ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกิดคำถามว่า... เพลงแร็ปที่ดังก้องประเทศอย่าง “ประเทศกูมี” ซึ่งมีเนื้อหาเสียดแทงสะท้อนสังคมที่พ่นผ่านลมปากของกลุ่มนักร้องแร็ปเปอร์หนุ่มสาว ที่เรียกตัวเองว่า “Rap against dictatorship” หรือ “Rad” (แรด) กลั่นออกมาจากจิตสำนึกบริสุทธิ์ที่มีต่อบ้านเมืองมากน้อยเพียงใด
“ประเทศกูมี” แท้จริงเป็น “แร็ปสร้างสรรค์” หรือ “แร็ปสุมไฟการเมือง” เพราะถึงจะเป็นแร็ปสะท้อนเรื่องจริงในเมืองไทยวันนี้ แต่ก็เลือกหยิบแค่ความจริงเพียงบางส่วนขึ้นมาแร็ป โดยมีเป้าประสงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะบางช่วงบางตอนมีการชักชวนให้คนฟังมาร่วมต่อต้านรัฐบาลทหาร
นอกจากนี้ มิวสิกวิดิโอเพลงประกอบ “ประเทศกูมี” ยังถูกวิจารณ์อย่างกว้างขว้าง ด้วยโปรดักชั่นปลุกเร้าอารมณ์จำลองภาพเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในอดีต 6 ตุลาฯ 2519 ประกอบการร้องเพลงเป็นเวลาหนึ่งนาทีเศษจากความยาวของเพลงทั้งหมดประมาณห้านาทีเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเพลงเลยแม้แต่น้อย และส่อให้เห็นถึงเป้าหมาย “อันลึกซึ้ง” ที่ซุกซ่อนอยู่ตลอดการนำเสนอ
ไม่นับรวมถึงการใช้ภาษาหยาบคายอันไร้รสนิยม ซึ่งอาจทำให้ซึมซับความหยาบและความรุนแรงเหล่านั้นเข้าไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็กและเยาวชน” เช่นเดียวกับการก่นด่าประเทศของตัวเอง แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เป็นรายกรณี รายบุคคล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มิได้เป็นการสร้างสรรค์ หากทำให้ความขัดแย้งในสังคมคุกรุ่นต่อไป
-1-
สำหรับ “ประเทศกูมี” คือผลงานเพลงของกลุ่ม Rap against dictatorship หรือ Rad (แรด) กลุ่มนักร้องเพลงแร็ปรุ่นหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง สร้างผลงานเพลงแร็ปโดย “อ้าง” เพื่อเป็นสื่อสังคมสะท้อนปัญหาบ้านเมืองกลายๆ และทุกประโยคกลั่นออกมาจากจิตสำนึกที่มีต่อบ้านเมือง
แต่เมื่อเงี่ยหูฟังพร้อมกับพินิจพิจารณาเนื้อหาและมิวสิกวิดิโอเพลงประเทศกูมี ที่ปล่อยสู่สาธารณะก็ไม่อาจเชื่อไม่อย่างสนิทใจว่าเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ที่ถือเป็นของแสลงรัฐบาล คสช. จะเป็นผลิตผลของศิลปะดนตรีและเพลงอันบริสุทธิ์ ไร้เบื้องหลังไร้ผู้บงการชี้นำ
อีกทั้งยังเกิดคำว่าสะท้อนในสังคมตามว่า กลุ่มแร็ปเปอร์ Rad กลั่นเนื้อร้องทำนองแร็ปโย่วดังกล่าว ออกจากหัวคิดตัวเองตามที่กล่าวอ้างกันอย่างนั้นจริงหรือไม่ แม้มีการเปิดเผยจากกลุ่ม Rad ออกมาว่า เงินทุนการทำเพลงประเทศกูมี ระดมทุนมาจากกลุ่มคนอุดมการณ์เดียวกัน แม้จะเป็นความจริงก็เชื่อสนิทใจว่าเป็นความจริงที่ยังพูดไม่หมด
ส่วนเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่า เบื้องหลังการทำเพลงประเทศกูมี ยังมีความจริงบางประการที่ปิดบังซ่อนอยู่ มีการตั้งข้อสังเกตุในประเด็น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ซึ่งให้ความช่วยเหลือ เพราะหากไม่มีเงินทุนหนาพอ “ประเทศกูมี” เพลงแร็ปเพลงนี้ คงยากที่จะเกิดและถูกปล่อยออกมา เนื่องจากดูผลงานทั้งเพลงดนตรีและมิวสิกวิดีโอ รูปแบบการทำงานน่าจะต้องทำเป็นทีมใหญ่ ลำพังแค่เงินระทุนจากผู้ร่วมอุดมการณ์กลุ่มแร็ปเปอร์ Rad อีกทั้ง การสร้างเพลงและมิวสิกวิดิโอมีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่น้อยๆ และที่แน่ๆ เงินทุนที่ลงทุนไปน่าจะหลักล้านบาท
