xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับกระแสรันนิ่งบูม ชำแหละอีเวนต์วิ่งหมื่นล้าน ใครได้ ใครเสียและใครรวย!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กระแสรันนิ่งบูมแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เกิดอีเวนต์วิ่งทุกอาทิตย์นับพันงานต่อปี ทั้งในรูปแบบของ ฟันรัน (fun run) มินิมาราธอนและมาราธอน ส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดนับหมื่นล้าน ขณะเดียวกันก็เกิดอีเวนต์วิ่งการกุศลโหนกระแสนักร้องดัง “ตูน บอดี้สแลม” ผุดเป็นดอกเห็ด แต่ใช่ว่าทุกงานจะมีคุณภาพ อย่างที่พังไม่เป็นท่ากรณีล่าสุด “Charity Chonburi marathon 2018” ถูกด่าระงมไปทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะขาดการบริหารจัดการที่ดี ปล่อยให้นักวิ่งขาดน้ำจนเกิดอันตราย

สำหรับ Charity Chonburi marathon 2018 จัดขึ้นเมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ สวนเฉลิมพระเกียรติพระราชินี ๖๐ พรรษา ชลบุรี เป็นอีเวนต์วิ่งการกุศลหารายได้เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี แต่งานนี้ผู้จัดฯ “สะเพร่า-ละเลย” ขาดการบริหารจัดการที่ดี ปล่อยให้นักวิ่งขาดน้ำ จนบางรายถูกน้ำส่ง รพ. เคราะห์ยังดีไม่ใครรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยความที่ผู้คนหันมาสนใจการออกกำลังกายด้วยการวิ่งกันมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรน้อยใหญ่จับ กระแสรันนิ่งบูมจัดอีเวนต์วิ่งเพื่อหารายได้จากการสมัครเป็นจำนวนมาก โดยจุดประสงค์หลักเพื่อการกุศล หรือประชาสัมพันธ์องค์กร

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งจำนวน15 ล้านคน ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2559 มีผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งจำนวน 12 ล้านคน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงจากการรณรงค์เรื่องการออกกำลังโดยการวิ่งจากหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องกับ แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสุขภาพ โดยเร่งเสริมสร้างสุขภาพคนไทยเชิงรุก ให้คนไทยมีอัตราการออกกำลังเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์

ปี 2560 มีการจัดงานวิ่งในประเทศไทยกว่า 700 รายการ และปี 2561มีการจัดงานวิ่งกว่า 900 - 1,000 รายการ สูงสุดเป็นประวัติ ซึ่งหากเทียบในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รายการวิ่งเฉลี่ยประมาณ 500 รายการต่อปี โดยมีนักวิ่งตบเท้าร่วมแข่งขันจำนวน 2 - 3 ล้านคน

แม้ผู้ที่เข้าร่วมรายการวิ่งต่างๆ คิดเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพทั้งหมด แต่การจัดอีเวนต์กลายเป็นธุรกิจกลุ่มทุนจ้องตาเป็นมัน เพราะแต่ละงานมีนักวิ่งเข้าร่วมไม่ใช่น้อยๆ โดยนักวิ่งสามารถเลือกระยะวิ่งได้ ไม่เพียงวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่ยังเป็นการพิสูจน์ขีดจำกัดข้อตัวเอง แลกกับเหรียญรางวัลที่ระลึกว่าเคยผ่านรายการแข่งขันมาอย่างภาคภูมิ อีกทั้งมีรายการแข่งขันวิ่งทุกระดับรองรับนักวิ่ง ทั้งมินิมาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน, มาราธอน, อัลตร้ามาราธอน และ วิ่งเทรล(วิ่งวิบาก)

กระแสรันนิ่งบูมกลายเป็นเทรนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น มีเม็ดเงินสะพัดนับหมื่นล้าน อ้างอิงข้อมูลจาก BLT Bangkok เรื่อง “วิ่งช่วยชาติ ดันเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งความว่า ค่าจัดการแข่งขันรายการวิ่ง พบว่าขั้นต่ำในระยะมินิมาราธอน อยู่ที่ประมาณ 8 แสนบาท/ครั้ง ส่วนฮาล์ฟมาราธอน ประมาณ 2 ล้านบาท/ครั้ง และมาราธอน ประมาณ 5 ล้านบาท/ครั้ง

สำหรับ ปี 2560 ด้วยตัวเลขการจัดงานกว่า 700 รายการต่อปี มีคนเข้าร่วมเฉลี่ย 3,000 - 5,000 คนต่องาน ค่าสมัครวิ่งเฉลี่ย 500 - 1,000 บาท ประเมินคร่าวๆ ตลาดอีเวนต์วิ่งมีมูลค่าสูงนับ 10,000 ล้านบาท

หนึ่งในผู้ริเริ่ม “จอมบึงมาราธอน” ซึ่งเป็นงานวิ่งระดับชาติที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากนักวิ่งเมืองไทย อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ว่า งานวิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเมืองไทยมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาอย่างชัดเจน เทียบเคียงสมัยก่อน 20-30 ปีที่แล้ว รายการวิ่งทำกันสนุกสนานไม่กว้างขวางนั้น และคนวิ่งยังมีจำนวนไม่มาก รายการวิ่งก็มีเพียง 50-60 งานต่อปี ไม่มีครบทุกอาทิตย์อย่างสมัยนี้ซึ่งเกิดรายการวิ่งนับพันงานต่อปี

สำหรับกระแสรันนิ่งบูมในยุคแรก ย้อนเมื่อ 30 ปีก่อน นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เขียนหนังสือวิ่งสู่ชีวิตใหม่ เดินสายรณรงค์ให้คนไทยหันมาดูแลเรื่องสุขภาพด้วยการวิ่ง จากประสบการณ์ของท่านเอง สู่ปรา กฎการณ์คนเรือนแสนออกมาวิ่งในงาน “วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ” บนสะพานแขวนพระราม 9 จากนั้นเกิดงานวิ่งกระจายไปทั่วประเทศ

ยุคที่ 2 หลังจาก 17 ปีที่ผ่านมา เกิดองค์กรสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์วิ่งเพื่อสุขภาพไทยขึ้น ซึ่งถือยุคของการรวมกันของชมรมวิ่งอย่างเป็นปึกแผ่น มีการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายมาขึ้น ขณะที่สถิติ ณ ตอนนั้น มีคนวิ่งออกกำลังด้วยการวิ่งประมาณ 5.8 ล้าน

ยุคที่ 3 เข้าสู่ช่วงบูมครั้งใหญ่ ปี 2555 ช่วงฉายภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน ตอน 42.195 ซึ่งก็คือระยะวิ่งมาราธอน ทาง สสส. กับ สมาพันธ์ฯ ร่วมมือค่ายหนัง GTH ใช้เป็นภาพยนต์เป็นเครื่องมือสื่อสารรณรงค์ ซึ่งก็เกิดกิจกรรมการวิ่งมาขึ้น ผู้คนจำนวนมากตื่นตัว คนหนุ่มสาวออกมาวิ่งมากขึ้น รวมทั้ง การเกิดของสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊กเข้ามามีบทบาทเชื่อมโยงกลุ่มนักวิ่งให้ใหญ่ขึ้น

และเกิดการเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง ปี 2559 สถิติผู้ออกกำลังด้วยการวิ่งเพิ่มเป็น 12 ล้านคน ซึ่งเป็นปีที่ ตูน บอดี้สแลม วิ่งการกุศล 400 ก.ม. กรุงเทพฯ-บางสะพาน เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาวระลอกใหม่ และปี 2560 ช่วงการวิ่งครั้งใหญ่ของ ตูน บอดี้สแลม 2,215 ก.ม. เบตง - แม่สาย ก็กลายเป็นกระแสต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติ ปี 2561 ผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพิ่มเป็น 15 ล้านคน

