xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แม่เจ้า!ปีละ2หมื่นล้านแก้ขยะล้นเมืองไม่ได้ ทุ่มทุนผุดโรงไฟฟ้าฯยังมืดมน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ออกแรงผลักดันอัดฉีดตามวาระแห่งชาติจัดการปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ แต่ไปๆ มาๆ คล้ายกับว่าทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะออกอาการจนด้วยเกล้า จึงหันขวับกลับไปเฆี่ยน อปท. กับผู้ว่าฯ ให้เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน พูดง่ายๆ คือ เคลียร์ปัญหาอย่าให้ใครมาขวางทางโครงการที่สำคัญยิ่งนั่นแหละ

อย่างที่รู้กัน ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่ออังคารก่อน (11 ก.ย.) ทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป๊อก” ต่างออกแรงช่วยกันเข็นโปรเจกต์โรงไฟฟ้าขยะกันต่ออย่างไม่ย่อท้อ ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็เห็นผลงานกันชัดว่ายังจั่วลม โดย “บิ๊กป๊อก” เตรียมเอาเรื่องปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกเพื่อขอให้ช่วยคิดช่วยหาแนวทางจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรดี ถึงจะเดินหน้าต่อไปได้

อย่างที่ “บิ๊กป๊อก” ว่า ปัญหาขยะมีหลายเรื่องหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทางคือที่มาของขยะจะมีมาตรการอย่างไรทั้งในส่วนของประชาชน เอกชน และภาครัฐ ส่วนท้องถิ่นต้องดูแลเรื่องการเก็บและการทำลายที่ต้องหาแนวทางให้สามารถทำได้ ไม่ใช่สร้างโรงขยะแล้วทำไม่ได้

“จะนำเรื่องนี้เรียนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาว่าหากดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมในรูปแบบใดและจะทำอย่างไร เมื่อได้แนวทางจาก ครม.แล้วจะนำไปซักซ้อมการปฏิบัติในท้องถิ่น จากนั้นจะสร้างการรับรู้จากสังคมว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดตั้งแต่คนทำขยะ คนเก็บขยะ ไปจนถึงการกำจัด โดยคนที่จะดำเนินการในพื้นที่ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่” พล.อ.อนุพงษ์ ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุม ครม. แบบเล็งเป้าชัดจังหวัดไหนไม่ขยับเตรียมตัวเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงไว้ได้เลย

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมากำชับอีกครั้งในเรื่องที่ให้กระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินโครงการศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร หรือคลัสเตอร์ โดยสั่งให้มหาดไทยไปทำความเข้าใจอีกครั้งว่ากระบวนการจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ต้องทำอย่างไร ที่ต้องคิดเรื่องนี้เพราะปริมาณขยะปีหนึ่งๆ มีมากถึง 27 ล้านตัน และจะสะสมเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งในความเห็นของนายกรัฐมนตรีนั้น ทั้งประเทศควรจะมีคลัสเตอร์บริหารจัดการขยะประมาณ 300 แห่ง โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“..... วันนี้รถขนขยะก็มีอยู่เท่าเดิม งบประมาณกำจัดขยะมี 2 พันกว่าล้านบาท ใช้จริงๆ 2 หมื่นกว่าล้าน รัฐบาลต้องเอางบกลางลงไปอีก 17,200 ล้านบาทต่อปี แล้วจะเอาอะไรให้มันดีขึ้น พอพูดถึงเก็บเงินก็ไม่ได้แล้ว รัฐบาลจะไปร้องตรงไหนไม่รู้จะไปหาเงินจากไหนมาให้ ไปคิดเอาแล้วกัน ....” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการใช้งบจัดการขยะในแต่ละปี

ปัญหาขยะท่วมเมืองที่นายกรัฐมนตรี แจงตัวเลขว่าใช้งบประมาณปีละกว่าสองหมื่นล้านในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา ต้องถือว่า เป็นภาระหนัก ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาขยะของประเทศไทยก็เหมือนจะวนๆ อยู่ในอ่าง ตั้งแต่ต้นทางก่อนทิ้ง คือไม่มีการคัดแยก ไปจนถึงปลายทางที่กำจัดโดยการฝังกลบหรือเทกองรวมๆ จนกลายเป็นภูเขาขยะ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงชั่วนาตาปี

