xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละมหากาพย์ “สนามบินสุวรรณภูมิ ” T2 ความวัว “เทอร์มินอลศาลเจ้า” ไม่ทันหาย ความควาย “รื้อมาสเตอร์แพลน” เข้ามาแทรก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็แทรกเข้ามาอีกแล้ว สำหรับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพราะกรณีการประกวดออกแบบ “เทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ” ที่ กลุ่มบริษัท เอสเอ กรุ๊ป ฟ้องร้อง ยังไม่ทันจบ ล่าสุด สภาสถาปนิก เตรียมยื่นเรื่องร้องเรียน “บิ๊กตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กรณี ทอท. รื้อผัง “มาสเตอร์แพลน สนามบินสุวรรณภูมิ” ย้ายที่ตั้งเทอร์มินอล 2 ทำสนามบินเสียสมดุล ทำประเทศชาติเสียหาย

ทั้งนี้ ปัญหาประเดประดังดังกล่าวเป็นผลมาจากกรณีการเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่ง “เอสเอกรุ๊ป” ที่ได้คะแนนอันดับ 1 ถูกปรับแพ้ฟาวล์ เพราะไม่ได้แนบเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา ต่อมาได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กระทั่งศาลมีคำสั่ง “ไม่คุ้มครองชั่วคราว” ทว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด เพราะศาลปกครองได้รับคำร้องไว้พิจารณาคดีในสารบบแล้ว ซึ่งหากศาลมีคำตัดสินออกมาให้ ทอท. แพ้ก็เตรียมตัวจ่ายค่าโง่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำเรียกร้อง

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างอนุกรรมการกฎหมาย ทอท. พิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง หากสรุปว่าไม่มีปัญหาใดๆ จะลงนามสัญญากับผู้ผ่านการคัดเลือก “กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค” ทันที

นอกจากความเหมาะสมของแบบเทอร์มินอล 2 ยังเกิดปัญหาตำแหน่งที่ตั้งซึ่งไม่ตรงกับตำแหน่งเดิมของผังแม่บท (Master Plan) สนามบินสุวรรณภูมิ เข้ามาแทรกซ้อน และดูเหมือนว่า จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กัน เผลอๆ จะใหญ่กว่าเสียด้วยซ้ำไป

พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก ตั้งโต๊ะแถลงเกี่ยวกับอาคารผู้โดยสาร 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ หัวข้อ “สุวรรณภูมิอาคาร 2 ความจริงที่คนไทยต้องรู้” เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 โดยเปิดเผยว่า ตามที่ ทอท. กำลังคัดเลือกผู้ออกแบบ เทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ สภาสถาปนิกพบว่า ทอท. มีการปรับผังแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และย้ายตำแหน่งที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มาอยู่บริเวณทิศเหนือปลายอาคารเทียบเครื่องบิน Concourse A พื้นที่อาคาร 348,000 ตร.ม. ค่าก่อสร้างอาคาร 35,000 ล้านบาท รวมระบบจะเป็น 42,000 ล้านบาทนั้น ตำแหน่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามผังแม่บท (Master Plan) เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังสนามบิน ซึ่งผังแม่บทถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและบริหารจัดการ

สาระสำคัญ คือ ที่ตั้งใหม่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินที่มีอยู่เดิม ทำให้มีปัญหาทางเทคนิค ปัญหาการสัญจรทั้งภาคอากาศ และภาคพื้น การจราจรเข้าออกสนามบิน มีปัญหาในการบริการด้านการบิน และเพิ่มต้นทุนในระยะยาว อีกทั้งขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ขณะที่ ทอท. มีโครงการพัฒนาขยายอาคาร Satellite ที่กำลังก่อสร้าง ควรขยายอาคารผู้โดยสารเดิมด้านตะวันออกและตะวันตก ต่อเนื่อง ซึ่งมีพื้นที่รวม 300,000 ตร.ม. เพื่อทำให้เทอร์มินอลปัจจุบันสมบูรณ์ และก่อสร้าง อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (อาคาร 2) ด้านทิศใต้ ให้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตามมาตรา 7(6) สภาสถาปนิก ต้องทำหน้าที่เสนอแนะรัฐบาล ดังนั้น จึงได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงของผังแม่บท และสิ่งที่ ทอท. กำลังจะทำทั้งหมด ยื่นต่อ พลเอกประยุทธ์เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริง และดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้เหมาะสมและคุ้มค่า เป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ซึ่งผู้แทนจากสภาสถาปนิกได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และได้ท้วงติงประเด็นนี้กับ ทอท. ไปแล้ว

 

สำหรับประเด็นการปรับผังแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้กล่าวชี้แจ้งเอาไว้ความว่า จำเป็นต้องปรับผังแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะทำไว้ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งผ่านมา 26 ปีแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทางการบินที่เปลี่ยนไปมาก ทั้งเชิงคุณภาพ และเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และตามข้อเสนอแนะของ ICAO บอกว่า แผนแม่บทท่าอากาศยานควรปรับปรุงทุกๆ 5 ปี

ขณะที่การพัฒนาเฟส2 ตามแผนเดิม มีความล่าช้า ทอท. ปรับกรอบเวลา จาก 4 เฟส เป็น 5 เฟส โดยเฟส2 จะมี อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1) ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ตะวันตก ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) เดิมปี 2554 - 2560 แต่เนื่องจากโครงการมีความล่าช้าเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) จึงปรับเป็น 2559 - 2563

ประเด็นสำคัญมีการแทรกเฟส3 ช่วงปี 2559 - 2564 มีรันเวย์ 3 และเทอร์มินอล2 ซึ่งย้ายตำแหน่งมาอยูก่อนเทอร์มินอลหลัก เพราะ ตัว Satellite 2 และอาคารปีกตะวันออกยังก่อสร้างไม่ได้ หาก Satellite 1 ไม่เสร็จ การที่ไม่ขยายอาคารปีกตะวันออกและตะวันตก จะมีปัญหาต่อบริการ เพราะต้องทุบกระจกเสียพื้นที่เคาน์เตอร์เช็คอินการบินไทย รวม 20 - 25 เปอร์เซ็นต์ ของอาคาร หากทุบทั้งปีกตะวันออก ตะวันตกของอาคารหลัก พื้นที่จะเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าเกิดความปั่นป่วนแน่นอน

สำหรับผังแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ จัดทำโดย Louise Burger และ NACO ร่วมกับกลุ่มสถาปนิกไทย ซึ่ง NACO เป็นผู้ออกแบบผังแม่บทให้สนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือสนามบินเช็กล้าบก็อก (ฮ่องกง) ,ลอนดอนฮีทโธรว์ และปักกิ่ง(จีน) และกำลังร่วมกับFoster & Partners ทำสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ เม็กซิโก

ขณะที่ นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) เปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกการปรับผังย้ายที่ตั้ง เทอร์มินอล 2 ของ ทอท. ไม่เพียงผิดหลักการสนามบินยังสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ความว่า การที่ ทอท. บอกว่า ผังแม่บท 30 ปีเก่าแล้วต้องปรับปรุง ต้องบอกว่า ผังแม่บทนั้น ทอท. ยังใช้งานอยู่ในวันนี้ ไม่มีการล้าสมัย การวางตำแหน่งอาคารหลังที่1,2 อาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1,2 อาคารผู้โดยสาร รันเวย์ เป็นการออกแบบสนามบินอย่างสมดุล ซ้าย - ขวา ทุกอย่างวางล็อกไว้แล้ว และรองรับผู้โดยสารสูงสุดที่ 100 ล้านคนต่อปี และพีคขึ้นไปได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี ภายใต้ 4 รันเวย์ ซึ่งสนามบินทั่วโลกจะอิ่มตัวที่ 120 ล้านคนต่อปี เท่านั้น แนวคิดในการวางผังแม่บท Next Generation Airport

เรื่องการปรับ เทอร์มินอล 2 มาสร้างก่อน และวางตำแหน่งแปะไว้ตรงก่อนถึงอาคารผู้โดยสารปัจจุบันได้หรือไม่? คำตอบคือ... ไม่ได้! เพราะเป็นการทำลายสมดุลของสนามบินกระทบการบริหารการจราจรทั้งทางอากาศและภาคพื้น กระทบต่อการจราจรเข้าออกสนามบิน เกิดความเสียหายมากมาย และเสียพื้นที่การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight) อีกด้วย

