ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สลับซับซ้อนและเป็นเรื่องยากที่คนธรรมดาๆ จะเข้าถึงมุมมืดอย่างสุดกู่ในโลกออนไลน์อย่าง “ดาร์กเว็บ (Dark Web)” จากข่าวครึกโครมกรณี “คดีดีเจสาวฆ่าแมวแลกบิตคอยน์” (เงินสกุลดิจิตอล) ในดาร์กเว็บ คดีทารุณกรรมสัตว์สุดสะเทือนใจบรรดาทาสแมวและคนรักสัตว์
สำหรับ ดาร์กเว็บ (Dark Web) มีเครือข่ายโยงใยทั่วโลก เป็นมุมมืดในโลกออนไลน์ที่ไม่ใช่ใครก็ได้สามารถเข้าถึง ซึ่งดาร์กเว็บนั้นมีอยู่หลายประเภทโดยส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรืออาชญากรรม ตอบสนองพวกจิตวิตถารพวกนิยมความรุนแรง เช่น ซื้อขายยาเสพติด, ขายอาวุธเถื่อน, ค้ามนุษย์, ค้าประเวณี, ซื้อขายมัลแวร์, ซื้อขายข้อมูลที่ถูกขโมยออกมา ฯลฯ อันเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งในหลายประเทศทำได้เพียงไล่ตามเพื่อวางมาตรการรับมือ ไม่อาจควบคุมได้
เรื่องราวของดาร์กเว็บได้รับความสนใจสืบเนื่องจากมีการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ นำโดย กรมปศุสัตว์ และองค์กรด้านพิทักษ์สุนัขและสัตว์ หรือ WATCHDOG THAILAND ให้ดำเนินคดีกับ “น.ส.วรารัตน์ กระแสร์” หรือ “ดีเจซัน” อายุ 30 ปี หลังจากขอรับลูกแมวไปเลี้ยงผ่านทางเฟซบุ๊คและพบว่าลูกแมวตายอย่างผิดธรรมชาติ
โดยสาเหตุการตายไม่ใช่เกิดจากอุบัติเหตุ พบร่องรอยการกระทบกระแทกมากกว่าสองครั้ง และมีร่องรอยการกระทบกระแทกที่บริเวณช่วงอก ทำให้เกิดการคั่งของเลือดที่หัวใจและปอด สภาพร่างกายมีร่องรอยถูกเฉือน และถูกนำเอาอวัยวะภายในออกไปทั้งหมด แมวถูกกระทำอย่างผิดธรรมชาติหลายแห่ง เช่น มีรอยถูกกระแทก อวัยวะภายในช่องท้อง ทั้งหัวใจ ปอดและสำไส้ ถูกนำออกจากศพไป
ขณะเดียวกันคดีดังกล่าว ยังมีเงื่อนงำที่น่าสนใจว่า อาจมีความเกี่ยวโยงกับ “ดาร์กเว็บ” หรือไม่ อย่างไร เพราะส่อเค้าว่าอาจเป็นทารุณกรรมแมวลง “ดาร์กเว็บ” ให้ชาวต่างชาติดูเพื่อแลก “บิตคอยน์” และนำมาแลกเป็นเงินอีกที ซึ่งผลตอบแทนในการควักไส้แมวนั้นสูงกว่า 200,000 บาท แถมอาจมีการทำมาแล้ว 27 ตัว
อย่างไรก็ดี ในทางคดีขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิสูจน์แน่ชัดว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ชื่อ Usar Cole SC ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดาร์กเว็บ ผ่านคลิปวิดีโอที่โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ตอนที่ตนเองอยู่ในสหรัฐอเมริกา แล้วเข้าไปในดาร์กเว็บ พบว่าไม่ใช่ที่ที่คนปกติเข้าไปกัน และไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเว็บเบราเซอร์ต่าง ๆ
“จะมีเว็บๆหนึ่ง ซึ่งเป็นเว็บซูโทเปีย จะไม่ใช้เวิลด์ไวด์เว็บ (www.) แต่จะประมาณว่า waxg2t.onion เว็บซูโทเปียมันไม่ได้ทำแค่ลูกแมว มันเอาลูกกระต่าย ลูกหมา ลูกแมว สารพัดลูกที่จะหาได้ บนโลกนี้ เพื่อที่จะมาทำการทารุณกรรม
สมมติผมสั่งลูกกระต่าย ผมจะจ่ายคุณ 10 บิตคอยน์ บิตคอยน์เหรียญละ 200,000 บาท พอผมจ่ายปุ้บ ผมบอกว่าโอเค ให้เอารองเท้าส้นสูงเหยียบกระต่ายให้เละ แล้วเอาค้อนทุบต่อ คือมันมีหมด แล้วอย่าคิดว่าเวอร์ชั่นคนมันไม่มี”
สำหรับ ดาร์กเว็บ เป็นเว็บไซต์ที่ตั้งใจซ่อนอำพรางการเข้าถึง ปกปิดข้อมูลผู้อยู่เบื้องหลัง โดยส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในเชิงผิดกฎหมาย ซึ่งการเข้าถึงดาร์กเว็บ ต้องใช้ช่องทางพิเศษ เช่น เข้าผ่านเครือข่าย Tor ย่อมาจาก “The Onion Router” (เครือข่ายนิรนาม) หรือ I2P หรือ (Invisible Internet Project: I2P) (โครงการอินเทอร์เน็ตล่องหน)
ทั้ง Tor และ I2P คือบริการที่สร้างให้ผู้คนสามารถท่องอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่เปิดเผยตัวตน (Anonymous) รวมทั้ง ตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางได้ยากยิ่ง อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงเว็บไซต์ประเภทนี้ ไม่เพียงกระทบในแง่กฎหมาย แต่มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อจากมัลแวร์ได้