และเมื่อมหาดไทย ยุค “เสือตะวันออก” ครองเมือง มีโครงการผุดโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะเพื่อแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร ก็คิดรวบรัดจะใช้อำนาจทำแบบด่วนได้ใจเร็วทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ไว้วางใจและออกมาต่อต้านทุกหย่อมหญ้า จนวกกลับมายังจุดเดิม ตามที่ “บิ๊กป๊อก” ว่าต้องเอาเรื่องนี้เข้าครม.ขอให้ช่วยคิดช่วยพิจารณากันใหม่นั่นแหละว่าจะทำอย่างไรดีกับปัญหาขยะท่วมเมือง

มาตามอัพเดทกันสำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ที่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ของบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งฝ่ายทหารขอให้หยุดขบวนอีแต๊ก-อีแต๋น แล้วตั้งไตรภาคี ที่ประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้าน-ตัวแทนบริษัท-หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและอบต.หนองบัว ขึ้นมาเจรจากันเมื่อเร็วๆ นี้

ล่าสุด ผลการหารือเบื้องต้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ทุกฝ่ายเห็นพ้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง โดยขยายกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มอีก 12 หมู่บ้าน รวมเป็น 20 หมู่บ้าน จากเดิมที่เคยรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน 8 หมู่บ้านแล้วเกิดกระแสต่อต้านขึ้น

ส่วนข้อเสนอของชาวบ้านที่ให้บริษัทหยุดดำเนินการก่อนจนกว่าจะมีข้อสรุปจากการรับฟังความเห็นนั้น ทางบริษัทเพียงรับปากจะนำไปพิจารณา ขณะที่การขอเอกสารการอนุญาตก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ที่ชาวบ้านยื่นขอต่อนายอำเภอหนองบัว ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ นั้น นายอำเภอ รับไว้พิจารณาเช่นกัน

สำหรับอีกพื้นที่คือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเริ่มมีการก่อหวอดต้านโรงไฟฟ้าขยะ มูลค่า 2.9 พันล้าน เพราะเกรงว่านครศรีธรรมราช จะกลายเป็น “ฮับขยะ” ของภาคใต้ตอนกลาง หากโครงการขึ้นได้จริงแล้วความต้องการปริมาณขยะที่ป้อนเข้าโรงไฟฟ้าถ้าจะให้เพียงพอแบบยาวๆ ก็คงอาจต้องขนมาจากพื้นที่จังหวัดอื่น

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าการผลักดันแก้ไขปัญหาขยะของเทศบาลนครศรีธรรมราช ตามโครงการร่วมทุนบริหารจัดการขยะมีความคืบหน้าไปมากกว่าทุกพื้นที่ก็ว่าได้ โดยขณะนี้ โครงการได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วเมื่อปลายปี 2560 และส่งเรื่องไปยังมหาดไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามอนุมัติโครงการ

ตามไทม์ไลน์ที่เทศบาลฯ วางไว้ หลังจาก มท.1 ไฟเขียว จะตามด้วยการกำหนดขอบเขตงานหรือทีโออาร์ ซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องความสามารถในการกำจัดขยะที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานประมาณวันละพันตัน เทคโนโลยี ผลประโยชน์ตอบแทน ระบบการบริหารจัดการขยะ รวมทั้งระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพันธะสัญญาระหว่างเทศบาลฯกับผู้ลงทุนเมื่อสิ้นสุดสัญญา เป็นต้น

การดำเนินโครงการดังกล่าว จะเป็นไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยคาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จในช่วงก.ย. 2561 นี้ ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อให้มีการร่วมทุนต่อไป โดยต้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณาก่อนลงนามในสัญญา

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะสร้างเสร็จและเริ่มเดินระบบกำจัดขยะและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณเดือน เม.ย.2563 ปัจจุบันนครศรีธรรมราช มีปริมาณขยะตกค้างประมาณ 1.7-2.4 ล้านตัน และขยะที่เข้าสู่ระบบอีกจำนวน 350 ตันต่อวัน หรือประมาณ 10,000 ตันต่อเดือน

เมื่อพิจารณาจากกรอบทีโออาร์เบื้องต้น ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้ามีความสามารถกำจัดขยะวันละพันตัน จึงเป็นคำถามว่า หากกำจัดขยะที่ตกค้างหมดไปในเวลาประมาณสิบปี หลังจากนี้จะมีการนำขยะจากพื้นที่อื่นเข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งนั่นทำให้ชาวบ้านรอบๆ พื้นที่กองภูเขาขยะใน 3 ตำบล คือ ต.นาทราย ต.นาเคียน ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช หวั่นวิตกว่าโครงการนี้จะกลายเป็น “ฮับขยะ” เพราะที่ผ่านมา กองขยะแห่งนี้เคยรับขยะจากจังหวัดรอบข้าง เช่น สุราษฎร์ธานีและตรัง มาแล้ว

ต้องรอดูว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จ.นครศรีธรรมราช ที่มองเห็นใสๆ ว่าไปได้แน่จะเกิดสะดุดขึ้นมาเหมือนพื้นที่อื่นๆ อีกหรือไม่ เพราะเริ่มเกิดคำถามตัวโตๆ ขึ้นมาแล้วว่า ผลประโยชน์จากการผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าขยะตกอยู่กับใครกันแน่ ใช่หรือไม่ที่ตกไปอยู่มือก๊วนผู้มีอำนาจตัดสินใจและนายทุน ส่วนชาวบ้านและชุมชนก็รับผลกระทบกันไป โดยเฉพาะปัญหาใหญ่คือเรื่องมลพิษทางอากาศและขี้เถ้าเบาและหนักที่หลงเหลือจากการเผา เป็นต้น

ประเด็นเรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะนั้น เป็นปมปัญหาที่มหาดไทย โดยเฉพาะ อปท. เจ้าของโครงการ หรือแม้แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องกำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่อาจตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่าจะจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบหรือกระทบน้อยที่สุดอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ไม่นับว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้า เช่น ที่อ.หาดใหญ่ นั้นเป็นกรณีศึกษาที่มีปัญหาและแก้ไม่ตก คราวนี้จะขึ้นโครงการแบบปูพรมกันทั่วประเทศจึงเป็นที่หวาดหวั่นจนเกิดการต่อต้านอย่างช่วยไม่ได้

โครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะไปต่อได้ไม่ได้นั้นมีตัวแปรอยู่หลายประการ ซึ่ง นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เสนอแนวคิดและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการตั้งโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะเอาไว้ว่าควรมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขยะและปริมาณขยะในพื้นที่ต้องมีอย่างเพียงพอ คือ มากกว่า 300 ตันต่อวัน เพื่อให้โรงไฟฟ้าฟ้าขยะมีขนาดที่ใหญ่และคุ้มทุนในการดำเนินการ พื้นที่ตั้งควรอยู่ห่างจากชุมชนอย่างน้อย 1-5 กม. โดยมีขนาดอย่างน้อย 100 ไร่ ไม่มีปัญหาน้ำท่วม มีเส้นทางให้รถบรรทุกขยะเข้ามาได้โดยไม่ผ่านชุมชน และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ในการสนับสนุนให้ตั้งได้ โดยต้องให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ด้วย และต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้ชัดเจน พร้อมให้ภาคประชาชนตรวจสอบก่อนดำเนินการ โครงการต้องเข้าถึงสายส่งเพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ง่าย

2.ด้านเทคโนโลยี จะต้องมีกระบวนการแยกพลาสติก PVC สาร Benzene ขวดแก้ว ขยะพิษ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ ออกมาก่อน ความชื้นขยะที่เข้าเตาเผาควรต่ำกว่าร้อยละ 40 ค่าความร้อนจากการเผาไหม้ขยะต้องสูงกว่า 800 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม อุณหภูมิในห้องเตาเผาต้องประมาณ 850-1,300 องศา มีระบบเผาก๊าซในห้องที่ 2 โดยมีช่วงเวลา 2 วินาที อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,100 องศา รวมทั้งต้องมีอุปกรณ์กำจัดมลพิษทางอากาศพวกไอกรด โลหะหนัก ฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารไดออกซินครบถ้วน มีกระบวนการจัดการเถ้าหนัก และเถ้าเบาซึ่งเป็นที่รวมของสารไดออกซิน และโลหะหนักให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ยังต้องมีระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมต้องถูกดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งที่ปลายปล่องและในสิ่งแวดล้อม ที่ปลายปล่องควรทำเป็นระบบตรวจวัดอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ ควรตรวจสารไดออกซิน ไอโลหะหนักทุกเดือน ควรตั้งสถานีตรวจวัดมลพิษทางอากาศบริเวณชุมชนด้านท้ายลม และเหนือลมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตรวจวัดฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไชด์ สารไดออกซิน ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น

3.รัฐบาลควรเน้นให้เกิดกระบวนการแยกขยะ และกำจัดขยะแบบผสมผสานกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีปริมาณ และประเภทของขยะแตกต่างกันมากกว่าความต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าจากขยะแต่เพียงอย่างเดียว ได้แก่ การหมักทำปุ๋ยหมัก สำหรับพื้นที่ที่มีเศษอาหาร และสารอินทรีย์ทั่วไปจำนวนมาก โดยกระบวนการ BIO -reactor เป็นการหมักขยะแบบไร้ออกซิเจน ได้ก๊าซมีเทน และปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในพื้นที่ที่มีปริมาณขยะประเภทสารอินทรีย์ค่อนข้างมาก

การเผา เน้นขยะประเภทที่ที่เผาได้ วัสดุเหลือใช้ เศษอาหาร ผลิตไฟฟ้าได้ ใช้ในพื้นที่ที่มีปริมาณขยะสะสมมาก หรือในพื้นที่ที่อยู่ในภาวะวิกฤตด้านขยะตกค้าง และการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ใช้ได้ดีในพื้นที่ที่มีที่ดินราคาไม่แพงนัก และมีปริมาณขยะทั้งสารอินทรีย์ และขยะทั่วไปสะสมในระดับปานกลาง

4.ข้อห่วงใยจากภาคประชาชน คือ เรื่องกฎหมายการจัดการขยะโดยการเผาที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ใครเป็นผู้เห็นชอบต่อเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาเสนอให้ท้องถิ่นดำเนินการ ใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากโครงการ และหากตรวจสอบแล้วพบว่า เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดจะสั่งให้โรงไฟฟ้าจากขยะดังกล่าวหยุดดำเนินการหรือไม่

นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่มั่นใจว่าท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการ และดูแลโรงไฟฟ้าจากขยะดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประชาชนยังขาดความมั่นใจในการดูแล และการจัดการปัญหามลพิษทั้งสารไดออกซิน และโลหะหนักของหน่วยราชการ ด้วยปัจจุบันความล้มเหลวที่เห็นชัดเจนคือ การที่รัฐส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ เน้นขายไฟฟ้าให้รัฐ แต่สุดท้ายถูกประชาชนต่อต้านทั่วประเทศ เนื่องจากการที่มีงบลงทุนค่อนข้างน้อย วัสดุขาดแคลน และขาดการกำกับดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจังจึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศค่อนข้างมาก

“นโยบายเรื่องโรงไฟฟ้าขยะภาครัฐจะต้องมองภาพรวมของการจัดการปัญหาขยะทั้งประเทศมากกว่าการเน้นให้ภาคเอกชนมาลงทุน และหวังกำไรจากการขายกระแสไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว” นายสนธิ ไล่เรียงให้เห็นว่าต้องเตรียมความพร้อมและเตรียมการรับมือกับปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะอย่างชัดเจน

หากมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. หน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบโครงการไม่มีบุคลากร ไม่มีองค์ความรู้ และไม่สามารถอย่างที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็คงบอกได้คำเดียวว่าเกิดยาก




กำลังโหลดความคิดเห็น