ส่วนเทอร์มินอล 2 พื้นที่ เกือบ 400,000 ตรม. รองรับ 30 ล้านคนต่อปี (ระหว่างประเทศ 18 ล้านคน ในประเทศ 12 ล้านคน) ตามTOR ทอท. กำหนดมี 14 หลุมจอดที่อยู่ในซอย ( Taxi5) จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรับ30 ล้านคนต่อปีเพราะ ข้อเท็จจริงการออกแบบเดิมที่ อาคาร 1 มี 51 หลุมจอด(ประชิดอาคาร) หลุมจอดระยะไกล (Remote Stand) 48 หลุมจอด รวม 99 หลุม และอื่นๆ อีกรวมแล้วมีทั้งสิ้น 124 หลุมจอด เพื่อรับที่ 45 ล้านคนต่อปี แต่ขณะนี้มีผู้โดยสาร 60 ล้านคนก็รับได้ มาดูที่ Satellite 1 ที่กำลังก่อสร้าง รับ 20 ล้านคน ออกแบบให้มี 28 หลุมจอด เท่านี้ก็ขัดกันเองแล้ว ว่า 14 หลุมจอด จะรับ 30 ล้านคนได้อย่างไร

ทอท. ต้องดำเนินการตามแบบเดิมตามผังแม่บท ที่ได้กำหนดให้ขยายปีกอาคารเดิมด้านตะวันออกและตะวันตก โดยสามารถก่อสร้างได้โดยไม่ต้องทุบกระจกหรือกระทบต่อตัวอาคารหลัก และไม่กระทบต่อการให้บริการ จะมีแค่ตอนจะเปิดกระจกเพื่อเชื่อมกับอาคารเดิม การเชื่อมพื้นที่ มีเทคนิคใหม่ๆ ใช้เวลาไม่กี่คืนก็ทำได้แล้ว

นายสมเจตน์ กล่าวต่อไป การที่ ทอท. เลื่อนการก่อสร้างอาคารด้านตะวันออกออกไป และจะเร่งทำอาคารด้านตะวันตกก่อน โดยอ้างว่า หากสร้างอาคารด้านตะวันออก จะต้องทุบกระจกอาคารหลัก และเสียพื้นที่เคาน์เตอร์เช็คอินการบินไทย เป็นการโกหก เพราะตามแบบเดิมได้ออกแบบไว้รอการขยายปีกตะวันออกและตะวันตกโดยไม่ต้องทุบอาคารเดิมเลย อีกทั้งยังสร้างเร็วกว่า เทอร์มินอล 2และประหยัดกว่าด้วย

“อาคารเดิมสูง 43.05 เมตรจะขยายปีกออกไป หลังคาอาจจะต่ำกว่าอาคารหลักบ้างก็ไม่เป็นไร ทางสถาปนิกที่ออกแบบ ได้วางแผนไว้เผื่อหมดแล้วตั้งแต่แรก ไม่ต้องทุบกระจก เพราะก่อสร้างด้านนอกไม่ต้องยุ่งกับกระจก เสร็จค่อยรื้อกระจกเพื่อเชื่อมพื้นที่เท่านั้น เราไม่ประสงค์ล้มประมูลใดๆ ส่วนเรื่องลอกแบบ เราไม่มอง มองที่ผังแม่บทที่ ทอท. จะทำให้บ้านเมืองจะเสียหาย”

ทั้งในรื่องความเหมาะสมของแบบและตำแหน่งที่ตั้งของอาคารที่ไม่ตรงกับตำแหน่งเดิมของแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงเบื้องหลังว่าเกิดการทุจริตเชิงนโนบาย หรือเกิดเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใดหรือไม่?

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Samart ตั้งข้อสังเกตตัดทอนบางตอนความว่า หาก ทอท. เลือกที่จะขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะใช้งบประมาณและเวลาน้อยกว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี (ประมาณการจากตัวเลขของ ทอท.ที่อ้างว่าการขยายอาคารด้านตะวันออกเพียงด้านเดียวจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี) ดังนั้น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งมีวงเงินถึง 42,084 ล้านบาท โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกัน ก็สามารถชะลอออกไปได้...

