ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากใช้เวลาพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ นานถึง 19 เดือน จนสังคมเชื่อว่า ถูกทำหมันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในที่สุด “พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความงุนงงและสงสัยว่า สุดท้ายแล้ว “ใครได้-ใครเสีย” จากกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้นี้บ้าง
โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็น “หัวใจ” ของกฎหมาย นั่นคือ “ลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อไม่ให้ที่ดินถูกถือครองแบบกระจุกตัวโดย “คนรวย” เนื่องเพราะการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆ เนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ ยังถือครองที่ดินกว่า 80%
และที่สำคัญคือ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ
กล่าวสำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีอยู่ 6 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ
1.ที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.01% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%มูลค่าของฐานภาษีเกิน 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.07% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 25 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
3. สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 40 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 40 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 65 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 90 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยตามข้อ 2 และ ข้อ 3 มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
5. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัยมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%มูลค่าของฐานภาษีเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
6. ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6% มูลค่าของฐานภาษีเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ จำนวน 12 ฉบับ ให้รวมเป็นฉบับเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ให้อำนาจ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นผู้ดำเนินการ ตามอัตราจัดเก็บภาษีที่ คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดกำหนด แต่หากมีปัญหา หรือต้องหาคำแนะนำ กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเป็นผู้ดำเนินการ
อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 และใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีแก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรม
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวด้วยความมั่นใจว่า กฎหมายดังกล่าวจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินจะสอดคล้องกับสากล สามารถอุดช่องว่างช่องโหว่ภาษีเดิม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของที่ดิน ท้องถิ่นมีเงินไปใช้พัฒนาพื้นที่ และสร้างธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมในพื้นที่
มีการประมาณการณ์กันว่า กฎหมายฉบับใหม่จะทำให้ภาครัฐมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 5-6.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เก็บจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่เก็บภาษีได้ปีละ 3.5-4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปมุมมองที่มีต่อกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ว่า แม้ภาระภาษีน่าจะไม่มากสำหรับผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและประชาชน ทว่าความท้าทายจะอยู่ที่กลุ่มผู้ครอบครองทรัพย์สินมากแต่มีรายได้น้อย หรือทรัพย์สินอยู่ในทำเลศักยภาพที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น จะได้รับการยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2563-2566) ส่วนประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและที่ดิน (สำหรับที่อยู่อาศัยหลังแรก) จะได้รับการยกเว้นภาษีหากมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท ขณะที่หากมีที่อยู่อาศัยหลังที่สอง ก็จะต้องเสียภาษี เช่น มูลค่า 5 ล้านบาท มีอัตราภาษีที่ 0.02% ภาระภาษีที่ชำระ 100 บาทต่อปี
อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาระภาษีจะคำนวณบนฐานราคาประเมินที่ดินที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มขึ้นจะเร็วสำหรับทรัพย์สินที่อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ (Prime Areas) เช่น สีลม สุขุมวิท เป็นต้น ดังนั้น ผู้ครอบครองทรัพย์สินก็จะมีภาระภาษีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์สินจำนวนมากแต่รายได้ไม่มาก เพราะได้รับทรัพย์สินมาจากบรรพบุรุษ หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณซึ่งไม่มีรายได้แล้วแต่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ก็จะมีภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ด้านผลต่อภาคธุรกิจ มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและมูลค่าของทรัพย์สิน โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ใช้พื้นที่มากในการประกอบกิจการ หรือเป็นผู้เช่าพื้นที่ หรือผู้ที่ประกอบกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดา อาจจะมีภาระภาษีหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยื่นภาษีอย่างถูกต้องนั้น สามารถนำภาษีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทซึ่งจะช่วยบรรเทารายจ่ายภาษีลงได้ แตกต่างจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านภาษีมาหักลดหย่อน
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ใช้อาคารที่อยู่อาศัยในการทำธุรกิจหรือค้าขาย อาทิ ร้านขายอาหาร ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (ร้านโชห่วย) ร้านเสริมความงาม หรือมีการใช้พื้นที่มากในการประกอบกิจการ เช่น สวนอาหาร โรงแรม เป็นต้น จะมีการจัดเก็บภาษีจำแนกตามประเภทพาณิชยกรรมตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ โดยอัตราภาษีสำหรับการประกอบพาณิชยกรรมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาท มีอัตราภาษีที่ 0.03% หรือเปรียบเทียบกับมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 ล้านบาท ภาระภาษีที่ชำระ 3,000 บาทต่อปี โดยหากผู้ประกอบการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจก็คงจะต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายด้านภาษีที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเสียค่าเช่าเพิ่มขึ้นถ้าผู้ครอบครองทรัพย์สินมีความยืดหยุ่นในการผลักภาระภาษีมาให้กับผู้เช่าได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs คงจะต้องเตรียมวางแผนการดำเนินธุรกิจจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและประเด็นแวดล้อมอื่นๆ นับจากนี้
“ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ทางการมุ่งหวังสร้างผลดีต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปลี่ยนการคำนวณภาษีจากฐานรายได้มาเป็นฐานทรัพย์สิน อาจจะสร้างความท้าทายโดยเฉพาะต่อผู้ครอบครองทรัพย์สินมากแต่มีรายได้น้อยที่อาจจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจเป็นแรงกดดันให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินแต่มีศักยภาพจำกัดในการพัฒนา ต้องขายทรัพย์สินในภาวะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เผชิญหลากประเด็นท้าทาย ทั้งกำลังซื้อครัวเรือน ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ผลจากมาตรการ LTV เป็นต้น” เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในระยะถัดไปคงต้องติดตามรายละเอียดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ทั้งประกาศพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น การประเมินราคาที่ดินในแต่ละพื้นที่ การจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน รวมถึงความชัดเจนในการกำหนดข้อยกเว้น/ลดหย่อนการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะมีผลต่อภาระภาษีของผู้ครอบครองทรัพย์สินในแต่ละพื้นที่และแต่ละประเภทแตกต่างกัน
ประเด็นที่ต้องขยายความก็คือผลกระทบที่จะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ใช้อาคารที่อยู่อาศัยในการทำธุรกิจหรือค้าขาย เพราะแต่เดิมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ไม่ได้มีการแยกประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินสิ่งปลูกสร้างกันมาก่อนว่าเป็นบ้านที่อยู่อาศัย หรือทำมาค้าขาย ทว่ากฎหมายภาษีที่ดินใหม่ได้แบ่งแยกประเภทการใช้ที่ดินเพื่อจัดเก็บภาษีเอาไว้อย่างชัดเจน
นั่นแปลความได้หรือไม่ว่าเมื่อถึงคราวประเมินภาษีตามโครงสร้างใหม่ กลุ่มเหล่านี้จะถูกตีความว่าเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยและต้องเสียภาษีในอัตรา 0.3% สูงสุดไม่เกิน 0.7% ในทันที
ถ้าเป็นเช่นนั้นล่ะก็ ผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้าง และอาจจะรวมไปถึงกิจการที่ใช้ที่ดินมากแต่ให้ผลตอบแทนต่ำอย่างสถานีบริการน้ำมัน-แก๊ส คาร์แคร์ ตลาดสดใจกลางเมือง เป็นต้น
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นต้องติดตามรายละเอียดของกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากผลกระทบมีขึ้นจริงตามข้อสังเกตที่ได้ระบุไว้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทบทวน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นการเอื้อให้บรรดา “แลนด์ลอดร์ด” สามารถได้รับประโยชน์จากการกว้านซื้อที่ดินซึ่งเจ้าของจำต้องปล่อยขายจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้
นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามและ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้กฎหมายผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำต้องพิจารณาผลที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป