xs
xsm
sm
md
lg

ความฉลาดทางการเมืองของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้าคือ การใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา ๔๔ ยกเลิกการเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพรมารี่โหวตของพรรคการเมือง อันเป็นการตัดสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค เท่ากับว่า คสช.มิได้มีการกระทำที่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปพรรคการเมืองแต่อย่างใด กลับทำลายแหล่งเรียนรู้ทางการเมืองแหล่งใหม่ของประชาชนจนสูญหาย อันเป็นการบั่นทอนโอกาสการพัฒนา “ความฉลาดทางการเมือง” (political intelligence) ของประชาชนลงไปด้วย

สิ่งที่ คสช. กระทำข้างต้นดูขัดแย้งกับสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พูดในเวลาต่อมา (๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑) อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “ประชาชนต้องเรียนรู้ นักการเมืองต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง” การพูดแบบนี้ดูเหมือนว่า พลเอกประยุทธ์ ต้องการให้ประชาชนมีความฉลาดทางการเมือง แต่การกระทำก่อนหน้านั้นของพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. กลับตัดโอกาสประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่แห่งการเรียนรู้ทางการเมืองขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการพูดกับการกระทำของผู้นำการเมืองขัดแย้งกันเองเช่นนี้แล้ว ประชาชนก็สามารถเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์ดังกล่าว และนำมาสรุปเป็นบทเรียนต่อไป

สำหรับประโยคที่พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า “นักการเมืองต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงนั้น” ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคำสั่ง คสช.ไปทำให้บริบทภายในพรรคการเมืองกลับไปเป็นเหมือนเดิม นั่นคือหัวหน้าพรรคหรือผู้มีอิทธิพลภายในพรรคมีพลังอำนาจชี้เป็นชี้ตายต่อชีวิตทางการเมืองของนักการเมืองต่อไปได้ ส่วนประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคธรรมดายังคงไม่มีพลังอำนาจใดๆที่จะไปสร้างผลกระทบต่อนักการเมือง เพราะว่ากฎหมายพรรคการเมืองที่พยายามเสริมสร้างพลังอำนาจแก่สมาชิกพรรคขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การปรับดุลยภาพใหม่ของอำนาจภายในพรรคการเมืองถูกทำลายทิ้งไปเสียแล้ว เช่นนี้แล้วจะเหลือบทเรียนอะไรให้นักการเมืองเรียนรู้เพื่อปฏิรูปตนเองเล่า

แต่การเรียนรู้อย่างหนึ่งของประชาชนก็คือ เมื่อใดก็ตามที่พลเอกประยุทธ์พูดถึงการปฏิรูปการเมือง เมื่อนั้นความรู้สึกที่น่าขบขันแบบขื่นๆ ก็เกิดขึ้นในกลุ่มคนจำนวนไม่น้อย เพราะสิ่งที่พลเอกประยุทธ์และพวกพ้องที่สนับสนุนเขากระทำทางการเมืองแต่ละอย่างนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมแบบเดิมๆ ที่สร้างปัญหาให้กับการเมืองไทยมาโดยตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือการดูดอดีตนักเลือกตั้งที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปอยู่ในเครือข่ายพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจก็ตาม เช่นนี้แล้ว ประชาชนก็เรียนรู้ว่า นักการเมืองที่มาจากรัฐประหารไม่เคยปฏิรูปตนเองเลยแม้แต่น้อย

ความรู้สึกตลกขบขันแบบฝืดๆ ปนความรู้สึกแบบน่าเวทนาคือ รัฐบาลจากคณะรัฐประหารชุดนี้มีพฤติกรรมการบริหารประเทศแบบไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ มีท่วงทำนองในการสร้างภาพลักษณ์เชิงการตลาด มีนโยบายและโครงการประชานิยมจำนวนมาก และมีแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งตอบสนองและคุ้มครองผลประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่าประชาชนคนธรรมดา ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ “การบริหารแบบฝาแฝด” กับการบริหารของนักเลือกตั้ง ประเภทแยกกันไม่ออกว่า อันไหนเป็นรัฐบาลประยุทธ์ อันไหนเป็นรัฐบาลทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ เช่นนี้แล้ว ประชาชนก็เรียนรู้ว่า รัฐบาลไม่ว่ามาจากรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่ใช้อำนาจพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองและกลุ่มนายทุนผูกขาด รวมทั้งสร้างคะแนนนิยมเพื่อจะครองอำนาจต่อไปอย่างยาวนานนั่นเอง

