xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สารพิษตกค้าง60% ล้างไม่ออก เตือนภัย กินผักผลไม้เสี่ยงตายผ่อนส่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คำแนะนำทางโภชนาการที่ให้เพิ่มการกินผักผลไม้เพื่อสุขภาพที่ดีอาจไม่ถูกต้องเสมอไปเสียแล้ว เพราะผลการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ ประจำปี 2561 ของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏชัดเจนว่ามีสารพิษตกค้างในผักผลไม้สูงจนน่าตระหนก

แต่ที่น่าแปลกประหลาดใจทั้งสองกระทรวงกลับการันตีว่าการปนเปื้อนสารพิษตกค้างยังอยู่ในระดับปลอดภัย กินได้ ไม่มีปัญหา แค่ล้างกันก่อนก็ใช้ได้ จนกลายมาเป็นวิวาทะสนั่นโลกโซเชียล โดย “หมอจุฬาฯ” ออกมาเปิดโปงเบื้องหลังการแถลงร่วมของสองกระทรวงที่ลากคนไทยเสี่ยงสะสมโรคร้าย มะเร็ง ไต สมอง ตายผ่อนส่งนี้ ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ต้องการสนองประโยชน์ให้บริษัทค้าสารเคมีเป็นที่ตั้ง เพราะสารพิษที่ดูดซึมเข้าเนื้อในผักผลไม้ ล้างยังไงก็ล้างไม่ออก จะหลอกกันไปถึงไหน

ทั้งนี้ ตามถ้อยแถลง “โครงการตรวจสอบเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561” เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2561 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข นั้น น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดทั้งหมด 41 ชนิดพืช รวม 7,054 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ ผ่านมาตรฐานร้อยละ 88.8 ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 11.2 และเมื่อนำปริมาณที่ตรวจพบในผักและผลไม้สดมาประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค พบว่า ร้อยละ 99.86 อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

สำหรับผัก ผลไม้สด ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100% นั้น นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบุว่า มี 6 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก และข้าวโพดหวาน พบสารพิษต่ำมาก ส่วนผักและผลไม้ที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 7 อันดับแรก คือ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า มะเขือยาว มะเขือเปาะ มะเขือเทศ และส้ม ซึ่งส่วนใหญ่พบสารกำจัดศัตรูพืช เช่น ไซเปอร์เมทริน คาร์โบฟูราน และคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเป็นพืชที่พบแมลงศัตรูพืชได้ง่าย

รองเลขา มกอช. การันตีว่า แม้จะพบการตกค้างของสารเคมีสูง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ปลอดภัย ซึ่งจากการนำผักผลไม้ทั้ง 7 ชนิดมาประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยตามมาตรฐานโคเด็กซ์ พบว่า ที่ไม่ปลอดภัยจริงๆ คือ ส้ม จาก 105 ตัวอย่าง พบไม่ปลอดภัย 4.8% การตรวจสารตกค้างเหล่านี้ตรวจที่ความเสี่ยงสูงสุด คือ ไม่ได้ล้างทำความสะอาดเลย ซึ่งในความเป็นจริงการรับประทานจะต้องล้างทำความสะอาดรวมถึงปรุงสุกด้วย

สรุปง่ายๆ จากถ้อยแถลงของ รองเลขาฯ มกอช. คือ ถ้าล้างก่อน และปรุงสุกก่อนกินก็น่าจะปลอดภัยไม่มีปัญหา

ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุข ไปสุ่มตรวจผักผลไม้สดที่โรงคัดบรรจุ ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด ได้ผลออกมาว่า ผักผลไม้สดที่โรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี 219 แห่ง ทั่วประเทศ รวม 715 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน 612 ตัวอย่างหรือ 85.59% ไม่ผ่านมาตรฐาน 103 ตัวอย่าง หรือ 14.41%

การสุ่มตรวจในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก โดยแบ่งเป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัย 1,261 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 13.6% ส่วนสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองตรวจ 56 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านมาตรฐาน 28.2%

สำหรับการสุ่มตรวจจากตลาด 128 แห่ง ใน 26 จังหวัด รวม 481 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านมาตรฐาน 64.9% ไม่ผ่านมาตฐาน 35.1% ส่วนผลตรวจผักผลไม้ที่ใช้โครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ซึ่งนำร่อง 18 โรง ใน 12 จังหวัด รวม 162 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐาน 77.8% ไม่ผ่านมาตรฐาน 22.2%

ผลการสุ่มตรวจ สรุปรวมความได้ว่า เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานยังถือว่าสูง ขนาดโครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ก็ยังมีเสี่ยงไม่ปลอดภัย แต่กระนั้น กระทรวงเกษตรฯและสาธารณสุข ก็ต่างช่วยกันยืนยันว่า ผักและผลไม้ที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงยังถือว่ามีความปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากสารตกค้างจะเกิดอันตรายก็ต่อเมื่อบริโภคในปริมาณมากเท่านั้น

กล่าวจำเพาะส้ม ซึ่งเป็นผลไม้ที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสุดสุด หากปอกเปลือกแล้วจะทำให้สารพิษตกค้างลดลงกว่าร้อยละ 90 หรือหากจะนำส้มไปคั้นน้ำควรล้างเปลือกด้านนอกให้สะอาดก่อน อีกทั้งก่อนการบริโภคผักและผลไม้สด ผู้บริโภคควรล้างผักและผลไม้สดให้สะอาดเพื่อลดการตกค้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย

แถมยังให้ข้อมูลกึ่งเชิญชวนด้วยว่า สารพิษตกค้าง กินได้ปลอดภัย ช่วยกันกินผักผลไม้กันเพิ่มขึ้นอีกนะจะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “.... การรับประทานผักผลไม้มากกว่า 400 กรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น หากส่งเสริมให้คนไทยกินมากขึ้นจาก 100 กรัม เป็น 400 กรัมต่อวัน จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก 5.2 แสนล้านบาท เป็น 6.9 แสนล้านบาท หรือ 2.5% ของจีดีพี...”