กล่าวคือ ดาร์กเว็บ มีความซับซ้อนคล้ายกับภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งแยกออกเป็นชั้นๆ
ไล่ตั้งแต่ชั้นบนสุด “เว็บไซต์ทั่วไป (Surface web)” เข้าถึงง่าย เนื้อหาไม่รุนแรง สามารถค้นหาได้ด้วยเสิร์ชเอนจิ้นทั่วไป อย่าง Google หรือ Yahoo ชั้นต่อมา “ดีพเว็บ" (Deep Web)” ต้องมีการลงทะเบียน ยืนยันตัวตนเพื่อการเข้าถึง เช่น ข้อมูลเอกสารการศึกษา หรือ คลังข้อมูลองค์กร และชั้นล่างสุด “ดาร์กเว็บ (Dark Web)” ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย สามารถซ่อนเร้นจากการค้นหาทั่วไป และเข้าถึงได้ยากมาก
อย่างที่กล่าวในข้างต้น ดาร์กเว็บ คือโลกอินเตอร์เน็ตด้านมืดที่เข้าถึงยาก ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถค้นหาเจอได้บนเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลทั่วไป เช่น Google, Yahoo และ Youtube หรือเว็บเบราว์เซอร์ Firefox, Google Chrome หากใครต้องการเข้าใช้งานจะต้องโหลดโปรแกรมหนึ่งลงในเครื่อง โดยโปรแกรมนี้เปรียบเสมือนร่างโคลนนิ่งของเว็บเบราว์เซอร์ Firefox
เมื่อสมัครเข้าใช้งานแล้ว จะพบว่าเป็นอีกโลกที่สามารถกระทำผิดทุกรูปแบบ ได้อย่างอิสระเสรี เพราะเว็บนี้มีขึ้นมาเพื่อการค้าขายผิดกฎหมาย และมักจะมีการใช้สกุลเงินดิจิตอลที่เรียกว่า บิตคอยน์ สำหรับแลกเปลี่ยน
โดยจะมีสมาชิกทั่วโลกที่คลั่งไคล้การดูคลิปโหดร้าย ทารุณกรรมต่างๆ ทว่า เว็บพวกนี้ไม่ใช่ใครก็เข้าได้ ต้องสมัคร เสียเงินราคาแพงเข้าไปเป็นสมาชิก การทารุณกรรมสัตว์นี้เพื่อสนองความต้องการของสมาชิก โดยจะมีออร์เดอร์ว่าถ้ากล้าทำอะไรตามที่สั่งก็จะได้เงินเป็นสกุลบิตคอยน์ อีกทั้ง การติดตามหายูสเซอร์ทำได้ยาก กลุ่มคนเหล่านี้ใช้สกุลเงินออนไลน์เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนกัน ฉะนั้น การตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเวลาโอนเงินผ่านสกุลออนไลน์จึงตรวจสอบค่อนข้างยาก
ในส่วนความคืบหน้า “คดีฆ่าแมวแลกบิตคอยน์” ล่าสุด สน.เพชรเกษม ได้ออกหมายเรียก น.ส.วรารัตน์ กระแสร์ หรือ ดีเจซัน อายุ 30 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีทารุณกรรมแมว เข้าพบเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่สาวเจ้าเบี้ยวนัดอ้างป่วย ส่งทนายมาขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
พ.ต.อ.วุฒิชัย ไทยวัฒน์ ผกก.สน.เพชรเกษม เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานต่างๆ ในการดำเนินคดีทางกฎหมาย ส่วนกรณีที่มีการเชื่อมโยงเรื่องดาร์กเว็บ ได้ประสานกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบสืบสวนดำเนินคดีในลำดับถัดไป
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ชุดสืบสวน สน.เพชรเกษม ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และ WATCHDOG THAILAND เข้าตรวจค้นบ้านพักของพ่อแม่ของ ดีเจซัน ย่านคลองทวีวัฒนา ไม่พบหลักฐานหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทารุณสัตว์ จากนั้นได้นำเข้าตรวจค้นคอนโดมิเนียมของ ดีเจซัน ย่านวงเวียนใหญ่ พบเพียงกระบะทราย อาหารแมว ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ที่บ่งบอกว่ามีการทารุณหรือฆ่าแมว ตามที่ถูกกล่าวหา ขณะที่ ดีเจสาวรายนี้ยืนกรานว่าแมวหลุดจากห้องพักไปถูกสุนัขกัดตาย
หากพิสูจน์พบว่ากระทำผิดจริง มีความผิดทั้งในเรื่องศีลธรรมและกฎหมาย เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ในมาตรา 20 กฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มี เหตุอันสมควร อาจมีโทษดังนี้ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ท้ายที่สุดบทสรุปของ “คดีฆ่าแมวแลกบิตคอยน์” ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป