ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรื่องราวชีวิตของ เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา มหาเศรษฐีแสนล้านเจ้าของกลุ่มธุรกิจ “คิง เพาเวอร์” และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ชายผู้สร้างตำนานชีวิตโด่งดังระดับโลกนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการปลุกปั้นธุรกิจดิวตี้ฟรีของเมืองไทยที่แทบจะเริ่มจากศูนย์จนมีชื่อเสียงก้องฟ้า หรือว่าการนำพา เลสเตอร์ ซิตี้ ให้พลิกผันจากทีมลุ้นตกชั้นผงาดขึ้นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2015-2016 ชนิดเซอร์ไพรส์จนโลกตกตะลึงในประวัติศาสตร์หน้าใหม่เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ไม่ต่างอะไรจาก “เทพนิยาย” เลยก็ว่าได้
ไขความลับ ที่มาของชื่อ “คิง เพาเวอร์”
นายวิชัยเกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2501 เป็นบุตรของ นายวิวัฒน์ และนางประภาศร รักศรีอักษร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาวูดลอว์น ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนอร์ททอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับนางเอมอร มีบุตรทั้งหมด 4 คนคือนางสาววรมาศ, นายอภิเชษฐ์, นางสาวอรุณรุ่ง และนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
นายวิชัย สกุลเดิม “รักศรีอักษร” ได้รับการพระราชทานนามสกุล “ศรีวัฒนประภา” เมื่อวันที่ 21 พ.ย. พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล
ทั้งนี้ ความสำเร็จของนายวิชัยมาจากอาณาจักรธุรกิจ “ดิวตี้ฟรี” อย่าง “คิง เพาเวอร์” ซึ่งกว่าที่จะเดินทางมาถึง ณ วันนี้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ
นายวิชัย ได้เล่าไว้ในข้อเขียน “ไขความลับชีวิตของ ‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’ มหาเศรษฐีผู้ให้ เจ้าสัวหัวใจเพชร!” นิตยสารแพรว ฉบับ 841 ว่า หลังจับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม แล้วก้าวเข้าสู่วงการดิวตี้ฟรีด้วยการร่วมหุ้นกับเพื่อนที่ทำดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกงซึ่งชวนให้ซื้อหุ้น 10% กระทั่งภายใน 2 ปีถัดมากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ขณะที่ดิวตี้ฟรีในไทยเริ่มต้นก้าวแรกจากการเข้ามายื่นข้อเสนอกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) โดยให้ทอท.เป็นผู้ถือสัมปทาน ส่วนตนเองกับพาร์ตเนอร์รับจ้างบริหาร ทำไปสักพักก็แยกทางกับพาร์ตเนอร์ ในเวลานั้น รัฐบาลเปิดประมูลร้านค้าปลอดอากรนอกพื้นที่สนามบินโดยให้สัมปทานแก่รัฐวิสาหกิจ จึงชวนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมหุ้นแล้วเข้าประมูล
“.... ผมยืมชื่อเขา (ททท.) โดยเป็นคนลงทุนทั้งหมด รวมทั้งเลือกโลเกชั่นคือที่ตึกมหาทุนพลาซ่า ถนนเพลินจิต แต่แบ่งหุ้นให้เขา 10 เปอร์เซ็นต์ และให้เขาเป็นคนถือสัมปทาน 5 ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองไทยมีร้านค้าปลอดอากรที่สมบูรณ์ในเมืองแห่งแรกในประเทศ...”
“... ผมใช้ชื่อบริษัทว่า ททท. สินค้าปลอดอากร ซึ่งพอพาร์ตเนอร์เก่าเห็นเราทำได้ก็จะเอาบ้าง ช่วงนั้นพอดีกับผมมีปัญหากับหุ้นส่วนที่ฮ่องกง เขาเป็นกลุ่มมีอิทธิพลอยู่ทางนั้น ผมต้องเดินทางไปพบเพื่อเจรจา ก่อนจะพบเขา ผมทำใจแล้วว่าต้องเจออะไรบ้าง วินาทีนั้นผมนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาวนาขอพระบารมีของพระองค์ท่านได้โปรดคุ้มครอง ขอให้สู้กับมาเฟียชนะ ตอนนั้นผมคนเดียว ฝ่ายเขามีทั้งห้อง ทุบโต๊ะถามผมว่าจะขายหุ้นทั้งหมดไหม ผมบอกขายไม่ได้ ก็เจอคำถามว่าอยากจะออกจากห้องนี้ไหม ผมบอกอยากออก แถมขู่เขาไปด้วยว่า…คิดให้ดีนะ ที่เมืองไทยผมทำงานโดยใช้ชื่อว่าททท.สินค้าปลอดอากร ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รู้ไหมว่ารัฐบาลถือหุ้นอยู่ ก่อนที่ผมจะมาหาคุณ ผมบอกสถานทูตแล้ว ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ผมไม่โทรกลับไป เขาจะส่งตำรวจมา ที่สุดหุ้นส่วนฮ่องกงต้องยอมผม พอออกมาผมก็คิดชื่อ คิง เพาเวอร์ จากนั้นทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อบริษัท เพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินธุรกิจต่อไป”
ล้มลุกคลุกคลาน กลืนเลือด กัดฟันสู้
การเริ่มต้นธุรกิจดิวตี้ฟรีไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบแต่อยู่ในจุดที่เรียกว่าล้มลุกคลุกคลาน ต้องอดทนกัดฟันลุกขึ้นสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า บ่มเพาะประสบการณ์ ฝึกปรือความเป็นมืออาชีพจากบทเรียนที่ได้รับ
เจ้าสัววิชัย บอกว่า เล่าไปก็ยาวเหมือนหนัง “การทำงานอยู่หลังฉากทำให้ผมยิ่งรู้ซึ้งว่าตราบใดที่สัมปทานจริงๆ ไม่มาอยู่ในมือ ตราบนั้นความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อถึงวันที่การเมืองเปลี่ยน
“ผมเจอพิษการเมืองครั้งแรกเมื่อรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ททท. จู่ๆ ก็ถาม ททท.ว่าทำไมไม่ทำเอง เพราะคิง เพาเวอร์ จะรวยเกินไป ผลคือ ททท.ไม่ต่อสัญญา บอกจะทำเองที่เวิลด์เทรด ผมบอกไม่เป็นไร แต่ต้องรับปากว่าจะช่วยเอาลูกน้อง 3-4 ร้อยคนไปด้วย เพราะเขามีประสบการณ์และเขาไม่ผิด ถ้าคุณรับปาก ผมจะยอมถอยให้ ตอนแรกเขาตกลง ผมเลยกลับไปบอกลูกน้องว่าคุณไม่ตกงานแล้ว
“แต่สุดท้ายเขาก็เบี้ยวไม่ได้รับลูกน้องผม เป็นที่มาที่ผมต้องต่อสู้เพื่อให้เขาเห็นว่าธุรกิจนี้ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพและต้องมีคอนเนกชั่น รวมทั้งต้องมีความสามารถที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ฉะนั้นร้านที่มหาทุนพลาซ่าจึงยังคงดำเนินการต่อไป โดยผมทำให้เห็นกันไปเลยว่าแม้กระทั่งในวิกฤตที่เราไม่มีใบอนุญาตดิวตี้ฟรีก็ยังสามารถขายของในราคาปลอดภาษีได้
“เจ็บครับ เรียกว่าเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลานเลยละ คิดดูของที่ขาย ผมต้องเสียภาษีนะ แต่เอามาขายในราคาปลอดภาษี เพราะฉะนั้นผมได้กำไรน้อยลงอยู่แล้ว บางชิ้นขายขาดทุนด้วยซ้ำ แต่ถามว่ามีใครรู้ไหม ผมไม่แน่ใจ เพราะเป็นคนไม่ค่อยออกอาการ (หัวเราะ)
“ต้องบอกก่อนว่าการเจ็บครั้งนั้นเป็นการเจ็บที่เหมือนเราโดนแกล้ง โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อผ่านไปวันสองวัน ผมบอกตัวเองว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข มันไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าไม่ไหว สู้ไม่ได้ ยอมแพ้ ผมอาจจะเจ็บ แต่รุ่งขึ้นก็มักบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร หาวิธีสู้ใหม่ แล้วเราก็สู้ได้ตลอด แบงก์จะมายึด แถมขู่ว่าจะฟ้อง ก็ไปเจรจากับแบงก์ ผมเป็นคนไม่หนี แต่สู้ด้วยความจริง เล่าให้เขาฟังว่าไม่ใช่ความผิดของผม แต่เป็นเรื่องที่ผมโดนแกล้ง ต้องเข้าใจกัน ปรากฏแบงก์ยอมนิ่ง ทำให้ผมลุยต่อได้ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจนี้ต้องเป็นมืออาชีพทำ ไม่ใช่แค่มีใบอนุญาตแล้วจะทำได้
“สุดท้ายปีเดียว ททท.ก็เจ๊ง ต้องมาขอร้องให้ผมเทก(โอเวอร์)เขาไป เป็นจังหวะเดียวกับรัฐบาลเปลี่ยน ผมบอกต้องมีเงื่อนไข ขอให้มีความซินเซีย (จริงใจ) ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลทีผมก็โดนที พอเคลียร์กันได้โดยผมยอมรับพนักงานของเขามาแบบไม่มีเงื่อนไข ก็มีพนักงานประมาณ 95% นะที่ยอมมา อาจเพราะผมพูดกับเขาตรงๆ ว่า… “ถ้าใครจะมาอยู่กับผม ผมไม่มีความอาฆาตพยาบาท ที่ผ่านมาให้มองว่าเป็นการแข่งขัน แต่ตอนนี้เรามารวมกัน ก็ต้องสู้ไปด้วยกัน ผมไม่มีความคิดจะยุบสาขาไหน ทั้งสองสาขาคือเวิลด์เทรดชั้น 7 และมหาทุนพลาซ่า ผมเชื่อว่าสามารถจัดการเอาลูกค้ามาลงได้ ถ้าเชื่อก็มากับผม” ซึ่งมาถึงวันนี้เขาก็คงได้คำตอบกันไปแล้วละว่าเลือกถูกหรือไม่
“หลังจากในเมืองเริ่มมั่นคง ผมก็คิดจะกลับไปรุกที่ดอนเมืองที่พาร์ตเนอร์เก่าเคยเอาไป ตอนนั้น ทอท.จะเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ ผมเสนอว่าทำไมไม่แยกเป็นสองราย เพราะมีอาคาร 1 อาคาร 2 ปรากฏว่าเปิดซองมาผมได้อาคาร 1 แต่ทำไปสักระยะหนึ่งก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่า การให้สัมปทานสองเจ้าอย่างนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะเวลาลูกค้ามาคอมเพลนสินค้า เขาไม่รู้ว่าซื้อกับเจ้าไหน ผมบอกให้ดูจากกล้อง cctv ที่คุณมี สุดท้ายก็ฟ้องด้วยภาพว่าเป็นอีกฝ่าย ทอท.เลยไม่ต่อสัญญากับฝ่ายนั้น ทำให้ผมได้สัมปทานมาทำแต่เพียงผู้เดียว”
เสือติดปีก สะสมทุน คว้าโอกาส พุ่งทะยานไปข้างหน้า
เจ้าสัววิชัย ยังเคลียร์มุมมองสัมพันธ์ลึกซึ้งที่ คิง เพาเวอร์ มีกับทุกรัฐบาลว่า “มีหลายคนถามว่าทำไมผู้ใหญ่ชอบผม ซึ่งมาจากเขามองแล้วเหมือนผมมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เขาอาจเอ็นดูผม เพราะพูดตรงไปตรงมา ไม่มีบัญชีหนึ่ง บัญชีสอง ขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนอีกที่บอกว่าผมล็อบบี้เก่ง ไปคุยกับรัฐบาลไหนก็ได้ ผมอยากบอกว่าถ้าเราเป็นพ่อค้าแล้วไม่รู้จักผู้ใหญ่ ไม่รู้จักรัฐบาลเลย คนนั้นโกหกคุณ ไม่มีนักธุรกิจคนไหนนั่งอยู่เฉยๆ รอให้เขาเอาสัมปทานมาให้ แม้แต่เมื่อได้มาแล้วก็ต้องไปบอกเขาว่าเราจะทำอย่างไรต่อไปที่จะคืนผลประโยชน์กลับให้ประเทศสูงสุด ซึ่งถ้าเราทำให้เขาเชื่อได้ โอกาสจึงจะมี
“อย่างตอนย้ายสนามบินไปสุวรรณภูมิ ผมก็ไปประมูลสู้ แม้คู่แข่งเยอะ แต่ผมได้เปรียบ เพราะเราทำมาก่อน ระบบและคนของเรามี ความเชื่อถือจากพวกบริษัททัวร์ก็มี จำได้ ผมพูดกับรัฐบาลยุคนั้นไปตรงๆ เลยว่าเราเป็นคนไทย ทำไมต้องให้บริษัทต่างประเทศทำ ถามว่าคนต่างประเทศเขามีดีกว่าเราตรงไหน ถ้าดีกว่าโดยเขาให้ผลประโยชน์มากกว่า ก็ต้องถามกลับว่าผมยังไม่ให้หรือ และถ้าผมให้มากกว่าเขาล่ะ ก็ควรจะให้สิทธิ์นี้กับผมใช่ไหม