ดาหน้าออกมาการันตีความปลอดภัยแม้ว่าจะมีสารพิษตกค้าง และการล้างจะช่วยลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เช่นนี้จึงมีรายการสวนกลับทันที

ดอกแรกจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซัดเข้าให้ว่า การล้างผักผลไม้ก่อนกินไม่ได้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงเพราะล้างได้แค่ผิวเปลือก หากดูดซึมเข้าเนื้อแล้วล้างยังไงก็ไม่ออก การส่งเสริมให้กินผักผลไม้ทั้งที่มีสารพิษอันตรายแล้วมาบอกว่ากินได้ปลอดภัยเท่ากับผลักให้คนไทยตายผ่อนส่ง เป็นโรคภัยมากขึ้น สารพิษได้รับแต่น้อยเป็นเวลานานก็เสี่ยงมะเร็งเช่นกัน

“....เมื่อเกิดมะเร็งบริษัทต่างๆ เหล่านี้ตามต่อติดมา ขายเคมีบำบัดแถมทรมาน และห้ามใช้กัญชา ต้องล้างประเทศไทยใช่ไหมครับ...”

ดอกสองตามมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ จวกรัฐปิดความจริงจึงต้องเปิดโปงให้ประชาชนคนไทยรู้เท่าทัน โดยเรื่องที่หน่วยงานรัฐไม่บอกจากการสุ่มตรวจผักผลไม้ครั้งนี้ คือ1. ไม่บอกว่าสารที่ตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณ 60% ล้างไม่ออก 2.ไม่บอกว่า ห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 280 ชนิด แต่ส่วนใหญ่การสุ่มตรวจที่ผ่านมาของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น ส่วนห้องปฏิบัติการที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน ใช้ตรวจสอบสารได้มากกว่า 400 ชนิด แต่ครอบคลุมชนิดสารที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 45%

3.การกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit: MRL) ในประเทศไทย เป็นการร่วมกันกำหนดระหว่างหน่วยงานราชการ และ 2 สมาคมค้าสารพิษ และ 4. การอ้างว่าแม้ตกค้างเกินมาตรฐาน แต่เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า ปลอดภัย เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ คำแถลงของสองหน่วยงานราชการต่อประชาชนเรื่องความปลอดภัยของผักและผลไม้จึงเต็มไปด้วยมายาคติหลายชั้น

“.... การแถลงร่วมอำมหิต อัปยศของกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ถูกลากเข้าไปอยู่ในเกมของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นว่าผักและผลไม้ ไม่มีการตกค้างมากและปลอดภัย นี่คือเหตุผลที่ มกอช.ต้องการดึงเรื่องการคุมอาหารปลอดภัยจากอย.ไปอยู่ในมือกระทรวงเกษตรฯ ....”

ดอกที่สาม ตามมาอีก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ถามว่า “เราจะเอาพวกมันอีกหรือ” เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปแล้วจะพบว่า การแถลงของคนในกระทรวงสาธารณสุขและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ “เป็นอีกกลยุทธ์ระยำอีกหนึ่งที่พยายามที่จะทำให้มีการใช้สารพิษต่อเนื่องไปอีก โดยทุกอย่างยังคงอยู่ในกำมือของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทำงานร่วมกับบริษัทสารพิษมาตลอด 30-40 ปี และทำลายความน่าเชื่อถือของกระทรวงสาธารณสุข ลงไปอีก” นั่นเพราะว่า กรรมการวัตถุอันตราย สมอช. มีคนมาจากบริษัทนำเข้าและขายสารพิษ และหน่วยราชการที่สนับสนุนการใช้สารพิษฆ่าประชาชนคนไทย

ความพยายามที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับคนไทยไม่สำเร็จ การจัดสารพิษกำจัดศัตรูพืชและการกำหนดความปลอดภัยในผัก ผลไม้ สินค้าเกษตร จึงอยู่ในหน่วยงานของราชการและกลุ่มผลประโยชน์จากสารพิษทั้งสิ้น

จัดหนักต่อเนื่องกันหลายดอก ทำให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร้อนรนออกมายอมรับว่า การล้างผักผลไม้กำจัดสารพิษไม่ได้ 100% แต่เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสารเคมีตกค้างลงไปได้บ้าง ดีกว่าไม่บอกหรือไม่ทำอะไรเลย ส่วนการเลิกใช้สารเคมีเกษตรอันตราย 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จุดยืนรัฐมนตรี สธ. ชัดเจนว่าไม่เอา แต่อำนาจในการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ สธ.

เรื่องการแบน 3 สารพิษเกษตรคืบหน้าถึงไหน ถามกระทรวงเกษตรฯ ล่าสุด น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ตอบในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งสะท้อนว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังเดินหน้าส่งเสริมให้สารเคมีต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง

ถึงตอนนี้ กระแสปลด “อ.ยักษ์” นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรฯ ที่ประกาศต้องแบน 3 สารพิษ ทันที เงียบไปแล้ว ส่วนคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งมาศึกษาเรื่อง 3 สารพิษ ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยี่ห้อ “ยาสามัญประจำบ้าน” สำหรับดับกระแสร้อนจากข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ก็เงียบหายไปกับสายลม เรียบร้อยโรงเรียน คสช. เช่นกัน

ล่าช้า ลากยาว แบบว่าเป็นคนไทยนี่ต้องอึด ถึก ทน ต่อการสะสมสารพิษจริงๆ ถึงจะมีชีวิตรอดอยู่สืบต่อไปอีกวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น