xs
xsm
sm
md
lg

จะมีพรรคการเมืองประเภทใหม่บ้างหรือไม่ในการเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัญญาพลวัตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การจัดประเภททางการเมืองเป็นกระบวนการทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกถึงการมีตัวตนและการมีกลุ่มก้อนที่คล้ายคลึงกัน การจัดประเภททางการเมืองเป็นกระบวนการสร้างความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนในสังคม ความแตกต่างเหล่านี้มีการผสมผสานในหลายมิติตั้งแต่เรื่องความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับอำนาจและลำดับชั้นในสังคม ความคิดเกี่ยวกับแบบแผนที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันในสังคม แบบแผนความคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรในสังคม และความมุ่งหวังต่อสภาพทางสังคมที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต

มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะตระหนักรู้อย่างแจ่มชัดว่าความเชื่อพื้นฐานแต่ละอย่างของตนเองเป็นอย่างไร เพราะว่าความเชื่อพื้นฐานเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนภายในจิตใจของผู้คน ความซับซ้อนทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก คนจำนวนมากจึงพยายามลดทอนความซับซ้อนของสรรพสิ่งลงให้อยู่ในสภาพเรียบง่ายที่ตนเองจัดการได้ และพยายามขจัดหรือทำเป็นหลงลืมสิ่งที่สร้างขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรคหรือรบกวนต่อการตัดสินใจและการปฏิบัติของตนเองต่อไป

ในสถานการณ์เลือกตั้งอันเป็นสถานการณ์ที่คนต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง การจัดประเภททางการเมืองก็ยิ่งทวีความแหลมคมมากยิ่งขึ้น นักการเมืองพยายามช่วงชิงการนำเสนอการจัดประเภททางการเมืองที่พวกเขาคิดว่าจะสามารถตอบสนองเป้าหมายของตนเองได้อย่างดีที่สุด วาทกรรมจัดประเภทดั้งเดิมทางการเมืองถูกขุดขึ้นมาใช้อีกครั้ง นั่นคือ การแบ่งประเภทนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายที่สืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นัยของวาทกรรมชุดนี้คือ “ไม่เอา คสช.” กับ “เอาคสช.” นั่นเอง

ขณะที่วาทกรรมการเมืองร่วมสมัยในการจัดประเภทอีกแบบหนึ่ง อันได้แก่ “ฝ่ายเอาระบอบทักษิณ” กับ “ฝ่ายไม่เอาระบอบทักษิณ” ก็ยังคงอยู่คู่ขนานกันไป เมื่อนำวาทกรรมสองชุดมาผสมผสานกันเราก็จะเห็นประเภทของพรรคการเมืองตามความโน้มเอียงของจุดยืนเบื้องต้นของพรรคเหล่านั้น ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสี่ประเภทหลัก

ประเภทแรก คือ ไม่เอา คสช.และไม่เอาระบอบทักษิณ พรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนแบบนี้เป็นเป็นข่าวต่อสาธารณะคือ พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตามอาจมีพรรคเล็กอื่นๆ อีกบางพรรคที่มีจุดยืนแบบนี้ แต่ไม่ปรากฎเป็นข่าวออกมาสู่สาธารณะมากนัก นัยของการไม่เอา คสช. คือ การไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ส่วนนัยการไม่เอาระบอบทักษิณคือ การไม่ยอมรับพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบอบทักษิณ

ประเภทที่สองคือ ไม่เอา คสช. แต่เอาระบอบทักษิณ พรรคการเมืองที่สังกัดประเภทนี้มีอยู่หลายพรรคด้วยกัน พรรคหลักๆ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น การเอาระบอบทักษิณคือ การยอมรับอิทธิพลของระบอบทักษิณที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าครอบงำพรรคการเมือง

ประเภทที่สามคือ เอา คสช. แต่ไม่เอาระบอบทักษิณ พรรคหลักคือพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นต้น การเอา คสช. คือ การมีแนวโน้มยอมรับการสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร และไม่สนใจว่ารากฐานอำนาจอธิปไตยมาแหล่งใด

ประเภทที่สี่คือ เอา คสช. และเอาระบอบทักษิณ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
ตารางจำแนกประเภทพรรคการเมืองตามจุดยืน

 
นอกจากจุดยืนแบบขั้วการเมืองดังที่ปรากฎแล้ว หากจำแนกตามจุดยืนในเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาด และการใช้นโยบายประชานิยมแล้วเราก็จะได้ประเภทของพรรคการเมืองในอีกลักษณะหนึ่ง

กลุ่มของพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มใช้การบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง การใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้น และการสนับสนุนกลุ่มทุนผูกขาดสูง กลุ่มพรรคเหล่านี้ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคไทยรักษาชาติซึ่งแม้จะเป็นพรรคใหม่แต่ก็สืบสานและเป็นหน่อที่งอกออกจากพรรคเพื่อไทย อันนี้เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของพรรคการเมืองไทยกลุ่มนี้ นั่นคือทั้งที่มีความโน้มเอียงในการใช้นโยบายบริหารประเทศไม่แตกต่างกันมากนัก แต่กลับมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันแบบคนละขั้วกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งของขั้วทางการเมืองที่ปรากฎออกมา มีแนวโน้มเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคลมากกว่าหลักการหรือนโยบายทางการเมืองนั่นเอง

