ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
สมัยก่อนเราเคยได้ยินชื่อคนกลางของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่เป็นเนือง ๆ ในนามของ ห้าเสือกองสลาก ซึ่งเป็นยี่ปั๊วรายใหญ่ในการค้าขายแบบเดิม ผมว่าน่าจะเรียกได้ว่าเป็น ห้าเสือนอนกินกองสลาก เสียมากกว่า
การมีคนกลางหรือยี่ปั๊วในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ซึ่งในสมัยนี้อาจจะไม่มีห้าเสือกองสลากแล้ว แต่ก็ยังคงมีโควต้ากองสลาก) อาจจะเป็นข้อดีในสมัยก่อน เวลาที่สลากกินแบ่งรัฐบาลขายไม่ออกหรือมีตัวเลขที่ขายไม่ได้ ก็จะมีคนกลางมารับความเสี่ยงไป เมื่อตัดโควต้าไปแล้ว หากขายได้ไม่หมด คนรับความเสี่ยงเป็นคนกลางรับไป จะขายได้หรือขายไม่ได้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ต้องรับผลใด ๆ ทั้งสิ้น แต่รูปแบบการบริหารความเสี่ยงแบบนี้อาจจะไม่จำเป็นเลย ในเมื่อสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกวันนี้มีเท่าไหร่ก็ขายหมดหรือขายได้เกือบหมดแทบทุกงวด จนมีการเรียกร้องให้มีการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่เนือง ๆ การมีคนกลางเพื่อรับความเสี่ยงเลยเป็นการไม่ต้องเสี่ยงมากแต่อย่างใด แต่กลายเป็นเสือนอนกิน
สลากกินแบ่งนั้น คนกลางยังนิยมมาจัดชุด เพื่อให้ขายได้ครั้งละหลาย ๆ ใบ และได้ราคาดีมากขึ้น ขายเกินใบละแปดสิบบาทอันเป็นราคาที่กำหนด เช่น พอจัดเป็นชุดก็กลายเป็นใบละร้อยบาท คนกลางเลยได้กำไรมากขึ้นเป็นพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก
เรามาลองคำนวณกันว่าคนกลางของสำนักงานได้รายได้ต่อปีคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ผลประโยชน์มีมากมหาศาลมากน้อยแค่ไหน และทำให้เกิดความวุ่นวายใดบ้าง
โดยปกติปีหนึ่งสำนักงานสลากออกสลากทั้งหมด 24 งวด เดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันที่หนึ่งและวันที่สิบหกของเดือน แต่ละงวดพิมพ์สลาก 900,000 เล่ม เล่มหนึ่งมี 100 ใบ ราคาจำหน่ายจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใบละ 70.40 หรือพูดง่าย ๆ ว่ายี่ปั้วรับมาในราคาทุน 70.40 ถ้าขายไม่เกินราคาคือ 80 บาทจะได้กำไรใบละ 9.60 บาท
แต่ในความเป็นจริงจัดเป็นหวยชุด (จัดชุดเช่น 2-3-4-5 ใบขึ้นไป ที่เป็นเลขเดียวกัน) ขายให้คนตาบอด ผู้ค้ารายย่อยหรือคนที่รับไปขายในราคา 85 บาท ดังนั้นคนกลางจะได้กำไรจากการจัดชุดเท่ากับ 85-70.40 บาท หรือเท่ากับ 14.60 บาท คนไทยชอบเทไข่ทุกใบใส่ตะกร้าพร้อมกัน ชอบหวยชุดไม่ชอบกระจายความเสี่ยง ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง รวยก็รวยเละไปเลย แต่ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจะเจ๊งเละมากกว่า พ่อค้าคนกลางเข้าใจนิสัยคนไทย อยากรวยไว ๆ มหาศาลทางลัดเลยจัดสลากเป็นชุด สอง สาม สี่ ห้า ใบ จนเป็นสิบใบชุดใหญ่ไฟกระพริบก็มีให้เลือกตามปรารถนา
สมมุติว่าพ่อค้าคนกลางจัดชุดทั้งหมด จะได้กำไรเท่ากับ 14.60 บาทต่อใบ X งวดละ 900,000 เล่ม X 100 ใบต่อเล่ม x 24 งวดต่อปี คิดเป็นกำไรของพ่อค้าคนกลางทั้งหมดต่อปีเท่ากับสามหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสามสิบหกล้านบาท (31,536,000,000 บาท)