เป็นไปได้หรือไม่ “เบื้องหลังประเทศกูมี” จะมีสปอนเซอร์รายใหญ่คอยให้การสนับสนุนอยู่ หรือตกเป็นเครื่องมือทำตาม “ใบสั่ง” ใครหรือไม่
สำหรับกระแสเพลงดังกล่าวมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ที่หนักหน่อยคือถูกวิจารณ์ไปว่าโน้มเอียงฝักใฝ่กับกลุ่มการเมืองบางขั้ว เพราะในเนื้อเพลงเลือกพูดความจริงไม่หมด ละเว้นไม่พูดถึงปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะในยุคสมัย นช.ทักษิณ ชินวัตรและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เช่น ไม่พูดถึงปัญหาการโกงจำนำข้าวที่ประเทศเสียหายหลายแสนล้านบาท จนงบประมาณแผ่นดินประสบปัญหา ชาวนาผูกคอตายไปหลายสิบคน หรือปัญหาความขัดแย้งการเมือง ปี 53 คนเสื้อแดงออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีการเผาบ้านเผาเมือง ห้างกลางกรุงโดนเผา ศาลากลางจังหวัดถูกม็อบวางเพลิงวอดวายไปหลายจังหวัด เป็นต้น
และที่เรียกเสียงวิพากษ์ไม่น้อย ฉากจบในเอ็มวีที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้เก้าอี้พับตีร่างชายที่ถูกแขวนคอในการประท้วง 6ตุลาฯ 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับกับเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน เป็นการแสดงให้เห็นว่า คนทำเพลงประเทศกูมีจงใจเอาภาพความรุนแรงในอดีต มายัดใส่ในเอ็มวีเพื่อให้เห็นถึงความรุนแรง เป็นการตอกย้ำความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ลงเอยด้วยการใช้อำนาจรัฐด้วยความรุนแรงโหดร้ายเข้าปราบปรามประชาชน และเข่นฆ่าอย่างทารุณ
ทั้งๆ ที่ หากเนื้อหาเพลงมุ่งจะวิจารณ์เฉพาะเผด็จการทหารเพียงอย่างเดียว ตัวเลือกที่น่าจะนำเสนอได้ชัดเจนกว่าคือ เหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 มากกว่า
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเจตนาที่ถูกมองว่าตั้งใจ “บิดเบือน” เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในกลุ่มแร็ปเปอร์ Rad ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ประชาไท ว่า แร็ปเปอร์เบื้องหน้าที่มีบทบาทในเพลงประเทศกูมี แต่ละคนถูกเลือกตัวมา โดยโปรดิวเซอร์เพลงได้นำตัวพูดคุยตรวจสอบความคิดอ่านเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองทุกคนก่อนที่จะให้เขียนเพลงดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นชวนคิดว่า แร็ปเปอร์ Rad ถูกนำตัวไปปรับฐานความคิดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาบ้านเมืองที่ต้องการสื่อไว้ในบทเพลง แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นการพูดคุยเพื่อให้สื่อสารออกไปตรงกันก็ตาม
จึงเกิดคำถามว่า วิธีการทำงานลักษณะนี้ เป็นความคิดบริสุทธิ์หรือให้อิสระของแร็ปเปอร์ได้ขนาดไหน หรือวิธีนี้เป็นการจับใส่ปากให้แร็ปเปอร์ร้องตาม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ชวนคิดว่าเบื้องหลังมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองมีใครบงการหรือไม่ แต่ถ่ายทอดผลงานสร้างงานศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์โดยอิสระ ย่อมเป็นเรื่องน่าชื่นชม
“นายเดชาธร บำรุงเมือง” หรือ “ฮอร์ค” และ “นายพัทธดนย์ วงษ์สมัย” หรือ “เต้” สมาชิก Rap against dictatorship หรือ Rad ได้เปิดเผยผ่านทางอัมรินทร์ ทีวี ถึงปรากฎการณ์เพลงประเทศกูมีที่กลายเป็นกระแสเปรี้ยงปร้างในสังคมไทย ความว่า