ส่วนกลุ่มพรรคที่ที่มีแนวโน้มใช้นโยบายการรวมศูนย์อำนาจและประชานิยมอย่างเจือจาง แต่ก็ยังคงสนับสนุนกลุ่มทุนผูกขาดอยู่บ้างก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่ชูธงนำในการต่อต้านเผด็จการทั้งเผด็จการโดยรัฐประหารและเผด็จการรัฐสภา แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กลับบริหารประเทศแบบพึ่งพาระบบราชการ แม้นโยบายของพรรคจะสนับสนุนการกระจายอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ค่อยสอดคล้องกับนโยบายมากนั้น ยิ่งกว่านั้นใช้นโยบายประชานิยมเฉกเช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ แม่ว่าจะมีระดับความเข้มข้นน้อยกว่าก็ตาม ส่วนในเรื่องกลุ่มทุนผูกขาดพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่กล้าเข้าไปแตะต้องแต่อย่างใด โดยเฉพาะการผูกขาดเรื่องพลังงาน

ส่วนพรรคการเมืองใหม่ๆ ทั้งหลาย แม้แต่พรรคที่ชูธงต่อต้าน คสช. อย่างพรรคอนาคตใหม่ ผมยังไม่อาจประเมินได้ชัดเจนนัก เพราะว่าแม้ดูเหมือนว่าจะมีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจ แต่ก็ยังคงมีร่องรอยการสนับสนุนนโยบายประชานิยม และที่สำคัญคือแกนนำสำคัญอันเป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองนี้ก็อยู่ในตระกูลกลุ่มทุนผูกขาด และเคยมีประวัติในการใช้อำนาจในฐานะที่เป็นนายทุนกระทำต่อผู้ใช้แรงงานในสังกัดของตนเองที่ไม่แตกต่างจากนายทุนผูกขาดอื่นๆ มากนัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาโฆษณาชวนเชื่ออยู่ในปัจจุบัน กับสิ่งที่จะกระทำจริงในอนาคตอาจเป็นคนละเรื่องกันก็ได้

สิ่งที่เหมือนกันของพรรคการเมืองเหล่านี้อีกอย่างหนึ่งคือ ยังไม่ได้ยินอย่างชัดเจนและหนักแน่นว่าพรรคการเมืองใดประกาศนโยบายและมาตรการในการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และการปฏิรูปประเทศในด้านอื่นๆอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติได้ แต่ถึงแม้จะประกาศ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด เพราะธรรมชาติอย่างหนึ่งของพรรคการเมืองในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งคือ การประกาศหรือพูดในสิ่งที่ที่พวกเขาคิดว่าจะสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองเป็นหลัก ส่วนจะนำไปทำได้จริงหรือไม่ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่มากนักสำหรับพวกเขา

เท่าที่ติดตามการบริหารการปกครองของรัฐบาลไทยที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหลายพรรค หลายกลุ่ม สิ่งที่ผมมองว่าเป็นโศกนาฏกรรมของการบริหารการเมืองอย่างหนึ่งคือ แม้รัฐบาลต่างพรรคต่างพวกมาบริหารประเทศ แต่กลับมีชุดของความคิดและเหตุผลที่ใช้ในการบริหารประเทศเหมือนกัน จนแทบหาความแตกต่างไม่ได้เลย ชุดของนโยบายและมาตรการต่างๆมีแนวโน้มมุ่งสร้างประโยชน์และส่งเสริมความมั่งคั่งแก่กลุ่มทุนผูกขาดเป็นหลัก อีกทั้งยังเน้นการเพิ่มและขยายอำนาจและผลประโยชน์กลุ่มข้าราชการ และในเรื่องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก็เป็นไปอย่างอย่างฉาบฉวย โดยการแจกเงินผ่านช่องทางและกลไกต่างๆในลักษณะที่เป็นเฉพาะกิจเฉพาะเวลา ดูเหมือนว่ารัฐบาลแทบทุกชุดที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลคสช.ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนได้อย่างเป็นระบบ ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนได้ โดยเฉพาะการสร้างระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรในกลุ่มพืชอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยาง ปาล์ม เป็นต้น

ผมคิดว่าในยุคปัจจุบัน แม้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ส่งเสียงออกมา แต่ในจิตใจของพวกเขาก็มีบทสรุปบางอย่างทางการเมืองอยู่บ้างไม่มากก็น้อย และในท่ามกลางพรรคการเมืองที่หลากหลาย พวกเขาอาจจัดระบบความคิดของตนเอง และจำแนกประเภทพรรคการเมืองในแบบใหม่ และใช้เป็นกรอบการตัดสินใจสำหนับการเลือกตั้งที่จะมาถึงก็ได้ ดังนั้นในท่ามกลางความเงียบสงัด มีความเป็นไปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่กำลังมองหาพรรคการเมืองประเภทใหม่ๆที่แตกต่างไปจากพรรคการเมืองประเภทเดิมๆ อย่างสิ้นเชิงก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น