xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

องค์การค้า สกสค.วิกฤต “ศึกษาภัณฑ์ฯ” กำลังย่ำแย่ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด วันนี้ก็มาถึงสำหรับสถานการณ์อันเลวร้ายของ “องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)” หรือ “ กระทรวงศึกษาธิการ ” กระทรวงศึกษาธิการ หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า “องค์การค้าของคุรุสภา” และกำลังนำไปสู่กระแสข่าวการปิดตัวของร้านค้าที่นักเรียนไทยทั้งประเทศหลายยุคหลายสมัยคุ้นเคยกันดีอย่าง “ศึกษาภัณฑ์พานิชย์”

ใครเลยจะไปเชื่อว่าหน่วยงานที่มีสภาพไม่ต่างอะไรจาก “เสือนอนกิน” ด้วยการรับพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับหน่วยงานต่างๆ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ทางการศึกษาที่ไม่ว่ามองอย่างไรก็ไม่เห็นหนทาง “เจ๊ง” จะเผชิญกับความเลวร้ายอันคาดไม่ถึงเช่นนี้

ที่สำคัญคือ ปัญขององค์การค้า สกสค.นั้นมีมาเนิ่นนาน แต่กลับไม่ได้มีการแก้ไข และปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายออกไป

ก่อนหน้าปัญหา “ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์” ไม่นานนัก องค์การค้า สกสค.ตกเป็นข่าวครึกโครมหลัง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เตรียมพิจารณาเลิกจ้างองค์การค้า ของ สกสค. จัดพิมพ์หนังสือเรียน ที่สสวท.เป็นผู้แต่ง เนื่องจากที่ผ่านมา การจัดพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯ มีความล่าช้า พร้อมทั้งมีมติ. มีมติจ้าง โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์แบบเรียนของสสวท.ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย คิดเป็นสัดส่วน 80% ของจำยอดพิมพ์ทั้งหมดที่เคยจ้างองค์การค้าฯจัดพิมพ์ แต่สุดท้ายก็มีการ “เกี้ยเซี้ยะ” จน สสวท.ยินยอมให้ องค์การค้าของ สกสค.ได้ลิขสิทธิ์พิมพ์ตำรา 70%

แต่ความวัวยังไม่ทันหายสะเด็ดน้ำ ความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อมีการออกมาให้ข้อมูลเรื่องปัญหาการขาดทุนของ “ร้านศึกษาภัณฑ์” ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ สกสค.เช่นเดียวกัน โดยพบว่า สาขาจำนวนมากประสบกับสภาวะ “ขาดทุน” และบางสาขาขาดทุนอย่าง “รุนแรง”

ทั้งนี้ สกสค.อ้างว่า ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ศึกษาภัณฑ์หลายสาขาต้องขาดทุน ไม่ใช่เรื่องของการบริหารจัดการ แต่สาเหตุหลัก คือค่าเช่าที่มีราคาค่อนข้างสูง เช่น สาขาราชดำเนินมีค่าเช่าเดือนละ 900,000 บาท อีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คืออัตราเงินเดือนของพนักงาน ที่เพิ่มขึ้นตามความอาวุโสปีละกว่า 700 ล้านบาท

วีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ทั้งหมด 10 แห่ง อยู่ในกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง และอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ 1 แห่ง มีพนักงานรวมกว่า 200 คน และขณะนี้องค์การค้าฯ มีหนี้สินอยู่ประมาณ 3-4 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันสังคมภายนอกรู้จักองค์การค้าฯ ด้านเดียวคือการจัดพิมพ์ และขายแบบเรียน แท้จริงเเล้วองค์การค้าฯ มีกิจการมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน เป็นต้น โดยปัญหาใหญ่ขององค์การค้าฯ เป็นเรื่องหนี้สิน ซึ่งมีหนี้เร่งด่วนที่ต้องชำระ คือค่ากระดาษ และค่าจ้างพิมพ์ ประมาณ 1,300 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยเดือนละ 5 ล้านบาท และต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานอีกเดือนละ 40 ล้านบาท

