xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กิมย้ง” มังกรคืนฟ้า อำลาบรรณพิภพ “สมบัติทิ้งไปได้ แต่คุณธรรมไม่อาจละทิ้งได้”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จาเหลียงยง (กิมย้ง)
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รำลึกอาลัย (31 ต.ค.) จา เหลียงยง เจ้าของนามปากกา “กิมย้ง” ผู้ประพันธ์นิยายกำลังภายในระดับตำนาน เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลาบ่ายของวันที่ 30 ตุลาคม ในวัย 94 ปี ทิ้งมรดกอันทรงคุณค่า และปรัชญาจริยธรรมของวัฒนธรรมจีนผ่านตัวละครโลกนิยายวรรณกรรมกำลังภายในที่จะยังคงโลดแล่นเป็นอมตะตลอดไป
ดร. งอเว่ย-เฉิง บุตรเขยของกิมย้ง ได้กล่าวว่า จาเหลียงยง เสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางสมาชิกในครอบครัว เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 ตุลาคม เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ซึ่งจาเหลียงยงเป็นผู้ก่อตั้ง ได้รายงานข่าวยืนยันการสิ้นลมของท่านที่โรงพยาบาล ฮ่องกงซานาโนเรียม

จาเหลียงยง เป็นทั้งนักข่าวที่วงการเคารพ, เป็นผู้นำชุมชน และเหนืออื่นใด เป็นผู้ประพันธ์นิยายกำลังภายในที่บอกเล่าเรื่องราวจรรโลงคุณธรรม ตามขนบจีนโบราณที่ยังคงร่วมสมัยตลอดกาล ชื่อและผลงานในนามปากกากิมย้ง กลายเป็นนามที่กล่าวถึงทั่วไปทั้งในชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และชาวจีนโพ้นทะเล และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนนวนิยายจีนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

เรื่องราวและตัวละครต่าง ๆ ในนิยายของกิมย้ง ก้าวข้ามพรมแดนทางการเมือง อุดมการณ์ และเส้นแบ่งเขตความคิดต่างๆ ด้วยชั้นเชิงและศิลปะแห่งการเล่าเรื่องอันเป็นจินตนาการผสานกับประวัติศาสตร์ชนิดไร้รอยตะเข็บ เป็นผลงานที่ให้ทั้งความบันเทิง และปรัชญาอันลึกซึ้งของจีน จนเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้อ่านทั่วไป ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาเกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย มียอดจำหน่ายแล้วกว่า 300 ล้านเล่มจากทั่วโลก บางแหล่งว่าอาจถึง 1,000 ล้านเล่ม หากนับรวมฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ (*ข้อมูลปี พ.ศ. 2549) โดยยังไม่นับรวมที่ดัดแปลงนำไปถ่ายทอดในภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และเกมวิดีโอ

จาเหลียงยง(查 良 庸) หรือ “กิมย้ง” เสียงจีนกลางคือ จินยง (金庸) บ้านเกิดอยู่ที่ไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียง ได้ย้ายมาตั้งรกรากที่ฮ่องกงปี พ.ศ.2491 เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในตอนอายุ 31 ปี โดยใช้นามปากกาเดียวตลอดมาคือ “กิมย้ง” เรื่องแรกคือ จอมใจจอมยุทธ ตามด้วยเรื่อง... เพ็กฮวยเกี่ยม ไตรภาคชุดมังกรหยก จิ้งจอกภูเขาหิมะ กระบี่นางพญา หลั่งเลือดมังกร แปดเทพอสูรมังกรฟ้า และเรื่องสุดท้ายคือ อุ้ยเสี่ยวป้อ รวมนิยายกำลังภายในของกิมย้ง 15 เรื่อง

นวนิยายกำลังภายในของเขาแต่ละเรื่องถือเป็น “สุดยอดผลงานที่ไม่เคยปรากฏ นับแต่อดีตจวบจนกระทั่งอนาคต” ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี ก็ยังคงครองใจคอนวนิยายกำลังภายในอยู่มิคลาย และยากที่จะมีใครเสมอเหมือน เต็มไปด้วยปรัชญาความคิดที่แสนลึกซึ้ง ทันต่อยุคสมัย ไม่เคยล้าหลังหรือตกยุค

