"ปัญญาพลวัตร"
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ “ความผูกพันต่อพรรค” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ความผูกพันต่อพรรคการเมืองมีความเชื่อมโยงกับแนวคิด “การมีอัตลักษณ์ร่วมกับพรรค” (party identity) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอัตลักษณ์ทางสังคมที่ประชาชนเชื่อมโยงความเป็นตัวตนกับศาสนาหรือเชื้อชาติ
เมื่อไรก็ตามที่พรรคการเมืองได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสถาบัน ประชาชนจำนวนมากในสังคมก็จะเชื่อมโยงและผูกพันธ์กับพรรคเหล่านั้น จนกระทั่งเกิดความสำนึกและผนึกตนเองหลอมเข้ากับพรรคการเมือง การระบุตัวตนทางการเมืองจะปรากฎชัดเมื่อมีการสนทนาเรื่องราวทางการเมือง หากมีการถามว่า “คุณเป็นพรรคใด” ในประเทศสหรัฐอเมริกา คำตอบเป็นไปในแนวที่ว่า “ผมเป็นเดโมเครต หรือ “ฉันเป็นรีพับริกัน” เป็นต้น และเมื่ออัตลักษณ์ของบุคคลเหล่านั้นเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง พวกเขาก็จะได้รับการอ้างถึงว่า “คุณ อ. เป็นเดโมเครต” ส่วน “คุณ ท. เป็นรีพับริกัน”
การระบุว่าตนเอง “เป็น” อะไรทางการเมือง มีกระบวนการก่อตัวและพัฒนาเหมือนกับการระบุว่าตนเอง “เป็น” อะไรทางสังคม เช่น คนไทยส่วนใหญ่ระบุว่า “ผม/ฉันเป็นชาวพุทธ” ขณะที่บางส่วนระบุว่า “เป็นมุสลิม” กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่ผู้คนระบุว่าตนเองเป็นอะไรก็คือกระบวนการของการสร้างอัตลักษณ์หรือตัวตนทางสังคมและการเมืองนั่นเอง
พัฒนาการของความสร้างตัวตนทางการเมือง เริ่มจากครอบครัว และต่อมาได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคม เช่น หากพ่อแม่เป็นเดโมเครต ลูกก็มีแนวโน้มเป็นเดโมเครตด้วย แต่เมื่อเติบโตขึ้นพวกเขาก็อาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคมอื่นๆ เช่น กลุ่มทางสังคมที่พวกเขาสังกัด ความรู้ความเข้าใจต่อแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นอาจเป็นไปในทิศทางที่เสริมพลังให้ความเป็นตัวตนและความผูกพันต่อพรรคการเมืองเดิมแข็งแกร่งยิ่งขึ้น หรืออาจทำให้เกิดการลดความผูกพันจากพรรคเดิม และเปลี่ยนแปลงตัวตนเป็นพรรคใหม่ก็ได้
กรอบความเป็นตัวตนและความผูกพันทางการเมืองจะมีผลต่อการรับรู้โลกทางการเมือง กลุ่มคนที่ผูกพันกับพรรคการเมืองใดจะมองว่านักการเมืองที่สังกัดพรรคของตนเองมีคุณลักษณะและความสามารถดีกว่านักการเมืองของพรรคคู่แข่ง มีแนวโน้มวิจารณ์พรรคคู่แข่งในทางลบ และมีความเชื่อว่าในยุคที่พรรคของตนเองได้เป็นรัฐบาล สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมจะดีกว่าในยามที่พรรคคู่แข่งเป็นรัฐบาล และที่สำคัญในการเลือกตั้ง ประชาชนที่มีตัวตนและผูกพันกับพรรคการเมืองใด ก็มีแนวโน้มจะเลือกพรรคการเมืองนั้นด้วย
สำหรับในสังคมไทยนั้น มีพรรคการเมืองจำนวนน้อยมากที่ดำรงอยู่ในสนามการเมืองยาวนานเพียงพอจนสามารถพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองได้ พรรคการเมืองที่พอจะมีสภาพความเป็นสถาบัน จนทำให้ผู้เลือกตั้งไทยจำนวนหนึ่งหลอมรวมตัวตนเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งและเกิดเป็นความผูกพันต่อพรรค ที่เด่นชัดที่สุดก็เห็นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคการเมืองที่เหลืออื่นๆยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการพัฒนาความเป็นสถาบันทางการเมืองขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ในแวดวงการเมืองไทยยังมีความผูกพันอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีเสถียรภาพต่ำกว่าความผูกพันต่อพรรคการเมือง แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่ทรงพลังและมีผลต่อการตัดสินใจเลือกและสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ในขอบเขตเวลาหนึ่งๆ นั่นคือ “ความผูกพันต่อผู้นำพรรคการเมือง”
ความผูกพันต่อ “ผู้นำพรรคการเมือง” ไม่ได้หยั่งลึกลงไปถึงระดับการหลอมรวมตัวตนจนกลายเป็นอัตลักษณ์เหมือนกับความผูกพันต่อ “พรรคการเมือง” กล่าวคือ แม้ว่าประชาชนจำนวนหนึ่งจะนิยมชมชอบและสนับสนุนนักการเมืองที่เป็นผู้นำพรรค แต่ก็ไม่ได้หลอมรวมตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำพรรคคนนั้น สมมติว่า นาย ท. เป็นนักการเมืองที่ประชาชนนิยม และนาย ท. จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อ พรรค ทย. ประชาชนที่นิยมนาย ท. ก็จะเลือกพรรค ทย. แต่ไม่มีประชาชนคนใดที่ระบุว่า “ผม/ฉันเป็น นาย ท.” ซึ่งนัยก็คือ เป็นไปได้ยากมากที่ ตัวบุคคลจะสร้างความเป็นสถาบันให้แก่ตนเองขึ้นมาได้
อิทธิพลของนักการเมืองคนหนึ่งคนใด ในฐานะที่เป็นตัวบุคคลอาจมีความความแข็งแกร่งในช่วงเวลาหนึ่ง บางคนอาจสั้น บางคนอาจยาว ขึ้นอยู่กับว่าเขามีทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงอิทธิพลของตนเองมากน้อยเพียงใด บางคนมีและใช้ทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงมาก แม้ว่า พรรคเดิมเริ่มแรกที่ตนเองจัดตั้งขึ้นจะถูกยุบหรือล่มสลายไป ครั้นเมื่อจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแทน ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังคงตามไปเลือกพรรคนั้นอีก ซึ่งหมายความว่า ในความรู้สึกของประชาชนที่ยังผูกพันต่อ นาย ท. พวกเขาก็จะเลือกพรรคการเมือง ไม่ว่าใช้ชื่ออะไรก็ตามที่พวกเขารับรู้ว่า นาย ท. ให้การสนับสนุน หรือเป็นพรรคของนาย ท. นั่นเอง