เมื่อปริมาณคนวิ่งมากขึ้นอีเวนต์วิ่งก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ล่าสุด สัปดาห์หนึ่งพุ่งสูง 20 - 30 งาน รวมกว่า900 - 1,000 งานต่อปี คนวิ่งมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น กิจกรรมงานวิ่งก็เป็นนิยม มีคนเข้าไปวิ่งสมัครมากขึ้น อย่างบางงานเปิดรับสมัครออนไลน์ไม่ถึงชั่วโมงเต็ม เช่นเดียวกัน หลายหน่วยงานองค์กร ใช้การวิ่งเป็นการสื่อสารรณรงค์ต่างๆ เกิดเป็นธุรกิจออแกนไนซ์ซึ่งมีทั้งคุณภาพและไม่มีคุณภาพ นำสู่เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีงานวิ่งกว่า 1,000 กว่ารายการวิ่งต่อปี อาจคิดว่าเยอะแล้ว แต่หากเทียบกับในสหรัฐฯ ยกตัวอย่าง รัฐแคลิฟอร์เนียเพียงรัฐเดียว มีงานวิ่งถึง 4,000 - 5,000 งานต่อปีเลยทีเดียว

อ.ณรงค์ มองว่าทิศทางรายการวิ่งเมืองไทยยังโตได้อีก ปี 2561จำนวนคนวิ่งออกกำลังกายมีประมาณ 15 ล้านคน แต่คนที่เข้าร่วมอีเวนต์วิ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดเท่านั้น หากมีส่งเสริมโดยรัฐเป็นแกนจะสามารถผลักดันให้ 90 เปอร์เซ็นต์ ให้เข้าร่วมอีเวนต์วิ่งได้ในอนาคต สนับสนุนการเกิดSport Tourism ในเมืองไทยและส่งเสริมโอกาสไปทั้ง 77 จังหวัด

สำหรับอีเวนต์วิ่งที่เกิดผุดเป็นดอกเห็ดทั่วเมืองไทย ได้มาตรฐานหรือปลอดภัยสำหรับนักวิ่งเพียงใด ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ? ไม่มีหน่วยงานใดเป็นแม่งานดูแล จะมีก็แค่แนวทางที่เป็นมาตรฐานเท่านั้น

“การจัดรายการวิ่งในเมืองไทยเสรีมาก จนเกิดการฉวยโอกาสจากคนบางกลุ่มที่อาจไม่คำนึงถึงคุณภาพ เราไม่มีองค์กรควบคุมให้การจัดกิจกรรมการวิ่งเป็นไปตามมาตรฐาน หากออแกนไนซ์จัดงานแบบสุขเอาเผากิน โดยไม่ศึกษาไม่เรียนรู้ และไม่สามารถควบคุมงานได้ จนเกิดความเสียหาย ข้อผิดพลาด จะเกิดผลกระทบทั้งชื่อเสียงงาน ตัวนักวิ่ง และชุมชนที่ไปจัด” อ.ณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ งานวิ่งมาราธอนที่ผ่านๆ มา ผู้จัดงานสามารถทำได้โดยไม่ได้มีข้อกำหนด เพียงแค่มีการดูแลอำนวยความสะดวกในการวิ่งให้ดี ประสานงานกับเจ้าหน้าที่คอยควบคุมการจราจร และดูในเรื่องเส้นทางการวิ่งไม่ให้อันตรายจนเกินไป

สำหรับงานวิ่งในเมืองไทยที่มีคุณภาพมีชื่อเสียงยาวนานเก่าแก่เป็นที่ยอมรับ อาทิ “กรุงเทพมาราธอน” งานแข่งขันวิ่งมาราธอนประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมืองไทย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2531 “จอมบึงมาราธอน” เข้าสู่ปีที่ 34 จากงานวิ่งเล็กๆ ในชนบทสู่งานระดับชาติที่นักวิ่งยอมรับ หรืออย่าง “ขอนแก่นมาราธอน”, “ ริเวอร์แคว ฮาล์ฟมาราธอน” เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น