จากอดีตกาลเป็นเช่นนี้
ปัจจุบันยังคงเป็นเช่นนี้
จวบจนอนาคตก็ต้องเป็นเช่นนี้

ผลงานของกิมย้งแต่ละเรื่องมีความโดดเด่นแตกต่างกัน เพราะแต่ละเรื่องโดดเด่นต่างกัน และกิมย้ง ก็พยายามฉีกตัวเองออกไปเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น 8 เทพอสูรมังกรฟ้า ตัวเอกทั้งสาม “เซียวฮง ตวนอื้อและฮือเต็ก” ล้วนมีพฤติการณ์ห้าวหาญโจนทะยาน มีความรักซาบซึ้งตรึงจิตมิรู้จาง แต่ละเรื่องที่แยกย่อมเป็นพฤติการณ์ของแต่ละคนที่สามารถนำมาร้อยเรียงรวมเป็นภาพวาดผืนเดียวกัน และแต่ละภาพล้วนขับเน้นซึ่งกันและกัน เมื่อนำมาก่อรวมกันยิ่งสร้างความงามและความประทับใจยิ่งกว่าเดิม

ปรัชญาความคิดต่างๆ ที่แฝงอยู่ในตัวคร “กิมย้ง” สามารถถ่ายทอดออกมาได้ถึงแก่นของมนุษย์ เป็นความเข้าใจต่อมนุษย์ถึงขีดสุด

เมื่อเขาเขียน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ใครๆ ก็ว่ามันถึงจุดสูงสุดของเขาแล้ว แต่แล้วกิมย้งก็ปล่อย กระบี่เย้ยยุทธจักร สร้างความสั่นสะเทือนเข้าขั้นสุดยอดอีกเช่นกัน และขณะที่ใครๆ ก็มั่นใจว่า กระบี่เย้ยยุทธจักร คือจุดสูงสุด กิมย้งก็ปล่อย อุ้ยเซี่ยวป้อ ออกมาตบท้าย

อุ้ยเสี่ยวป้อเป็นนิยายเรื่องสุดท้ายของ กิมย้ง ซึ่ง เหง่ยคัง(นักเขียนบทภาพยนตร์ สหายสนิทของกิมย้ง ผู้เคยเขียนนิยายแทนกิมย้งในบางช่วงตอนมีชื่อเสียงด้านภาพยนตร์จากการเขียนบทภาพยนตร์ให้ชอว์บราเดอร์สหลายเรื่อง) ถือว่าเรื่องนี้เป็นสุดยอดพัฒนาการทางการประพันธ์ของกิมย้ง และเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือกิมย้งว่า “ไม่มีใครเป็นคู่แข่งได้” ความเป็นยอดของเรื่องนี้อยู่ที่เป็นนิยายกำลังภายในที่ไม่ใช่นิยายกำลังภายใน นิยายกำลังภายในโดยทั่วไปมีขนบในการแต่งที่เห็นได้ง่ายอยู่สองประการคือ ตัวเอกต้องเป็นจอมยุทธหรืออย่างน้อยต้องมีวิทยายุทธ และตัวเอกต้องเป็นคนดีในแง่ของคุณธรรม แต่อุ้ยเสี่ยวป้อในเรื่องนี้มีลักษณะตรงข้ามกับขนบดังกล่าวทุกประการ
ละครโทรทัศน์ที่สร้างจากผลงานไตรภาคมังกรหยก ของ กิมย้ง
แม้กิมย้งได้จัดให้งานเขียนของตัวเองอยู่ในประเภทนิยายบันเทิงประโลมโลกทั่วไป หลายคนในวงการวรรณกรรมก็ยกย่อง “นิยายกิมย้ง” มีคุณค่าเชิงวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์ และประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับสามก๊ก ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว ด้วยเนื้อเรื่องดีเยี่ยม การประพันธ์ยอดยุทธ เป็นที่นิยมแพร่หลายยาวนาน

“โกวเล้ง” เจ้าของฉายาอัจฉริยะปีศาจ นักเขียนในรุ่นเดียวกัน กล่าวถึงกิมย้งไว้ว่า “กิมย้งเป็นนักเขียนที่ข้าพเจ้านับถือที่สุดเสมอมา”

นางแครี แลม ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งได้รับทราบข่าวการสูญเสียปูชนียบุคคลชาวฮ่องกง ได้กล่าวขณะเยือนประเทศญี่ปุ่นว่า เป็นความเศร้าเสียใจอย่างที่สุดสำหรับพวกเรา จาเหลียงยง คือบัณฑิตผู้รู้ และเป็นศิลปินนักเขียนชั้นครู

“ท่านก่อตั้งหนังสือพิมพ์หมิงเป่า และในช่วงปีแรก ๆ ยังเขียนบทบรรณาธิการ แสดงข้อคิดเห็นอันสร้างสรรค์สำหรับสังคม ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการ”

