ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ผมขอขอบคุณทุกคนจากใจครับ ครั้งนี้มันทำให้ผมรู้ว่าคุณพ่อยิ่งใหญ่ระดับโลกและอยู่ในหัวใจของหลายคนมากๆ ผมภูมิใจที่ได้เกิดมามีพ่อที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ผมเป็นคนที่รับไม้ต่อจากคุณพ่อ ผมจะไม่มีทางทำให้คุณพ่อผิดหวังครับและผมเชื่อว่าทุกคนจะสนับสนุนผมไม่มากก็น้อยในทุกๆ ด้าน ผมขอขอบคุณทุกข้อความที่ส่งมาและให้กำลังใจจากทุกที่ครับ คุณพ่อสอนผมให้เข้มแข็งและเป็นคนดูแลครอบครัวมานานมาก ท่านมีวิธีการสอนให้ผมเติบโตแบบไม่รู้ตัวท่านเป็นแบบอย่างในการทำงานและใช้ชีวิตซึ่งทุกอย่างอยู่ในตัวผมแล้ว
“วันนี้ท่านฝากงานชิ้นใหญ่ที่สุดไว้ให้ผมแล้วครับ และผมจะดูแลรักษามันให้ดีเท่าที่ความสามารถผมจะทำได้และจะไม่มีวันไหนเลยที่จะทำให้คุณพ่อผิดหวังในตัวผม ผมและครอบครัวกราบขอบคุณอีกครั้งครับกับความจริงใจและหวังดีในเวลาที่ยากลำบากแบบนี้
คิดถึงคุณพ่อสุดหัวใจ
ต๊อบ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
..........................
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อนาคตของอาณาจักรคิง เพาเวอร์ และสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ “จิ้งจอกสยาม” ในวันที่ไม่มีหัวเรือใหญ่ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” คอยดูแล จะเดินต่อไปอย่างไรภายใต้การบริหารของทายาทธุรกิจคนสำคัญ คือ ต๊อบ - อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซึ่งตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า “... จะไม่มีวันไหนเลยที่จะทำให้คุณพ่อผิดหวังในตัวผม...” เป็นเรื่องที่สังคมต่างให้ความสนใจ
แต่หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่า ในช่วงสองสามปีก่อนหน้านี้ “เจ้าสัววิชัย” ได้เตรียมแผนวางมือและฝึกปรือลูกๆ ให้เข้ามามีบทบาทบริหารธุรกิจเพื่อรับไม้ต่อ โดยเฉพาะ “ต๊อบ - อัยยวัฒน์” ลูกชายคนสุดท้องที่คลุกคลีใกล้ชิด ซึมซับ และเข้าใจผู้เป็นพ่อมากที่สุดชนิดมองตาก็รู้ใจนั้น ถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักได้แสดงฝีมือให้เห็นแล้วจากการบริหารสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่พลิกผันจากทีมรองบ่อนก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015-2016 (2558-2559)
วิสัยทัศน์ในการสอนลูกรับการผ่องถ่ายธุรกิจ “เจ้าสัววิชัย” เคยให้สัมภาษณ์ นิตยสารแพรว ปีที่ 36 ฉบับที่ 841 กันยายน 2557 ที่ว่าถึง “สามัคคี 4 พี่น้อง ‘ศรีวัฒนประภา’ วิสัยทัศน์เจ้าสัววิชัย” และต่อมา นิตยสารแพรว ปีที่ 38 ฉบับที่ 891 ตุลาคม 2559 ยังสัมภาษณ์ อัยยวัฒน์ - “บททดสอบธุรกิจยักษ์ใหญ่จากพ่อสู่ลูก “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ทายาทคิง เพาเวอร์” เอาไว้ ทำให้มองเห็นก้าวต่อไปของ คิง เพาเวอร์-เลสเตอร์ ซิตี้ นับจากนี้ภายใต้การนำของ อัยยวัฒน์ ได้เป็นอย่างดีว่ามุ่งมั่นแน่วแน่สานต่ออาณาจักรธุรกิจแสนล้านเช่นไรในศึกใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า
ลูกไม้หล่นใต้ต้น ลูกชายคนเล็กที่ถูกเลือกให้เป็นแม่ทัพใหญ่
เจ้าสัววิชัย เล่าว่า “จริงๆ ผมเกษียณตั้งแต่อายุห้าสิบแล้ว ซึ่งมาจากผมคิดว่าถ้าเราทำอะไรเป็นระบบและมีแผน เราไม่ต้องคาดหวังว่าจะต้องอยู่เป็นปู่ของบริษัท เราแค่เป็นผู้ถือหุ้น คอยเก็บเงินปันผล ใครที่มีความสามารถก็ให้เขาขึ้นมา .... แต่เผอิญตอนผมอายุห้าสิบเป็นช่วงที่บริษัทมีปัญหามากมาย คำว่าเกษียณของผมจึงยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์...