ในสังคมไทย ผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่มีความผูกพันกับนักการเมือง มากกว่าพรรคการเมือง เพราะว่าระบบความเชื่อของสังคมไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มากกว่าความสัมพันธ์กับองค์การ คนไทยจำนวนมากได้รับการหล่อหลอม และอาจมีประสบการณ์ตรงกับตนเองว่า ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นแหล่งที่มาของการตอบสนองความต้องการและความช่วยเหลือมากกว่าหลักการหรือระเบียบกฎเกณฑ์ขององค์การ พวกเขาจึงเชื่อว่าการยึดมั่นต่อความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตมากกว่าการยึดระเบียบกฎเกณฑ์
พรรคการเมืองในฐานะที่เป็นองค์การ จึงถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกในการรวบรวมส.ส. เพื่อเป็นฐานอำนาจทางการเมือง มากกว่าที่จะเป็นสถาบันเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพของการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดมักจะล่มสลายและหายไปเมื่อนักการเมืองที่เป็นผู้นำหรือแกนนำในการจัดตั้งพรรคเสียชีวิต หรือเลิกเล่นการเมือง
ปัจจัยอีกอย่างที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองของคนไทยจำนวนหนึ่งคือ การประเมินว่าพรรคที่พวกเขาจะเลือกมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลมากน้อยเพียงใด หากพวกเชื่อว่าพรรคใดมีโอกาสเป็นรัฐบาล พวกเขาก็มีแนวโน้มเลือกพรรคนั้นมากกว่าพรรคที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นฝ่ายค้าน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่มีฐานะไม่ดีนัก ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตชนบท และบางส่วนอยู่ในเขตชุมชนเมือง
การตัดสินใจเลือกแบบนี้มีรากฐานจากความเชื่อที่ว่า การเชื่อมโยงกับพรรคที่มีอำนาจรัฐ ย่อมทำให้โอกาสและความเป็นไปได้ของการได้รับการช่วยเหลือเรื่องส่วนตัวยามเดือดร้อน หรือในภาวะที่ต้องพึ่งพาอาศัยมีมากกว่าพรรคที่ไร้อำนาจรัฐ ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังเชื่อว่าโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของนโยบายหรือโครงการพัฒนาที่ลงไปสู่พื้นที่ชุมชนของตนเองมีมากกว่าพรรคที่เป็นฝ่ายค้าน กล่าวอีกในนัยหรือคือ ผู้เลือกตั้งไทยจำนวนมากเชื่อว่า การเป็นพวกเดียวกับผู้มีอำนาจรัฐ จะทำให้พวกเขามีโอกาสเหนี่ยวนำอำนาจรัฐมาใช้เป็นประโยชน์ และใช้เป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในการดำรงชีวิต
อย่างไรก็ตาม มีผู้เลือกตั้งที่เป็นชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกตั้งโดยไม่อิงกับเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบเน้นอรรถประโยชน์สูงสุดสำหรับตนเอง ด้วยความที่พวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีแล้ว และสามารถพึ่งตนเองได้ พวกเขาจึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องไปสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวพรรคที่กุมอำนาจรัฐ และที่สำคัญคือ กลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจไม่มีความผูกพันกับพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งมากเป็นพิเศษ ดังนั้นในการตัดสินใจพวกเขาจึงใช้การประเมินความเสี่ยงเชิงลบมาเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ หรือประเมินและชั่งน้ำหนักผลเสียที่เกิดขึ้นหากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นรัฐบาล เราเรียกการตัดสินใจแบบนี้ว่า “การเลือกเชิงผกผัน”
การเลือกเชิงผกผันหมายถึง การเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมือง โดยไม่มีรากฐานจากความนิยมในหัวหน้าพรรค การคาดการณ์ถึงผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้รับ และความผูกพันกับพรรคการเมืองนั้น หากแต่มาจากการประเมินความเสียหายต่อประเทศหากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เป็นรัฐบาล และตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ได้รับการประเมินว่าจะสร้างความเสียหายน้อยที่สุด หรือในบางกรณีก็จะเลือกพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งของพรรคที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นอันตรายต่อประเทศ พรรคการเมืองที่เข้าใจวิธีคิดแบบนี้ของชนชั้นกลาง จึงมักใช้คำขวัญในการรณรงค์หาเสียงประเภทที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” เป็นต้น
สำหรับในสัปดาห์ถัดไป เราจะพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการลงคะแนนผู้สมัครรายบุคคล ซี่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากพอสมควรภายใต้ความเชื่อและจุดยืนทางการเมือง ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน