xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าปมดีลแสนล้าน “GPSC-GLOW” ล่ม นี่แค่ยกแรกของ “มหาสงครามทุนพลังงาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แวดวงพลังงานสั่นสะเทือนรุนแรงระดับ 7.0 ริคเตอร์อีกครั้ง เมื่อ บอร์ด “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” หรือ “กกพ.” มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุมัติให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทใน “กลุ่ม ปตท.” ซื้อหุ้น “บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) “ หรือ GLOW หลังพิจารณาแล้วขัดต่อระเบียบ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานว่าด้วยการส่งเสริมการแข่งขัน

เพราะนั่นหมายความว่า “ดีลระดับแสนล้าน” มีอันต้องล้มพังพาบไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกันก็มี “คำถาม” เกิดขึ้นตามมามากมายถึง “เบื้องหน้า” และ “เบื้องหลัง” ของ มติ กกพ.ดังกล่าวว่า มีอะไรแตกต่างกว่าที่นึก หรือลึกกว่าที่คิดหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า บอร์ด กกพ.ชุดนี้ เป็น “บอร์ดพิเศษ” ที่มาจากการที่ “นายกฯ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจ“ม.44” แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ พร้อมกับปลดบอร์ด กกพ.ชุดเก่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ที่ผ่านมาอันนำซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้

บอร์ด กกพ.ชุดดังกล่าวมี นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายสุธรรม อยู่ในธรรม นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ นายพีระพงศ์ อัจฉริยชีวิน นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ นายสหัส ประทักษ์นุกุล และนางอรรชกา สีบุญเรือง

รวมทั้งมติที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็น “ผลงานชิ้นแรก” ของ บอร์ด กกต.ชุดนี้อีกต่างหาก

มติ กกพ.ที่เป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 นั้น ให้เหตุผลถึงคำสั่งไม่อนุมัติให้ GPSC ซื้อหุ้น GLOW ว่า เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รวมทั้งการพิจารณาของ กกพ. ยังเป็นการพิจารณาที่ตระหนักถึง การสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาในระยะยาวด้วย

นอกจากนี้ กกพ.ยังอธิบายด้วยว่า การรวมกิจการดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่ จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว จึงเป็นการลดการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่การให้บริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ตาม เพราะพบว่า การให้บริการของ กฟภ. ก็ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้ากลุ่ม GLOW ได้ เนื่องจากเหตุผลทางคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องการความมีเสถียรภาพ รวมทั้ง กฟภ. ยังต้องจำหน่ายไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ทำให้ไม่สามารถให้อัตราส่วนลดกับผู้รับบริการได้ ส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันดังกล่าว

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ปมปัญหาเรื่อง GPSC ซื้อหุ้น GLOWนั้น ตกเป็นข่าวครึกโครมจากการเคลื่อนไหวของ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คัดค้านพร้อมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งก็เป็นที่จับตาว่ามีอะไรในกอไผ่มาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากปรากฏชื่อ “อนุตร จาติกวณิช” น้องชายคนสุดท้องของกรณ์นั่งแป้นอยู่เป็นกรรมการของ GLOWซึ่งอนุตรเองนั้นก็ต้องบอกว่าคลุกคลีกับแวดวงธุรกิจผลิตไฟฟ้ามาโดยตลอด ผ่านงานมาทั้งบริษัท พลังงาน อุตสาหกรรม ,บริษัท เอช เพาเวอร์ ในกลุ่มบริษัท เหมราช ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น

และไม่เพียงแค่น้องชายตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังมี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” มือกฎหมายของรัฐบาลนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการอิสระของ GLOW อีกต่างหาก

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญก็คือ ในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา GPSC มีการปรับโครงสร้าง

ภายใน เนื่องจากนายเติมชัย บุนนาค ได้มีหนังสือแจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่ 28 ก.ย.61 การลาออกดังกล่าวส่งผลให้นายเติมชัยพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วย จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯนัดพิเศษเมื่อ 28 ก.ย. มีมติแต่งตั้ง นายชวลิต ทิพพาวนิช ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนนายเติมชัย บุนนาค การแต่งตั้งดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

กล่าวสำหรับ GPSC เป็นบริษัทในเครือ ปตท. โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกคือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 22.73% บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 22.58% และบริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ จำกัด 20.79% ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำและสาธารณูปโภคต่างๆ ก่อตั้งเมื่อวันที่10 มกราคม 2556 มีทุนจดทะเบียน 14,983,008,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวนทั้งสิ้น 1,498,300,800 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท จำนวนทุนที่ชำระแล้ว 14,983,008,000 บาท มีนายเติมชัย บุนนาค เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

ขณะที่ GLOW ก็เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและเป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคทางอุตสาหกรรมในภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทคือผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม (Processed Water) และน้ำเย็น (chilled water) ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง และเขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มี ญาณ ฟรานซิสคุส มาเรีย ฟลาเช่ เป็นประธานกรรมการ และ เบรนดอน จี.เอช. วอเทอร์ส เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ตามข้อมูลที่ปรากฏ GPSC เตรียมเข้าซื้อ GLOWภายหลังคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้ดำเนินการซื้อหุ้นจำนวน 69.11% ของ GLOW จาก 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW คือ บริษัท เอ็นจี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 54.16 % และENGIE GLOBAL DEVELOPMENTS B.V. จำนวน 14.95% ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. หากได้รับอนุมัติจาก กกพ. หลังจากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป โดยภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มเพิ่มเป็นราว 5 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ

ทว่า สุดท้าย ดีลแสนล้านดังกล่าวก็มีอันต้องพังพาบไป

ด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ปตท.ให้อำนาจ GPSC เป็นผู้ดำเนินการหลังจากนี้ว่าจะอุทธรณ์กรณีดังกล่าวหรือไม่ เพราะปตท.เป็นเพียงผู้ถือหุ้นใน GPSC เท่านั้น ขณะที่นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า GPSC รับทราบคำตัดสินของ กกพ. และกำลังศึกษาแนวทางและรายละเอียดการดำเนินการต่อไป โดย ยืนยันว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว และจะคงแนวทางการพัฒนาธุรกิจตามแผนเดิมที่วางไว้ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ในช่วงที่กระแสข่าวทำท่าว่าจะออกมาว่า “ดีลสำเร็จ” ราคาหุ้น GPSC เคยขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเมื่อกลางเดือน ม.ค.2561 ที่ระดับ 87.50 บาท ก่อนที่จะโดนเทขายลงมาทำจุดต่ำสุดของวันที่ 9 ต.ค.2561 ที่ระดับ 64.75 บาท นับเป็นการปรับตัวลดลงมาเกือบ 30%

ทั้งนี้ หลังมีความชัดเจนว่าดีลล้ม วันที่11 ต.ค.ราคาหุ้น GPSC ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 65.50 บาท สูงสุด 67.75 บาท และปิดที่ 67 บาท ลดลง 1 บาท หรือคิดเป็นลดลง 1.47% มูลค่าซื้อขาย 693.90 ล้านบาท ส่วน GLOW จุดต่ำสุดที่ 81.50 บาท สูงสุด 84.00 บาท และปิดการซื้อขาย 82.25 บาท ลดลง 5.25 บาท หรือคิดเป็น 6% มูลค่าซื้อขาย 1,623.05 ล้านบาท

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศเตือนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเรื่องเงื่อนไขบังคับก่อนภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่าง GPSC และ Engie Global Development B.V. ตามที่ GPSC แจ้งไว้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่สำเร็จหลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติไม่เห็นชอบการเข้าซื้อหุ้น GLOW

มองในแง่ดีกรณีดีลล่ม อาจเป็นเรื่องที่ดีต่อ GPSC เพราะจะทำให้การกำลังการผลิตไฟฟ้าของ GPSC ในช่วงปี 2562-2567 เติบโตเฉลี่ยเพียง 1.1% จาก 5.4% ก่อนการเข้าซื้อกิจการ และเนื่องจากเป็นการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ จึงทำให้ GPSC ต้องอาศัยแหล่งเงินทุนทั้งการเพิ่มทุนและการกู้ยืม โดยแนวทางการเพิ่มทุนนั้นจะทำให้เกิด Share Dilution และหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ของบริษัทสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนในอนาคตมีข้อจำกัด อัตราการจ่ายเงินปันผลก็อาจลดลงเช่นกัน เนื่องจากบริษัทฯต้องจำเป็นต้องชำระหนี้มากขึ้น และอาจต้องสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าของ GLOW ที่มีอายุมากแล้ว

ก็คงมีแต่ GLOW เท่านั้น ที่ดูจะมีปัญหาหนัก เพราะเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า “ฝรั่ง” ต้องการขาย และเมื่อดีลมีอันเป็นไป ทางผู้ถือหุ้นและผู้บริหารคงต้องมาถกกันหนักว่า จะทำอย่างไรกันต่อไป

ใครจะได้จะเสียจากดีลครั้งนี้ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ คือ สุดท้ายแล้วคงต้องติดตามกันต่อไปว่า กรณีดังกล่าวจะพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะนี่เป็นเพียงแค่ “ยกแรก” ของ “มหาสงคราม” ของทุนพลังงานในประเทศไทยเท่านั้น และเชื่อเหลือเกินว่า จะมี “ศึกใหญ่” ในระลอกต่อมาเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งเครื่องเปิดเสรี “โซลาร์รูฟท็อป” และ “นำเข้าก๊าซ LNG” ที่งวดเข้ามาทุกที

กำลังโหลดความคิดเห็น