“ผมมีลูก 4 คน (วรมาศ, อภิเชษฐ์, อรุณรุ่ง และ อัยยวัฒน์) โดยปกติเขาอาจแบ่งให้ลูกคนละ 25 ส่วน แต่สำหรับผมใช้วิธีให้ลูกเลือกกันเองว่าจะให้หนึ่งคนเป็นใหญ่ที่สุดนั้นคือใครในจำนวนพี่น้อง 4 คน จากนั้นผมแบ่งให้คนละ 10 สามคน และให้คนที่เขาเลือกถือ 60 โดยผมยังถืออีก 10 ไว้ ตรงนี้ไม่ใช่เพราะลำเอียง แต่เพราะผมเห็นในพรสวรรค์ของคนที่มีไม่เท่ากันมากกว่า อย่างตอนนี้พี่น้องทุกคนเลือกให้ต๊อบ (อัยยวัฒน์) ลูกคนเล็กถือ 60 ส่วนของทั้งหมด ซึ่งเขาจะได้ทันทีเมื่อผมวางมือ แต่ผมก็ยังมีเงื่อนไขนะว่าถึงเขาจะเลือกกันเอง แต่สักวันอาจเปลี่ยนคนที่จะถือหุ้นเยอะที่สุดตามความเหมาะสมก็ได้”
“ผมให้ลูกทุกคนเรียนรู้จริง ผมถือว่าการได้รู้จริงถึงแม้จะล้มเหลวแต่เขาก็ยังได้รู้ ฟุตบอลจึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเรียนรู้ เพราะมันเป็นกีฬา มีแพ้มีชนะ นัดไหนแพ้ เขาก็เสียใจ เหมือนกันกับชนะ มันจึงเป็นกีฬาที่ทำให้เขารู้จักทั้งสมหวังและผิดหวัง เปรียบเป็นบทเรียนชีวิตแล้วก็เหมือนกับเขาได้เรียนรู้ทั้งตอนมีและไม่มี”
เป็นความชัดเจนจากผู้เป็นพ่อ “เจ้าสัววิชัย” ว่า มีกุศโลบายในการให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ พร้อมที่จะก้าวเข้ามาสานต่ออาณาจักรธุรกิจของครอบครัวที่มีมูลค่ามหาศาล และเรียนรู้ที่จะกัดฟัน ลุกขึ้นเดินหน้าสู้ต่อไปเมื่อเก็บรับบทเรียนหากพบกับความพ่ายแพ้ ดังเช่นที่เจ้าสัววิชัย เคยผ่านการล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจดิวตี้ฟรี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเจ้าสัววิชัย เลือกกลืนเลือด กัดฟัน สู้ต่อไปจนมีวันนี้
ส่วน อัยยวัฒน์ นั้นเปรียบ “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ได้ทั้งวิธีคิด บุคลิก ความใจกว้าง บริหารคน บริหารธุรกิจ ถอดแบบเจ้าสัววิชัยมาทุกกระเบียดนิ้ว จนบรรดาพี่ๆ เลือกให้น้องคนสุดท้องคนนี้เป็น “คนที่ใหญ่ที่สุด” นำทัพ หลังจากผู้เป็นพ่อวางมือ
อัยยวัฒน์ เล่าย้อนตั้งแต่วัยเด็กที่เป็นลูกติดพ่อติดแม่ ถึงขนาดว่าถ้าพ่อแม่ยังไม่กลับถึงบ้านก็ยังไม่นอน และช่วงวัยรุ่นสมัย เรียนมัธยมฯ ก็ซึมซับบุคลิกของผู้เป็นพ่อในเรื่องความใจกว้าง เข้ากับคนรอบข้างได้ง่าย เข้าได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าเด็กเรียนหรือขาเฮ้ว
“... ผมเป็นหัวโจกตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ส่วนหนึ่งอาจซึมซับมาจากคุณพ่อที่ใจกว้าง ชอบเลี้ยงเพื่อน ผมก็เป็นแบบนั้น แต่คุณพ่อทำให้เห็นว่า ที่คนรอบข้างซาบซึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะมาให้ท่านเลี้ยง แต่ทุกคนมีความสุขกับบรรยากาศนั้น...”
ในช่วงวัยเรียนนั้น หลังโรงเรียนเลิก เขาจะแวะมาหาคุณพ่อคุณแม่ที่บริษัท ซึ่งเป็นที่วิ่งเล่น หลับบ้างในสมัยเด็ก และซึมซับการทำงาน การตัดสินใจ จากการเห็นกระบวนการทำงานของคุณพ่อที่เรียกประชุม ชมเชย ต่อว่าพนักงาน พออายุ 16 ปี ผู้เป็นพ่อก็เรียกเข้าประชุมบอร์ด ต้องฟังและจดรายละเอียดต่างๆ
อัยยวัฒน์ เล่าว่า ตอนนั้นไม่รู้ว่าตัวเลขที่จดลงไปในกระดาษจะส่งผลอะไรในอนาคตบ้าง แต่การได้อยู่ใกล้ๆ ทำให้รู้ว่าบริษัทโตเร็วมาก และจากการที่อยู่ในทุกการประชุมสำคัญทำให้รู้ว่าคุณพ่อคิดอะไร เหตุผลที่เปิดดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิคืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร
“... เป็นความบังเอิญหรือคุณพ่อวางแผนไว้ก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ)...”
ฝีมือขั้นเทพ นำพา เลสเตอร์ ซิตี้ ครองแชมป์พรีเมียร์ลีก
การพิสูจน์ฝีมือของอัยยวัฒน์ เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังนับจากปี 2552 เป็นต้นมา โดย อัยยวัฒน์ เข้ามาเป็นผู้ช่วยของเจ้าสัววิชัย ทำงานตามสั่ง หรือที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น “เจเนอรัลเบ๊”(พร้อมกับเสียงหัวเราะ) ได้ประสบการณ์เยอะและงานหนัก ทำได้ปีหนึ่ง ก็ไปเป็นรองประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ขณะนั้นอยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิปของอังกฤษ (รองจากพรีเมียร์ลีก) เป็นการตัดสินใจซื้อที่เจ้าสัววิชัย ใช้เวลาคุยกับมิลาน แมนดาริช ที่สโมสรฯ เพียงแค่ 10 นาที แล้วบอกว่าซื้อทีมแล้วนะ
“... พอกลับมาถึงบ้านจึงถามคุณพ่อว่าคิดจ้างใครดูแล ผมจะได้วางแผนให้ ท่านบอกว่า ต๊อบดูไปสิ ผมฟังแล้วช็อกไปแป๊บหนึ่ง รู้ว่าไม่ง่ายแน่ๆ แต่ก็รับปากว่าจะทำให้ดีที่สุด”
อัยยวัฒน์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเด็กไทยอายุ 25 ปี จะเข้ามาทำอะไรกับพวกเขาได้ลงมือผ่าตัดเลสเตอร์ ซิตี้ ขนานใหญ่ ตั้งเป้าหมายกลับขึ้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีก
“.... กว่าที่ผมจะทำให้ทุกคนเชื่อมั่นก็ใช้เวลาอยู่เกือบปี โดยมีวิธีเดียวคือ พิสูจน์ให้เห็นหลังจากอ่านรายละเอียดของสโมสร ผมเขียนคำถามที่อยากรู้ แล้วเรียกผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ มานั่งคุยคนละ 3 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่ม แทบไม่ได้กินข้าว ทำแบบนี้อยู่ 2 - 3 สัปดาห์ จึงรู้ว่าคนนี้เก่งด้านไหน ควรให้ทำอะไร จากนั้นเริ่มวางโครงสร้างใหม่ให้สโมสร เนื่องจากตอนนั้นที่เลสเตอร์ยังทำงานไม่ค่อยเป็นระบบ อย่างเรื่องสัญญาก็มีเฉพาะแค่ของนักฟุตบอล แต่สัญญาของพนักงานไม่มี ไม่จ่ายโบนัสมา 10 ปี ไม่ขึ้นเงินเดือนมา 5 ปี พอรู้ปัญหาเหล่านี้ผมจึงกลับเมืองไทยให้คุณพ่อส่งเจ้าหน้าที่แผนกบัญชี ไอที ร้านค้า และฝ่ายบุคคลของคิง เพาเวอร์ ไปที่อังกฤษกับผม 2 สัปดาห์ เราจะไปผ่าตัดบริษัทกัน”
การผ่าตัดเลสเตอร์ ซิตี้ เริ่มพร้อมกันในหลายส่วน อย่างร้านขายของที่ระลึก การจัดระบบการสต็อกสินค้า “... พอเดินไปดูหลังร้านก็มั่วมาก มีของวางกองๆ อยู่บนชั้น ถ้าลูกค้าถามถึงจึงหยิบมาให้ ผมบอกพนักงานว่าแบบนี้เจ๊งแน่ ผมทำธุรกิจค้าปลีกที่เมืองไทย ถ้าคุณขายของแบบนี้ ผมเสียหน้า ผมจะส่งคนมาเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด....”
