xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุทธการขุดบ่อล่อปลา รอ “นักเลือกตั้ง” ปล่อยของหมดมือ ถึงที “พลังประชารัฐ” โขยกตีนปลาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เตาะแตะต้วมเตี้ยมจนพวกแซว

แต่พลันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไฟเขียวรับรอง “พรรคพลังประชารัฐ” ปล่อยออกจากจุดสตาร์ทเท่านั้นแหละ ก็สับเกียร์ห้าแบบรอบไม่ตก มีประเด็นเลี้ยงกระแสเป็นรายวัน

ย้อนไปเมื่อครั้งเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปลายเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่การเปิดตัว “4 รัฐมนตรีพลเรือน” ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาเป็นผู้บริหารพรรคตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้

อันประกอบด้วย อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในตำแหน่งเลขาธิการพรรค สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรรค และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งโฆษกพรรค

เป็นสปอตไลท์ที่สาดส่องสถานะ “ทับซ้อน” ของทั้ง 4 ราย ที่ยังคงสวมหมวกเป็นรัฐมนตรี ทับด้วยหมวกอีกใบในฐานะแกนนำพรรคการเมือง

เสียงโห่ฮาจาก “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” กดดันเรียกร้อง “สปิริต” ให้ 4 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยข้อหา “เอารัดเอาเปรียบ” ทางการเมือง

กลับกลายเป็นว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา การขยับขับเคลื่อนของ “พรรคพลังประชารัฐ” ดูจะเงียบเหงาผิดกับบรรยากาศโดยรวมทางการเมือง ที่แต่ละพรรคเคลื่อนไหวแต่งตัวเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งที่กำหนดตามกรอบของกฎหมายไว้ว่าฤกษ์แรกที่เปิดให้กาบัตรกันได้คือ 24 กุมภาพันธ์ 2562

เหตุเพราะหมวก “รัฐมนตรี” ที่พ่วงมาด้วย “สปิริต” นั้นค้ำคออยู่ นอกจากไม่ได้ใช้เอาเปรียบพรรคอื่นแล้ว ยังเป็นภาระอุปสรรคในการออกตัวทางการเมืองของ 4 รัฐมนตรี เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงแรกภาพของพรรคนี้รวมศูนย์อยู่ที่ “อุตตม - สนธิรัตน์ - สุวิทย์ - กอบศักดิ์” เท่านั้น

ทุกความเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อพรรคพลังประชารัฐ ต้องหลีกเลี่ยงกรอบ “ในเวลาราชการ” ที่ต้องไร้หมวกผู้บริหารพรรคการเมืองโดยสิ้นเชิง

และต้องยอมรับว่า 4 รัฐมนตรี สามารถแยกแยะบทบาทได้เป็นอย่างดีหลีกเลี่ยงข้อครหาการใช้เวลาราชการหรือทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง ขนาดนักข่าวยิงคำถามมูฟเม้นท์ของพรรค ยังต้องรอ “นอกเวลาราชการ” ถึงได้คำตอบ กระทั่งวันหยุดราชการ หากมีภารกิจลงพื้นที่ในฐานะรัฐมนตรี หรือการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในต่างจังหวัด ก็ยังไม่มีการนำเรื่องพรรคมาเจือปน

กลายเป็นว่า หมวกที่สวมอยู่ 2 ใบ ไม่ได้มีมรรคผลเอาเปรียบคนอื่นอย่างที่พรรคอื่นโวยวายกัน กลับกันเป็นอุปสรรคการขับเคลื่อนของ “พลังประชารัฐ” ด้วยซ้ำ

ถึงขั้นที่ผู้สันทัดกรณีฟังธงไปล่วงหน้าแล้วว่า “ไม่น่ารอด”

ในช่วงที่ “พลังประชารัฐ” ยังมะงุ้มมะงาหราอยู่นั้น ในทางตรงกันข้ามทุกพรรคการเมืองต่างแย่งกัน “ปล่อยของ” ตีปิ๊บประชาสัมพันธ์กันสนั่นหวั่นไหว ด้วยมีสัญญาณเข้มๆจากฝ่ายรัฐว่า จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ทำเอาฝ่ายการเมืองกระดี๊กระด๊ากันเป็นแถว พรรคหลักอย่าง “เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์” ส่งขุนพลคอมเมนท์การเมือง โจมตีรัฐบาล เจือนโยบายพรรคออกมาสารพัด ทั้งที่หมิ่มเหม่ขัดคำสั่ง คสช.ที่ยังห้ามทำกิจกรรมการเมือง-หาเสียง

แยกย่อยลงไป ฟาก “เพื่อไทย” ตลอดจน “เครือข่ายทักษิณ” ก็ติดกับตัวเอง วนอยู่ในอ่างการเกลี่ยตำแหน่ง-อำนาจภายในพรรค แตกแยกย่อยเป็นพรรคสาขาในชื่อต่างๆ แซมด้วยการวางอีเวนท์ให้ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่คาดว่าจะวางตัวเป็น 1 ในบัญชีรายชื่อผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ ลงพื้นที่เดินสายหาเสียง

ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ก็แฝงการหาเสียงได้อย่างแนบเนียนตา ผ่านศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคที่เพิ่งผ่านพ้นไป และสุดท้าย “เฮียมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็รักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่เดือนกว่าในช่วงหาเสียงภายใน กลับหล่นประเด็นหาเสียงนโยบายของพรรคออกมาเป็นระยะ จนถูกจับได้ไล่ทันว่า ที่แท้ขับเคี่ยวชิงหารนำพรรคแค่ “ปาหี่” เป็นลูกไม้ชิงพื้นที่สื่อมากกว่า

หรืออย่าง “ชาติไทยพัฒนา - ชาติพัฒนา - ภูมิใจไทย” กระทั่งพรรคใหม่ “เพื่อชาติ - ประชาชาติ” ก็ใช้วิธีลงตัว ควบคู่กับการเปิดตัวสมาชิกพรรคเป็นระลอกๆ

ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคงเป็นแบรนด์ใหม่มาแรงอย่าง “อนาคตใหม่” ของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้บริหารเครือไทยซัมมิท ที่ยิงยาวตั้งยื่นจดจองชื่อพรรคช่วงต้นปี 2561 ปูพรมหาเสียง ลงพื้นที่ ใช้สื่อออนไลน์ ทีมงานมืออาชีพ ลอบบี้ยีสต์ต่างประเทศ สร้างกระแสจนเป็นที่น่าจับตามอง

หากยิ่งเวลาผ่านไป เปลือกนอก “นักประชาธิปไตย” ที่ “ธนาธร” ฉาบไว้ก็ยิ่งหลุดร่อน หลักการ-แนวคิดดูจะไม่อยู่กับร่องกับรอย ด้วยต้องคำนึงถึงคะแนนเสียงที่ต้องการในการเลือกตั้ง จนทำให้กลายเป็นว่าต้องเอาอกเอาใจทุกฝักฝ่าย ถึงขนาดต้องแตกหักกับ “แนวร่วม” ที่หนุนส่งกันมา เห็นจะจะจาก “ดรามาเฌอปราง” ที่ไม่เพียงสูญเสียแนวร่วมเท่านั้น ยังผลักไสอดีตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ให้กลายไปเป็นศัตรู อย่างกรณี ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการเสื้อแดงที่หนีคำสั่ง คสช.ไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สาปส่งไม่พอ ยังประกาศกลับมาวิจารณ์ให้ถึงพริกขิง แฉความกลวงโบ๋ของ “เสี่ยเอก” ด้วย

ด้วยเวลาก่อนถึงเลือกตั้งต้นปี 2562 ดูเหมือนสั้น ทำเอาทุกพรรคระดมอาวุธหนัก-เบาออกมายิงสลุต ไม่กั๊กไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งซักเท่าไร ที่เห็นได้ชัดคือ “อนาคตใหม่” ที่ระยะหลังไม่ “ว้าว” เหมือนช่วงแรก

หรืออย่าง “คุณหญิงหน่อย” งัดหมัดเด็ดมาใช้ตั้งแต่ต้น ควง “น้องจินนี่” ออกหาเสียง สร้างกระแส “พรรคเพื่อเธอ” หรือ “เข้าคูหากาแม่ยาย” เรียกเสียงหนุ่มวิ๊ดวี๊วกันสนั่นโซเชียล

