ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเรียกร้องปรับขึ้นมิเตอร์ของเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ระลอกล่าสุด สะท้อนปัญหาเรื้อรังของแท็กซี่ไทย ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามสะท้อนกลับไปที่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอย่าง “กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)” ยังคงจัดการปัญหาแท็กซี่ไทยอย่างไร้ทิศทาง หรือพยายามแล้วแต่ก็พังไม่เป็นท่า
กล่าวสำหรับ “แท็กซี่โอเค (Taxi OK)” เป็นโครงการของกรมการขนส่งทางบก จัดทำเพื่อยกระดับคุณภาพแท็กซี่ไทยสู่มาตรฐานใหม่ “แท็กซี่ 4.0” เรียกใช้งานทางแอปพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟน โดยให้รถแท็กซี่จดทะเบียนใหม่ทุกคันติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
แท็กซี่โอเค ของกรมการขนส่งฯ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ อาทิ GPS Tracking ติดตามพิกัดตำแหน่งรถ, กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot, ปุ่มฉุกเฉิน SOS แจ้งเหตุร้องเรียน ฯลฯ โดยแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีต้นทุนติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 20,000 - 30,000 บาท แต่ปัจจุบันมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของแท็กซี่ทั้งระบบกว่าแสนคัน โดยราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท และมีค่าบริการเรียกผ่านแอปฯ ครั้งละ 20 บาท
ต่อมา กรมการขนส่งฯ เตรียมเสนอให้เฉพาะรถแท็กซี่ภายใต้โครงการ “แท็กซี่โอเค” ปรับค่าขึ้นโดยสาร 8 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะที่เข้าร่วมโครงการซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 12,860 คัน ส่วนแท็กซี่ในระบบกว่า 67,000 คัน ยังคงต้องรอต่อไป
แน่นอน ข้อเสนอดังกล่าวสร้างความเดือดเนื้อร้อนในแก่เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ เนื่องเพราะพวกเขาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากแนวทางปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ ด้วยเหตุที่ภาครัฐเลือกปฎิบัติปรับเฉพาะแท็กซี่ในโครงการ “แท็กซี่โอเค” เท่านั้น
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รัฐบาลให้สัญญาว่าจะดำเนินการปรับค่าโดยสาร (มิเตอร์) เพิ่มขึ้น 13% ตั้งแต่ปี 2557 แบ่งเป็นปรับขึ้นเฟสแรก 8% ก่อนเพิ่มขึ้นอีก 5% ในเฟสที่สอง ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นเฟสแรกไปแล้ว เหลือเฟสที่สองที่อยู่ระหว่างรอการปรับขึ้น แต่ขณะนี้ผ่านมา 4 ปีแล้วการปรับค่าโดยสารเพิ่ม 5% อาจไม่เพียงพอต่อการครองชีพของคนขับแท็กซี่แล้วเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น หากจะปรับเพิ่มขึ้นต้องมากกว่า 10% ขึ้นไปเพื่อให้ผู้ขับขี่อยู่ได้ หรืออยู่ที่ราววันละ 2,200 บาทขึ้นไปจากปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000 บาทในการทำงาน 12 - 13 ชั่วโมง โดยมีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สูงถึง 1,600 - 1,700 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ ต้นเดือนที่ผ่านมา ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขอให้พิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก การพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยอ้างอิงงานวิจัยระบุไว้ว่าคนขับแท็กซี่มีรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้วน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ จึงนำไปสู่ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะว่าขาดทุนหากรับผู้โดยสาร
ประเด็นที่สอง จัดการปัญหารถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนตัวป้ายดำ ที่มาวิ่งให้บริการโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มแท็กซี่ที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย
โดยการปรับขึ้นในราคาคำนวณจากมิเตอร์โดยสาร 3 ส่วน คือ จุดสตาร์ท ระยะทาง และ รถติด ต้องดำเนินการตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหามากที่สุด สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
การเรียกร้องของเครือข่ายแท็กซี่ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากผลวิจัยการปรับโครงสร้างค่าโดยสารรถแท็กซี่ไทย โดย นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการชำนาญการขนส่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยจากผลสำรวจพบว่าผู้ขับขี่แท็กซี่ในปัจจุบันมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำหรืออยู่ที่ราว 200 - 300 ต่อวัน สำหรับตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,400 บาท
ขณะที่รายจ่ายสูงถึง 1,100 บาท ส่งผลให้คุณภาพบริการาะท้อนตามต้นทุนที่ถูกจำกัดกรอบไว้ ดังนั้นTDRI จึงมองว่าควรปรับขึ้นราคาราว 10% ให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันและต้นทุนของผู้ขับขี่ซึ่งควรมีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 1,600 - 1,800 บาท หรือราว 400 - 500 บาทหลังหักต้นทุนแล้ว
โดยมีนัยว่าการปรับค่าโดยสารจะมาพร้อมคุณภาพบริการที่ดีขึ้น
สำหรับแนวทางการปรับราคาค่าโดยสารใหม่ ภาพรวมให้เพิ่มขึ้นมา 10 เปอร์เซ็นต์ โดยแยกค่าใช้จ่ายเป็นสองส่วน 1. ค่าโดยสารตามระยะทาง และ 2. ค่ารถติด 50 สตางค์ต่อ กม. จากเดิมที่คิดค่าโดยสารตามระยะทางและความเร็วของยานพาหนะที่ไม่เป็นไปตามจริงหากรถติด ส่งผลให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ดังนั้นแนวทางใหม่จะคิดราคาตามเวลาที่เดินทางจริงร่วมกับเวลารถ
หากเปรียบเทียบค่าโดยสารรถแท็กซี่ทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ค่าโดยสาร ต่อ 5 กม. ต่ำสุดในโลกอยู่ที่ราว 66.5 บาท ขณะที่ประเทศจีนอยู่ที่ 154 บาท ญี่ปุ่น 255 บาท แอฟริกาใต้ 220 บาท อังกฤษ 353 บาทและสหรัฐอเมริกา 409 บาท
หากเทียบกับเมืองหลักในอาเซียนพบว่า เมืองหลวงสิงคโปร์ค่าโดยสารสูงกว่า 146% เมืองกัวลาลัมเปอร์สูงกว่า 35% เมืองมะนิลาสูงกว่า 10.5% และฮ่องกงสูงกว่า 286% โดยสาเหตุนั้นมาจากประเทศไทยยังไม่มีการคำนวณค่าโดยสารในช่วงเวลาที่แตกต่างกันของวันและค่าธรรมเนียมนอกเหนือจากปกติ
ต่อมา นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ ระบุว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารในครั้งนี้ จะได้สิทธิเฉพาะรถที่เข้าร่วมโครงการ “แท็กซี่โอเค” ที่มีอยู่ประมาณ 12,986 คันเท่านั้น ลอยแพแท็กซี่ในระบบกว่า 67,000 คัน
เช่นเดียวกับ กรณี “แท็กซี่วีไอพี” (Taxi VIP) การเกิดขึ้นของแท็กซี่วีไอพีให้บริการในสนามบิน ที่ได้เซอร์ชาร์จ (surcharge) 100 บาท นำมาซึ่งการเรียกร้องของรถแท็กซี่ขนาดใหญ่รถแท็กซี่แวนที่ให้บริการในสนามบิน เพราะขอปรับขึ้นค่าเซอร์ชาร์จ จาก 50 บาท เป็น 100 มานานกว่า 4 ปี แต่ยังไม่ได้รับพิจารณา
ท้ายที่สุด การปรับขึ้นมิเตอร์และขึ้นเซอร์ชาร์จสนามบินจะมีความชัดเจนสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจุบันอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน และหากรัฐไม่เร่งแก้ทั้งระบบ เชื่อว่า... โซเฟอร์แท็กซี่คงเฮละโลประท้วงกันอีกเป็นระลอกๆ ขณะที่ในส่วนของผู้โดยสารเองก็ดูเหมือนว่าจะ “รับไม่ได้” กับค่าโดยสารที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่ประทับใจในการให้บริการของแท็กซี่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และภาครัฐเองก็มิได้กวดขันเอาใจใส่ให้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น