xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กแดง” แรงฤทธิ์ ผบ.ทบ.ผู้(ต้อง) พิชิต “ภารกิจพิเศษ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า “นอนมา” ตั้งแต่ต้นก็ว่าได้สำหรับ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ในการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ “ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)” คนที่ 41 สืบต่อจาก “บิ๊กเจี๊ยบ-พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท” ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ ยิ่งเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยนับแต่ พ.ศ.2475 มาก็ยิ่งเห็นได้ชัด

แม้ก่อนหน้านี้อาจต้องเจอเรื่อง “ระหว่างทาง” บ้าง แต่ในที่สุดก็ยังคงดำเนินไปตามเส้นทางซึ่งได้มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

และที่จำต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ นอกจากจะเป็น ผบ.ทบ.ที่มี “ภารกิจพิเศษ” ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์ความมั่นคงอยู่ในระยะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” แล้ว “บิ๊กแดง” ยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “นายทหารพิเศษ” ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 อีกด้วย

กล่าวสำหรับพล.อ.อภิรัชต์นั้นเป็นบุตรชายคนโตของ นายพลเสื้อคับ “บิ๊กจ๊อด”’ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และอดีตผู้นำคณะรัฐประหารเมื่อปี 2534 เจ้าของวาทะอันลือเลื่อง “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” กับ คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 (ตท.20) และโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 31 (จปร.31) สมรสกับ “รศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์”

หลังจบการศึกษา “บิ๊กแดง” ได้ผ่านตำแหน่งที่สำคัญ ๆ มาเป็นลำดับ เช่น เคยเป็นฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) และรองเสนาธิการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 พัน 2 รอ.) ก่อนติดยศพันเอกในตำแหน่ง เสนาธิการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เสธ.ร.11 รอ.) ต่อมาก้าวเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 รอ.) ขยับเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15

ทั้งนี้ ในช่วงที่ “บิ๊กแดง” ถูกเตะโด่งไปเป็น ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.15 ที่เพชรบุรีนั้น มี “เรื่องเล่าระหว่างบรรทัด” ที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยมีเหตุมาจากการที่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จับตามองกองทัพบกเป็นพิเศษ เพราะมีบทเรียนเมื่อครั้งพี่ชายคือ นายทักษิณ ชินวัตร ถูก บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารในปี 2549 มาแล้ว และรู้อยู่เต็มอกว่า “บิ๊กแดง” ไม่ได้เลือกยืนอยู่ฝ่ายตนเอง แถมยังคุมกำลังสำคัญในเมืองหลวงคือเป็น ผบ.ร.11 รอ.อีกต่างหาก ทำให้ “พี่ตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ.ต้องโยก “น้องรัก” ไปอยู่มณฑลทหารบกที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา และมณฑลทหารบกที่ 15 จ.เพชรบุรี เพื่อลดความหวาดระแวงจากระบอบทักษิณ

เรื่องเล่าระหว่างบรรทัดที่ว่านั้นก็อย่างเช่น ว่ากันว่า “บิ๊กแดง” เป็นคนบอกฝ่ายนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ว่า “ผมอยู่กับพี่บัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ขณะนั้น)” ทำให้กลุ่มของนายทักษิณที่ออกมาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารต้องยอมจำนน

ว่ากันว่า “บิ๊กแดง” คือผู้ที่เข้าไปกระซิบ “เจ๊เพ็ญ-นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้หยุดพฤติการณ์จาบจ้วงสถาบัน

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่ทำให้ ‘บิ๊กแดง’ เป็นที่รู้จักอย่างมากคือ เมื่อปี 2553 ตอนดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ได้นำกำลังทหารปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคมที่ จ.ปทุมธานี จากการยึดครองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นผู้นำทหารกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ 28 นายบนดาดฟ้าของอาคารที่ทำการสถานี เพื่อปกป้องสถานีเอาไว้ ก่อนเช้าวันถัดมาจะเจรจาเพื่อเปิดขอทางออกจากอาคารสำเร็จ

เรียกว่า นับแต่นั้นมาชื่อ ‘บิ๊กแดง’ ก็ติด ‘แบล็คลิสต์’ ของกลุ่มคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน

และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ไว้ใจ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” จนถูกย้ายพ้นจากหน่วยคุมกำลังในเมืองหลวงในที่สุด