ขณะที่เจ้าของสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่โฟกัสไปแค่เรื่องการซื้อนักฟุตบอลเก่งๆ เพื่อให้ทีมขึ้นชั้น ไม่สนใจระบบบริหาร แต่ อัยยวัฒน์ กลับทุ่มเงินในเรื่องการบริหาร สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบไอที อุปกรณ์แวดล้อมจำเป็นทั้งหมด
“.... ผมใช้เวลา 2 ปีแรกไปกับการพัฒนาทุกอย่าง ตั้งแต่สนามฟุตบอล ที่นั่งคนดู ห้องพักนักกีฬา ฟิตเนส ร้านขายของที่ระลึก ควบคู่ไปกับการพัฒนานักฟุตบอล โดยนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ เช่น พอนักฟุตบอลตื่นตอนเช้าให้ใช้เครื่องตรวจว่า คนฟิตน้อยที่สุดคือใคร ให้เห็นพร้อมกันทั้งทีม ซึ่งนักฟุตบอลก็มืออาชีพนะครับ เขาพร้อมปรับปรุงตัวเอง .... เทคโนโลยีสมัยใหม่บอกได้ว่า คุณเล่นได้แค่ 50 นาทีหรือเต็มเวลา ช่วยให้โค้ชตัดสินใจง่ายขึ้นในการเลือกนักฟุตบอล หรือเปลี่ยนผู้เล่นสำรองลงสนาม นี่คือสิ่งที่ผมลงทุนตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำทีม”
อัยยวัฒน์ ใช้เวลาพัฒนาสโมสร โดยใช้เงินไปในสองปีแรกประมาณ 1,300 ล้านบาท ท่ามกลางแรงกดดัน แต่เขาได้บอกเจ้าสัววิชัยว่า ถ้าทีมได้ขึ้นชั้น สิ่งที่เราลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะร้านขายของที่ระลึก หรือสนามฟุตบอลที่ทันสมัยจะกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแน่นอน ซึ่งวันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ทั้งที่ตอนนั้นมีแต่คนบอกว่า “ผมบ้า” และสตาฟฟ์โค้ชยังส่งอีเมลขอหยุดลงทุนซื้อนักเตะเถอะ
ในเรื่องนักเตะ อัยยวัฒน์ ก็ซื้อแต่เปลี่ยนระบบใหม่หมด หลายคนซื้อมาในราคาไม่แพง ฟอร์มดี เพราะเชื่อในตัวเลขแบบชนิดที่ว่าให้เขียนแต้มมาให้ดูเลยว่านักฟุตบอลที่สนใจซื้อได้กี่คะแนนในเรื่องไหนบ้าง ส่งหัวหน้าทีมไปคุยกับครอบครัวว่าเขามีบุคลิกอย่างไร ไปถามสโมสรเก่าเคยสร้างปัญหาอะไรไหม จากนั้นจึงจะตัดสินใจโดยต้องเห็นพ้องกันทั้งทีมที่มี 3 คน คือ ผู้จัดการทีม ผู้อำนวยการสโมสร และหัวหน้าแมวมอง ที่สำคัญคือ จะเลือกซื้อเฉพาะนักฟุตบอลที่อยากเล่นให้สโมสรจริงๆ เท่านั้น ถ้ามีชื่อเสียงแต่ออกลีลาเยอะ ทีมนั้นก็สนใจ ทีมนี้ก็อยากได้เขานะ
“... ผมบอกทันทีว่า ถ้าอย่างนั้นเชิญไปเลยครับ ผมไม่สนใจ ไม่อยากได้คนที่มาเพราะเงิน อยากให้มาเพราะต้องการเล่นกับเลสเตอร์จริงๆ ...”
นอกจากนั้น การใช้วิธีบริหารสโมสรแบบคนไทย คือ ความใส่ใจ คลุกคลีกับนักกีฬา เพื่อสร้างทีม พอเตะเสร็จจะพาทุกคนไปเลี้ยงข้าวบ้าง หรือวันพิเศษอย่างคริสต์มาสก็จัดปาร์ตี้ในสนาม ให้นักฟุตบอลและทีมงานพาครอบครัวมาสนุกด้วยกัน พอปิดฤดูกาลก็พามาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งไม่มีสโมสรไหนทำ สิ่งนี้ทำให้กำแพงระหว่างผู้บริหารกับนักฟุตบอลลดน้อยลง นั่นจึงทำให้วันสูญเสียเจ้าสัววิชัย นักฟุตบอลของทีมจึงคล้ายกับสูญเสียคนในครอบครัวเดียวกัน
อัยยวัฒน์ ยังบอกว่า เจ้าสัววิชัย สอนเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่อง โดยสองเรื่องแรกที่สำคัญมาก คือ ความกตัญญูต่อคนที่มีบุญคุณและตรงต่อเวลา ส่วนอีกสองเรื่องคือ เรียนรู้ให้เร็ว ถ้าทำงานก็ต้องจับประเด็นให้เร็วกว่าคนอื่น และสี่ ใช้คนให้ถูก เพราะถ้าใช้คนผิด งานจะไม่เดิน แต่ถ้าเลือกคนถูก ไม่ว่างานง่ายหรือยากจะทำได้หมด
คิง เพาเวอร์-เลสเตอร์ ซิตี้ เติบใหญ่ไปด้วยกัน
อัยยวัฒน์ เล่าว่า ในวันที่ลงทุนแต่ยังไม่ขึ้นชั้นถูกถามบ่อยจนถึงวันที่กลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จก็กลายเป็นคำตอบถึงการเลือกลงทุนปรับปรุงสโมสรตั้งแต่วันแรกที่ทำให้ทีมมีความพร้อมมากๆ ไม่ว่าเรื่องสนามและระบบวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทีมเลสเตอร์ซิตี้น่าจะดี ติดท็อปเท็นของอังกฤษ เรามีร้านค้าขนาดใหญ่ขึ้น ที่จอดรถเพียงพอ ฟิตเนสและสนามซ้อมทันสมัย ขณะที่ชาวเมืองเลสเตอร์ กว่า 240,000 คน จาก 250,000 คน หรือเกือบทั้งเมืองออกมาฉลอง ทุกคนมาด้วยความสุข อัยยวัฒน์ ถึงกับบอกเจ้าสัววิชัยว่า ถ้าจ้างคนให้มาร่วมฉลองขนาดนี้ต้องใช้เงินเท่าไหร่ แต่นี่เขามีความสุขและมาด้วยใจ
“.... ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การที่ทีมขนาดเล็กได้แชมป์ลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ แต่เป็นเรื่องของแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกเห็นว่า ถ้าคุณทำดี ทำถูก มีความพยายามก็ประสบความสำเร็จได้”
หลังจากพา “จิ้งจอกสยาม” ขึ้นชั้นพรีเมียร์ลีกสำเร็จ แบรนด์ คิง เพาเวอร์ ก็ติดอยู่กับทีมเลสเตอร์ ทั้งสองจึงเติบโตขึ้นไปพร้อมกัน โดยอัยยวัฒน์วางเป้าหมายขึ้นท็อปไฟว์ดิวตี้ฟรีของโลกและอันดับหนึ่งของเอเชีย “เราอยากเป็นท็อปดิวตี้ฟรีในเอเชีย ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ ปี 2015 เราอยู่อันดับ 7 ของโลก ส่วนเกาหลีซึ่งเป็นที่ 1 ของเอเชียอยู่อันดับ 4 เป้าหมายของผมคือ การไปอยู่ตำแหน่งนั้นแทนเขา อย่างปีก่อน รายได้ของเราคือ 68,000 ล้านบาท ผมวางเป้าปีนี้ต้องให้ถึง 85,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าคือ 100,000 ล้านบาท”
อัยยวัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อถึงความมุ่งมั่นชัดเจนจะใช้เลสเตอร์ ซิตี้ ต่อยอดธุรกิจ คิง เพาเวอร์ ควบโปรโมทท่องเที่ยวไทยผ่านช่องทางพรีเมียร์ลีกทั่วโลก พร้อมอัดฉีดงบลงทุนหานักเตะ ขยายสนามฟุตบอลคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม เพิ่มเป็น 4.2 หมื่นที่นั่ง
การรักษาชั้นพรีเมียร์ลีกของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ยังจะช่วยต่อยอดธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิง เพาเวอร์ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการถ่ายทอดทางทีวีไปทั่วโลก เป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์คิง เพาเวอร์ และการท่องเที่ยวไทยให้ติดตลาดโลกและส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของคิง เพาเวอร์ รวมไปถึงการเพิ่มยอดขาย และการขยายไลน์สินค้าภายใต้แบรนด์เลสเตอร์ ซิตี้ ผ่านช้อปขายสินค้าทั้งในสนามฟุตบอล ดิวตี้ฟรี แท็กฟรี ของคิง เพาเวอร์ ทั้งดาวน์ทาวน์ สนามบินสุวรรณภูมิ และบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม รองรับกลุ่มแฟนคลับทั้งไทยและต่างชาติ
มิลาน มันดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย อดีตเจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ขายหุ้นให้เจ้าสัววิชัย เชื่อมั่นว่า อัยยวัฒน์เป็นคนหนุ่มที่ฉลาด ถอดแบบมาจากพ่อของเขา และรู้ดีว่าฟุตบอลไม่ใช่เรื่องธุรกิจทั่วๆ ไป แต่ยังมีอารมณ์ร่วมผสมผสานอยู่ด้วย และมั่นใจว่าเมื่อ อัยยวัฒน์ ต้องมารับการบริหารทีมต่อจากนายวิชัย เลสเตอร์จะอยู่ในมือที่ปลอดภัย เพราะสองพ่อลูกศรีวัฒนประภามีเป้าหมายเดียวกัน และอัยยวัฒน์ น่าจะสานต่อแผนงานเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นว่าแฟนบอลเลสเตอร์ ซิตี้ จะให้การสนับสนุนอัยยวัฒน์ ให้ทำหน้าที่ต่อไป
ประมูลดิวตี้ฟรียกใหม่ จุดเปลี่ยนสำคัญของ คิง เพาเวอร์
ภายหลังการสูญเสีย “เจ้าสัววิชัย” ลูกชายคนเล็ก คือ อัยยวัฒน์ ต้องยืนโดดเด่นนำพาอาณาจักรคิง เพาเวอร์-เลสเตอร์ ซิตี้ ก้าวไปข้างหน้า หลายคนต่างเชื่อมั่นในฝีมือของลูกไม้หล่นใต้ต้นคนนี้ แต่ก็มีมุมมองว่านี่อาจถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลศรีวัฒนประภา ที่มั่งคั่งเบอร์ต้นๆ ของไทย โดยนิตยสารฟอร์บส์ จัดให้เจ้าสัววิชัย เป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของไทยในปี 2561 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.62 แสนล้านบาท
ปัจจุบัน โครงสร้างธุรกิจของเครือคิง เพาเวอร์ ธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีและอากร หรือ "ดิวตี้ ฟรี" สร้างเม็ดเงินมากที่สุด จากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผลประกอบการของธุรกิจในเครือคิง เพาเวอร์ ในปี 2560 รายได้รวมจากบริษัทในเครือ 9 แห่ง มีกว่า 104,520 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิมากกว่า 7,873 ล้านบาท
สำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดิวตี้ฟรีในเครือ คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีรายได้รวม 56,151 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,944 ล้านบาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีรายได้รวม 35,633 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,838 ล้านบาท, บริษัทคิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด มีรายได้รวม 5,467 ล้านบาท กำไรสุทธิ 248 ล้านบาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มีรายได้รวม 5,324 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,764 ล้านบาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด มีรายได้รวม 404 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 144 ล้านบาท
บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ จำกัด มีรายได้รวม 665 ล้านบาท กำไรสุทธิ 42 ล้านบาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีรายได้รวม 863 ล้านบาท กำไรสุทธิ 117 ล้านบาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด มีรายได้รวม 9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 703,535 บาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด มีรายได้รวม 216,701 บาท กำไรสุทธิ 162,083 บาท, บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ยังไม่มีการรายงานรายได้และกำไร เนื่องจากเพิ่งก่อตั้งเมื่อ เมื่อ 11 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา
เมื่อปีที่แล้ว อัยยวัฒน์ ได้แถลงวิสัยทัศน์ คิง เพาเวอร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายยอดขาย 1.3-1.4 แสนล้านบาท ติดปีกให้ คิง เพาเวอร์ ขึ้นสู่ทำเนียบท็อป 5 ในธุรกิจดิวตี้ฟรีระดับโลก จากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว
แผนธุรกิจดังกล่าว ประกอบด้วย การขยายดิวตี้ฟรีทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มขายสินค้าบนโลกออนไลน์ การเพิ่มยอดขาย และการเข้าประมูลดิวตี้ฟรีทั้งในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภาใหม่ เนื่องจากอายุสัญญาสัมปทานพื้นที่เช่าร้านค้าดิวตี้ฟรีของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ของสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงท่าอากาศยานในภูมิภาคอีก 3 แห่ง (เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต) กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กำลังจะหมดลงพร้อมกันภายในเดือน ก.ย. ปี 63
ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มคิงเพาเวอร์ยังทุ่มเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อโครงการมหานคร และเปลี่ยนชื่อเป็น คิงเพาเวอร์ มหานคร ในส่วนโรงแรมจุดชมวิว และอาคารรีเทลมหานครคิวป์ จาก บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม พร้อมปักหมุดประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และศูนย์รวมไลฟ์สไตล์แห่งภูมิภาค แต่หากนับสัดส่วนรายได้ของอาณาจักร คิง เพาเวอร์ กว่า 90% ยังมาจากธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งกำลังพลิกเปลี่ยนจากเสียงเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ให้ยกเลิกการทำสัญญาใหญ่รายเดียวสู่การเปิดเสรี ซึ่งแนวทางนี้ คิง เพาเวอร์ เองได้เตรียมพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้ากว่าสิบปีแล้ว
สำหรับการประมูลพื้นที่อาคารหลังที่ 1 ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดย ทอท. คาดว่าจะเริ่มต้นภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะรวมพื้นที่กับอาคารหลังที่ 2 ด้วย ซึ่งทำให้พื้นที่ภายใต้สัมปทานใหม่รวมเป็น 57,000 ตารางเมตร เพื่อให้เอกชนที่ชนะการประมูลสามารถเข้าไปปรับปรุงหรือก่อสร้างร้านค้าก่อนการเริ่มเปิดใช้บริการ
การเข้าร่วมประมูลในยกใหม่นี้ของ คิง เพาเวอร์ เป็นเกมการแข่งขันที่น่าจะดุเดือด เพราะมีผู้สนใจเข้าร่วมชิงชัยทั้งไทยและเทศ เช่น กลุ่มล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ของเกาหลีใต้ ส่วนกลุ่มทุนในไทยเช่น กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มเซ็นทรัล และ บางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น และเป็นที่รู้กันดีว่าการประมูลงานใหญ่ของเมืองไทยต้องอาศัยทั้งบารมีและคอนเนกชั่นพรักพร้อม ซึ่งหากเจ้าสัววิชัย ยังคงอยู่ จะหนุนช่วยทายาทแม่ทัพใหญ่คนใหม่ของ คิง เพาเวอร์ ได้
นับเป็นภารกิจสุดหิน และเดิมพันสูง เป็นบทพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งของ อัยยวัฒน์ ทายาทเจ้าสัววิชัย ว่าจะสามารถสร้างตำนานระดับเทพได้เช่นที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในกรณีของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ หรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป