เป็นคำเรียกร้องกดดันให้เหล่าประเทศเจ้าอาณานิคม ส่งคืนบรรดาวัตถุโบราณล้ำค่าที่ได้ปล้นไปจากเหล่าประเทศในแอฟริกาที่ตกเป็นเมืองขึ้น ตลอดยุคแห่งการล่าอาณานิคมด้วยการยกกองทัพอันเกรียงไกรไปตีเมืองขึ้น และได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองขึ้นมาเป็นทาสและทหารรับใช้ในศึกสงคราม พร้อมกับขนสิ่งของมีค่าของเมืองขึ้นกลับประเทศของตน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สุดสิ้นลง เหล่าประเทศเจ้าอาณานิคมกำลังสะบักสะบอมอ่อนเปลี้ยจากการสู้ศึกสงครามโลก และไม่มีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งพอจะควบคุมครอบครองดินแดนเมืองขึ้นได้อีกต่อไป จึงต้องจำยอมประกาศปลดปล่อยให้เอกราชแก่เหล่าเมืองขึ้นมากมายหลายแห่ง ทั้งในเอเชียและแอฟริกา จริงๆ ก็ไม่ใช่จะยอมปล่อยง่ายๆ เกิดการต่อสู้จากกลุ่มผู้รักชาติที่ก่อตัวขึ้น และทำการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมจนยอมสละชีวิตเพื่อได้เอกราชมา
ประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก ได้ยอมให้เมืองขึ้นทยอยเป็นอิสระ แต่ส่วนมากบริษัทธุรกิจของประเทศเจ้าอาณานิคมก็ยังมีอิทธิพลครอบคลุมระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช จะเห็นตัวอย่างได้ชัดในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะที่ประเทศแอฟริกาใต้ ที่ตอนนี้ประชาชนเจ้าของประเทศดั้งเดิมยังโงหัวไม่ขึ้น รวมทั้งซิมบับเว และอีกหลายๆ แห่งที่ประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนในความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย
ล่าสุด กลุ่มปัญญาชนของประเทศเบนิน ซึ่งเคยเป็นประตูนรกสำหรับลำเลียงเหล่าคนแอฟริกาที่ถูกทำร้ายร่างกายไล่จับกวาดต้อนขึ้นเรือเพื่อนำไปขายเป็นทาส-ทั้งในยุโรป, อเมริกาเหนือ, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้-ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการส่งคืนโบราณวัตถุอันล้ำค่าของประเทศกลับคืนมาจากบรรดาพิพิธภัณฑ์ในมหานครใหญ่ๆ ของโลก โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส และอังกฤษ
ประเทศแอลจีเรียก็เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และชาวแอลจีเรียก็ต้องเสียชีวิตล้มตายในการต่อสู้เพื่อได้เอกราชคืนมา วันนี้ก็ได้มีการขับเคลื่อนทวงคืนสมบัติล้ำค่าของชาติที่ถูกปล้นไปวางแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ปารีส
ยังมีเหล่าปัญญาชนและผู้รักชาติของอีกหลายๆ ประเทศในแอฟริกา ที่เรียกร้องขอคืนบัลลังก์ทองคำของเหล่าบรรพกษัตริย์ของเขา ที่ตั้งแสดงอยู่ในตะวันตก
การเรียกร้องทวงคืนสมบัติล้ำค่าของชาตินี้ มีตั้งแต่เพิ่งได้เอกราชใหม่ๆ แต่ก็มักถูกโต้กลับว่า ประเทศเกิดใหม่ไม่มีเทคโนโลยีที่จะเก็บรักษาวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ รวมทั้งไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานพอเก็บรักษาสิ่งของล้ำค่าเพื่อเป็นการเปิดให้ผู้คนได้เข้าศึกษาเปรียบเทียบอารยธรรมโบราณต่างๆ
ที่ร้ายสุดคือ อ้างว่า ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้มักมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง-ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ และหลายแห่งมีสงครามกลางเมือง ซึ่งทำให้วัตถุล้ำค่าทางประวัติศาสตร์จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกทำลายเสียหาย
เมื่อนายกฯ เดวิด คาเมรอน แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษขึ้นเป็นนายกฯ ใหม่ๆ เขาได้จัดขบวน ครม.และนักธุรกิจกลุ่มใหญ่เดินทางไปเยือนอินเดีย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นประเทศอังกฤษ และกำลังเปิดประเทศรับการลงทุน...บทบรรณาธิการนสพ.ชั้นนำของอินเดีย รวมทั้งเสียงเรียกร้องของชาวอินเดีย ขอให้นายกฯ คาเมรอนส่งคืนเพชรก้อนโต “โคอินูร์” ที่ได้นำไปจากอินเดีย และไปประดับอยู่บนมหามงกุฎของกษัตริย์อังกฤษ
นายกฯ คาเมรอนต้องหาคำตอบให้กับชาวอินเดียให้ได้ว่า ทำไมไม่ส่งคืน-เขาตอบว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งเพชรล้ำค่าคืนอินเดีย เพราะถ้าเริ่มส่งคืน 1 ชิ้นนี้ ก็จะตามมาด้วยการส่งวัตถุล้ำค่าแทบทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์ของอังกฤษจนแทบไม่เหลืออะไร เขาขอให้ชาวอินเดียสบายใจได้ว่าทางการอังกฤษเก็บรักษาสมบัติล้ำค่านี้อย่างดีที่สุด พร้อมเปิดให้คนทั้งโลกได้เข้าศึกษาเพื่อเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ของอินเดีย
แต่สำหรับปธน.มาครงแห่งฝรั่งเศส ท่าทีจะแตกต่างกับผู้นำตะวันตกคนอื่นๆ เพราะในที่สุดก็ประกาศพร้อมจะส่งวัตถุล้ำค่าทางประวัติศาสตร์เริ่มจากจำนวน 26 ชิ้น เพื่อคืนให้กับประเทศเบนินในแอฟริกา
เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกที่เขาชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ได้เดินทางไปเยือนหลายประเทศในแอฟริกาซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เช่น แอลจีเรีย, มาลี รวมทั้งเบนิน (ซึ่งแม่ทัพฝรั่งเศสได้บุกเข้ายึดเมืองหลวงในปี 1892 (126 ปีมาแล้ว) และได้ยึดพระราชวังของกษัตริย์ขณะนั้น รวมทั้งได้ยึด(ริบ)เอาทั้งพระราชบัลลังก์ทองคำ, ประตูราชวังอันวิจิตร และของล้ำค่ากลับมาเป็นสมบัติของฝรั่งเศส)
เนื่องจากมาครงเป็นผู้นำหนุ่มที่สุดของฝรั่งเศส (อายุ 39 เมื่อเข้ารับตำแหน่งปธน.) เขาได้ขอให้จัดเวทีพูดคุยกับคนหนุ่มสาวของประเทศที่เขาไปเยือนในแอฟริกา เพื่อฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์กับอดีตอาณานิคมในบริบทใหม่ของโลกาภิวัตน์ แทนที่ความสัมพันธ์ที่ขมขื่นระหว่างประชาชนของประเทศเมืองขึ้นกับประเทศล่าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส
ในช่วงการแลกเปลี่ยนกับคนหนุ่มสาวนั่นเอง เขาได้ให้สัญญาว่า ฝรั่งเศสจะต้องส่งคืนวัตถุโบราณศิลปะอันล้ำค่าของบรรพบุรุษแอฟริกันที่ถูก(ปล้น)ริบไปอยู่เป็นสมบัติของชาติฝรั่งเศส เพื่อให้สิ่งของทางวัฒนธรรมเหล่านี้กลับไปสู่บ้านเดิม นำความภาคภูมิใจแก่เจ้าของเดิม
เขากลับมาฝรั่งเศสได้ตั้งคณะกรรมการสืบค้นและทำรายงานเรื่องสมบัติมีค่าจากแอฟริกา และเมื่อวันศุกร์ที่แล้วนี้เอง คณะกรรมการได้นำรายงานมาให้เขาพิจารณา ซึ่งเขาได้ตัดสินใจทันทีจะส่งวัตถุล้ำค่า 26 ชิ้นไปยังเบนินทันที
แต่มีปัญหาคือ กฎหมายของฝรั่งเศสได้ประกาศไว้นานแล้วตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมว่า สมบัติของชาติในพิพิธภัณฑ์ (หมายถึงวัตถุล้ำค่าที่ฝรั่งเศสไปริบ(ปล้น)มาจากประเทศที่ฝรั่งเศสปราบชนะสงคราม) จะไม่สามารถมอบให้แก่ผู้ใด ซึ่งปธน.ก็ได้ประกาศจะต้องแก้กฎหมายเก่าแก่ฉบับนี้ให้ได้
เขาได้ประกาศจะจัดประชุมใหญ่เรื่อง สมบัติทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในฝรั่งเศส เพื่อปูทางไปสู่การส่งคืนศิลปะล้ำค่าเหล่านี้
ทำเอาผู้บริหารเหล่าพิพิธภัณฑ์ในยุโรป ซึ่งมีศิลปะล้ำค่าจากอาณานิคมอยู่เป็นหลายแสนชิ้น (เฉพาะในอังกฤษก็เกือบแสนชิ้น, ยังมีในออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, เบลเยียม รวมแล้วเป็นแสนชิ้น ขณะที่แอฟริกาเองมีไม่ถึง 3 พันชิ้น ทั้งทวีปทีเดียว) เริ่มนอนไม่หลับไปตามๆ กัน เพราะจะถูกเปรียบเทียบกับฝรั่งเศส ซึ่งใช้การคืนของล้ำค่าเป็นหนึ่งในวิธีการทูตที่จะผูกสัมพันธ์ที่ดีแก่อดีตอาณานิคมในอดีต