ประเทศกูมีเป็นเพลงที่กลุ่ม Rad ต้องการที่จะถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาสังคมทางการเมือง ซึ่งเป็นการชวนแร็ปเปอร์หลายๆ คน มาร่วมด้วย โดยทุกคนจะต้องแต่งเนื้อร้องของตัวเองมา แล้วมาคัดกรองกันอีกที แต่ละท่อนเป็นท่อนจากความเห็นส่วนบุคคลของแร็ปเปอร์แต่ละคนที่ถ่ายทอดออกมาตามความรู้สึกส่วนตัว ไม่ได้มีการแบ่งกันหรือเตรียมกันว่าใครต้องพูดเนื้อหาช่วงไหน พวกตนไม่ได้บอกว่าเนื้อหาช่วงไหนผิดหรือถูก แต่เป็นการนำเสนอมุมมองของแต่ละคน และคนฟังจะเป็นคนตัดสินใจเอง
เพลงประเทศกูมี จุดประสงค์หลักคือแต่งขึ้นเพื่อต้องการให้มีการถกเถียงและนำไปสู่การแก้ไข โดยจุดยืนของ Rap against dictatorship แร็ปเพื่อต่อต้านทั้งระบอบเผด็จการทหาร ต่อต้านอำนาจที่เบ็ดเสร็จ อำนาจที่ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมหรือมีโอกาสน้อยมากในการแสดงความคิดเห็น และอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย
สำหรับเพลงประเทศกูมี ถูกมองว่าได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของศิลปินชาวอเมริกันผิวสี ชายดิซ แกมบิโน (childish gambino) หรือชื่อจริงคือ โดนัล โกรเวอร์ มีอาชีพนักแสดงและพิธีกรชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวจากการทำเพลงเพื่อสังคม โดยผลงานล่าสุดของ ชายดิซ แกมบิโน คือเพลง This is America ที่ว่ากันว่าประจานความเลวร้ายของสังคมสหรัฐอเมริกาอย่างตรงไปตรงมา แต่มีการแสดงที่สื่อออกมาได้แยบคาย
-2 -
ด้วยเหตุดังกล่าว สปอตไลท์จึงสาดแสงไปที่กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้อยู่เบื้องหลังเพลง “ประเทศกูมี” อีกทั้งมีการขุดประวัติว่าคนกลุ่มนี้ ฝักใฝ่กลุ่มการเมืองเป็นกลุ่มเสื้อแดง
ทั้งนี้สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังมิวสิกวิดีโอประเทศกูมีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสื่อสารโดยใช้จำลองเหตุรุนแรงทางการเมือง 6 ตุลาฯ 2519 ก็คือ “นายธีระวัฒน์ รุจินธรรม” หรือ “เปีย” ที่นั่งแท่น “โปรดิวเซอร์” กำกับมิวสิกวิดีโอประเทศกูมี
(ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ถูกนำเสนอในมิวสิกวิดีโอด้วยความตั้งใจ ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหา)
ธีระวัฒน์ เปิดใจว่า เป็นการออกแบบเพื่อสื่อสารตามเนื้อหาของเพลงที่กำลังบอกเล่าถึงปัญหาของประเทศไทยในตอนนี้ กล่าวคือ มิวสิกวิดีโอเพลงเป็นภาพประกอบที่ส่งเสริมเนื้อหาของเพลง ให้ผู้ฟังผู้ชมมีอารมณ์และรสชาติเพิ่มมากขึ้น
นายธีระวัฒน์ เปิดเผยถึงการเลือกใช้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาประกอบ เนื่องจากเมื่อสมัย 20 ปีก่อน เคยถ่ายภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และมีการวางฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เข้ามาประกอบด้วย แต่สุดท้ายต้องลบฉากดังกล่าวออก กระทั่ง มีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปิน กลุ่ม Rad จึงเสนอแนวคิดนี้
เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แม้ผ่านไปแล้วกว่า 44 ปี แต่เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เลือนหาย จึงเป็นอุปมาอุปไมยบางอย่างที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่คล้ายคลึงกับภาพปัจจุบัน
ทว่า เมื่อสืบค้นเบื้องหลังของ “ธีระวัฒน์” ก็พบว่า เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และรวมทั้ง Rap Against Dictatorship
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของภาครัฐที่จะเอาผิดเพลงประเทศกูมีหลังมีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา กลับกลายเป็นตีปิ๊บพีอาร์ให้ดังยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ครั้นจะสั่งเก็บเอาออกจากอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุคลิปฝังกระจายไปถ้วนทั่วทั้งยูทิวบ์และเฟซบุ๊ก
อีกทั้งมีการเปิดเผยว่าคลิปมิวสิกวิดิโอเพลง “ประเทศกูมี” ถูกอัปโหลดในเว็บ ipfs.io ซึ่งที่จะมีการเก็บไฟล์แบบแยกไว้ทั่วโลก ทำให้ไฟล์ที่ถูกอัปบนเว็บไซต์ดังกล่าวนั้นไม่สามารถถูกลบได้ และไม่สามารถถูกบล็อกเพื่อไม่ให้เข้าถึงได้อีกด้วย โดยลิงก์ของไฟล์ดังกล่าวนั้นยังได้ถูกเก็บไว้บนบล็อกเชนของเหรียญคริปโตด้าน privacy ที่ปกปิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ทำธุรกรรมและเส้นทางการทำธุรกรรม
ข้อมูลทางเทคนิคเว็บ ipfs.io เป็นเว็บไซต์แบบ peer-to-peer hypermedia protocol เมื่อผู้ใช้งานอัปโหลดไฟล์ขึ้นไปแล้ว ไฟล์ดังกล่าวจะถูกนำไป distributed หรือเผยแพร่อยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนที่อยู่ทั่วโลก ส่งผลให้ไม่สามารถถูกลบหรือแก้ไขได้ จนกว่าเครือข่ายทั่วโลกนั้นจะล่มพร้อมกันทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่สามารถถูกบล็อกหรือกีดกันการเข้าถึง
-3-
และแน่นอนว่า ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ จะด้วยความทะเล่อทะล่าหวังเอาใจนายหรืออย่างไรไม่ทราบ เกิดกระแสข่าวตำรวจใหญ่ขู่ใช้กฎหมายกำราบเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม โดยเฉพาะประเด็นต่อต้านเผด็จการอย่างเผ็ดร้อน แต่สุดท้ายต้องเหยียบเบรกดังเอี๊ยด กลับลำแทบไม่ทัน
เพราะทันทีที่เพลง “ประเทศกูมี” ปล่อยออกออกมา เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2561มีข่าวว่านายตำรวจใหญ่เตรียมจัดหนักเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์กับผู้เกี่ยวข้องกันถ้วนหน้า ตั้งแต่ “บิ๊กปู - พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล” รอง ผบ.ตร. ที่เตรียมขอหมายจับดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษถึงติดคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเงินไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตามด้วยข่าว “บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล” รรท.ผบช.สตม. ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สั่งการให้ตรวจสอบรายละเอียด ตีกรอบ 3 กลุ่ม 1. คนอัปโหลด 2. ผู้ที่ทำ-แต่งเพลง และ 3. คนกดไลค์กดแชร์
รวมกระทั่งถึง “เสี่ยบี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กระโดดเข้ามาเล่นเรื่องนี้ด้วย
เรียกว่า ปั่นกระแสเพลงต้องห้าม “ประเทศกูมี” ให้แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เห็นได้จากยอดวิวหลักหมื่นหลักแสนที่ทะยานสู่ 20 กว่าล้านวิว ในเวลาไม่ถึงอาทิตย์