ทว่า หลังเกิดเหตุการณ์ “ม็อบลุงกำนัน” ใกล้สุกงอมเมื่อเดือน เม.ย. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้ดึง พล.อ.อภิรัชต์ มาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) เพื่อคุมกำลังรบใน กทม. ซึ่งค่ายนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นค่ายหลักที่ถูกเรียกใช้ในการทำรัฐประหารมาตั้งแต่ในอดีต กระทั่ง 1 เดือนถัดมา “บิ๊กตู่” ก็ตัดสินใจทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

หลัง คสช.รัฐประหาร เส้นทางชีวิตราชการของ “บิ๊กแดง” เด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อ “นายกฯ ลุงตู่” แต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนั้นในปี 2559 ก็รั้งตำแหน่งแม่ทัพน้อยภาค 1 และก้าวขึ้นเป็น “แม่ทัพภาคที่ 1” ในปี 2559และในปีถัดมาคือปี 2560 ก็ก้าวเข้าสู่ไลน์ “5 เสือ ทบ.” ในตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก”

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้เช่นกันก็คือ “บิ๊กแดง” ได้รับความไว้วางใจจาก “บิ๊กตู่” ให้ไปนั่งตำแหน่ง “ประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” โดยมีภารกิจสำคัญคือการแก้ปัญหาสลากเกินราคา รวมทั้งได้มอบภารกิจให้จัดระเบียบ “วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง” ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า “พี่ตู่” เชื่อมั่นในตัว “น้องแดง” มากถึงมากที่สุด กระทั่งปรากฏชื่อเป็น “เต็ง 1” ในเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนถัดไป

อย่างไรก็ดีในช่วงที่ “บิ๊กแดง” เป็น “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก” มีกระแสข่าวลือมากมายจนทำให้เส้นทางสู่เก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาทได้ลงนามในคำสั่งกองทัพบก(เฉพาะ) ที่ 1250/60 ลงวันที่ 22 กันยายน 2560 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วย ผบ.ทบ.เสนาธิการทหารบกและรองเสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นคำสั่งในการมอบหมายงาน โดยมอบให้ “บิ๊กอ้อม-พล.อ.วีรชัย อินทุโศภน น้องรักของ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 1 รับผิดชอบงานด้านกำลังพล กิจการพลเรือนและงานพิเศษที่กองทัพบกมอบหมาย ขณะที่ “บิ๊กแดง” เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.คนที่ 2 รับผิดชอบสายงานส่งกำลังบำรุงและงานพิเศษที่กองทัพมอบหมาย จนเกิดคำถามตามมาว่า “เกิดอะไรขึ้น” เพราะการมอบหมายดังกล่าวเสมือนกับให้ความสำคัญกับ “บิ๊กอ้อม” มากกว่า “บิ๊กแดง”

หรือพูดง่ายๆ หรือทำให้ “บิ๊กอ้อม” ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) คนแรกที่แทรกเข้าไลน์แห่งอำนาจ 5 เสือ ทบ.สำเร็จ เปล่งประกายอันเป็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษอีกครั้ง กระทั่งเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า บิ๊กอ้อมซึ่งเป็น “สายตรงวงษ์สุวรรณ” อาจหยิบชิ้นปลามันไปในท้ายที่สุดก็เป็นได้

ชั่วโมงนั้น อย่าว่าแต่เต็งหนึ่งหรือเต็งสองเลย ราคาต่อรองที่จะมีลุ้นเก้าอี้ลดฮวบฮาบลงไปอยู่อันดับบ๊วยเลยเสียด้วยซ้ำไป สำคัญคือ พอจะมี “ช่องว่าง” หรือ “ข้ออ้าง” อันอมตะนิรันดร์กาลที่จะอธิบายต่อกองทัพและต่อตัวบิ๊กแดงด้วยว่า “ให้พี่เขาก่อน น้องรอทีหลัง” ได้อย่างเนียนๆ เนื่องเพราะ “บิ๊กอ้อม” จะเกษียณอายุราชการในปี 2562 ส่วน “บิ๊กแดง” เกษียณถัดจากนั้นไปอีก 1ปี

ชั่วโมงนั้น ลือกันถึงขนาดว่า ดีไม่ดีอาจมีรายการเขี่ย “บิ๊กแดง” พ้นเส้นทางข้ามห้วยไปกินอัตราจอมพลในสำนักปลัดกลาโหมหรือกองบัญชาการกองทัพไทย ก็เป็นได้ เพราะงานนี้ ป๋าป้อมได้ส่ง “บิ๊กต่าย-พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์” ขึ้นมาเป็นเสนาธิการทหารบก ซึ่งสามารถสอดแทรกและปาดหน้า “บิ๊กแดง” จ่อคิวอยู่อีก

