ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การจับกุมหนุ่มใหญ่สาวใหญ่ “คดีนัดยิ้ม” ที่นัดกันไปร่วมกิจกรรม “สวิงกิ้ง” เมื่อสัปดาห์ก่อน เกิดคำถามในสังคมขึ้นอีกครั้งว่ารสนิยมส่วนตัวในเสพสุขทางเพศ “ปาร์ตี้สวิงกิ้ง” ผิดกฎหมายหรืออย่างไร ทำไมผู้เข้าร่วม “สวิงกิ้ง19 คน” ถึงถูกจับเรียบ และหวนให้นึกถึง “คดีสวิงกิ้งในตำนาน” ของ “เฮียกังฟู ไทยเพลย์บอย” เพราะแม้เปลี่ยนผ่านยุคสมัยหลายสิบปี ช่องทางการนัดยิ้มแตกต่างไปจากเดิม แต่ที่แน่ๆ ยังคงถูกเจ้าที่ตำรวจไล่ล่าจับกุมเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคเขียนจดหมายส่งในคอลัมน์จับคู่ตามนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะยุคเฟืองฟูนิตยสารโป๊ “ไทยเพลย์บอย” ของ “เฮียกังฟู” หรือ “นายชูชาติ ธนมงคลชัย” ที่ผันตัวเป็นโต้โผใหญ่ รับจัดหาแลกคู่นอน กระทั่งถูกกล่าวขานเป็น “ตำนานสวิงกิ้งไทย” ก่อนถูกจับกุมดำเนินคดีในเวลาต่อมา
สำหรับช่องทางการ “นัดยิ้ม ยุค 4.0” อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ง่ายต่อการเข้าถึงตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มได้เป็นอย่างดี แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือถูกเจ้าหน้าไล่บี้จับกุมเช่นเดิม โดยเฉพาะการบุกทลายปาร์ตี้สวิงกิ้งที่ตกเป็นข่าวครึกโครมอยู่บ่อยครั้ง
ถามว่า “สวิงกิ้ง” ผิดกฎหมายหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่ผิด” เพราะถือเป็นรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่ง ในลักษณะการมีเพศสัมพันธ์จำนวนหลายคนโดยมีลักษณะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคู่ด้วย ต่างกรรมต่างวาระหมายความว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเช่นกัน
สำหรับ สวิงกิ้ง คือการนัดหมายมีเพศสัมพันธ์ร่วมกันตั้งแต่ 2 คู่ขึ้นไปในสถานที่เดียวกัน โดยอาจจะมีการสลับไปมาระหว่างคู่หญิงชาย เรียกว่า “แลกคู่นอน” แตกต่างจาก “เซ็กซ์หมู่” ที่หมายถึงฝ่ายหนึ่งมีเพียงคนเดียว แต่มีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า 2 คนขึ้นไปในเวลาเดียวกัน
ศัพท์ที่เรียกในหมู่ผู้เข้าร่วมสวิงกิ้ง ได้แก่ “คู่แท้” หมายถึง คู่ที่เป็นสามีภรรยา หรือเป็นแฟนกันจริงๆ “ไม่แลก” หมายถึง คู่ที่เข้าร่วมกิจกรรมสวิงกิ้ง ขอแค่มีเพศสัมพันธ์ข้างกันเฉยๆ ให้ได้มากสุดแค่เล้าโลมภายนอก โดยไม่มีการเปลี่ยนคู่นอน รวมทั้ง “ชายเดี่ยว” หรือ “หญิงเดี่ยว” คือคนที่ไม่มีคู่
สวิงกิ้งผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคู่ หากเป็นความสมัครใจของแต่ละคู่โดยไม่บังคับ ทำในที่รโหฐาน ไม่บันทึกหรือเผยแพร่ภาพและคลิปในภายหลัง และอายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป กฎหมายไปไม่ถึงขั้นเอาผิดดำเนินคดีได้ แต่ส่วนมากที่ถูกจับกุมเพราะมีการเรียกเก็บค่าสมาชิก แทนที่จะหารค่าใช้จ่ายร่วมกัน
สำหรับการจับกุมปาร์ตี้สวิงกิ้งในครั้งนี้ ต้นเรื่องมาจาก “พลเมืองดีปริศนา” แจ้งไปยังเฟซบุ๊ก “บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล” รรท.ผบช.สตม. ว่ามีบุคคลใช้งานแอพพลิเคชั่น “บีทอร์ค (Beetalk)” โดยใช้ชื่อ “Taiza” โพสต์ข้อความลักษณะจัดหาคนและสถานที่สำหรับ “ปาร์ตี้สวิงกิ้ง” พร้อมทั้งเรียกเก็บเงินสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นเงินจำนวน 1,800 บาทต่อคน