และเรียกว่าหากไม่ได้พีอาร์ระดับบิ๊กช่วยปั่นกระแสฟีดแบคคงไม่แรงขนาดนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวลือที่ปล่อยออกมานั้น ยิ่งปั่นกระแสให้เพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ฮอตฮิตติดชาร์ต ยอดวิวทะลุหลักสิบล้านชั่วข้ามคืน เรียกว่าร้อนแรงจน “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ต้องออกปากปรามดังๆ
“เรื่องอะไรไม่สำคัญอย่าไปสนใจ เรื่องในเว็บไซต์ ในโซเชียล เปิดดูสิจากเพลงอะไรก็ไม่รู้ อย่าไปสนใจ ผมไม่สนใจ สนใจมันทำไม สนใจก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็คิดแล้วกันว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ใช้วิจารณญาณว่าอย่างไร ฟังแล้วว่าอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ มันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ
“ถ้าเผด็จการผมไม่ต้องมาแบบนี้หรอก พูดจนเมื่อยอยู่แล้ว ใช่ไหม ถ้าเผด็จการนั่งสั่งอย่างเดียว หาผลประโยชน์เท่านั้น แต่ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น และนี่ผมคิดว่าผมทำมาก กว่าด้วยซ้ำไป อย่าให้ใครเขามาบิดเบือน
“ฉะนั้นหากเราปล่อยให้มีเรื่องอย่างนี้ และนิยมชมชอบว่าเป็นสิทธิเสรีภาพโดยที่ไร้ขีดจำกัด วันหน้ามันจะเดือดร้อนกับท่าน ครอบครัวท่าน ลูกหลานท่านจะว่าอย่างไร ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ ผมว่าเราอยู่กันไม่ได้หรอก อย่าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือคนอื่น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว
และหลังจากนั้นไม่นาน “บิ๊กโจ๊ก -พล.ต.ต.สุรเชษฐ์” ที่ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กแฟนเพจแก้ข่าวว่า “ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีนี้โดยตรง” และยังโพสต์อีกว่า “เยาวชนคนไทยมีสิทธิแสดงความคิดเห็น”
พร้อมๆ กับ “บิ๊กปู - พล.ต.อ.ศรีวราห์” ที่ใส่เกียร์ถอยหลังตามมาติดๆ โดยออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระแสเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ความว่าสามารถแชร์ได้ไลค์ได้โพสต์ได้ แต่ถ้าบิดเบือนต้องถูกดำเนินคดี รวมทั้ง มีการแจ้งความร้องทุกข์กรณีถูกกล่าวหาและไปบิดเบือนว่าตนเองว่าจะจับกุมคนแชร์คลิปประเทศกูมี จำนวน 4 ราย ในข้อหาดูหมิ่นและหมิ่นประมาททำให้ตนเองเสียหาย
“ผมไม่ได้ถอย ผมไม่ได้สั่งให้ทำอะไรเลย แค่ให้ตรวจสอบ ยังไม่ได้กระทบสิทธิ์ใครเลย สื่อก็เอาไปเขียนว่าผมสั่งจับ ...ขอยืนยันว่า สามารถแชร์ได้ , ฟังได้ , ไลค์ได้ ตามปกติ” พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล กล่าว และเป็นอันชัดเจนแล้วว่า “ประเทศกูมี” เพลงแร็ปเจ้ากรรมที่กำลังเป็นกระแสนั้นไม่ผิดกฎหมายใดๆ ใครใคร่ฟังกดไลค์แชร์ต่อก็เชิญตามอัธยาศัย
แต่จะอย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า เพลงนี้ได้แทรกซึมไปทุกซอกหลืบของสังคมไทย และบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองเหนือความคาดหมาย ผ่านการนำเสนอ “ความจริง” ที่มี “การจัดตั้ง” และเตรียมการอย่างดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ปรากฎการณ์ดั้งกล่าวบ่งบอกถึงความเป็นจริงของสังคมไทยที่ไม่อาจมองข้ามว่า อารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนจำนวนมากในสังคมที่มีต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นั้นเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดีนักและเมื่อมีคนมาจุดชนวนวิพากษ์ด้วยเพลงการเมือง กระแสการตอบรับจึงแพร่กระจายออกไปราวกับไฟลามทุ่ง