“ที่สุดกรรมการพอใจกับข้อเสนอที่สูงที่สุด ดีที่สุดที่ผมให้ จึงให้สัมปทานมา ภายใต้กรอบเงื่อนไขคือผมต้องลงทุนตกแต่งพื้นที่ทั้งหมดในสุวรรณภูมิในกำหนดระยะเวลาที่สั้นมาก และต้องสวยที่สุด อีกทั้งยังต้องหาสินค้าแบรนด์ดีที่สุดมาจำหน่าย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ความเป็นมืออาชีพเท่านั้น ซึ่งผมและทีมงานก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้”
หากนับจากปี 2532 ที่เจ้าสัววิชัย เริ่มทำร้านค้าปลอดภาษีในเมืองแห่งแรกที่อาคารมหาทุนพลาซ่า เพลินจิต ถัดมาเมื่อปี 2534 เปิดดิวตี้ฟรีที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา มาถึงปี 2536-2545 ได้สัมปทานเปิดร้านดิวตี้ฟรีที่ดอนเมือง และช่วงปี 2538-2540 เปิดร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ณ กำแพงเมืองจีน กรุงปักกิ่ง ตามด้วยร้านดิวตี้ฟรีที่ท่าอากาศยานไคตั๊ก ฮ่องกง แล้ว
ต้องถือว่าทศวรรษถัดมาคือระหว่างปี 2540-2549 ถือเป็นช่วงเคี่ยวกรำ สั่งสมประสบการณ์ และสั่งสมทุนทรัพย์ กลายเป็นเสือติดปีกพุ่งทะยานไปข้างหน้า โดยเจ้าสัววิชัย ได้รับอนุญาตให้เปิดดิวตี้ฟรีที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และปี 2549 ได้สัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมกับก่อตั้ง คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ บน ถ.รางน้ำ ใจกลางกรุงเทพฯ และได้รับสัมปทานขายสินค้าปลอดภาษีระหว่างบินบนเครื่องการบินไทย
อาณาจักรคิง เพาเวอร์ ยังขยายตัวไม่หยุดยั้ง โดยปี 2554 ได้รับอนุญาตให้เปิดเพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ พัทยา และสายการบินแอร์เอเชีย ให้สิทธิ์ คิง เพาเวอร์บริหารกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีระหว่างบินบนเครื่อง ในปีถัดมา ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมือง เมื่อท่าอากาศยานกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ต่อมา ปี 2556 ได้รับอนุญาตให้เปิด คิงเพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ ถนนวัดศรีวารีน้อย-ลาดกระบัง จ.สมุทรปราการ ถือเป็นการขยายร้านค้าครั้งล่าสุดของธุรกิจ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ทำให้เวลานี้ คิง เพาเวอร์ มีสาขาในรูปแบบคอมเพล็กซ์ 4 แห่ง คือ ถ.รางน้ำ, พัทยา, ศรีวรา และภูเก็ต ส่วนสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินมี 6 แห่ง คือ ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต และอู่ตะเภา
ส่วนธุรกิจอื่นยังมีโรงแรมพลูแมน, โรงละครอักษรา และภัตตาคารรามายณะ รวมทั้งถือหุ้นในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ถือหุ้นในสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในสัดส่วน 39% เมื่อปี 2559 ก่อนที่จะขายหุ้นคืนไปในปีถัดมาเหลือถือไว้เพียง 3.5% ขณะเดียวกัน ช่วงต้นปี 2561 เจ้าสัววิชัย ยังทุ่มเงิน 14,000 ล้านบาท ซื้อโครงการมหานคร เพื่อรุกธุรกิจการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มในที่ดินผืนดังกล่าว
ในปีหลังๆ เจ้าสัววิชัย เริ่มผ่องถ่ายธุรกิจส่งไม้ต่อให้กับทายาท หนึ่งในนั้น คือ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์” โดยวางเป้าหมายการลงทุนในช่วง 5 ปี (2560 - 2564) ทำรายได้ให้เติบโตประมาณ 140,000 ล้านบาท ผลักดันอาณาจักรคิง เพาเวอร์ ให้ติดอันดับท็อปไฟว์ร้านค้าปลอดภาษีและอากรในระดับโลก
เจ้าสัววิชัย นอกจากจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ แล้วยังเป็นนายกสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย และประธานสโมสรฯเลสเตอร์ ซิตี้ โดยเข้าไปซื้อกิจการในปี พ.ศ.2553 ซึ่งช่วงแรกถือหุ้น 51% ก่อนที่ในปีเดียวกันได้เข้าถือหุ้นเพิ่มเป็น 100% มูลค่าการซื้อขายทั้งหมดอยู่ที่ราว 40 ล้านปอนด์ และในปี พ.ศ.2554 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสโมสรฯอย่างเต็มตัว
ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์ ในการจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2561 นายวิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศ โดยมีทรัพย์สินทั้งหมด 5,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 171,000 ล้านบาท
เจ้าสัวผู้สร้างตำนาน “จิ้งจอกสยาม”
เจ้าสัววิชัย เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีชั้นแนวหน้าของเมืองไทยที่ครบเครื่องทั้งวงการธุรกิจ กีฬา พระเครื่อง และการเมือง โดยด้านกีฬา เขาคือแฟนบอลตัวยง กระทั่งเป็นมหาเศรษฐีคนที่สองของไทยที่เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ โดยคนแรกคือ นายทักษิณ ชินวัตร ซื้อทีมเรือใบสีฟ้า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2550 ก่อนขายทิ้งในปีต่อมา แต่ว่าเจ้าสัววิชัย ซื้อสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2553 เพื่อสร้างตำนานให้โลกตะลึง เพราะเวลานั้น “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” อยู่ในลีกรองเดอะแชมเปี้ยนชิพ
เจ้าสัววิชัย มองว่า การสร้างทีมเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ปัญหาขึ้นอยู่กับคุณภาพพัฒนาการของนักเตะและวิธีการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นทำให้การเจรจาระหว่างนายวิชัย กับ มิลาน แมนดาริช เจ้าของและประธานสโมสร ใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ก็ตกลงซื้อหุ้นเกิน 51% ในราคา100 ล้านปอนด์ (5,000 ล้านบาท) และตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะยกระดับเลสเตอร์ ซิตี้ จากแชมเปี้ยนชิพขึ้นไปอยู่พรีเมียร์ลีกให้ได้
หลังทุ่มเทด้วยใจรักในฐานะประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ทะยานคว้าแชมป์แชมเปี้ยนชิพในฤดูกาล 2013-2014 (พ.ศ. 2556-2557) ได้สิทธิกลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ก่อนประสบความสำเร็จถึงขีดสุดเมื่อคว้าแชมป์พรีเมียร์ได้ในฤดูกาล 2015-2016 (พ.ศ. 2558-2559) ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่วงการลูกหนังโลกต้องจารึก หลังจากนั้น “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” ก็ได้รับฉายาใหม่จากสื่อมวลชนและแฟนบอลชาวไทยว่า “จิ้งจอกสยาม” ที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทย ถึงขนาดมีขบวนแห่แหนนักเตะกลางกรุง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2559
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้ ชื่อของเจ้าสัววิชัยไม่เป็นที่รู้จักของสังคมอย่างกว้างขวางมากนัก กระทั่งเมื่อ “เลสเตอร์” สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ ชื่อของเขาจึงโดดเด่นขึ้นมาในฐานะผู้สร้าง “เทพนิยาย” อันน่าเหลือเชื่อ และขยายวงออกไปอีกเมื่อร่วมบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของ “ตูน บอดี้สแลม” รวมถึงอีกหลากหลายโครงการที่เขาทำเพื่อสังคม
ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากรวมถึงประเทศอังกฤษอีกด้วย
เขากลายเป็นบุคคลในระดับเวิลด์คลาส และนับเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกเป็นอย่างมาก
ชื่นชอบโปโล เชื่อมสัมพันธ์ราชวงศ์-ชนชั้นสูง
ไม่แต่ฟุตบอลเท่านั้น เจ้าสัววิชัย ยังโปรดปรานโปโลถึงกับควักเงิน 10 ล้านปอนด์ หรือราว 500 ล้านบาท ซื้อสนามโปโลกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “คิง เพาเวอร์ บิลลิ่งแบร์ โปโล พาร์ค” สนามแห่งนี้ต้อนรับราชวงศ์อังกฤษเป็นประจำทุกปี ในรายการแข่งขันโปโลการกุศล เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งบรูไน เสด็จเข้าร่วมการแข่งขันรายการ “เดอะ คิง เพาเวอร์ รอยัล ชาริตี โปโล คัพ 2017”
หรือการแข่งขัน “จักกราวาตี้-คิง เพาเวอร์” เมื่อปี2015 ซึ่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และเจ้าชายวิลเลียม ทรงร่วมแข่งในนามทีมคิง เพาเวอร์ ด้วย ทำให้ชื่อเจ้าสัววิชัย ปรากฏในแวดวงสังคมชั้นสูงของอังกฤษเสมอเพราะการแข่งม้าถือเป็นกิจกรรมของชนชั้นนำ
นายวิชัยเคยตอบคำถามไว้ในนิตยสารแพรว (24 ม.ค. 2558) ว่า “.... จะมีคนอื่นอีกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมเป็นคนเริ่มต้นแรก ๆ ตั้งแต่เล่นกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ก่อนทรงรีไทร์ ต่อมาก็ได้เล่นกับพระโอรสของพระองค์ท่านทั้งสองพระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี แต่ทุกครั้งเป็นการเล่นเพื่อการกุศลหมดนะ”
ปัจจุบันนายวิชัย เป็นเจ้าของสนามโปโล 3 แห่ง โดยเป็นผู้นำกีฬาขี่ม้าโปโลเข้ามาในเมืองไทย และก่อตั้งสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทยในปี 2547 โดยเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก
นอกจากนี้ นายวิชัยยังเป็นผู้นิยมสะสมพระเครื่องชื่อดัง มูลค่าสูงคนหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งสะสมมาจนกระทั่งสามารถเปิดเป็น ‘พิพิธภัณฑ์พระ วีอาร์ มิวเซียม (VR Museam)’โดย พระเครื่อง”ที่นายวิชัย เน้นสะสมเป็นพิเศษก็คือ พระสมเด็จวัดระฆัง ซึ่งเกือบทุกองค์ที่ชื่อดังในประเทศไทยต่างปรากฏชื่อนายวิชัยเป็นผู้เช่าแทบทั้งสิ้น ส่งผลให้ในปี 2552 นายวิชัย ได้รับตำแหน่งคอลเลกเตอร์แห่งอาณาจักรพระเครื่องไทยไปครอบครอง
ทั้งนี้ พระสมเด็จวัดระฆัง ที่นายวิชัย ครอบครองอยู่มีหลายพิมพ์หลายแบบ เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ได้จากนายมนตรี พงษ์พานิช, พระสมเด็จวัดระฆัง ทรงเจดีย์ ที่เคยเป็นของตรียัมปวาย, พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ (เศียรสะบัด) องค์เกศสะบัด, พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ องค์แชมป์ ชื่อ องค์เสี่ยหน่ำ, พระสมเด็จวัดระฆัง องค์เปาบุ้นจิ้น เป็นต้น
มีการประเมินมูลค่าพระเครื่องที่อยู่ในกรุพระของนายวิชัยว่าอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท
และวันนี้ แม้นายวิชัยจะจากไป แต่เชื่อเหลือเกินว่าเรื่องราวชีวิตของเขาจะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป