"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ประเทศไทยถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของโลกว่าเป็นประเทศที่มีการ “รัฐประหาร” มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แปดสิบกว่าปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้ระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นการสลับฉากไปมาระหว่างการรัฐประหารและการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีการพยายามรัฐประหารหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จจนกลายเป็นกบฏไป สภาพแบบนี้สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความไม่ตกผลึกของโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย ระหว่างความปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งในของกระแสการเมืองระดับสากล กับความปรารถนาในการดำรงรักษาวัฒนธรรมอำนาจแบบดั้งเดิม
ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหารกำลังดำเนินการสร้างถนนอันแสนขรุขระสู่การเลือกตั้งในปีหน้า กระแสและคำถามเกี่ยวกับการรัฐประหารครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องราวที่ปรากฎในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ หลังการสัมภาษณ์ของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญาชาการทหารบกคนใหม่ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ตอบคำสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมผู้บัญชาการหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบกหลายประเด็นตามธรรมเนียมของคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. คำถามที่นักข่าวถามและให้ความสนใจจนกลายเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ในวันถัดจากวันให้สัมภาษณ์ยังคงมีโครงเรื่องแบบเดิมนั่นคือเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของทหารกับการเมือง โดยเฉพาะความคิดเห็นและจุดยืนของ ผบ.ทบ.ต่อการรัฐประหาร ทิศทางการตีความของนักข่าวจากคำตอบเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ ผบ.ทบ.คนใหม่ไม่รับประกันว่าจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่
การตีความแบบนี้เกิดจากการคำตอบเชิงเงื่อนไขที่ว่า “ ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุของการจลาจล ... มันก็ไม่มีอะไร”
อันที่จริง การตอบแบบไม่รับประกันว่ามีรัฐประหาร หรือรับประกันว่าไม่มีการรัฐประหารก็ไม่แตกต่างกันมากนักในเชิงกรอบคิดภาคปฏิบัติของผู้นำกองทัพบก ดังในอดีตมีทั้งผู้บัญชาการทหารบกบางคนที่ยืนยันว่าไม่ทำรัฐประหาร แต่ในที่สุดเมื่อถึงสถานการณ์หนึ่งก็ตัดสินใจทำรัฐประหาร ขณะที่ ผบ.ทบ.บางคนก็ไม่ได้ทำรัฐประหาร แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือเราไม่อาจคาดการณ์และเอาจริงเอาจังกับคำตอบที่ออกมาสู่สาธารณะแบบนี้ได้มากนัก คนที่ “ยืนยันว่าไม่ทำรัฐประหาร อาจทำรัฐประหาร” ก็ได้ ในทางกลับกันคนที่ “ไม่ยืนยันว่าทำรัฐประหาร อาจไม่มือลงทำ” ก็ได้
การทำรัฐประหารเป็นกรอบคิดเชิงบรรทัดฐานและวิธีการทางการเมืองอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่มักถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างตามสถานการณ์การเมือง มีทั้งแบบทำเพื่อรับใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้องของคณะผู้ก่อการ หรือเพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์บางอย่างทางการเมืองไทย สำหรับการรัฐประหารสองครั้งหลังสุด คณะผู้ลงมือทำรัฐประหารยืนยันว่าเป็นไปเพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์ของการเมืองไทย และประชาชนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อเช่นนั้น แต่แน่นอนว่า กลุ่มนักการเมืองผู้สูญเสียอำนาจและประชาชนที่สนับสนุนนักการเมืองย่อมมีมุมคิดแตกต่างออกไป
การต่อต้านการรัฐประหารก็มีให้เห็นบ้างจากการกระทำของมวลชนที่สนับสนุนนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ขณะที่มีรัฐประหาร เหตุผลที่ใช้ในการต่อต้านย่อมกระทำในนามของประชาธิปไตย เพื่อสร้างความชอบธรรม มากกว่าในนามพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มที่สูญเสียอำนาจ การต่อต้านการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ มีความคึกคักและกว้างขวางพอสมควรทั้งในระดับมวลชนและนักการเมืองของฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ แต่บรรยากาศการต่อต้านการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ ค่อนข้างเงียบเหงา กระทำโดยนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มเล็กๆบางกลุ่ม ขณะที่นักการเมืองและแกนนำมวลชนของกลุ่มที่ถูกยึดอำนาจแทบจะไม่ปรากฎให้เห็น ทั้งนี้เพราะบางส่วนก็ถูกจับ บางส่วนก็หนีไปต่างประเทศ และบางส่วนก็ยอมจำนนไม่ต่อสู้ใดๆ เรียกได้ว่ากระแสการต่อต้านการรัฐประหารเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับการต่อต้านการรัฐประหารในครั้งก่อนหน้านั้น
ในอีกด้านหนึ่ง การรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมากลับได้รับการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาจากคนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะชนชั้นกลาง ซึ่งแตกต่างจากการรัฐประหารก่อนหน้านั้นพอสมควร ที่คนไทยส่วนใหญ่มักวางเฉย ยอมรับอย่างเงียบๆ และไม่สนับสนุนอย่างชัดเจนมากนัก การที่คนในสังคมไทยในช่วงสิบกว่าปีมานี้สนับสนุนและยอมรับการรัฐประหารมสองเหตุผลหลัก
เหตุผลแรก คือความรู้สึกเบื่อหน่ายเอือมระอากับพฤติกรรมของนักการเมืองที่ครองอำนาจ ที่มุ่งแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์จนเกินขอบเขต ทั้งยังบ่อนทำลายกลไกของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยจนเป็นอัมพาต และใช้อำนาจย่ำยีหลักนิติธรรมแทบดับสูญ จนกระทั่งไม่หลงเหลือของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยให้จับต้องได้อีกต่อไป ระบอบประชาธิปไตยจึงเหลือแต่เพียงเปลือกหุ้มในเชิงสัญลักษณ์ แต่มีเนื้อในอัดแน่นด้วยความเป็นเผด็จการ เมื่อเป็นแบบนี้จึงทำให้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก แม้เดินลงไปสู่ท้องถนนติดต่อกันเป็นเวลายาวนานเพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองแล้วก็ตาม กลุ่มผู้มีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งก็มิได้ตอบสนองแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อมีกลุ่มที่มีพลังอำนาจออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงให้การสนับสนุน แม้หลายคนตระหนักว่านั่นไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืน แต่ก็ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ต้องยอมกล้ำกลืนฝืนทน
สำหรับ เหตุผลที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่ทัศนคติแบบอำนาจนิยมยังคงมีระดับความเข้มข้นค่อนข้างสูง ทัศนคติแบบอำนาจนิยมเป็นแนวโน้มของความรู้สึกและเจตจำนงที่ยอมอ่อนน้อมและจำนนต่อผู้ถืออาวุธที่มีพลังอำนาจในการใช้ความรุนแรง และต่อพลังอำนาจเชิงสัญลักษณ์ตามประเพณีดั้งเดิม
หากทัศนคติแบบอำนาจนิยมดำรงอยู่ในจิตสำนึกของนักการเมือง พวกเขาก็จะไม่ยอมกระทำในสิ่งที่คนมีอำนาจน้อยกว่าเรียกร้องหรือกดดันให้กระทำในสิ่งที่ตนเองไม่ปรารถนาจะทำ เช่น ไม่ยินยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้มีประชาชนจำนวนมหาศาลชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ หรือ หากทัศนคติแบบนี้ดำรงอยู่ในจิตสำนึกของทหาร สิ่งที่เราเห็นได้ก็คือ การที่ทหารไม่ยอมรับบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือค้ำจุนและยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นำโดยประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่พวกเขาเห็นว่ามีพลังอำนาจน้อยกว่าตนเอง หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขปกติของรัฐธรรมนูญ กรอบคิดของบรรดาทหารทั้งหลายก็คือ พวกเขาต้องเป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น การที่ทหารจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการเมืองโดยที่ตนเองไม่มีบทบาทนำเกิดขึ้นได้ในกรณีเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเกิดจากพลังอำนาจเชิงสัญลักษณ์ตามประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทย ซึ่งทหารยอมรับว่ามีพลังอำนาจเหนือพวกเขา
หากทัศนคติแบบอำนาจนิยมดำรงอยู่ในหมู่ประชาชน ประชาชนก็จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มที่พวกเขาเชื่อว่ามีพลังอำนาจเหนือกว่า แต่ประชาชนมักจะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่เกิดจากประชาชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะหากประชาชนกลุ่มที่เป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับพวกตน
ผมประเมินว่าทัศนคติแบบอำนาจนิยมยังคงเป็นทัศนคติกระแสหลักของสังคมไทย ทัศนคติแบบนี้กระจายและแทรกซึมอยู่ในจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ในกลุ่มทุกอาชีพ ทุกชนชั้น ทุกภูมิภาค และทุกชุมชน ผมคิดว่าในสังคมไทยมีคนจำนวนไม่มากที่สลัดหลุดจากทัศนคติแบบอำนาจนิยม และรับเอาทัศนคติแบบประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่ในพื้นที่ของจิตสำนึกของตนเอง จนเป็นแบบแผนการปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้นในช่วงสิบปีถัดไปจากนี้ หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะเห็นก็ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยเฉพาะหากเกิดในช่วงที่ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่อย่างรุนแรง