และผู้ขายรายย่อยหรือคนเดินสลากที่รับต่อจากพ่อค้าคนกลางหากขายได้หมดจะได้กำไรเท่ากับ 15 บาทต่อใบ (หากขายสลากที่จัดชุดแล้วในราคา 100บาท) X งวดละ 900,000 เล่ม X 100 ใบต่อเล่ม x 24 งวดต่อปี คิดเป็นกำไรของผู้ขายรายย่อยหรือคนเดินสลากทั้งหมดต่อปีเท่ากับสามหมื่นสองพันสี่ร้อยล้านบาท (32,400,000,000 บาท)
นับว่าเป็นธุรกิจที่มีกำไรและผลประโยชน์มหาศาลราวหกหมื่นสี่พันล้านบาทต่อปีอันเกิดจากการไม่ยอมรับความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงด้วยตนเองของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
ในกรณีที่ไม่จัดชุดสลากกินแบ่งมักจะขายในราคา 80 บาท แต่มีการขายแบบใบเดี่ยวที่ไม่จัดชุดเช่นว่านี้น้อยมากและคนไทยไม่นิยมเท่าไหร่ ซึ่งราคาขายเท่านี้จะเป็นการแบ่งกำไรระหว่างพ่อค้าคนกลางและผู้ค้ารายย่อยใบละ 9.60 บาท
สมมุติว่า 95% ของสลากกินแบ่งถูกจัดชุดและ 5% ไม่จัดชุด
พ่อค้าคนกลางจะได้กำไรเท่ากับ 14.60 บาทต่อใบ X งวดละ 900,000 เล่ม X 95% X 100 ใบต่อเล่ม x 24 งวดต่อปี คิดเป็นกำไรของพ่อค้าคนกลางทั้งหมดต่อปีเท่ากับสองหมื่นเก้าพันเก้าร้อยห้าสิบเก้าล้านสองแสนบาท (29,959,200,000 บาท)
ผู้ขายรายย่อยหรือคนเดินสลากได้กำไรเท่ากับ 15 บาทต่อใบ (หากขายสลากที่จัดชุดแล้วในราคา 100บาท) X งวดละ 900,000 เล่ม X 95% X 100 ใบต่อเล่ม x 24 งวดต่อปี คิดเป็นกำไรของผู้ขายรายย่อยหรือคนเดินสลากทั้งหมดต่อปีเท่ากับสามหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบล้านบาท (30,780,000,000 บาท)
สำหรับกำไรจากการขายสลากแบบใบเดี่ยวไม่จัดชุดร้อยละ 5 ของสลากทั้งหมดจะทำให้ พ่อค้าคนกลางและผู้ค้ารายย่อยรวมกันได้กำไรต่อปีเท่ากับ 9.60 บาทต่อใบ X งวดละ 900,000 เล่ม X 5% X 100 ใบต่อเล่ม x 24 งวดต่อปี คิดเป็นกำไรของพ่อค้าคนกลางและผู้ค้ารายย่อยทั้งหมดรวมกันทั้งหมดต่อปีเท่ากับหนึ่งพันสามสิบหกล้านแปดแสนบาท (1,036,800,000 บาท) ซึ่งกำไรลดลงไปมากเพราะขายตามราคา ถือว่าได้กำไรน้อยมากเมื่อเทียบกับที่จัดชุด
ตลาดกลางหรือพ่อค้าคนกลางใหญ่ในประเทศไทยมีอยู่สามแหล่งใหญ่ แหล่งแรกคือ สี่แยกคอกวัว แหล่งที่สองคือ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นนทบุรี และแหล่งที่สาม คือจังหวัดเลย ซึ่งหากท่านลองถามคนเดินขายสลากตามถนนหนทางต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จะพบว่ามาจากจังหวัดเลยเป็นส่วนมาก เพราะจังหวัดเลยสมัยก่อนกันดารและทำนาได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง คนเมืองเลยจึงนิยมมาเป็นคนเดินขายสลาก อย่างพีทแผงแตก ที่หลอกลวงประชาชนว่ามีคนซื้อสลากจากแผงของตนไปแล้วถูกรางวัลที่หนึ่งนั้นก็มีพื้นเพเป็นคนเมืองเลยเช่นกัน
การจัดโควต้าจำหน่ายสลากกินแบ่งให้หน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การ มูลนิธิ สมาคม ตลอดจนพ่อค้าคนกลาง หรือ โนมินีของห้าเสือกองสลากเดิม (ถ้าหากมี) ก็เป็นสิ่งที่สังคมสนใจ เพราะได้รับผลประโยชน์มหาศาล ใครได้ไปบ้าง ได้ไปอย่างละเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง?
เรื่องปัญหาการจัดสรรโควต้าของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นเป็นปัญหาในเชิงระบบจนเคยมีการออกมาประท้วงปิดถนนมะลิวัลย์ที่จังหวัดเลย เพราะไปจองสิทธิหรือโควต้าเพื่อให้ได้สลากมาขายแต่ไม่ได้รับสลากมาขายสมดังที่ปรารถนา (ดูข่าวได้จาก https://mgronline.com/local/detail/9580000124127)
ในปี 2553 อดีตสมาชิกวุฒิสภา ศรีสุข รุ่งวิสัย และ บริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัดได้ไปสัญญาว่าจะให้โควต้าการขายสลากกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดเลยว่าจะมีการให้สลากกินแบ่งงวดละสองหมื่นเล่มมาขายติดต่อกัน 48 งวด ลงท้ายไม่ได้ทำได้เช่นนั้น ผิดสัญญา และมีปัญหาเรื่องเงินทองที่รับกันไปแล้ว ในขณะที่ฝั่งสหกรณ์ครูเองก็ชักชวนครูและสหกรณ์ครูอื่นๆ มาลงทุนร่วมกัน เลยเถิดไปถึงชักชวนครูให้กู้เงินสหกรณ์มาลงทุนซื้อโควต้าสลากกินแบ่ง!! ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ครูเลยแม้แต่น้อย ดังปรากฏในข่าว https://www.thairath.co.th/content/673663 จนทุกวันนี้ยังมีครูที่ติดหนี้สหกรณ์ที่ไปลงทุนเรื่องนี้แล้วเจ๊งจำนวนมากมายมูลค่าความเสียหายน่าจะถึงพันล้านบาทหรือมากกว่านี้มาก (โปรดดูรายละเอียดได้จาก https://mgronline.com/local/detail/9610000107346) โดยมี น.ส.กัลยาณี แก้วโวหาร หรือนิคกี้ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดคดีนี้ที่แสนจะวุ่นวาย
ล่าสุดก็เกิดการฉ้อโกงและการกรรโชกทรัพย์ ซึ่งเกิดจากการที่นางสาวสุชญา คำบุยา ได้เป็นโจทก์ฟ้องร้องนายนรุตม์ชัย ว่องไพฑูรย์ และนางสุดารัตน์ ประจันตะเสน ต่อศาลจังหวัดเลย ในคดีหมายเลขดำที่ 827/2559 ในข้อหาฉ้อโกง หลอกลวงอ้างว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายได้โควต้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและได้เงินไป 23 ล้านบาท ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการกรรโชกทรัพย์จำเลย ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องเห็นว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็เห็นว่าทางนำสืบของโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้องเช่นกัน และเมื่อจำเลยฟ้องกลับนงสาวสุชญา คำบุยาหรือชลชนก ตั้งธนาภัทรเวช ว่ามีความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ ศาลอาญาคดีดำหมายเลข อ.211/2560 ได้พิพากษาให้จำคุกสองปีและปรับ 6000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยสารภาพประกอบกับไม่เคยกระทำผิดมาก่อนจึงให้รอลงอาญาและคุมประพฤติหนึ่งปี
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างความวุ่นวายอันเกิดจากโควต้าของพ่อค้าคนกลางที่ได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ต้องการบริหารความเสี่ยงหรือรับความเสี่ยงไว้เอง จึงจัดโควต้าให้พ่อค้าคนกลางซื้อไปเอง
แน่นอนว่าสังคมก็มีสิทธิถามว่าในเมื่อสินค้าคือสลากกินแบ่งก็มีไม่พอจนถึงกับต้องแย่งโควต้ากันขายแล้วทำไมจึงต้องมีพ่อค้าคนกลางมารับความเสี่ยงแทนสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้ง ๆ ที่สินค้าขายได้อยู่แล้ว
