ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเข้ามาของกลุ่ม “คนจีนรุ่นใหม่” หรือที่เรียกว่า “ซิน อี้ หมิน” เปลี่ยนย่านชุมชนไทยกลายเป็น “นิวไชน่าทาวน์”
นอกจาก “ไชน่าทาวน์ เยาวราช” ยังเกิดย่านชุมชนจีนแห่งใหม่ “นิวไชน่าทาวน์” หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากการท่องเที่ยว ย่านรัชดาภิเษก - ห้วยขวาง, พระราม 9 - อาร์ซีเอ, ศูนย์การค้าเสือป่าพล่าซ่า, ลาดกระบัง 54, เลียบทางด่วนรามอินทราแถวๆ นวลจันทร์
วิถีดั้งเดิมของชุมชนเปลี่ยนไปแบบไม่ทันตั้งตัว ชุมชนไทยเปลี่ยนร่างเป็น “นิวไชน่าทาวน์” ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือย่าน ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง ย่านชุมชนไทยที่แทบไม่เคยมีร่องรอยของวัฒนธรรมจีน แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากการเข้ามาของจีนรุ่นใหม่
ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน และเป็นแหล่ง “นิวไชน่าทาวน์” ที่ครบครันด้วยร้านอาหารจีน, ร้านนวดสปา ฯลฯ
เกิดปรากฎการณ์ ร้านขายของเจ้าประจำต้องย้ายออก เจ้าของเก่าขายกิจการ เปลี่ยนมือให้ “ซิน อี้ หมิน” เข้ามาปักหลักในย่านชุมชน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่เติบโตมาจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว
งานวิจัยโครงการ “การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนจีนย่านห้วยขวางไม่ใช่แค่เข้ามาเที่ยวแล้วเดินทางกลับ ไม่ใช่คนจีนเก่าแก่แบบย่านเยาวราช คนจีนย่านห้วยขวางเป็น “คนจีนรุ่นใหม่” ที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเมืองไทย
ดร.ชาดา เตรียมวิทยา อดีตนักวิจัยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา หัวหน้าคณะโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ถึงปรากฎการณ์จีนรุ่นใหม่ “ซิน อี้ หมิน” ย่าน “นิวไชน่าทาวน์” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
สำหรับย่านห้วยขวาง เป็นทำเลที่มีร้านอาหารจีนเยอะมาก ตลอดเส้นทาง ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 700 เมตร ไปถึงแยกประชาอุทิศ ซอกซอยเล็กๆ ก็จะมีชุมชนจีนอยู่เป็นระยะๆ เป็นย่านที่จีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่เยอะกว่าทุกที่ มีทั้งกลุ่มนักศึกษาจีน, ผู้ช่วยมัคคุเทศก์, ครูอาสาชาวจีน ฯลฯ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ไม่มีร่องรอยของวัฒนธรรมจีน จะมีก็เพียง “สถานทูตจีน” ที่อยู่ใกล้ๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ดึงดูดคนจีนรุ่นใหม่ เพราะจากการพูดคุยกับคนจีนหลายๆ คน บอกตรงกันว่า พื้นที่บริเวณย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นจุดนัดพบ “แฮงค์เอาต์”
พวกเขารู้สึกว่า... ต้องมากินแถวนี้นะ มีร้านอาหารจีนยูนาน ก็มีความรู้สึกว่าในร้านอาหารนั้นน่ะ มีเจ้าของร้าน มีผู้จัดการร้าน มีเด็กเสิร์ฟ ที่คุยภาษจีนกลางกับเขาได้