งานนี้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบกันยาวๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ ทอท. เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ “ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน” อยู่ไม่น้อยกับ 2 เรื่อง 2 ราวที่โผล่มาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะประเด็นหลังคือ กรณีที่ ทอท. ดำเนินการรื้อมาสเตอร์แพลนสนามบินสุวรรณภูมิ ย้ายที่ตั้ง “เทอร์มินอล 2” ซึ่งกำลังได้รับการตรวจสอบอย่างหนัก

และแน่นอนว่า มหากาพย์ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เนื่องจากถ้าหากผิดพลาดพลั้งไป ผลเสียย่อมเกิดกับประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


“นิตินัย ศิริสมรรถการ”
หาก ทอท. พลาดพลั้ง ต้องจ่ายค่าชดเชย
ก็ยังน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดกับประเทศ!?
ท่ามกลางปัญหาและคำถามสารพัดสารพัน ทั้งกรณีปมปัญหาการคัดเลือกผู้ออกแบบเทอร์มินอล 2สนามบินสุวรรณภูมิ ตลอดจนการรื้อผังแม่บท (Master Plan) ย้ายตำแหน่งที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ในประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียดว่า ทำไม เพราะอะไรและเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ตลอดรวมทั้งข้อปริวิตกถึงความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศชาติ
  “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ตามกำหนด ทอท. จะลงนามในสัญญาจ้างออกแบบฯ เทอร์มินอล 2 ในเดือน ก.ย. แล้วกรณีแบบเทอร์มินอล 2 ที่ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น ทอท. มีแนวทางปรับแก้อย่างไร
ประการแแรก มติบอร์ด ทอท. ให้ดำเนินการต่อโดยให้ดำเนินการให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เรานำเรื่องเข้าคณะอนุกฎหมายของ ทอท. เพื่อพิจารณาคำสั่งของศาล กฎระเบียบต่างๆ ให้มีความชัดเจนอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น เดือน ก.ย. คงยังไมได้ลงนาม (ตามกำนหนดเดิม) ซึ่งเดดไลน์ก็คือเดือน ธ.ค. ครับ

ประการที่สอง เรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ผมเข้าใจว่ามีอยู่ 2 ประเด็น เรื่องแพ้ฟาวล์ และ เรื่องลอกแบบ

เรื่องแรก-แพ้ฟาวล์ อย่างที่ทราบกันดีอยู่ว่า เอสเอกรุ๊ป ไม่ได้ใส่ซองราคาอย่างเป็นทางการของ ทอท. ซึ่งถูกวิพากษ์ว่าใส่รายละเอียดว่าราคาเท่าไหร่อะไรบ้างแล้ว ทำไมยังต้องมีกระดาษของ ทอท. ประเด็นสำคัญมันไม่ใช่แค่กระดาษเปล่าๆ ที่มีหัวกระดาษ AOT อยู่ข้างบน แต่มันมีข้อความหลายอย่างเป็นคำมั่น เช่น จะต้องยืนราคาอยู่กี่วันหลังจากชนะแล้วจะต้องเอาเงินกี่เปอร์เซ็นต์มาวางมัดจำภายในกี่วัน เป็นต้น ฉะนั้น มันจึงต้องมีแบบมาตรฐาน เหมือนเราจะให้ใครกู้เงินเอาก็ไปซื้อแบบฟอร์มเงินกู้มาซึ่งตรงนี้เป็นแบบมาตรฐานว่าจะต้องเขียนอะไรในทางกฎหมายให้มันรัดกุม เพราะหลังจากประมูลไปแล้วมันอาจจะมีอะไรเฉไฉ หรือว่าอะไรหัวหมออะไรเทือกนั้น ฉะนั้น เป็นการกันการตุกติก เฉพาะราคาที่เขียนมามันไม่เพียงพอ มันจึงต้องมีเอกสารนี้เป็นกึ่งคำมั่นดังกล่าว

ทางเอสเอกรุ๊ป บอกว่าไม่ได้เอกสารไม่มีใบนี้ในซอง คือเขาซื้อซองนี้ต้องแต่เดือนสิงหาคม ปี 2560 เจ้าหน้าที่เราก็ชี้แจ้งแล้วว่าในซองประกอบด้วยเอกสารอะไรที่มันนัยยะที่สำคัญบ้าง แล้วก็เซ็นต์รับทราบเซ็นต์รับซองไป ฉะนั้น อันดับแรกกลับไปเปิดเอกสารดูถ้าไม่มีเอกสารใด ต้องท้วงติงเข้ามาเป็นปีแล้ว อันดับสองอาจจะไม่ได้ตั้งใจฟังเท่าไหร่ จึงไม่ได้ท้วงติงใน TOR ที่เขียนตัวหนาและขีดเส้นใต้ชัดเจนเป็นสาระ ที่สำคัญไปกว่านั้น บริษัทกลุ่มเอสเอเคยชนะงานของ ทอท. แล้วใส่ซองใบเสนอราคาอย่างถูกต้องมาแล้ว เท่าว่ากับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องไม่ได้ฟัง ต้องไม่ได้อ่าน และไม่จำเรื่องที่ตนเองเคยทำมาในอดีต จึงไม่มีเอกสารเสนอราคาซึ่งกฎแกณฑ์ที่เขียนชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้เป็นใครคงไม่ต่อไปถูก และที่เราเลือกเขาเพราะเราชอบงานของเขา ชอบแบบของใครก็อยากได้จริง แต่เมื่อทำผิดกฎ เรื่องความชอบเรื่องกฎเกณฑ์เรื่องความโปร่งใสต้องแยกกันครับ
เรื่องที่สอง-เรื่องลอกแบบ เป็นเรื่องวิชาชีพ คณะกรรมการฯ 5 คน ในครั้งนี้ ประกอบด้วยสถาปนิกเกินกึ่งหนึ่ง มีสถาปนิก 3 คน หนึ่งในนั้นมีสถาปนิกคนนอกคือ นายกสมาคมสถาปนิกของประเทศไทย อีก 2 คน เป็นเรื่องเชิงพาณิชย์และโอเปอเรชั่น เพราะว่าการให้คะแนนไม่ได้ให้หมวดความสวยงามอย่างเดียว เขามีเรื่องของการบริการ การปฏิบัติกาความเหมาะขนาดพื้นที่กับผู้โดยสาร ความเหมาะสมในการบำรุงรักษา เป็นต้น

ที่สำคัญที่สุดอันนี้เป็นคอนเซปชวลดีไซน์ เป็นการนำเสนอไอเดีย ยังไม่มีการออกแบบ แค่เป็นการนำเสนอเดียครับ การออกแบบต้องชนะก่อนแล้วไปออกแบบ การออกแบบทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ กรณีวิจารณ์วัสดุไม้ อาจติดไฟง่ายก็ผิดเกณฑ์เขียนชัดใน TOR การออกแบบต้อคอมไพล์ทุกกฎ (มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการบำรุงรักษา) ตามที่ได้รับรายงานจากท่านประธานตรวจรับ ท่านบอกว่ามีการถามเรื่องนี้ในที่ประชุม เขาบอกว่าเป็นวัสดุเซลฟ์คลีนนิง อย่างไรก็ตาม จะต้องทำให้บำรุงรักษาได้ง่าย ก็ต้องไปดูลงรายละเอียดออกแบบอีกทีหนึ่ง ซึ่งหากไม่ได้ก็ต้องไปปรับตามคอมเมนท์ของคณะกรรมการด้วย

เรื่องของการลอกเลียนแบบผมไม่แน่ใจผมไม่ทราบจริงๆ เปรียบเทียบ หัวเสาที่บ้านผมเป็นทรงโรมัน แล้วอย่างถือว่าเรียนแบบศิลปะโรโกโกหรือเปล่า? หรือแบบที่ชนะอันดับ1 เป็นกระจก อย่างนี้เลียนแบบเทอร์มินอล 1 หรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบจริงๆ ว่าการเลียนแบบมันวัดที่ระดับไหน เป็นเหตุผลที่เราต้องให้สถาปนิก รวมทั้ง นายกสมาคมสถาปนิกฯ เข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สุดท้าย จะถามว่ามันเลียนแบบหรือเปล่าก็คงต้องถามวิชาชีพเขาน่ะครับ
เราทำดีที่สุดในเรื่องของระเบบพัสดุตามเกณฑ์ เรื่องของความชอบในการออกแบบเป็นเรื่องนานาจิตตัง เรื่องแบบลอกเลียนหรือไม่ผมคงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของวิชาชีพ

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า เทอร์มินอล 2 จะใช้แบบของกลุ่มดวงฤทธิ์
แบบที่ 2 (ของกลุ่มดวงฤทธิ์) โดยเกณฑ์ครับ เราเป็นพนักงานรัฐ เรื่องของความชอบแบบหรือไม่ชอบใช่ประเด็นหลัก อย่างผมชอบแบบที่ 1 (ของกลุ่มเอสเอ) ก็เสียดายว่าทำไมทำผิดกฎ ซึ่งเราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเดินหน้าตามกฎตามเกณฑ์ที่เป็นอยู่ เรื่องพวกนี้คงใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาตัดสินไม่ได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแปต้องใช้กฎเกณฑ์ในการตัดสิน ถ้าไม่มีการผิดกฎผิดเกฑณ์ก็ต้องเดินหน้าตามเกณฑ์ครับ

คดีที่ เอสเอกรุ๊ป ยื่นฟ้องฯ ยังไม่สิ้นสุด ขณะที่ ทอท. เดินหน้าโครงการฯ หลายฝ่ายกังวลเรื่องค่าโง่ค่าเสียหายที่อาจตามมา ทอท. จะอธิบายอย่างไร
เรื่องค่าโง่.. ถ้าเรามั่นใจว่าทำถูกกฎถูกเกณฑ์ความเสียหายก็จะไม่มี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการตัดสินอยู่ในดุลพินิจของศาล ตัวเราเองเราดูกฎระเบียบ เรามั่นใจต่างๆ แล้วอย่างที่เรียนข้างต้นเรานำเรื่องเข้าอนุกรรมการกฎหมายว่ามีสิทธิที่จะตีความเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้ามีช่องตรงไหนเราก็ต้องอุดช่องก่อน คงต้องรอฟังของทางอนุกฎหมาย ถ้าไม่มีช่องโหว่ก็ดำเนินการเซ็นสัญญาได้เลย

ตอนผมพรีเซ็นต์บอร์ดไป บอร์ดบอกว่าต้องเดินหน้าให้รอบคอบ ถ้าในอนาคตศาลท่านตัดสินมาไม่เป็นอย่างที่เราคิด ก็ชดเชยค่าเสียหายไป คือถ้าไม่ได้เซ็นสัญญาความเสียหายมันไม่ได้เกิดกับองค์กรอย่างเดียวนะครับ ความแออัดของผู้โดยสาร เครื่องบินวันนึงขนนักท่องเที่ยวมาเป็นร้อยๆ เกิดความเสียหายของประเทศเรื่องการท่องเที่ยวค่อนข้างสาหัส ความเสียหายมันเกิดกับประเทศมากกว่า 300 ล้านบาท สมมติเราพลาดพลั้งจริง ค่าชดเชยความเสียหายยังน้อยกว่าเยอะ

มีข้อสงสัยว่าทำไม ทอท. ไม่รื้อถอนอาคาร City Garden ตามแผนขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร
ต้องรอแบบเทอร์มินอล 2 ก่อน ในส่วนนี้จะมีระบบสายพานลิงค์กับเทอร์มินอล 1 ยังสร้างฝั่งตะวันออกตรงCity Garden ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าผู้ออกแบบจะออกแบบสายพานทิ่มเข้าไปจุดไหน ถ้าสร้างก่อนก็รื้ออีก เทอร์มินอล 1 และเทอร์มินอล 2 ต้องมีความสัมพันธ์กันก็เลยต้องเก็บพื้นที่ตรงนี้ไว้ก่อน และไปทำฝั่งตะวันตกก่อน สุดท้ายหากแบบเสร็จ City Garden ก็รื้ออยู่ดี

ทำไม ทอท. ถึงปรับผังแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ
เรื่องที่ตั้งเทอร์มินอล 2 ไม่ตรงตามแผนแม่บท ต้องเรียนอย่างนี้ครับ แผนแม่บทเดิมตั้งแต่ ปี 2535 ก็ประมาณเกือบ 3 ทศวรรษเข้าไปแล้ว ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าว ตอนนั้นอุตสาหกรรมของเราทางการบินตอนนั้นกับตอนนี้มันต่างกันเยอะ รายละเอียดหลายอย่างแตกต่างจากเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ตอนนี้มีการปรับมาสเตอร์แพลนใหม่ ถามว่าทำตามมาสเตอร์แพลนไหม ทำตามมาสเตอร์แพลนครับ แต่ไม่ใช่มาตเตอร์แพลน 30 ปีที่แล้ว เรามีการปรับมาสเตอร์แพลนครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น