอบถามความประสงค์ของกลุ่มผู้เสียหายก่อน ซึ่งผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นการกู้ไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมาซื้อรถสามล้อ โดยไม่ทราบว่าตนกู้ไปเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ให้ลงชื่อส่วนไหนก็ลงชื่อตาม ซึ่งอาจเข้าข่ายหลอกลวงให้ทำสัญญาโดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงอันควรแจ้ง และเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

นายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่อง กล่าวว่า ครั้งแรกที่เซ็นสัญญาได้เซ็นเพียงฉบับเดียว โดยไม่เห็นว่าตัวเลขการกู้เงินเท่าไหร่ หากไม่มีคนรู้จักมาค้ำประกัน สหกรณ์จะจัดหาคนค้ำประกันให้ และผู้กู้ต้องไปค้ำประกันตอบแทนรายนั้น ในวันรับรถได้รับไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ตกลงกันไว้ และให้ใบสรุปการจ่ายสินเชื่อเพียงใบเดียว และยืนยันว่า ได้จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์มาตลอด

เมื่อเรื่องราวชักจะไปกันใหญ่ นางสาวจิราพร นุกิจรังสรรค์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ออกมาชี้แจงว่าแบงก์ให้กู้แก่สมาชิกของสหกรณ์จักรเพชรตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของธนาคาร ตั้งแต่ขั้นตอนการให้สินเชื่อ และเงื่อนไขการชำระหนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถชำระหนี้ผ่านสหกรณ์ และให้สหกรณ์รวบรวมนำส่งให้ธนาคาร และยืนยันว่าธนาคารได้จ่ายเงินกู้ตามสัญญาเต็มจำนวน

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 น.ส.สารี นำผู้เสียหายจากโครงการฯ เกือบร้อยคนเข้าพบผู้บริหารธนาคารออมสิน เพื่อขอให้ธนาคารถอนฟ้องผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาพารากอน และสาขาเยาวราช กรณีที่ยื่นฟ้องไปแล้ว

นายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รับปากว่า ธนาคารจะตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าปล่อยสินเชื่อที่ไม่ถูกต้องจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน และในวันที่ 15 ม.ค. 2562 ธนาคารได้นัดกับลูกหนี้ในโครงการดังกล่าวที่มีปัญหาหนี้เสียและถูกฟ้องร้องยึดรถมารับฟังการสอบข้อเท็จจริงต่อไป

อย่างไรก็ดี ในช่วงสอบข้อเท็จจริงธนาคารจะชะลอการดำเนินคดีกับผู้กู้ไปก่อน โดยผู้ที่ขาดการชำระหนี้และจะถูกฟ้องร้องก็จะยังไม่ดำเนินการฟ้องร้อง ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องก็จะขอศาลจำหน่ายคดีออกมาก่อน และผู้ที่ถูกฟ้องร้องและอยู่ระหว่างการดำเนินการยึดทรัพย์ก็จะให้การชะลอการยึดทรัพย์ไปก่อนเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ธนาคารได้โอนเงินกู้ทั้งหมดให้กับสหกรณ์ ไม่ได้ให้ผู้กู้เงินเพราะผู้กู้ได้เซ็นหนังสือยินยอมให้ธนาคารออมสินโอนเงินกู้ทั้งหมดให้กับสหกรณ์ฯ ที่ผู้ซื้อรถตุ๊กตุ๊กเป็นสมาชิก และเป็นตัวแทนในการจ่ายเงินค่าซื้อรถตุ๊กตุ๊ก และค่าดำเนินการอื่นๆ ให้กับผู้กู้

ด้านปัญหาที่ผู้ซื้อรถตุ๊กตุ๊กต้องไปทำสัญญาเงินกู้กับสหกรณ์อีกฉบับหนึ่ง และจ่ายชำระหนี้ให้สหกรณ์ทุกเดือน เพื่อให้สหกรณ์จ่ายต่อให้กับธนาคารออมสินเพื่อเป็นค่าผ่อนชำระสินเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสิน
ฟังความอีกด้านจากคำชี้แจงจากนายณัฐพงศ์ แสง-ชูโต ที่ปรึกษาสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ที่แก้ต่างผ่านสำนักข่าวอิศรา ด้วยความสับสนว่า สหกรณ์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหารถสามล้อเครื่องมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก สมาชิกเป็นผู้ไปดำเนินการจัดหาเอง และยอมรับว่ามีทั้งระบบเครื่องยนต์ 2 สูบ และ 3 สูบ

ทว่า นายณัฐพงศ์ ก็บอกด้วยว่า “เขา (กลุ่มสามล้อฯ)ไม่สามารถทำสัญญากับธนาคารฯ โดยตรงได้ เพราะธนาคารฯ ไม่มีไฟแนนซ์ จึงกู้เดี่ยวไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกันไปกู้ พอรวมกลุ่มไปกู้ เงินที่ได้นำกลับมาให้สหกรณ์บริหารเพื่อหารถให้

“... ธนาคารจึงต้องหาวิธีทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาจะได้มีรถ ฉะนั้นจะเป็นสินเชื่อประเภทไหนก็แล้วแต่ ขอให้มีเงินออกมาแล้วกัน เพื่อมาให้สหกรณ์บริหารนำรถให้...”

นายณัฐพงศ์ ย้ำว่า ธนาคารจะโอนเงินกู้หมดทั้งก้อนมาอยู่ที่สหกรณ์ จากนั้นสหกรณ์จะนำเงินทั้งหมดมาแตกย่อยเป็นของแต่ละบุคคลเสมือนเงินฝาก เหตุที่ธนาคารไม่มอบเงินสดให้แก่สมาชิกที่ทำสัญญาเงินกู้โดยตรง เพราะไม่มั่นใจว่าสมาชิกจะนำเงินไปซื้อรถสามล้อตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่

ที่ปรึกษาสหกรณ์บริการจักรเพชร ชี้แจงด้วยว่า เมื่อสมาชิกไปดูรถซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 250,000-290,000 บาท หากพึงพอใจก็ทำสัญญาซื้อกับสหกรณ์อีกฉบับหนึ่ง สัญญาที่ทำในโครงการนี้จึงมี 2 ฉบับ คือ 1.สัญญากับสหกรณ์เพื่อซื้อรถ และ 2.สัญญากับธนาคารเพื่อขอกู้สินเชื่อ ส่วนวิธีการผ่อนชำระผ่านสหกรณ์แทนที่จะเป็นธนาคารโดยตรงนั้น “... เรามีข้อตกลงว่า จะเก็บเงินสมาชิกกลุ่มนี้ไปคืนธนาคารฯ ให้ เพราะหากให้สมาชิกไปส่งชำระหนี้เองทุกวัน วันหนึ่งเป็นร้อยคน บางคนส่งเป็นรายสัปดาห์ แล้วธนาคารฯ จะทำงานกันอย่างไร”

แน่นอน เรื่องนี้ยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะเป็นโครงการสนองนโนบายของรัฐบาล ดังนั้นจะขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่แล้วเหลาลงไปมีแต่ความฉ้อฉล คงไม่ใช่




กำลังโหลดความคิดเห็น