แต่แล้วในที่สุดก็ไม่มีใครทำอะไร “บิ๊กแดง” ได้ และก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ “ผู้บัญชาการทหารบก” อย่างสง่างาม ที่สำคัญคือเป็นการฟื้นคืนชีพครั้งแรกของ “วงศ์เทวัญ” ในรอบกว่าทศวรรษ โดย ผบ.ทบ.สายวงศ์เทวัญคนสุดท้ายก็คือ “บิ๊กเกาะ-พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ (1 ตุลาคม 2546- 30 กันยายน2547) ส่วน “บิ๊กอ้อม-พล.อ.วีรชัย” สายตรงวงษ์สุวรรณถูกเตะโด่งจาก ทบ.ไปนั่งเป็นใหญ่เป็นโตในเก้าอี้ รอง ผบ.ทสส. ตามธรรมเนียมของกองทัพ

สำหรับในไลน์ “5 เสือ ทบ.” ในยุคพล.อ.อภิรัชต์ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะถือเป็นเก้าอี้ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันและอาจมองเห็นเส้นทางของผู้ที่จะมาเป็น ผบ.ทบ.คนถัดไปได้ ปรากฏว่า “บิ๊กเล็ก-พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เสธ.ทบ.ขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ทบ. “บิ๊กเป้ง-พล.ท.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ รองเสธ.ทบ. (ตท.19) เป็น เสธ.ทบ. “บิ๊กตู่” พล.ท. กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.20) ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. “บิ๊กตี๋” พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.18) ขึ้นมาเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ.

ทว่า งานนี้ “เต็งหาม” ว่ากันว่ามีการวางไลน์ยาวๆ ที่ “กองทัพภาคที่ 1” เมื่อเก้าอี้ “แม่ทัพ” ตกเป็นของ “บิ๊กบี้-พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้” อีกหนึ่ง “วงศ์เทวัญ” ที่โตมาจาก พล.1รอ. ด้วยกันกับบิ๊กแดง ซึ่งทั้งบิ๊กแดง และบิ๊กบี้ก็มีความสนิทสนม คุ้นเคยกันมาก่อนเพราะเคยลงไปทำงานชายแดนใต้ด้วยกัน และถือเป็นการกลับมาของวงศ์เทวัญในเก้าอี้ตัวนี้เช่นกันหลังถูก “บูรพาพยัคฆ์” ครอบครองมาเป็นเวลานาน

กล่าวสำหรับตัวบิ๊กบี้นั้น ถูกจับตามองเป็นพิเศษหลังขยับจากผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ให้มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1เพราะหมายถึงการเพิ่มแคนดิเดตในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นมาอีกหนึ่งคน จากเดิมที่มีแค่บิ๊กหนุ่ย-พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพน้อยที่ 1 กับบิ๊กติ่ง-พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1โดยในช่วงที่ “บิ๊กบี้” ขึ้นเป็น รอง มทภ.1 เมื่อการโยกย้ายกลางปี เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาจากตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ.นั้น เรียกว่า สร้างความฮือฮาภายในกองทัพพอสมควร เพราะทำให้ต้องโยก ‘บิ๊กอู๋’ พล.ต.วุฒิชัย นาควานิช น้องชาย ‘บิ๊กหมู’พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีต ผบ.ทบ. จาก รอง มทภ.1 ไปเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. อัตราพลโท

แน่นอนว่า บิ๊กบี้คือแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งคุมกำลังเมืองหลวง และผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นใหญ่ในกองทัพตามไลน์ที่วางเอาไว้ ดังนั้น จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า บิ๊กบี้คือเต็ง 1 ที่จะเป็น ผบ.ทบ.คนถัดไปจากบิ๊กแดงในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุดังกล่าวหลัง1 ตค.นี้ ทั้งคู่จะเป็น “ศูนย์กลางอำนาจ” ในกองทัพบกที่จะมีบทบาทสำคัญในทุกมิติ ทั้งการเมือง การปกครองและการทหาร

ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในกองทัพภาคที่ 1 “บิ๊กหนุ่ย-พล.ท.ธรรมนูญ วิถี” สายบูรพาพยัคฆ์ ยังคงเป็น แม่ทัพน้อยที่ 1 ตามเดิม “บิ๊กติ่ง-พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ” สายทหารเสือฯ และ “บิ๊กต่อ-พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์” สายบูรพาพยัคฆ์ ก็ยังคงเป็น รองมทภ.1 เช่นเดิม โดยมี “บิ๊กโต-พล.ต.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง” ผบ.พล.ร.2 รอ. สายบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นเป็นรองมทภ.1 แทน พล.ต.ณรงค์พันธุ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า “บูรพาพยัคฆ์” ยังคงถูกวางไลน์ในตำแหน่งสำคัญของกองทัพภาคที่ 1 เช่นกัน

ขณะที่แม่ทัพภาคอื่นๆ นั้น “บิ๊กป๋อ-พล.ต.ฉลองชัย ชัยยะคำ” รองแม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.20) ขยับขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 3 “บิ๊กเดฟ-พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์” แม่ทัพน้อยที่ 4 (ตท.20) ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 สืบต่อจาก “แม่ทัพอาร์ท-พล.ท.ปิยะวัฒน์ นาควานิช ส่วนแม่ทัพภาคที่ 2 ยังคงเป็นคนเดิมคือ พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร

ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นกับการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพบกเที่ยวนี้สะท้อนข้อเท็จที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “บูรพาพยัคฆ์” จะไม่เกรียงไกรเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป แม้จะพอมีสอดแทรกให้เห็นในตำแหน่งสำคัญๆ อยู่บ้าง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีการ “สลายขั้ว” ต่างๆ ภายในกองทัพให้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อเหลือเกินว่า นอกจากระดับบนแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับรองลงมาก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดา “ผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก”

ขณะที่ตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพอื่นก็ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดย “กองทัพเรือ” นั้น เที่ยวนี้ “บิ๊กลือ-พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์” รอง ผบ.ทร. ก้าวขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) คนใหม่ ตามที่ บิ๊กนุ้ย-พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. เสนอไป หลังจากเที่ยวที่แล้วก็เป็นตัวเต็ง ผบ.ทร.ต่อจาก พล.ร.อ.ณะ อารีนิจเช่นกัน แต่สุดท้ายก็พลาดเก้าอี้ไปแบบเฉียดฉิวโดยมีบิ๊กนุ้ยเข้าป้ายด้วยเหตุผล “สามารถรอได้”

ส่วน “บิ๊กตุ๋ย-พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ” เสธ.ทร. คู่แข่งคนสำคัญ ที่คนใน ทร. เชื่อว่าจะพลิกโผมาเป็น ผบ.ทร.เนื่องจากเป็น “สายตรงวงษ์สุวรรณ” ถูกโยกข้ามห้วยตามธรรมชาติพ้นจากทัพเรือไปเป็น รองปลัดกลาโหม โดยมี พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล ประธานที่ปรึกษาฯ ขยับมาเป็น รอง ผบ.ทร. บิ๊กอุ้ย-พล.ร.ท.ชาติชาย ศรีวรขาน รองเสธ.ทร. เตรียมทหาร20 ขึ้นมาเป็น เสธ.ทอ. และเข้าไลน์ เป็น ผบ.ทร. ต่อจากบิ๊กลือที่เกษียณ2563 ส่วน บิ๊กกบ-พล.ร.อ.นพดล สุภากร จาก รองเสธ.ทหาร มาเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ บิ๊กเต้ย-พล.ร.ท. สุกิตติ์ เสงี่ยมพงศ์ ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร.

ส่วนที่ “ทัพฟ้า” ก็ไม่พลิกโผเช่นกัน โดย “บิ๊กต่าย- พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน” ฝ่าด่าน และกระแสข่าวลือ ขึ้นจาก ผช.ผบ.ทอ. เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) คนใหม่ ตามที่ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. เสนอชื่อขึ้นไป

แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษก็ คือ ใครจะเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป เพราะงานนี้มีการส่ง “บิ๊กยาว -พล.อ.อ.วันชัย นุชเกษม” เสธ.ทอ. ข้ามไปเป็น รอง ผบ.สส.ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดว่า มีสัญญาใจ เพราะ “บิ๊กโหน่ง-พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์” ผช.ผบ.ทอ. ที่แม้พลาดเก้าอี้ ผบ.ทอ. แต่ขอเกษียณในทอ. ไม่อยากกลับไปเกษียณที่ บก.ทัพไทย ที่เคยเป็น รองเสธ. ทหาร พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์จึงขึ้น รอง ผบ.ทอ. ครองอัตราพลเอกพิเศษก่อนเกษียณพร้อมบิ๊กต่าย เพื่อนเตรียมทหาร 18 ด้วยกัน ส่วนบิ๊กยาวนั้น เสียสละข้ามไปเป็น รอง ผบ.สส. และว่ากันว่า ปีหน้าจะกลับถิ่นเก่ามาเป็น ผบ.ทอ.

กระนั้นก็ดี ก็ต้องจับตาว่า จะถูกเสียบ หรือไม่ เพราะ พล.อ.ท.มานัต วงษ์วาทย์ ขยับจาก รองเสธ.ทอ. มาเป็น เสธ.ทอ. จ่อขึ้นได้เช่นกัน ขณะที่ บิ๊กหมู-พล.อ.อ.ปรเมศร์ เกษโกวิท ผบ.คปอ. ถูกส่ง ไปเป็น รองปลัดกลาโหม แต่ อาจลุ้นกลับมา ชิง ผบ.ทอ. ในปีหน้า ได้เช่นกัน เพราะเกษียณ ต.ค.2563 เท่า บิ๊กยาว

สำหรับตำแหน่งสำคัญๆ ที่น่าสนใจอื่นๆ ประกอบด้วย

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม บิ๊กณัฐ-พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ รองปลัดกระทรวงกลาโหม (ตท.18) เป็น ปลัดกลาโหม พล.อ.วิชัย แชจอหอ รองเสนาธิการทหาร เป็น รองปลัดกลาโหม พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ (ตท.18) เป็นรองปลัดกลาโหม พล.อ.อ. ปรเมศร์ เกษโกวิท ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ เป็น รองปลัดกลาโหม

กองทัพไทย บิ๊กกบ-พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เสนาธิการทหาร เป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) (ตท.18) พล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ผู้ช่วยผบ.ทบ. เป็น รองผบ.ทสส. พล.ร.อ.นวพล ดำรงพงศ์ ผู้ช่วยผบ.ทร. เป็น รองผบ.ทสส. พล.อ.อ.วันชัย นุชเกษม เสนาธิการทหารอากาศ เป็น รองผบ.ทสส. พล.อ.ชัยชนะ นาคเกิด รองเสนาธิการทหารเป็น เสนาธิการทหาร “บิ๊กเจอร์รี่” พล.ท.ดร.ธนเกียรติ ชอบชื่นชม ผบ.ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ผบ.ศรภ.) บก.กองทัพไทย เป็น ผบ.หน่วยทหารพัฒนา

ทั้งนี้ หลัง 1 ตุลาคม 2561 พล.อ.อภิรัชต์ และผบเหล่าทัพ ชุดใหม่ จะได้รับการแต่งตั้ง จาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็น สมาชิก คสช. แทน ผบ.เหล่าทัพที่เกษียณอายุราชการ และถือเป็น คสช.รุ่นสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะรั้งตำแหน่ง เลขาฯคสช. และ ผบ.กกล.รส. ควบคู่กันไปด้วย

และแน่นอนว่า ภารกิจนับจากนี้ไปของ “ผู้นำเหล่าทัพ” ทุกเหล่าทัพจะมีความสำคัญยิ่งต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะ “กองทัพบก” ที่มี “แม่ทัพแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพราะจะอยู่ในตำแหน่งนี้อีก 2 ปีกว่าจะเกษียณอายุราชการในปี 2563 ซึ่งจะเป็นห้วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองตึงเครียดถึงขีดสุดอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะ “มี” การเลือกตั้งหรือ “ไม่มี” การเลือกตั้งก็ตาม

ยิ่งเมื่อจับสัญญาณจากคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่ระบุว่า “สถานการณ์ในช่วงนั้นจะเป็นผลต่อการตัดสินใจของตนเองว่า จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะเป็นได้อย่างไร” ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงนัยแฝงทางการเมืองหลายประการ

ดังนั้น โปรดอย่างกระพริบตากับบทบาทของ “แม่ทัพแดง” นับจากนี้เป็นต้นไป




กำลังโหลดความคิดเห็น