29 ต.ค.61....อรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือระหว่างผู้บริหาร สกสค. และทีมผู้บริหารองค์การค้าของ สกสค.ว่า ขณะนี้องค์การค้าฯมีสินค้าค้างสต็อกรวมราคาเกือบ 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนังสือห้องสมุด อุปกรณ์การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และสื่อการเรียนการสอนประเภทของเล่นเด็ก(ทอย) ซึ่งต้องเร่งนำสินค้าค้างสต็อกออกมาจำหน่ายในราคาถูก เพื่อนำเงินส่วนนี้มาใช้ในการบริหารจัดการองค์การค้าต่อไป

ส่วนทรัพย์สินที่ สกสค.ถือกรรมสิทธิ์แทนอยู่ เช่น ที่ดิน ให้นำที่ดินมาแปลงเป็นทุน เพื่อนำเงินมาใช้ปรับปรุง ซึ่งองค์การค้าฯ มีที่ดินอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ ที่ตั้งโรงพิมพ์องค์การค้าฯ ถนนลาดพร้าว 47 ไร่ 2 งาน 76.4 ตารางวา ซึ่งกรมธนารักษ์ประเมินราคาไว้ตารางวาละ 2.5 แสนบาท มีมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท และกำลังจะหาผู้เช่าระยะ 30 ปี บนที่ดินจำนวน 2 ไร่ 3 งาน 77 ตารางวา ซึ่งอยู่ระหว่างซอย 61 กับซอย 63 ใกล้กับโรงพิมพ์องค์การค้าฯ โดยวันที่ 30 ต.ค.นี้ จะมีการประกวดราคากลาง ซึ่งตั้งไว้ขั้นต้น 365 ล้านบาทเศษ

นอกจากนี้ ยังมีที่ดินร้านศึกษาภัณฑ์ราชบพิธ เนื้อที่ 3 งาน 85 ตารางวาราคาประเมิน ตารางวาละ 2.8 แสนบาท รวมมูลค่า 107 ล้านบาท และที่ดินที่ร้านศึกษาภัณฑ์สาขาอ้อมน้อย ถ.เพชรเกษม จำนวน 1 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา ราคาประเมิน ตารางวาละ 99,000 บาท มูลค่า 35 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน องค์การค้าฯ ยังมีที่ดินกระจายอยู่ตาม จ.อุทัยธานี จำนวน 20 ไร่ , จ.ร้อยเอ็ด เกือบ 50 ไร่ , จ.นครราชสีมา 25 ไร่ , จ.นครสวรรค์ 10ไร่ , จ.อุตรดิตถ์ 54 ไร่ และ จ.ลำปาง 2.3 ไร่

“ที่ดินทั้งหมดขององค์การค้าฯ รวมราคาประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน องค์การค้าฯมีลูกหนี้ คือ สถานศึกษาและส่วนราชการ ที่ยังไม่ได้จ่ายพิมพ์หนังสืออีกจำนวน 381 ล้านบาท ซึ่งกำลังทยอยคืนเงินมา และหากองค์การค้าฯ มีรายได้เข้ามา ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจ่ายเงินเดือนพนักงาน ซึ่งองค์การค้าฯ ไม่ได้รับพนักงานเพิ่มมา 9 ปีแล้ว”

นอกจากนั้นที่ประชุมได้มอบหมายให้องค์การค้าฯ ไปทำแผนลดอัตรากำลังคนที่ไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกับพนักงานและเจ้าหน้าที่ประจำ แต่ให้มีแผนลดพนักงานชั่วคราว รายปี หรือจ้างเหมาลง หากหมดสัญญาจ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้องค์การค้าฯ มีพนักงานรวมทั้งหมด 1,499 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานประจำ 1,131 คน ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายปี 258 คน และแรงงานจ้างเหมา 110 คน หากส่วนไหนเกินความจำเป็นก็ต้องปรับย้าย หรือบางกรณีจำเป็นก็ต้องเลิกจ้าง ส่วนการโอนพนักงานจากองค์การค้าฯ มาอยู่ สกสค.ยังมีข้อติดขัดข้อกฎหมาย แต่หากพนักงานองค์การค้าฯพอใจในอัตราเงินเดือนที่ สกสค.จ้าง ก็มาได้ เพราะ สกสค.ไม่สามารถจ้างในอัตราเงินเดือนที่สูงเท่าองค์การค้าฯได้

