xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สตง.เปิดผลตรวจ"กองทุนหมู่บ้านฯ" เงินประชารัฐ ยุครัฐบาล"บิ๊กตู่"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ ผลการตรวจสอบผลการดำเนินงาน “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” ในกำกับของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) 2 ส่วน

ส่วนแรก เป็นการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2559 หลังจากมีการสุ่มตรวจต่อเนื่องตลอด 14 ปี ในกองทุนหมู่บ้านที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันการเงินชุมชน 450 กองทุน จาก 15 จังหวัด ในความร่วมมือใน 9 สาขา

ส่วนที่สอง เป็นรายงานผลการสุ่มตรวจโครงการกองทุนฯในพื้นที่ จ.อุดรธานี ประจำปี 2559 จำนวน 95 กองทุน 107 โครงการ งบประมาณ 47.50 ล้านบาท

การสุ่มตรวจส่วนแรก 450 กองทุน พบว่าแต่ละสถานภาพยังประสบปัญหาหนี้ค้างชาระและ/หรือ เงินขาดบัญชี ซึ่งในจานวนนี้พบว่า มีกองทุนฯ จำนวนมากหยุดดำเนินกิจกรรม หรือคณะกรรมการกองทุนฯไม่สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปัญหาหนี้ค้างชำระ และ/หรือ เงินขาดบัญชีได้ และยังมีจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบควบคุมการดำเนินงานรวมถึงการจัดทำหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี

สาเหตุที่ประสบปัญหาหนี้ค้างชาระและ/หรือเงินขาดบัญชี สตง. พบว่า บางกองทุนฯหยุดดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลวหรืออาจเกิดปัญหาหนี้สูญ

ตลอด 14 ปีเศษ สตง.เข้าตรวจสอบหลายครั้ง เช่น ปีงบประมาณ 2549 สุ่มตัวอย่างกองทุน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ 450 กองทุน จาก 15 จังหวัด พบ“ปัญหาหนี้ค้างชาระและ/หรือเงินขาดบัญชี”225 กองทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ที่สุ่มตรวจสอบ มีหนี้ค้างชำระฯ 83.39 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีกองทุนที่เงินขาดบัญชี 23 กองทุน หรือ 5.06 ล้านบาท เกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรก ที่สมาชิกต้องชำระคืนเงินกู้คือ ปี 2545 และมียอดหนี้ค้างชาระสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

ในปีงบประมาณ 2553 สุ่มตรวจ 444 กองทุน ใน 13 จังหวัด แยกตามสถานภาพกองทุนที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยในบัญชีที่ 1 พบว่า ยังคงประสบปัญหาหนี้ค้างชำระ 258 กองทุน รวมจำนวนเงิน 112.34 ล้านบาท โดยแยกเป็นหนี้ค้างชาระ 241 กองทุน จานวนเงิน 98.02 ล้านบาท และเงินขาดบัญชี 79 กองทุน จานวนเงิน 14.32 ล้านบาท ขณะที่แต่ละสถานภาพกองทุนฯต่างประสบปัญหาหนี้ค้างชำระ บางกองทุนมีวงเงินหนี้ค้างชำระหมดทั้งกองทุน โดยร้อยละ 23.20 ประสบความล้มเหลวหรือมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว 

ล่าสุดในปีงบประมาณ 2559 พบว่ามีปัญหาหนี้ค้างชำระ 332 กองทุน จำนวนเงินประมาณ 225.06 ล้านบาท แต่ละจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบมีสัดส่วนของจำนวนกองทุนฯ ที่มีปัญหาดังกล่าวมากกว่า ร้อยละ 50 ขึ้นไป ใน 14 จังหวัด มีหนี้ค้างชาระมากกว่า 200,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 55.56

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาหนี้ค้างชำระใน 84 กองทุน เงินประมาณ 59.20 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่า มีวงเงินค้างชำระ มากกว่า 400,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 83.14 และหยุดดำเนินกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 71.74

ขณะที่กองทุนฯ ที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันการเงินชุมชน ตามลำดับ พบว่า ไม่เป็นนิติบุคคล ประสบปัญหาหนี้ค้างชำระ 146 กองทุน จำนวนเงินประมาณ 110.67 ล้านบาท , นิติบุคคลค้างชำระ 97 กองทุน จำนวนเงินประมาณ 59.93 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีปัญหาหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 ล้านบาท 23 กองทุน และสถาบันฯค้างชำระ 89 แห่ง จำนวนเงินประมาณ 54.46 ล้านบาท

ยังพบว่า กองทุนฯ ที่เป็นนิติบุคคล และสถาบันการเงินชุมชน ที่สุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่ มีวงเงินหนี้ค้างชำระมากกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินทุนที่ได้รับจัดสรร ใน 84 กองทุน ค้างชำระ ประมาณ 208.15 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม “กองทุนหมู่บ้าน”ส่วนใหญ่ อ้างว่าไม่ทราบระยะเวลาการค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชีที่ชัดเจน บางกองทุนหมู่บ้านที่ทราบระยะเวลาฯ ที่ชัดเจน มีระยะเวลาการค้างชาระหนี้และ/หรือ เงินขาดบัญชีไม่น้อยกว่า 2 ปี จนถึง 14 ปี

“ใน 229 กองทุน อ้างว่า ไม่ทราบระยะเวลาการค้างชำระที่ชัดเจน 150 กองทุน และมี 79 กองทุน ที่ทราบระยะเวลาการค้างชาระหนี้ที่ชัดเจน โดยมีการค้างชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จนถึง 14 ปี”
 
ในส่วนของกองทุนฯ ที่หยุดดำเนินกิจกรรมหรือหยุดปล่อยกู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลวและอาจมีปัญหาหนี้สูญ มีถึง 154 กองทุน ส่วนใหญ่ล้วนประสบปัญหาหนี้ค้างชำระ ซึ่งยังไม่สามารถติดตามทวงถามหรือแก้ไขปัญหาได้ 127.52 ล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นหนี้สูญ

โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ สตง.ได้ทำหนังสือเป็นข้อเสนอแนะ ถึง สทบ. และใช้เป็นข้อมูลประกอบการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบตามอำนาจหน้าที่ทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับจำนวนหนี้ค้างชำระ และ/หรือเงินขาดบัญชี (ที่เกิดจากการทุจริตยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้าน)

ทั้งยังเสนอแนะ ให้ สทบ. ทบทวนระเบียบหลักเกณฑ์ หรือประกาศต่างๆ รวมถึงแนวทางการดำเนินงาน เพื่อเร่งแก้ไขแล้วเช่นกัน

ประเด็นต่อมา สตง. พบว่า สถาบันการเงินชุมชนที่สุ่มตรวจสอบบางแห่งยังขาดศักยภาพและความพร้อมในการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดดำเนินการ และบางแห่งหยุดดำเนินการ จาก 148 แห่ง แยกเป็นสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบ จานวน 96 แห่ง และสถาบันการเงินชุมชนนำร่อง 52 แห่ง (ไม่นับสถาบันการเงินชุมชน 2 แห่งที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกองทุนหมู่บ้าน)

ในส่วนของการขาดศักยภาพนี้ พบว่า เป็นสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบ ยังไม่เปิดดำเนินการ 56 แห่ง และหยุดดำเนินการ 16 แห่ง และสถาบันการเงินชุมชนนำร่องหยุดดำเนินการ 31 แห่ง ยังมีการสุ่มตรวจสอบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบควบคุมการดาเนินงานรวมถึงการจัดทาหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี มากว่า 100 กองทุน รวมถึงยังมีกองทุนฯ ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินจากผู้ตรวจสอบบัญชี
 
ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดยังไม่ได้มีการเข้าตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่า กองทุนหมู่บ้านทุกกองทุนยังไม่ได้รับการตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านให้เป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปี

จากตัวเลขผู้ได้รับอนุญาต 375 ราย เปรียบเทียบกับจำนวนกองทุนหมู่บ้าน ที่จะต้องทำการตรวจสอบบัญชีจากกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้ง 79,255 กองทุน พบว่า ผู้ตรวจสอบบัญชี 1 ราย จะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบกองทุนฯ ถึง 211 กองทุน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านได้อย่างครบถ้วน