นอกจากกรอบความคิดและพฤติกรรมในการบริหารบ้านเมืองของผู้นำประเทศในปัจจุบันไม่ค่อยจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไรแล้ว นักการเมืองจำนวนมากทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ก็มีแบบแผนความคิดและการดำเนินงานทางการเมืองแบบเดิมเช่นเดียวกัน ดังเห็นได้จากนักการเมืองผู้เป็นอดีตส.ส. ของพรรคการเมืองบางพรรคเดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบกับบุคคลที่พวกเขาเรียกว่า “นาย” การตัดสินใจภายในพรรคการเมืองพรรคนี้ รวมทั้งพรรคที่อยู่ในเครือข่ายตระกูล “เพื่อ” ทั้งหลาย ก็ยังคงได้รับอิทธิพลและถูกครอบงำจากคนที่พวกเขาเรียกว่า “นาย” ที่อยู่ในต่างประเทศเช่นเดิม เท่าที่เห็นสมาชิกพรรคธรรมดาสามัญของพรรคเหล่านี้แทบไม่มีพื้นที่ทางอำนาจใดๆภายในพรรคแม้แต่น้อย เช่นนี้แล้ว ประชาชนก็เรียนรู้ว่า พรรคการเมืองบางพรรคยังคงมีนายทุนใหญ่เป็นเจ้าของ ส่วนนักการเมืองคนอื่นๆ ภายในพรรคก็มีสถานะเหมือนลูกจ้างดังเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงใดๆแม้แต่น้อย

สิ่งที่ครอบงำความคิดของแกนนำพรรคการเมืองแบบนี้ก็คือ การคิดค้นยุทธศาสตร์และวิธีการที่จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้ง การหาวิธีการสร้างคะแนนนิยมที่ไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นเพื่อเล่นงานได้ในภายหลัง และการหาโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ส่วนความคิดที่จะพัฒนาช่องทางและกลไกในการขยายฐานสมาชิก การเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่สมาชิกในการบริหารพรรค และการพัฒนาความคิดและจิตสำนึกประชาธิปไตยแก่สมาชิก แทบจะไม่อยู่ในสมองของพวกเขาแม้แต่น้อย สมาชิกพรรคในความคิดของคนเหล่านี้เป็นเสมือน “เบี้ย” ทางการเมืองที่พวกเขาใช้เล่นในเกมอำนาจเท่านั้นเอง ดังนั้น หากสมาชิกพรรคใดไม่ต้องการเป็นเพียง “เบี้ย” ก็ต้องลุกขึ้นมาทวงสิทธิภายในพรรคให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ก็ยังพอมีพรรคการเมืองบางพรรคที่พยายามเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและพลังอำนาจของสมาชิกในการบริหารพรรค ดัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรงเป็นครั้งแรก เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทย ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และจะดียิ่งขึ้นหากพรรคประชาธิปัตย์เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทำไพรมารีโหวตเพื่อเลือกผู้สมัครขั้นต้นในแต่ละเขต แต่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะเป็นแบบไฟไหม้ฟาง เพื่อสร้างความชอบธรรมและภาพลักษณ์ให้แก่ตนเอง ที่คะแนนนิยมกำลังตกต่ำหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

และนอกจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ แต่กล้าริเริ่มในสิ่งใหม่ทางการเมืองแล้ว ก็มีข่าวว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ บางพรรค เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ เป็นต้น ก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกันคือการให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง และอาจรวมไปถึงการทำไพรมารีโหวตเพื่อคัดเลือกผู้สมัครในระดับเขตเลือกตั้งด้วย หากพรรคการเมืองหลายพรรคร่วมมือกันวางแบบแผนและบรรทัดฐานทางการเมืองที่ก้าวหน้าขึ้นมาในลักษณะนี้ได้จริง ไม่ใช่สักแต่เพียงโฆษณาหรือสร้างภาพหลอกประชาชน ก็ทำให้มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในอนาคต เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นจะเป็นการเพิ่มสนามหรือแหล่งการเรียนรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน ยิ่งประชาชนมีแหล่งในการเรียนรู้ทางการเมืองมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความ “ฉลาดทางการเมือง” ( political intelligence) ของประชาชนมีมากขึ้น

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง การเรียนรู้ทางการเมืองเกิดขึ้นในหลายโอกาส แต่การเรียนรู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นและกว้างขวางมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์การเลือกตั้ง หรือไม่ก็ช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง หรือการขัดแย้งเชิงนโยบายที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนในช่วงการบริหารตามภาวะปกติ การเรียนรู้ทางการเมืองก็อาจเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก และยิ่งช่วงที่ปกครองด้วยรัฐบาลที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและกิจกรรมทางการเมือง การเรียนรู้ทางการเมืองจะเกิดค่อนข้างน้อย

การเลือกตั้งเป็นโอกาสขยายการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่มีการประชันแข่งขันคารม และการถกเถียงอภิปรายทั้งในเรื่องจุดยืนทางการเมือง ทิศทางการพัฒนาเพื่ออนาคตของประเทศ เนื้อหานโยบายที่หลากลาย การสำเร็จและล้มเหลวของการบริหารประเทศที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวของนักการเมืองทั้งในทางบวกและทางลบ สิ่งเหล่านี้กระจายในสื่อมวลชนทุกแขนง อีกทั้งยังมีการรณรงค์ทำกิจกรรมในรูปต่างๆมากมายที่มีทั้งเนื้อหาสาระและเจือปนด้วยสีสันความบันเทิง และที่สำคัญอีกอย่างคือการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชนและชาวเมืองในสถานที่ทำงานก็เกิดขึ้นในแทบทุกหนแห่ง

การเลือกตั้งจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเมืองที่สำคัญของประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้ประชาชนมีความฉลาดทางการเมืองเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นในบางครั้ง การเลือกตั้งก็อาจปิดกั้นการเรียนรู้ได้ หากมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นและปั้นจินตนาการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่ออย่างงมงาย จนนำไปสู่ความมืดบอดทางปัญญารวมหมู่เกิดขึ้น

การเรียนรู้ทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ดังนั้นการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางการเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้และสรุปบทเรียนจากประสบการณ์โดยตรงจึงเป็นเรื่องที่จะต้องส่งเสริมให้มีมากขึ้น เพราะยิ่งประชาชนเรียนรู้อย่างรอบด้านและเข้มข้นขึ้นมากเท่าไร ประชาชนก็จะมีความฉลาดทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อประชาชนมีความฉลาดทางการเมืองมากขึ้น การบริหารประเทศและการพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างและกระจายความเจริญรุ่งเรืองอย่างทั่วถึงมากขึ้นตามไปด้วย

รัฐบาลหรือกลุ่มอำนาจใดก็ตามที่ทำลายโอกาสการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชน รัฐบาลหรือกลุ่มอำนาจนั้นย่อมต้องการให้ประชาชนโง่เขลา เพื่อพวกเขาสามารถแสวงหาประโยชน์ได้โดยง่าย ดังนั้นประชาชนคงไม่ปรารถนาให้รัฐบาลหรือกลุ่มอำนาจแบบนี้ครอบงำสังคมนานเกินไปกระมัง เพราะยิ่งอยู่นานก็ยิ่งทำให้ประชาชนความฉลาดทางการเมืองของประชาชนลดลง และผลลัพธ์ของการพัฒนาประเทศจะเป็นไปแบบมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนเฉพาะในกลุ่มอำนาจและนายทุนที่ครอบงำประเทศ ส่วนประชาชนก็จะประสบกับยากจนและไม่มั่นคงอย่างถาวรตลอดกาล




กำลังโหลดความคิดเห็น