เมื่อได้เบาะแสจึงเกิดปฏิบัติการส่งสายลับแฝงตัวในกลุ่มแสร้งเข้าร่วมสวิงกิ้ง กระทั่ง จับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรม “ปาร์ตี้สวิงกิ้ง” ทั้งหมดรวม 19 คน เป็นชาย 8 คน และหญิง 11 คน ภายในโรงแรมโยทะกาบูทีค ย่านลาดพร้าว เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา
โดยจับกุมตัวการใหญ่คือ “น.ส.ภัสสรัณญ์ ถึกป่าย” หรือ “เจ๊ต่าย” อายุ 39 ปี ในข้อหา “เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง เมื่อผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม” และ “นายมานะ เกณงูเหลือม” อายุ 28 ปี ในข้อหา “ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่รับอนุญาต”
เบื้องต้นตรวจปัสสาวะและสารเสพติดทั้ง 19 คน แต่ไม่พบสารเสพติดแต่อย่างใด
สำหรับ พฤติกรรมของ เจ๊ต่าย สาวใหญ่ตั้งตัวเป็นผู้จัดปาร์ตี้สวิงกิ้งในครั้งนี้ มีการนัดหมายผ่านเฟซบุ๊กเป็นผู้จัดให้ผู้สนใจได้ร่วมประเวณีกับคนแปลกหน้า โดยเรียกเก็บค่าบริการรายละ 1,800 บาท จึงถูกดำเนินคดีในฐานะผู้จัดการแสดง ข้อหาเป็นธุระจัดหาเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ระบุว่า
ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
นอกจากผู้จัดปาร์ตี้สวิงกิ้งจะผิดกฎหมายในข้อหาเป็นธุระจัดหาแล้ว ยังเสี่ยงผิดกฎหมายในข้อหาพรากผู้เยาว์ หากคู่แท้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ รวมทั้ง การโฆษณาเชิญชวนหรือโพสต์ภาพและคลิปสวิงกิ้ง ก็เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเสี่ยงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคตกขาว และโรคมะเร็งปากมดลูก หรือแม้จะมีการใส่ถุงยางอนามัยก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยปลอดโรค อาจเกิดปัญหาถุงยางรั่วหรือฉีกขาดก็เป็นไปได้สูง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการขยายผลพบว่า ในโซเชียลฯ มีการชักชวนร่วม “สวิงกิ้ง” อย่างโจ๋งครึ่มอยู่อีกหลายกลุ่ม แน่นอนว่า จะติดตามจับกุมต่อไป
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ อธิบายแง่กฎหมายในกิจกรรมสวิงกิ้ง ความว่า กิจกรรมการมีเซ็กซ์ลักษณะนี้ หากมีกันเองก็ไม่มีกฎหมายห้าม ถือเป็นความชอบส่วนตัว และเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กฎหมายสั่งห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเชิญชวนคนมามีเซ็กซ์ร่วมกันเท่านั้น
เท่ากับว่า หากมีการประกาศเชิญชวนก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14 ว่าด้วยการนำเข้าสื่อลามกอนาจาร ระวางโทษ 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าประเวณี ตามประมวลกฎหมายอาญา 282 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ผู้สนองความใคร่ของคนอื่น ระวางโทษสูงสุด 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท และหากคนที่เข้าร่วมปาร์ตี้ อายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
อย่างไรก็ตาม การจับกุมในลักษณะนี้โดยปกติจะมีการแจ้งข้อหากับผู้เป็นตัวกลางในการดำเนินการจัดหา และเจ้าของสถานที่เท่านั้น ส่วนผู้ที่เข้าร่วม “ปาร์ตี้สวิงกิ้ง” ไม่มีความผิดแต่อย่างใด