“ในนามของรัฐบาลฮ่องกง ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดกับครอบครัวของท่าน”
กิมย้งในวัย 84 ปีเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ที่บ้านพักบนเกาะฮ่องกง (ภาพโกลบอลไทม์ส)
แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา และเป็นแฟนพันธุ์แท้นิยายของกิมย้งคนหนึ่ง ได้กล่าวในทันทีที่ทราบข่าวว่า “คือความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนจีนทั่วโลก และเป็นข่าวเศร้าสำหรับพวกเราชาวอาลีบาบา เพราะวรรณกรรมของท่าน คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรของเรา พวกเรามักจะนำชื่อตัวละครในนิยายของท่าน ตั้งเป็นฉายาให้กับพนักงานของเราเสมอ”

แจ็ก หม่า ได้พบกับ จาเหลียงยง ที่หังโจว ในปี พ.ศ. 2543 และผูกพันเป็นมิตรสหายกันนับแต่นั้น

จอห์น ซัง ชุนหวา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังฮ่องกง ซึ่งหลงใหลในผลงานของ จาเหลียงยง อีกคน ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัว โดยกล่าวว่า เป็นความสูญเสียทั้งสำหรับครอบครัวของท่าน และสำหรับศิลปะวัฒนธรรมของชาวจีน ชาวฮ่องกง และโลก ท่านคือนักเขียนมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา

ซัง กล่าวว่า ได้พบกับจาเหลียงยง เป็นการส่วนตัวหลายครั้ง และยังตัดเก็บนิยายของท่านในหนังสือพิมพ์ มาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2500

โอลิเวอร์ โจว นักวิจารณ์ศิลปะวัฒนธรรม "ท่านไม่เพียงจะเป็นที่จดจำระลึกถึงในความเป็นปราชญ์นิยายวิทยายุทธ แต่คุณูปการในด้านวัฒนธรรมยังเทียบได้กับผลงานของวิลเลียม เช็คสเปียร์

“ไม่มีนักเขียนชาวจีนคนอื่น ๆ ที่จะสร้างความสนใจ และบันดาลใจให้กับนักอ่านชาวจีนได้มากมายเท่ากับท่าน ซึ่งมีผลงานทั้งครอบคลุมและก้าวข้ามเส้นเขตความคิดลัทธิต่าง ๆ ทั้งในมิติด้านการเมือง หรือวัฒนธรรม ตลอดจนภาษา ที่แม้กระทั่งมีข่าวว่า ท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ยังต้องส่งคนมารวบรวมผลงานของท่านเพื่อศึกษา ในช่วงที่ท่านขึ้นเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดของจีน ในราว พ.ศ. 2520

และในปี พ.ศ. 2524 เมื่อทั้งสองได้พบกัน ผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ยังได้กล่าวทักทายให้เกียรติ จาเหลียงยง ก่อนว่า “เราเป็นมิตรเก่ากันมาก่อน ผมรู้จักท่านผ่านนิยายของท่านแล้ว”
จาเหลียงยง ได้เขียนข้อความ ให้กับแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ซึ่งคบหาดุจมิตรสหาย ว่า “ผมขอละทิ้งทรัพย์สมบัติทุกอย่าง และอยู่กับมือที่มีแต่ความสัตย์ซื่อ สมบัติสามารถทิ้งไปได้ แต่ความซื่อสัตย์คุณธรรมไม่อาจละทิ้งได้” (ภาพเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์)
โจว กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์หมิงเป่า จา กลายเป็นผู้นำความคิดเห็นที่มีชื่อเสียง ซึ่งใคร ๆ ก็รออ่านบทบรรณาธิการของท่าน โดยเฉพาะในหมู่นักอ่านชาวจีนและปัญญาชนจีนทั่วโลก

ตัวละครต่าง ๆ ในนิยายของจาเหลียงยง ยังมีคุณูปการสร้างนักแสดงให้กลายเป็นดาราชั้นแนวหน้าของจีนนับไม่ถ้วน รวมถึง เจิ้ง เส้าชิว นักแสดงชื่อดังชาวฮ่องกง ผู้รับบทของ เตียบ่อกี้ ใน ดาบมังกรหยก พ.ศ. 2521 ที่กล่าวแสดงความอาลัยว่า ใคร ๆ อาจจะเรียกงานของท่านว่าเป็นนิยายกำลังภายใน แต่งานของท่านเป็นยิ่งกว่านั้น คุณสามารถซึมซับความลึกซึ้งซับซ้อนในหลักคิดปรัชญาจีนอย่างไม่รู้ตัว