หรือ “ไทยรักษาชาติ” สาขาหนึ่งของเครือข่ายทักษิณ ก็ปล่อยของทีเดียวหมดมือ กับการสร้างแบรนด์ “คนรุ่นใหม่” เปิดตัวพร้อมกัน จากนั้นก็เป็นคิวการต้อน “ผู้เฒ่า” เข้าพรรค หักล้างจุดยืนของตัวเองที่พยายามเร่ขายจนแทบไม่เหลือในเวลาอันรวดเร็ว

มองไม่ได้ผิดว่าการส่งสัญญาณเลือกตั้งเร็ว 24 กุมภาพันธ์ 2562 เข้าทำนอง “ขุดบ่อล่อปลา” ด้วยเวลาที่ดูเหมือนกระชั้นชิด ทำให้ “นักเลือกตั้ง” เร่งรีบหาเสียง ใช้ทีเด็ดจนแทบหมดมือ เห็นได้จากหลายพรรคที่จุดกระแสเปรี้ยงปร้าง เหมือน “ม้าตีนต้น” วิ่งไปไม่ทันไรกระแสก็สร่างซาไปตามสภาพ

มองย้อนกลับไปที่ “พลังประชารัฐ” ที่เตาะแตะต้วมเตี้ยมมาแต่ต้น จนถึงขั้นถูกปรามาส “ไม่ให้ราคา” ไปแล้ว แต่มาชั่วโมงนี้กลับกลายเป็นค่ายที่เลือกไทม์มิ่งขยับมูฟเมนท์ได้เหมาะเจาะลงตัวกว่าใครเพื่อน

เอาแค่หลังจาก กกต.รับรองสถานะพรรค และเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการ ก็สามารถชิงพื้นที่สื่อได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ยังเป็นแค่การเปิดตัวผู้ร่วมอุดมการณ์กับทางพรรค ทำเอาที่ทำการพรรค อาคารปานศรี ย่านรัชดาภิเษก หัวกระไดไม่แห้ง

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงนอกเหนือจากผู้ร่วมก่อตั้งพรรค อาทิ วัชระ กรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา, กลุ่มพลังชลนำโดย “เสี่ยติ๊ก” อิทธิพล คุณปลื้ม, ทศพล เพ็งส้ม อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคประชาธิปัตย์และภรรยา, “บิ๊กหอย” ธวัชชัย สัจจกุล อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย, วีรกร คำประกอบ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, วิรัช รัตนเศรษฐ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์, สุพล ฟองงาม อดีตรมช.มหาดไทย, ฉลอง เรี่ยวแรง อดีต ส.ส.นนทบุรี และ นายทวี สุระบาล อดีตส.ส.ตรังหลายสมัยพรรคประชาธิปัตย์และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

ตลอดจน “กลุ่มสามมิตร” ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่หอบทีมงานอดีต ส.ส.กว่าครึ่งร้อยชีวิตมาเข้าสังกัดตามนัด

หรือในส่วนผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ อาทิ สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความชื่อดัง “เสี่ยบ๊วย” เชษฐวุฒิ วัชรคุณ นักแสดงและพิธีกร, ณพงศ์ นพเกตุ อดีต ผอ.นิด้าโพล และ "มาดามเดียร์" วทันยา วงษ์โอภาสี อดีตผู้จัดการทีมชาติไทยชุดเล็ก ด้วย

และต้องไม่ลืมว่ากระแส “พลังประชารัฐ” ในช่วงนี้ เป็นเพียงเรื่องของตัวบุคคลที่มาร่วมงานกับพรรคเท่านั้น ยังมี “อาวุธหนัก” ประเภทนโยบายโดนๆที่ยังแทบไม่ปล่อยออกมาอีก

จน “พลังประชารัฐ” วันนี้กลายเป็น “ม้าตีนปลาย” ไล่โขยกพรรคอื่นที่เพลี่ยงพล้ำไปก่อนจนทัน

ส่วนจะแรงดีไม่มีตก ควบแซงได้หรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไป.




กำลังโหลดความคิดเห็น