ส่วนที่สอง เป็นรายงานผลการสุ่มตรวจโครงการกองทุนฯในพื้นที่ จ.อุดรธานี ประจำปี 2559 จำนวน 95 กองทุน 107 โครงการ งบประมาณ 47.50 ล้านบาท ยังพบว่า มีความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการเช่นกัน ทั้งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และไม่เป็นไปตามระเบียบ คู่มือ แนวทางและวิธีการที่กำหนด การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามกิจกรรมที่ก่ำหนดไว้ หรือเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด

นอกจากนี้ การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา/ใบสืบราคา เสนอราคา มีจำนวนถึง 93 กองทุน จากทั้งหมด 95 กองทุน มี 3 กองทุน ที่การบริหารจัดการมีความไม่โปร่งใส่ หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ได้แก่

1. กองทุนหมู่บ้านป่าเลา หมู่ 2 ต.ศรีธาตุ อ.ศรีธาตุ ไม่มีเอกสารหลักฐานในการบริหารโครงการให้ตรวจสอบ และนำวัวของผู้อื่นมาสวมสิทธิ์แอบอ้างเป็นวัวของโครงการ

2. กองทุนหมู่บ้านศรีชมชื่น หมู่ 11 ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมืองอุดรธานี เอกสาร หลักฐานไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจัดซื้อวัวทั้งหมดจำนวนเท่าใด

3. กองทุนชุมชนศรีผดุง หมู่ 7 ต.ศรีสุทโธ อ.บ้านดุง ประธานกองทุนฯ นำปุ๋ยเคมีไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำเอกสารหลักฐานการซื้อขายหรือเอกสารสัญญากู้ยืมปุ๋ย แต่ได้นำชื่อของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน (เงินทุนหมุนเวียน) ที่ไม่ได้ซื้อปุ๋ย มาทำสัญญากู้ยืมปุ๋ยแทนตนเอง โดยที่สมาชิกที่ถูกนำชื่อมาทำสัญญาไม่ได้รับทราบ

ที่น่าสนใจ มีกองทุนหมู่บ้านฯไม่ได้นำเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปดำเนินกิจกรรมตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้เสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และตามที่อนุมัติ โดยนำเงินงบประมาณที่ได้รับไปดำเนินโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น นำไปจัดซื้อที่ดิน และปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างที่ทำการกองทุนหมู่บ้าน หรือมีการนำเงินบางส่วนไปปรับปรุงพื้นที่ ต่อเติมบ้านพัก ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ เช่าเป็นสถานที่ดำเนินโครงการ และมีการนำเงินเหลือจ่ายไปใช้ส่วนบุคคล
 
8 กองทุน ไม่ได้นำเงินรายได้ของกองทุนมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการซื้อสินค้ามาจ่าหน่ายให้กับประชาชน และไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีประชารัฐ แต่นำเงินดังกล่าวไปให้คณะกรรมการฯ สมาชิก ประชาชน หรือญาติของตนเอง กู้ยืมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล และบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการกู้ยืมเงิน ส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นบุคคลเพียงบางกลุ่ม

ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง จากการตรวจสอบกองทุนที่ดำเนินการ “โครงการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ และโครงการน้ำประปาพลังงานแสงอาทิตย์” มีการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ในราคาสูงกว่าราคาท้องตลาดหลายโครงการ ทำให้ราชการเสียหาย

เบื้องต้น สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหาร สทบ. ทั้งในส่วน จ.อุดรธานี และส่วนกลาง รับทราบปัญหาเพื่อดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนัก เสนอข่าวว่า ผู้ใหญ่บ้าน จ.อุดรธานี นำรายชื่อของชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายไปทำประชาคม ซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ไปประกอบการพิจารณาโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก หรือ ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ตามแนวทางประชารัฐ กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท

หลังจากปีงบประมาณ 2559 ครม.ได้เห็นชอบโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ให้กับ 79,556 กองทุน ผ่าน สทบ. กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท ภายใต้วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้รับอนุมัติ 1,839 กองทุน จำนวน 1,979 โครงการ 918.36 ล้านบาท.




กำลังโหลดความคิดเห็น