สำหรับย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เดิมทีมีแต่หอพัก-อพาร์เมนต์ แต่หลังๆ เริ่มมีการสร้างคอนโด และราคาไม่สูงมาก อสังหาริมทรัพย์ย่านนี้จึงที่นิยมของจีนรุ่นใหม่ รวมทั้ง ยังขยายตัวออกไปละแวกใกล้เคียง สุทธิสาร ลาดพร้าว พระราม 9 เพชรบุรี เป็นต้น
คนจีนรุ่นใหม่เข้ามาทำอะไรในย่าน “นิวไชน่าทาวน์” ดร.ชาดา เล่าว่า ส่วนใหญ่ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ - ห้วยขวาง เข้ามาขายของให้คนจีนด้วยกันนี่แหละ จะขายสินค้าไทยที่คนจีนเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ส่วนที่นิยมชมชอบกันและราคาไม่สูงมาก อย่างพวกเครื่องสำอางค์แบรนด์ไทยต่างๆ และเริ่มขยายตลาดคล้ายๆ กันที่เอเชียทีค หรือ ไชน่าทาวน์ เยาวราช ก็มีบางร้านที่ใช้โมเดลเดียวกัน เน้นการขายผลิตภัณฑ์ไทยให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะ
ยกเว้นย่านเสือป่าพลาซ่า คลองถมพลาซ่า เป็นย่านการค้าที่คนจีนเกือบจะถือครองหมดแล้ว แล้วก็นำสินค้าเมืองจีนมาขาย ซึ่งสินค้าบางตัวมันตกรุ่นแล้วที่ประเทศจีนแล้วแต่ยังเห็นขายอยู่ที่ เสือป่าพลาซ่า แคปปิตอลพลาซ่า คลองถม พลาซ่า
การเปลี่ยนแปลงชุมชนสู่ “นิวไชน่าทาวน์” ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2556 เป็นช่วงที่ “ทัวร์จีนบูม” นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาไหว้พระพิฆเนตร ทัวร์ก็มาลงในย่านนี้ ต่อมา ข้อจำกัดเรื่องที่จอดรถบวกกับหน่วยราชการเข้มงวดมากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนเป็นไกด์จีนมาเหมาซื้อสินค้าในย่านนี้แล้วก็ไปขายปลีกนักท่องเที่ยวอีกที
การทะลักเข้ามาในเมืองไทยของคนจีนรุ่นใหม่ ต้องบอกว่าพวกเขามีความตั้งใจจะเข้ามาทำธุรกิจอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะตัดสินใจอยู่ยาว
ดร.ชาดา เล่าว่า ตั้งแต่ประเทศจีนมีนโยบายการก้าวออกไป (Going-out Strategy) คนจีนก็เข้ามาทำธุรกิจกันในเมืองไทย ทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังต่อไปนี้
กลุ่มแรกกลุ่มคนจีนที่ตั้งใจเข้ามาค้าขายทำธุรกิจ สำหรับย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ อยู่ใกล้สถานบันเทิงแรกๆ ก็จะมีกลุ่มคนจีนเข้ามาเปิดร้านอาหารจีน แล้วในกลุ่มคนจีนจะมีการบอกแบบปากต่อปากว่ามาพักแถวนี้สิ ใกล้สถานทูตจีนด้วย แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเขามองว่าตรงนี้สะดวกในการเดินทาง มีความสะดวกในการจับจ่ายสินค้า และตอนนั้นยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ และการเดินทางไปยังสนามบินดอนเมืองก็ไม่ไกลนัก
กลุ่มที่สอง ครูอาสาสมัครชาวจีน เข้ามาทำงานอาสาสมัครในประเทศไทย กลุ่มนี้เครือข่ายใหญ่มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง มีโรมแรมในย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญให้การสนับสนุนเกื้อกูลเป็นธุรกิจ เมื่อกลุ่มครูอาสาเข้ามาแน่นอนต้องจับจ่ายซื้อของ แล้วในย่านนี้จะมีบริการลอจิสติกส์ของจีนรองรับครบครัน ซึ่งสินค้าที่คนจีนนิยมก็พวกอาหารแปรรูป ผลไม้แห้ง รังนก หรือช่วงหนึ่งนิยมหมอนยางพารา แต่ตอนนี้ยางพาราเริ่มล้นตลาดจีนแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มครูอาสาสมัคร เข้ามาสอนภาษาจีนในรูปแบบครูอาสา แล้วเห็นช่องทางทำธุรกิจในเมืองไทยคราวนี้ก็เลยอยู่ยาวกันแบบย้ายถิ่นฐานชั่วคราว ซึ่งทางการไทยยังไม่มีมาตรการควบคุม แม้มีตัวเลขว่าแต่ละปีครูอาสาชาวจีนเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ อยู่โรงเรียนไหน หน่วยงานใด แต่ยังไม่มีการติดตามว่าครูเหล่านี้หมดวาระแล้วกลับไปประเทศจีนแล้วเข้ามาเมืองไทยอีกหรือไม่ ซึ่งกลุ่มครูอาสาสมัครเหล่านี้ครั้งแรกเปิดรับไม่ถึง 100 คน แต่ครั้งล่าสุดมีจำนวนกว่า 1,500 คน ซึ่งครูอาสาสมัครรับเงินเดือน 2 ทาง ทั้งทางไทยและทางจีนด้วย และระหว่างที่ใกล้หมดวาระพวกเขาจะหาช่องทางอยู่ต่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโท
นอกจากนี้ กลุ่มครูอาสาที่คุ้นเคยกับสังคมไทยดีแล้วเริ่มจะประกอบอาชีพเป็นนายหน้า พาคนจีนเข้ามาในเมืองไทยหรือพานักศึกษาไทยไปเรียนที่ประเทศจีน
อีกกลุ่มคือ กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ จะเป็นเด็กเล็กๆ มาเรียน มีคุณแม่ถือวีซ่าNON-O มาตามดูแลลูก แล้วก็พ่วงทำกิจการเล็กๆ ส่วนในกรุงเทพฯ จะมีเด็กจีนมาเรียนระดับปริญญาตรี ซึ่งคุณแม่ก็ถือวีซ่า NON-O เข้ามาด้วย ปรากฎว่าครอบครัวเด็กเหล่านี้ เริ่มเข้ามาทำเป็นธุรกิจอสังหาฯ ศึกษากฎหมายไทย เขารู้ว่าเขาสามารถซื้อคอนโดในเมืองไทยได้ และกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ กลับไปตกอยู่ในมือคนจีน ตรงนี้ก็ทำให้เด็กไทยกลุ่มเด็กจบใหม่อาจเข้าไม่ถึงทรัพยากร เงินเดือนปริญญาอาจจะไม่สามารถซื้อคอนโดริมทางรถไฟฟ้าเหมาะแก่การทำงานได้
กล่าวคือ งานวิจัยฯ พบว่าการศึกษาของลูกหลานชาวจีนระดับปริญญาตรีในประเทศไทย เป็นช่องทางธุรกิจแก่ครอบครัว นอกจากการลงทุนทางการศึกษาในประเทศไทยค่าใช้จ่ายไม่สูง ยังสามารถซื้ออสังหาฯ ไว้ลงทุนได้อีกด้วย
ดร.ชาดา เล่าถึงปรากฎการณ์จีนรุ่นใหม่ต่อไปว่า มีกลุ่มคนจีนที่ตั้งใจจะมาทำงานในเมืองไทย เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว และเขาจะหาวิธีอยู่อย่างถูกกฎหมาย โดยใช้วิธีไปสมัครเรียนปริญญาตรี-ปริญญาโทเพื่อจะได้วีซ่านักเรียน ยกตัวอย่าง ย่านประชาราษฏร์บำเพ็ญ ถือวีซ่าท่องเที่ยวแต่มาทำธุรกิจร้านอาหาร อ้างว่าช่วยญาติดูแล แต่ทางสำนักงานเขตฯ ก็มองไม่น่าจะใช่เพราะลักษณะทางกายภาพไม่เหมือนกันเลย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คนจีนเริ่มทำธุรกิจในเมืองไทยลำบากขึ้น เพราะทางการจีนมีการจำกัดวงเงินโอนออกนอกประเทศ ใน 1 ปี ไม่สามารถโอนเงินมากกว่า 50,000 US รวมทั้ง ต้องแจ้งว่าโอนเงินวัตถุประสงค์ใด ณ วันนี้ธุรกิจนอมินีทุนจีนในย่าน “นิวไชน่าทาวน์” จึงได้รับเป็นผลกระทบเพราะเงินหมุนไม่ทัน สายป่านไม่ถึง ร้านค้าเริ่มเบาบางลงหรือบางร้านเริ่มปิดตัวไป
การเข้ามาของ “จีนรุ่นใหม่” ในย่านต่างๆ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนจากชุมชนคนไทยสู่ “นิวไชน่าทาวน์” และเมื่อทุนจีนเข้ามา ร้านค้าดั้งเดิมก็ออกไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “คนจีนมีข้อเสนอที่ดี”
ภาพประกอบจาก รายงานวิจัยการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่