แน่นอนประชาชนก็อยากจะถามว่า รัฐบาลไม่อยากได้เงินกำไรจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นปีละเกือบหกหมื่นสี่พันกว่าล้านบาทหรือไม่ ในเมื่อรัฐบาลยังทำงบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุลอยู่ย่อมอยากได้เงินมาชดเชยงบประมาณขาดดุลและลดร้อยละของหนี้สาธารณะต่อจีดีพี
ที่น่าตกใจกว่าคือหากคนไทยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นหวยชุดทั้งหมด ปีหนึ่งคนไทยจะเล่นการพนันผ่านการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเป็นการช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ ยืนหยัดยุติธรรมปีละ เท่ากับ งวดละ 900,000 เล่ม X เล่มละ 100 ใบ X 24 งวด X 100 บาท หรือคิดเป็นเงินสองแสนหนึ่งหมื่นหกพันล้านบาทต่อปี (216,000,000,000 บาท) แต่ได้เงินเข้ารัฐ (โดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) คิดเป็นเงินเพียงแค่ หนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันหกสิบสี่ล้านบาทต่อปี (152,064,000,000 บาท) หรือโดยประมาณเพียงร้อยละ 70 และเป็นของพ่อค้าคนกลางกับผู้ค้ารายย่อยไปประมาณร้อยละ 30
การที่คนไทยชอบเล่นหวยมากขนาดนี้ทำให้คนไทยไม่ออมเงินหรือไม่? ทำให้คนไทยยากจนลงหรือไม่?ทำให้คนที่ยากจนแต่อยากรวยอย่างมีความหวัง ยิ่งจนลงไปหรือไม่? เป็นคำถามที่สังคมก็ควรต้องขบคิดด้วยเช่นกันว่าคุ้มค่ากับปัญหาสังคมและปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกหรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มวัยอย่างรวดเร็วอันดับต้นๆ ของโลก ยิ่งทำให้น่ากลัวมากว่าไทยเราจะแก่แต่จนมาก ดูแลตัวเองไม่ไหว ต้องเป็นภาระให้รัฐบาลเลี้ยงดูต่อไป
น่าคิดเช่นกันว่า หากจะยกเลิกสลากกินแบ่งรัฐบาลไปเลยเช่นเดียวกันกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ที่ทรงพยายามยกเลิกการเปิดบ่อนเบี้ยให้หมดไปจากแผ่นดินของพระองค์ทั้งสอง ทั้งๆ ที่อากรบ่อนเบี้ยเป็นที่มาของงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักสำคัญของสยามประเทศในสมัยนั้นก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอย่างยิ่ง
มองในทางกลับกัน ทำไมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่จัดชุดขายเสียเอง ตัดคนกลางออกไป และได้กำไรส่วนเกินนั้นเข้ารัฐบาลให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น ไหน ๆ จะได้เงินจากประชาชนแล้วก็ต้องเอาให้เข้าหลวงได้เต็มที่ ไม่ต้องไปให้พ่อค้าคนกลางจะดีกว่าหรือไม่ ก็ขายเป็นหวยชุดไปเลย จัดออกมาเลยก็สิ้นเรื่องสิ้นราว ตั้งราคาแพงกว่าออกมาตั้งแต่ออกมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปเลย ถึงห้ามไม่ให้มีการเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว หวยเถื่อนหรือหวยใต้ดินก็จะยิ่งเบิกบานเต็มประเทศ ห้ามไม่ได้หนักยิ่งกว่าเก่าเสียอีก นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าขบคิดมากเช่นกัน