xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปีทองชาวนาไทย “รัฐบาลลุงตู่” หน้าบาน ราคาข้าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ราคาข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตปีนี้โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ราคาพุ่งถึงตันละ 17,000 - 18,000 บาท ขณะที่ข้าวชนิดอื่นราคาก็ขยับขึ้นถ้วนหน้า เป็นจังหวะเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมเตะลูกเข้าประตูอวดโอ่ผลงานได้ว่าข้าวสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปีนี้ได้ราคาดีเป็นประวัติการณ์โดยไม่ต้องควักเงินมารับจำนำข้าวให้เมื่อยตุ้ม

“นายกฯ พอใจสถานการณ์ราคาข้าวที่มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคา 16,000 - 17,000 บาท ต่อตัน บางพื้นที่ขึ้นไปถึง 18,000 บาท สูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับข้าวเปลือกเจ้าทั้งสดและแห้งที่มีราคาสูง” นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลูกรักคนใหม่ของ “ลุงตู่” แถลงถึงความยินดีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่มีต่อพี่น้องชาวนาไทย

นายกฯ ยังได้รับรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ จะช่วยจัดหารถเกี่ยวข้าวในราคาที่เหมาะสมให้เพียงพอ เพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวได้ทัน ผลผลิตมีคุณภาพดี และขายได้ในราคาสูง และยังจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวขนย้ายรถเกี่ยวนวดข้าว และเก็บค่าธรรมเนียมนอกสถานที่ในอัตราต่ำสุดด้วย

อันที่จริง ราคาข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตปีนี้โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ถือว่าเป็นวัฎจักรปกติของราคาพืชผลการเกษตร เนื่องจากปีนี้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิหลายจังหวัดในโซนอีสานใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตลดต่ำลง ราคาข้าวจึงสูงกว่าทุกปี

ยิ่งมีออเดอร์มาไม่ขาดดังที่ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่าสถานการณ์คำสั่งซื้อขณะนี้ มีมาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา โดยในปี 2561 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปริมาณ 11 ล้านตันอย่างแน่นอน ก็ยิ่งเป็นข่าวดีที่ช่วยดึงราคาสูงขึ้น

สำหรับข้าวเปลือกเจ้านาปีชนิดอื่นที่ได้ราคาดีไปด้วย นอกจากผลผลิตลดลงจากภัยแล้งแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพื้นที่ปลูกข้าวลดลง จากการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวหันมาเข้าร่วมโครงการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รัฐบาลจูงใจให้ชาวนาเข้าร่วมด้วยการให้งบอุดหนุนไร่ละ 2,000 บาท

ผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลนี้ อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ตัวเลขว่าจากประมาณการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี 2561/62 จะตกประมาณ 25 ล้านตันข้าวเลือก โดยแบ่งเป็นข้าวขาวและข้าวทั่วไปประมาณ 18 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะนี้ผลผลิตข้าวเริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2561 เป็นช่วงที่ข้าวหอมมะลิออกมากที่สุด โดยเฉพาะภาคอีสานประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ยอมรับว่าผลผลิตปีนี้น้อย เนื่องจากหลายพื้นที่ลดพื้นที่เพาะปลูกลง เพราะปัญหาน้ำไม่มี ผลผลิตต่อไร่ก็ลดลงจาก 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ มาอยู่ที่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น ราคาข้าวขณะนี้จึงเป็นปีทองของชาวนา โดยข้าวหอมมะลิเกรดเออยู่ที่ 16,000-18,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิเกิดภัยแล้ง ส่งผลให้ในบางพื้นที่ผลผลิตข้าวเปลือกคาดการณ์ว่าจะเสียหายมากกว่า 20% โดยราคาข้าว ความชื้น 15% ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ข้าวเจ้า 5% ปรับตัวสูงขึ้นจาก 7,300 - 7,800 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 7,500 - 7,900 บาท/ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาจะไม่ปรับลดลงไปกว่านี้แล้ว ในส่วนข้าวหอมมะลิ ราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 11,550 - 14,550 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 14,450 - 17,500 บาท/ตัน (เกี่ยวสด 13,500-14,200) และจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในแหล่งเพาะปลูกสำคัญ