ส่วนร้านค้าศึกษาภัณฑ์ที่ขาดทุนอยู่ในขณะนี้ พบว่า มีจำนวน 3 แห่ง คือ ร้านศึกษาภัณฑ์ราชดำเนิน , ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สาขาเซียร์รังสิต และร้านศึกษาภัณฑ์สนามกีฬาแห่งชาติ จึงให้ไปปรับกลยุทธ์ภายในใหม่ ส่วนร้านศึกษาภัณฑ์ราชดำเนินกำลังจะหมดสัญญาในเดือน มี.ค.62 และช่วงนี้เจ้าของอาคารมีการซ่อมแซมโดยใช้เวลา 2 ปี ดังนั้นทางร้านศึกษาภัณฑ์จะย้ายพนักงานไปช่วยที่สาขาอื่นก่อน

ด้าน “นิวัติชัย แจ้งไพร” ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าฯ ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาขององค์การค้าฯ ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้เช่าที่ดินบางแปลงหรือการลดอัตรากำลังคน เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงก็คือ “การบริหารจัดการ” เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารบ่อยทำให้การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัญหาจากปี 2560 คือการตีพิมพ์หนังสือเรียนล่าช้า รวมถึงการทุจริตภายในองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง

ความล่าช้าที่นายนิวัติชัยว่านั้น ทำให้รายได้ขององค์การค้าฯ ในส่วนนี้กว่า 800 ล้านบาท หายวับไปกับตาเลยทีเดียว จนนพ.ธีระเกียรติจึงต้องออกโรงเชิญนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท.มาเจรจาด้วยตัวเอง จน สสวท.ต้องยอมให้โอกาสองค์การค้าฯ ครั้งสุดท้าย

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ในที่ประชุมองค์การค้าของ สกสค. ได้เสนอร่างแผนการพัฒนาองค์การค้าของ สกสค.ซึ่งแผนดังกล่าวมีความชัดเจน และจะมีการดำเนินการในหลายเรื่อง เช่น การผลิตสื่อการเรียนการสอน ตราสัญลักษณ์ลูกเสือ เป็นต้น และที่ประชุมยังได้การจัดตั้งคณะกรรมการการกำหนดเรื่องสื่อการเรียนการสอนในหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งหมด เพราะตามกฎหมายหน่วยงานของรัฐจะต้องใช้ หรือซื้อของจากหน่วยงานรัฐก่อน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมศึกษาภัณฑ์ โดยคาดจะเอาภาคเอกชนเข้ามาร่วม แต่จะเป็นการร่วมในลักษณะร่วมทุน หรือจะดำเนินการอย่างไรนั้น องค์การค้าของ สกสค.จะต้องไปศึกษาในเรื่องนี้ และ สกสค. ยังมีข้อเสนอให้สถานพยาบาลของ สกสค. เปิดคลินิกนอกเวลา เพื่อเปิดให้ทุกคนได้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งทาง สกสค.จะไปศึกษารายละเอียด ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้นพ.โสภณ นภาธร ผู้ช่วย รมว.ศธ.เข้ามาช่วยดูแลด้วย

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานนี้เต็มไปด้วยปัญหาสารพัดสารพัน เต็มไปด้วยฉาวโฉ่นับครั้งไม่ถ้วน เรียกว่า ไม่ว่าจะหยิบจับตรงไหนก็พบปัญหาเกลื่อกลาดไปหมด และผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ไม่ได้รับการสะสางจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงๆ จังๆ สักที ทำให้ปัญหาหมักหมมกลายเป็นดินพอกหางหมู และระเบิดออกมาในท้ายที่สุด

ดังนั้น คงไม่เกินไปนักว่า สถานกรณ์ที่องค์การค้าฯ ประสบพบเจออยู่ทุกวันนี้นั้นเป็นไปตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” อย่างจริงแท้แน่นอน และต้องติดตามด้วยใจระทึกว่า การผ่าตัดใหญ่องค์การค้าฯ ที่กำลังดำเนินอยู่นั้น จะสามารถทำให้หน่วยงานแห่งนี้ฟื้นจากสภาวะ “วิกฤต” ได้หรือไม่ อย่างไร





กำลังโหลดความคิดเห็น