เป็นที่ทราบในหมู่ผู้ศึกษางานเขียนของจาเหลียงยง ว่า งานทั้งหมดของเขาเป็นผลงานที่บรรลุถึงแนวคิดขงจื่อ ศาสนาพุทธ และลัทธิเต๋า ปรัชญาจริยธรรมหลักในวัฒนธรรมของจีน

จาเหลียงยง กล่าวยอมรับในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “ผู้อ่านต่างวัฒนธรรม อาจจำเป็นต้องเข้าใจในหลักคิดของจีนด้วย เพราะฉากแอ็คชั่น และวิทยายุทธการต่อสู้สำหรับนิยายผมใช้เป็นเพียงเครื่องมือ เหมือนน้ำตาลที่เคลือบอาหาร”
บปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์
ปี พ.ศ. 2500 คือปีที่ จาเหลียงยง เริ่มต้นเขียนนิยายกำลังภายใน ลงหนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งมีกองบรรณาธิการเพียง 4 คน รวมทั้งตัวเขาด้วย แต่นั่นคือกำเนิดของหนังสือพิมพ์หมิงเป้า และนิยายของเขาก็กลายเป็นจุดขายสำคัญของหนังสือพิมพ์

ปี พ.ศ. 2509 บทบรรณาธิการของเขา แสดงความเห็นต่อต้านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของประเทศ โดยเขาวิจารณ์อย่างชัดเจนว่าเป็นนโยบายที่ทำลายประเพณีและวัฒนธรรมจีน

จา กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นต่อต้านดังกล่าว ทำให้เขาอยู่ในรายชื่อบัญชีดำ บุคคลที่ถูกกำหนดเป้าหมายเพื่อลอบสังหาร จากฝ่ายปีกซ้ายจัดในช่วง ปีพ.ศ. 2510

แต่หลังจากที่จีนและอังกฤษได้ลงนามข้อตกลงในการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน เมื่อปี พ.ศ. 2528 จาได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการร่างกฎหมายขั้นพื้นฐานโดยมีภารกิจสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศฮ่องกง ซึ่งผู้สังเกตการณ์ในเวลานั้นเชื่อว่า เป็นเพราะจาเหลียงยง มีอิทธิพลและเขาสามารถถ่วงดุลมุมมองที่ขัดแย้งกันของทุกฝ่าย ในการปฏิรูปการเมืองในเมืองหลังปี 2540 แต่ภายหลังเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนเหมิน ในปี พ.ศ.2531 จา ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ก่อนจะกลับเข้าร่วมการคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดตั้ง ดูแลการถ่ายโอนอำนาจปกครองดินแดนฮ่องกงสู่รัฐบาลกลางแห่งปักกิ่ง ในปี พ.ศ. 2539

แม้ว่า จาเหลียงยง จะไม่ได้เขียนผลงานใหม่ ๆ ออกมาอีกเลย ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ด้วยความตั้งมั่นที่จะทุ่มเทเวลาเพื่อการศึกษาความรู้เพียงอย่างเดียว

เขาใช้เวลาในช่วงตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์จากกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง, มหาวิทยาลัยหนันคาย, มหาวิทยาลัยซูโจว, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว, มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว, มหาวิทยาลัยฮ่องกง, มหาวิทยาลัยบริชติชโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยเสฉวน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของเซนต์ แอนโทนี่ คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด โรบินสัน คอลเลจ, เคมบริดจ์ และ วินฟลีทเฟลโลว์ ของ แมกดาเลน คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด

จาเหลียงยง ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2548 ปัญญาชนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “จินตนาการไม่ออกเลยว่า หากไม่มีนิยายกำลังภายในของจาเหลียงยง โลกวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไร"

และสำหรับ แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ซึ่งจาเหลียงยง คบหาดุจมิตรสหาย เขาได้รับแผ่นข้อความจากจาเหลียงยง อันเป็นกระดาษที่มีความหมายกับแจ็ก หม่า ผู้ยึดถืองานของจาเหลียงหยงเป็นดังวัฒนธรรมของอาลีบาบา ข้อความนั้นเขียนอักษรจีน มีใจความว่า “ผมขอละทิ้งทรัพย์สมบัติทุกอย่าง และอยู่กับมือที่มีแต่ความสัตย์ซื่อ สมบัติสามารถทิ้งไปได้ แต่ความซื่อสัตย์คุณธรรมไม่อาจละทิ้งได้”

แจ็ก หม่า กล่าวแสดงความคารวะอำลาอาลัยแด่ จาเหลียงยง ว่า “จิตวิญญาณของเหล่าผู้กล้า ในนิยายของท่านจาฯ เป็นคุณธรรมสำคัญที่ชาวอาลีบาบายึดถือ ผมชื่นชมศรัทธาท่านจา ท่านเป็นแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้งสำหรับผม และท่านจะยังคงอยู่ในใจผมเสมอ”

จาเหลียงยง เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติชีวิตของเขาว่าเริ่มอ่านหนังสืออย่างดุเดือดตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ ก็อ่านทั้งนิยายของจีนทั้งหมด และนิยายแปลของต่างประเทศ ในวัยเยาว์ได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกทั้ง 4 เรื่องของจีน ได้แก่ สามก๊ก (三国演义) ซ้องกั๋ง(水许传) ไซอิ๋ว(西游记) และความฝันในหอแดง (红楼梦)

จาเหลียงยง เล่าถึงวิธีอ่านหนังสือของตนว่า อ่านแบบละเอียดยิบทุกตัวอักษร โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ เมื่อเจอตัวที่ไม่รู้ความหมายก็จะเปิดพจนานุกรมทันที ถ้ายังไม่เจอ ก็จะรีบหาพจนานุกรมเล่มใหญ่มาค้นดู...ให้ถึงที่สุด ซึ่งเปลืองเวลา และเรี่ยวแรงมาก “มันดูเป็นวิธีอ่านหนังสือที่โง่ แต่นานเข้าๆ การอ่านหนังสือก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายหมูๆ”

จาเหลียงยงแจงประโยชน์จากการอ่านหนังสือมีมากมาย ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ยามที่รู้สึกโดดเดี่ยวเหงา ทุกข์ยากกลัดกลุ้มใจ และไม่มีใครเลย เมื่ออ่านหนังสือก็จะรู้สึกดีขึ้น การอ่านหนังสือทำให้จิตใจดีงาม “ผมหวังว่า นิยายของผมจะให้เยาวชนมีสำนึกช่วยเหลือผู้อื่น และสังคม มีความคิดความอ่านรู้จักผิดชอบชั่วดี”
“จ้าวเกาะดอกท้อตัวจริง” รูปปั้น กิมย้ง ที่เกาะดอกท้อ มณฑลเจ้อเจียง สร้างเมื่อปี 2001
เนื่องจากมีผู้อ่านจำนวนมากชอบเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ จาเหลียงยงได้เตือนว่า “อย่าเอาอย่างอุ้ยเซี่ยวป้อ ผมสร้างตัวละครนี้ขึ้นมาเพื่อสะท้อนยุคสมัย ไม่ได้สะท้อนความชอบคนบุคลิกแบบนี้” และยังได้กล่าวขอโทษ เกี่ยวกับข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนในบางจุด โดยเฉพาะเรื่องของ อิ่นจื้อผิง (尹志平)ที่ให้ภาพลักษณ์ไม่ดี และส่งผลด้านลบแก่สำนึกคิดเต๋า ในฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ได้ตัดตัวอิ่นจื้อผิง ออกไป

นอกจากนี้ จาเหลียงยงยังแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อการนำนิยายของเขาไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่หลายๆ ครั้ง มักขาดชีวิตขาดอารมณ์ กลายเป็นเรื่องที่แข็งกระด้างไป กิมย้ง กล่าวว่า งานของเขานั้น แก้ให้น้อยดีกว่า ไม่ปรับเปลี่ยนเลยก็จะดีที่สุด

หันมาพูดถึงโชคความสุขในชีวิต จาเหลียงยง บอกว่า “โชคดีที่สุดในชีวิตของผม คือ พ่อแม่ไม่ตาย พวกเราได้ฝ่าฟันยุคสงครามกันมา ต้องนอนคว่ำหน้าบนพื้นกันหลายครั้ง รอบๆ ตัวมีแต่ระเบิด ปืนกลตระเวนส่องไปมา ตอนที่ต้องระหกระเหินพเนจร สวมเพียงรองเท้าหญ้าฟาง หนาวมากๆ ทั้งไม่มีข้าวกิน ทุกวันนี้เมื่อคิดถึงชีวิตที่ลำบากเหล่านี้ รู้สึกเป็นการฝึกการต่อสู้ที่ดีมาก ผมไม่กลัวตายเลย”

มีปัญญาชนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “จินตนาการไม่ออกเลยว่า หากไม่มีนิยายกำลังภายในของกิมย้ง โลกวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 คงจะจืดชืดไปถนัด กิมย้งได้พิสูจน์มุมมองทฤษฎีอย่างหนึ่งของวรรณกรรมบริสุทธิ์ .....ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เขียนอะไร แต่อยู่ที่เขียนอย่างไร”

วันนี้ ขอคารวะหนึ่งจอก ส่งมังกรคืนฟ้า

บันทึกตำนานแห่งโลกหล้า ร่ำสุราแด่จ้าวยุทธจักรนวนิยายกำลังภายใน
 ผลงานนวนิยายกำลังภายในของ กิมย้ง
ผลงานนวนิยายกำลังภายในของ “กิมย้ง” ทั้ง 15

ซูเจี้ยนเอินโฉวลู่ 书剑恩仇录 ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เดอะ นิวส์ อีฟนิ่ง โพสต์ปี 1955 ฉบับภาษาไทย แปลโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง จอมใจจอมยุทธ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับภาพยนตร์โทรทัศน์

ปี้เสวี่ยซัน 碧血剑 ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่ ปี 1956 ฉบับภาษาไทย แปลโดย จำลอง พิศนาคะ และฉบับของ น.นพรัตน์ รวมทั้งบทภาพยนตร์ ใช้ชื่อเพ็กฮวยเกี่ยม ซึ่งเป็นสำเนียงแต้จิ๋วของ ปี้เสี่ยว์ซัน

เส้อเตียวอิงสยงจ้วน 射雕英雄传 ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่ ปี 1957 ฉบับภาษาไทยแปลโดย จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยก ภาค 1 ส่วนฉบับภาษาไทยแปลโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง ก๊วยเจ๋ง ยอดวีรบุรุษ

เสวี่ยซันเฟยหู 雪山飞狐 เริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในปี 1959 ฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง จิ้งจอกภูเขาหิมะส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ไทยก็ใช้ชื่อเดียวกัน

เสินเตียวเสียหลี่ว์ 神雕侠侣 เริ่มตีพิมพ์ ในปี 1959 ฉบับภาษาไทยโดย จำลอง พิศนาคะใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยก ภาค 2 ส่วนฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง เอี้ยก้วย เจ้าอินทรี และฉบับแปลของ ว.ณ.เมืองลุงใช้ชื่อเรื่องอินทรีเจ้ายุทธจักร

เฟยหูไหว่จ้วน飞狐外传 เริ่มตีพิมพ์ในปี 1960 ฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง จิ้งจอกอหังการ

ไป๋หม่าเซี่ยวซีเฟิง白马啸西风 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1961 ฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง เทพธิดาม้าขาว

ยวนยังเตา 鸳鸯刀ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1961 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “อวงเอียตอ” สำหรับ “อวงเอียตอ”ฉบับภาษาไทยนี้ รวมเล่มเดียวกับ “กระบี่นางพญา”

อี่เทียนถู่หลงจี้ 倚天屠龙记ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1961 ฉบับภาษาไทยโดย จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยกภาคสามและสี่ สำหรับฉบับแปลโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง ดาบมังกรหยก

เหลียนเฉิงเจี๋ยว์ 连城诀 ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซาท์ อีสต์ เอเชียวีคลีปี 1963 ฉบับแปลภาษาไทยของน.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง หลั่งเลือดมังกร ต่อมาผู้แปลคนเดียวกันเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่ เป็น กระบี่ใจพิสุทธิ์ ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อ มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม

ทียนหลงปาปู้ 天龙八部 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1963 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ส่วนฉบับแปลโดย จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยกภาคห้า หรือ มังกรหยกภาคสมบูรณ์

เสียเค่อสิง 侠客行 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง เทพบุตรทลายฟ้า

เซี่ยวเอ้าเจียงหู 笑傲江湖 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1967 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร

ลู่ติ่งจี้ 鹿鼎记 ตีพิมพ์ปี 1969-1972 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ

เย่ว์หนี่ว์เจี้ยน 越女剑 ตีพิมพ์ 1970 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง กระบี่นางพญา สำหรับภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อเรื่องเดียวกัน สำหรับ “กระบี่นางพญา”ฉบับภาษาไทย รวมเล่มเดียวกันกับ อวงเอียตอ และ เทพธิดาม้าขาว


กำลังโหลดความคิดเห็น