นางสาว จุไรรัตน์ ศรีตระกูล พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า วันนี้เปิดตลาดรับซื้อข้าวใหม่ในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียงกัน ราคารับซื้อสูงมาก นับว่าเป็นความโชคดีของเกษตรกรชาวนาไทย ที่จะได้มีโอกาสขายข้าวได้ในราคาสูง ตามกลไกของตลาดอย่างแท้จริง โดยราคารับซื้อข้าวหอมศรีสะเกษ ข้าวใหม่ที่เป็นข้าวสด เกี่ยวเสร็จไม่ต้องตาก ความชื้ออยู่ที่ไม่เกิน 25%นำมาส่งขายโรงสีได้เลย ราคารับซื้อตันละ 14,200 - 15,000บาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รัฐบาลมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาโดยการดึงอุปทานออกสู่ตลาด 3 โครงการตั้งแต่เดือนพ.ย. ได้แก่ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายข้าวเปลือกมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรับซื้อน้อย ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยนำผู้ประกอบการจากพื้นที่อื่นหรือนอกจังหวัดเข้ามาร่วมรับซื้อเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ในการซื้อขาย รวมทั้งได้รับความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนักและวัดความชื้นด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานราคาข้าวประจำวันอังคารที่ 6 พ.ย. 2561 ว่า ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ หอมปทุมธานี 1ความชื้น 15% พันธุ์หอมปทุมธานี 1 หจก.โพธิบูรพ์ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 10,500 บาท/ตัน, ความชื้น 25% พันธุ์หอมปทุมธานี 1 หจก.โพธิบูรพ์ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 9,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 ( ต้นข้าว 35 กรัม ) (ราคาข้าวใหม่) ที่ท่าข้าว ธ.ก.ส. อ.เมือง จ.ขอนแก่น 15,000 บาท/ตัน, ตลาดกลางพืชไร่ อ.เมือง จ. ศรีสะเกษ 16,000 บาท/ตัน, โรงสีไฟไทยเจริญวัฒนา อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 16,500 บาท/ตัน, โรงสีกิจทวียโสธร อ.เมือง จ.ยโสธร 16,800 บาท/ตัน, โรงสีสหพัฒนา อ.สะตึก จ.บุรีรัมย์ 17,500 บาท/ตัน, โรงสีเต็กเฮง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 17,000 บาท/ตัน, โรงสีสหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 15,000 บาท/ตัน

อย่างไรก็ดี ขณะที่ราคาข้าวนาปีได้ราคาดี ราคาข้าวนาปรังกลับไม่ขยับขึ้น นายประยูร ศิลลา ผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 1 ต.บางราย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ราคาข้าวนาปรังตอนนี้ราคาตกมา โดยพ่อค้าคนกลางกดราคาข้าวรับซื้อข้าวจากชาวนา เพียงตันละ 6,000-6,200 บาท ทำให้ชาวนาลำบากเนื่องจากต้นทุนในการทำนาสูง ทั้งค่าปุ๋ยค่ายาราคามีแต่เพิ่มขึ้น จึงขอให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาจาก 6,000 บาท มา เป็น 7,500-8,000 บาท ซึ่งหากได้ราคานี้ชาวนาอยู่ได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องควรระมัดระวังก็คือ การที่ข้าวหอมมะลิไทยราคาสูงขึ้นก็มีผลต่อการส่งออกไปยังต่างประเทศเช่นกัน เพราะอาจมีการสั่งข้าวจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น เช่น เวียดนามหรือกัมพูชาเป็นต้น ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้ฮ่องกงและสิงคโปร์หันไปออร์เดอร์ข้าวจากสองประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยไม่มีข้าวไปส่งออกให้ผู้ซื้อต่างประเทศ จึงหันไปซื้อข้าวหอมมะลิของเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา และเวียดนาม เพื่อส่งออกแทน แต่ส่งออกภายใต้ชื่อข้าวหอมมะลิของกัมพูชา และข้าวหอมเวียดนาม ไม่ได้ใช้ชื่อข้าวหอมมะลิไทย เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ โดยซื้อข้าวหอมมะลิจากเวียดนามเฉลี่ยที่ตันละ 600 เหรียญฯ และข้าวหอมกัมพูชาตันละกว่า 700 เหรียญฯ

ขณะที่ทางด้าน “ชาวนา” ซึ่งรับรู้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่เพิ่มสูงมากขึ้นก็ต้องระแวดระวังผลผลิตมากเป็นพิเศษ โดยมีจำนวนไม่น้อยที่ถึงกับต้อง “นอนเฝ้า” ข้าวที่ตากเอาไว้ตามริมถนนสายต่างๆ และตามทุ่งนาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันข้าวเปลือกที่ตากไว้ริมถนนหาย

และปิดท้ายกับข้อคิดจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ กล่าวระหว่างเดินทางโดยเรือเพื่อตรวจลำน้ำบริเวณแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแม่กลอง จากท่าแพวัดเทวสังฆารามไปยังท่าแพเขื่อนขุนแผน เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “วันนี้เราต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวประเทศเรา สินค้าข้าวเราไม่ได้แพ้ใคร แต่เราต้องดูด้วยว่าคนกินข้าวประเภทไหนอย่างไร ไม่ใช่ว่าข้าวราคาแพงแล้วปลูกกันใหญ่ รวมถึงสับปะรดที่บอกอีก 5 ปี ราคาจะถูกลง แล้วคุณไม่เตรียมตัวกันหรือ เราไม่สามารถเอาเงินมาแก้ได้ทั้งหมด เรามีปัญหาการบริหารจัดการข้าวมาก่อนหน้านี้ สร้างความเสียหายพอสมควร 8 แสนกว่าล้านบาท ก็เป็นเรื่องกฎหมายให้ว่ากันไป ฉะนั้นเราต้องไม่ไปที่เดิมอีก ใครมาบอกให้ราคาเท่าโน้นเท่านี้ ทำไม่ได้ เพราะราคาที่ขายข้างนอก ไม่ใช่เรามาตั้งขายเท่าไหร่ก็ได้ จะขาย 7-8 พันไม่ได้ เราแข่งเขาไม่ได้ เพราะต้องแข่งกับตลาดโลก ผมเป็นห่วงเรื่องเกษตร อย่ามองว่าเราเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร ต้องคำนึงการขาย การตลาดด้วย”




กำลังโหลดความคิดเห็น